แถลงการณ์เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน

แถลงการณ์เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน

เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากฝ่ายรัฐบาลได้เสนอและลงมติให้เลื่อนร่างกฎหมายที่สำคัญสองฉบับขึ้นมาพิจารณาก่อนหมดสมัยการประชุมในวันที่ 9 เมษายน 2568 ทั้งร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร และร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรมฉบับอื่นๆ ด้วย ซึ่งวันดังกล่าวเป็นวันประชุมเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายวันสุดท้ายของสมัยประชุมนี้

เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ซึ่งเป็นผู้รวบรวมรายชื่อประชาชน เสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน เข้าสู่การพิจารณา มีความเห็นดังนี้

  1. ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน ที่มาจากการเข้าชื่อเสนอของประชาชนอย่างน้อย 36,732 คน ถูกเสนอตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 และค้างอยู่ในวาระการพิจารณามาตลอด พร้อมกับที่สภาผู้แทนราษฏรได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมขึ้นมายาวนานกว่าหกเดือน หากรัฐบาลมีความจริงใจที่จะเร่งดำเนินการเรื่องนี้ รัฐบาลควรเสนอร่างกฎหมายที่มีหลักการทำนองเดียวกัน และเลื่อนวาระขึ้นมาพิจารณาได้ก่อนหน้านี้หลายเดือนแล้ว ไม่ควรเร่งนำมาบรรจุในวันสุดท้ายของสมัยประชุมเช่นนี้ ซึ่งการบรรจุวาระพร้อมกับเรื่องอื่นที่สังคมให้ความสนใจเช่นนี้แสดงให้เห็นถึงการนำข้อเสนอการนิรโทษกรรมจากทุกภาคส่วนมาเป็นเพียงเครื่องมืออ้างอิงฉวยจังหวะทางการเมืองเพื่อผลักดันเรื่องอื่นที่อยู่ในความสนใจของรัฐบาลเท่านั้น
  2. ร่างพระราชบัญญัติทั้งสองประเด็นที่จะพิจารณาในวันที่ 9 เมษายน 2568 เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากสังคมและมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเห็นต่างกันทั้งในหลักการและรายละเอียด การบรรจุวาระเร่งด่วนโดยมีให้เอาข้อถกเถียงเรื่อง “กาสิโน” ขึ้นก่อน ตามด้วยข้อเสนอ “นิรโทษกรรม” ส่งผลให้ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน มีสถานะทางการเมืองกลายเป็นประเด็น “ตัวประกัน” เพื่อ “ปิดปาก” ผู้ที่ต้องการคัดค้าน “กาสิโน” เท่านั้น หากผู้ที่ต้องการคัดค้านร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ไม่ปล่อยให้ข้อเสนอนี้ผ่านการพิจารณาโดยเร็วก็อาจตกเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองเนื่องจากทำให้วาระการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ไม่เหลือเวลามากเพียงพอที่จะพิจารณา
  3. ร่างพระราชบัญญัติทั้งสองประเด็นที่จะพิจารณาในวันที่ 9 เมษายน 2568 จำเป็นต้องได้รับเวลาในการอภิปราย ให้ฝ่ายที่มีความเห็นแตกต่างได้นำเสนอข้อเท็จจริงที่หลากหลาย และมุมมองที่รอบด้านอย่างครบถ้วน การบรรจุวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่สำคัญทั้งสองประเด็นในวันเดียวกัน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จะพิจารณาร่างกฎหมายของสมัยประชุมสภานี้ ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า ทั้งสองประเด็นอาจจะมีการลงมติแต่สภาผู้แทนราษฎรไม่มีโอกาสพูดคุยกันเต็มที่ หรืออาจจะได้พูดคุยและลงมติกันได้เพียงประเด็นเดียว หรืออาจจะไม่สามารถพูดคุยและลงมติกันได้แม้แต่ประเด็นเดียว และไม่ว่าผลสรุปจะเป็นอย่างไรก็อาจเป็นที่ค้างคาใจจากฝ่ายที่ยังไม่มีโอกาสได้นำเสนอข้อมูลข้อคิดเห็นกันอย่างเต็มที่ และทำให้สภาผู้แทนราษฎรล้มเหลวในการทำหน้าที่เป็นเวทีหาทางออกในเรื่องที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันในบ้านเมือง

เครือข่ายนิรโทษกรรมจึงมีข้อเรียกร้องเฉพาะหน้า ดังนี้ 

  1. ขอให้รัฐบาลแสดงความจริงใจในการยกเลิกการดำเนินคดีความจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง โดยการเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ฉบับของคณะรัฐมนตรี มาประกอบกับร่างที่เสนอโดยพรรคการเมืองและโดยการเข้าชื่อของประชาชน พร้อมกับประกาศแนวทางของรัฐบาลให้ชัดเจนก่อนการเริ่มพิจารณาว่า สส. ฝ่ายรัฐบาลพร้อมจะลงมติรับหลักการของร่างทุกฉบับเพื่อนำรายละเอียดที่อาจยังเป็นข้อสงสัยหรือเป็นข้อเห็นต่างไปถกเถียงกันในวาระที่สอง เพื่อลดความขัดแย้งและความตึงเครียดในระหว่างการอภิปรายและพิจารณา และลดข้อครหาว่ารัฐบาลใช้ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนเป็นเพียงตัวประกันเพื่อผลักดันกาสิโนเท่านั้น
  2. ขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาล ยืนยันและรักษามาตรฐานที่เคยเกิดขึ้นมาในประวัติศาสตร์ไทย คือ การนิรโทษกรรมให้กับคดีความที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางการเมือง โดยพิจารณาช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์เป็นสำคัญ และนิรโทษกรรมให้คดีความทั้งหมด โดยไม่แยกแยะตามประเภทข้อหา เช่นเดียวกับการนิรโทษกรรมให้คดีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516,  6 ตุลาคม 2519, พฤษภาทมิฬ 2535 และเหตุการณ์อื่นๆ ด้วย
  3. ขอให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร แสดงถึงความจริงใจของฝ่ายรัฐบาลที่ต้องการพิจารณาและลงมติร่างพระราชบัญญัติทั้งสองประเด็น ตามกระบวนการของสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยไปกว่ากัน และไม่เอาประเด็นใดเป็นตัวประกันของอีกประเด็นหนึ่ง โดยการจัดสรรเวลาการอภิปรายให้กับสภาผู้แทนราษฎรอย่างเต็มที่ก่อนการลงมติ ซึ่งอาจเป็นการขยายเวลาไปยังวันที่ 10 เมษายน 2568 หรือเปิดประชุมสมัยวิสามัญเพิ่มสักหนึ่งนัด เพื่อพิจารณาทั้งสองประเด็นแยกกันคนละวัน หรืออาจใช้เวลามากกว่าหนึ่งวันต่อหนึ่งเรื่อง ตามความจำเป็นที่จะต้องอภิปรายลงรายละเอียด โดยการปรึกษากับพรรคการเมืองต่างๆ ในสภาผู้แทนราษฎรและกำหนดเวลาให้เพียงพอ