#นิรโทษกรรมประชาชน มาถึงวันนัดสำคัญ เมื่อสภาดันขึ้นมาพิจารณาก่อนในวันที่ 9 เมษายน 2568

ผู้แทนราษฎรโหวตเห็นชอบญัตติที่สส.พรรคเพื่อไทยเสนอให้ “เลื่อน” ร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร กับร่างกฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมคดีจากการชุมนุมทางการเมืองทั้งสี่ฉบับ ขึ้นมาพิจารณาก่อนร่างกฎหมายอื่น ในวันพุธที่ 9 เมษายน 2568 ก่อนจะปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 10 เมษายน 2568 

ก่อนหน้านี้สส. พรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดเกมเสนอร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุขเพื่อให้ยกเลิกการดำเนินคดี จากเหตุการณ์ความขัดแย้งและการชุมนุมทางการเมืองย้อนหลังไปตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 2549 กล่าวคือ ยกเลิกคดียุค เสื้อเหลือง-เสื้อแดง-กปปส. ทั้งหมด แต่ไม่รวมคดีความผิดต่อชีวิต และไม่รวมคดีมาตรา 112

ต่อมา สส.จากพรรคขนาดเล็ก และสส.จากพรรคก้าวไกล ก็เสนอร่างฉบับของตัวเองเข้าแข่งขันด้วย แต่ฝ่ายประชาชน ต้องการยืนยันว่าการนิรโทษกรรมคดีการเมืองนั้น ต้องรวมทุกคดีที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งรวมคดีมาตรา 112 ด้วย และต้องนิรโทษกรรมให้ฝ่ายประชาชนเท่านั้น ต้องไม่นิรโทษกรรมให้คณะรัฐประหารและเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้กำลังสลายการชุมนุม จึง เข้าชื่อกันมากกว่า 36,000 คนเพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน เข้าแข่งขันอีกหนึ่งฉบับ 

ดูเปรียบเทียบร่างทั้ง 4 ฉบับได้ทาง https://www.ilaw.or.th/articles/19176

แต่พรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำรัฐบาลยังไม่เสนอร่างของตัวเอง และคณะรัฐมนตรีก็ยังไม่มีร่างฉบับหลักออกมา ทำให้ร่างทั้งสี่ฉบับเข้าคิวรอการพิจารณาอยู่ ไม่ได้ถูกจัดเป็นเรื่องสำคัญของรัฐบาล จนกระทั่งถูกยื่นยุติด่วนเพื่อเลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อนปิดสมัยประชุมนี้

สถานการณ์คดีทางการเมืองในปี 2568 จำนวนคดีจากการชุมนุมเสื้อเหลืองและกปปส. มีจำนวนไม่มาก หลายคดียังไม่มีคำพิพากษา หรือไม่ได้ลงโทษจำคุกจำเลยมากนัก แกนนำการชุมนุมไม่ได้ถูกคุมขังในเรือนจำ ขณะที่คดีของกลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนมากมีคำพิพากษาให้ผู้ชุมนุมต้องโทษจำคุกและรับโทษครบจนปล่อยตัวออกมาหมดแล้ว แต่ก็ยังเหลือคดีจำนวนมากที่เดินหน้าอยู่ คดีจากความขัดแย้งและการชุมนุมทางการเมืองที่มีปริมาณมากที่สุด คือ คดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ระหว่างการชุมนุมช่วงปี 2563-2564 และคดีที่มีแนวโน้มว่า จำเลยจะต้องเข้าคุกมากที่สุดคือ คดีมาตรา 112 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ซึ่งในเดือนเมษายน 2568 มีคนอยู่ในเรือนจำด้วยข้อหานี้อย่างน้อย 30 คน และมีอีกกว่า 200 คนที่กำลังรอฟังคำพิพากษาอยู่ ซึ่งแนวโน้มคำตัดสินคดีมาตรา 112 ที่จะให้จำเลยพ้นผิดมีน้อยมากๆ 

ดังนั้น หากมีการออกกฏหมายนิรโทษกรรมหรือการยุติการดำเนินคดีทางการเมือง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคืนความสันติสุข สร้างความสามัคคีสมานฉันท์ในสังคม ก็จำเป็นต้องยุติการดำเนินคดีทั้งหมด โดยเฉพาะคดีมาตรา 112 ด้วย หากยุติการดำเนินคดีต่อคนบางกลุ่มให้ไม่ต้องรับโทษใดๆเลย แต่ให้คนกลุ่มอื่นคงต้องไปศาลเพื่อต่อสู้คดีและรับโทษในเรือนจำอยู่ วัตถุประสงค์ดังกล่าวก็ไม่อาจบรรลุได้ มีทางเดียวเท่านั้นที่จะไปถึงวัตถุประสงค์นี้ได้คือ การผ่านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน เท่านั้น https://www.ilaw.or.th/articles/6296