
3 เมษายน 2568 เครือข่ายต่อต้านความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศประเทศไทย ซึ่งประกอบไปด้วยองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศ 10 องค์กร เข้ายื่นเรื่องริเริ่มเสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวฉบับภาคประชาชน ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร สาระสำคัญของร่างกฎหมาย มุ่งคุ้มครองผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัวให้มีประสิทธิภาพ เน้นดำเนินการทางอาญาให้กับผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง และเพิ่มกลไกคุ้มครองและฟื้นฟูเยียวยาผู้เสียหาย เพื่อที่จะช่วยลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวได้จริง


13.30 น. วราภรณ์ แช่มสนิท เลขาธิการสมาคมเพศวิถีศึกษา ในฐานะตัวแทนเครือข่าย ยื่นหนังสือริเริ่มการเข้าชื่อต่อผู้แทนประธานสภาผู้แทนราษฎร กิตติศักดิ์ เอื้อกฤดาธิการ นิติกรชำนาญการ สภาผู้แทนราษฎร ตัวแทนพรรคประชาชน ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคประชาชน และลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส. พรรคเพื่อไทย และเป็นประธานชมรมรัฐสภาสตรีไทย
วราภรณ์ ระบุว่า หลักการสำคัญของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ที่ใช้บังคับอยู่ เน้นการรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัว แทนที่จะให้ความสำคัญสูงสุดกับการคุ้มครองสวัสดิภาพความปลอดภัย ในการฟื้นฟูเยียวยาผู้เสียหายที่ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว อีกทั้งกฎหมายยังขาดมาตรการที่จะดำเนินการเอาผิดผู้กระทำความรุนแรงอย่างจริงจัง มีอัตราโทษที่เบากว่าการกระทำในลักษณะเดียวกันตามประมวลกฎหมายอาญา ทั้งยังเปิดช่องและสนับสนุนให้มีการไกล่เกลี่ยเพื่อยอมความ ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขให้รัดกุมและคำนึงถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของผู้เสียหายอย่างเพียงพอ
บุษยาภา ศรีสมพงษ์ ทนายความด้านความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศและผู้ก่อตั้งองค์กรชีโร่ (Shero Thailand) อธิบายหลักการของร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวฉบับภาคประชาชนว่า เป็นกฎหมายที่พัฒนาขึ้นโดยยึดผู้ถูกกระทำเป็นศูนย์กลาง (survivor-centered) มีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวที่ครอบคลุมรอบด้าน ทั้งในแง่ของสิทธิ สวัสดิภาพความปลอดภัย และการฟื้นฟูเยียวยาผู้เสียหาย โดยไม่ผลักภาระให้ผู้เสียหายต้องยอมความเพื่อรักษาครอบครัว หรือยอมคืนดีกับผู้กระทำความรุนแรงทั้งที่ยังมีความเสี่ยงถูกกระทำซ้ำอย่างที่เป็นมา
เครือข่ายจึงออกแบบกฎหมายให้การกระทำความรุนแรงในครอบครัวที่เป็นผิดทางอาญา ผู้กระทำต้องเข้าสู่กระบวนการทางอาญาและมีโทษตามที่กฎหมายอาญาระบุไว้ ขณะเดียวกัน ก็เพิ่มกระบวนการคุ้มครองผู้เสียหายที่ครอบคลุมรอบด้านมากขึ้น โดยกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจและหน้าที่ในการคุ้มครองผู้เสียหายอย่างชัดเจนมากขึ้น และเพิ่มกระบวนการทำงานช่วยเหลือผู้เสียหายแบบสหวิชาชีพ โดยมีผู้ทำหน้าที่จัดการเป็นรายกรณีคอยช่วยเหลือผู้เสียหายอย่างรอบด้านและต่อเนื่อง และสำหรับผู้กระทำความรุนแรงที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนตัวเอง กำหนดให้มีมาตรการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวควบคู่กับกระบวนการทางศาล ซึ่งจะช่วยยับยั้งโอกาสที่บุคคลเหล่านี้จะกระทำผิดซ้ำ
โดยหลังจากยื่นริเริ่มไปแล้ว ตามพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564 ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะต้องตรวจสอบว่าร่างกฎหมายที่เสนอมีหลักการเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย และหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ หรือไม่ หากสอดคล้องกับเรื่องดังกล่าว ก็จะแจ้งให้ทางผู้ริเริ่มเริ่มกระบวนการรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 ชื่อ เพื่อเสนอร่างกฎหมายต่อรัฐสภาต่อไป