เช็กผลงาน สว. 67 เห็นชอบ/ไม่เห็นชอบ ศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ-ข้าราชการระดับสูงไปกี่ตำแหน่ง

หนึ่งในอำนาจที่สำคัญของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) คือการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระทั้งห้าองค์กร แม้ว่าผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งดังกล่าวจะต้องผ่านการคัดกรองจากคณะกรรมการสรรหา หรือคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา หรือที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด แล้วแต่ว่ารัฐธรรมนูญกำหนดให้ตำแหน่งนั้นๆ มีที่มาแบบใด แต่ผู้มีอำนาจตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าจะได้ดำรงตำแหน่งหรือไม่ คือ สว.

ผู้ที่จะเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือกรรมการองค์กรอิสระได้ จะต้องได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบจาก สว. ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของ สว. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ หากมี สว. ครบจำนวน 200 คน ก็ต้องได้รับเสียงเห็นชอบจาก สว. ตั้งแต่ 100 เสียงขึ้นไป จากผลงานตลอดห้าปีของ สว. ชุดก่อนที่มาจากการแต่งตั้งเคย “ไม่ให้ความเห็นชอบ” ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระอย่างน้อย 12 คน สะท้อนให้เห็นว่าต่อให้บุคคลนั้นจะมีคุณสมบัติ ผ่านกระบวนการสรรหาหรือคัดเลือกมาแล้ว ก็อาจ “ชวด” ตำแหน่งดังกล่าวได้ ถ้า สว. ไม่โหวตให้

ตลอดอายุการทำงานห้าปีของ สว. 2567 ที่มาจากการ “แบ่งกลุ่ม – เลือกกันเอง” ตั้งแต่เข้าสู่ตำแหน่งเมื่อ กรกฎาคม 2567 จนถึง กรกฎาคม 2572 จะสามารถเลือกผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระได้ “เกินครึ่ง” แทนคนที่กำลังจะทยอยพ้นวาระไป นอกจากนี้ สว. ยังมีอำนาจให้ความเห็นชอบข้าราชการระดับสูงบางตำแหน่งที่กฎหมายระดับพระราชบัญญัติกำหนดไว้ได้อีกด้วย

ตารางสรุปภาพรวมการให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆ โดยวุฒิสภา
ตำแหน่งจำนวนตำแหน่งที่ สว. 2567 จะต้องเห็นชอบการลงมติเห็นชอบผู้ได้รับเสนอชื่อ
เห็นชอบ (คน)ไม่เห็นชอบ (คน)
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (9 คน)72
ป.ป.ช. (9 คน)51
กกต. (7 คน)5
คตง. (7 คน)642
กสม. (7 คน)7
ผู้ตรวจการแผ่นดิน (3 คน)31
กสทช.
ประธานศาลปกครองสูงสุด1
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด1
อัยการสูงสุด1
เลขาธิการ ปปง.
เลขาธิการ ป.ป.ท.
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

แม้ศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระหมดวาระ แต่ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อจนกว่าจะได้คนใหม่

โดยหลักแล้ว ผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 2560 มีวาระดำรงตำแหน่งเจ็ดปี ยกเว้นผู้ที่มีที่มาตามรัฐธรรมนูญ 2550 จะมีวาระดำรงตำแหน่งเก้าปีสืบเนื่องจากบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 เขียนรับรองไว้

เหตุที่จะทำให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระพ้นจากเก้าอี้ได้ นอกจากการดำรงตำแหน่งครบวาระแล้ว ยังมีเหตุอื่นๆ อีก คือ

  • ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม
  • ตาย
  • ลาออก
  • มีอายุเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด : กรณีของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีอายุครบ 75 ปี และกรณีกรรมการองค์กรอิสระ มีอายุครบ 70 ปี
  • ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้พ้นจากตำแหน่งด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เพราะเหตุฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
  • พ้นจากตำแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

เหตุในการพ้นจากตำแหน่งจะส่งผลต่อการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ กรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือกรรมการในองค์กรอิสระพ้นจากตำแหน่งเพราะดำรงตำแหน่งครบวาระแล้ว จะยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อได้จนกว่าจะมีการแต่งตั้งคนใหม่เข้ามาแทนที่ แต่กรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุอื่น ในศาลรัฐธรรมนูญหรือในองค์กรอิสระก็จะมีตุลาการหรือกรรมการเท่าที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าตุลาการหรือกรรมการคนใหม่จะได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ครบจำนวนตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้

เหตุพ้นตำแหน่งยังส่งผลต่อกรอบระยะเวลาในการคัดเลือกหรือสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระ กรณีที่ตุลาการหรือกรรมการพ้นจากตำแหน่งเพราะดำรงตำแหน่งครบวาระ กระบวนการคัดเลือกหรือสรรหาจะต้องเริ่มทำ “ก่อน” จะถึงวันที่ดำรงตำแหน่งครบวาระ แต่ถ้าพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุอื่น กระบวนการคัดเลือกหรือสรรหาจะเริ่ม “หลัง” จากที่บุคคลนั้นพ้นจากตำแหน่ง

ตำแหน่งกรอบระยะเวลาในการคัดเลือก/สรรหาผู้ดำรงตำแหน่ง
พ้นจากตำแหน่งเพราะดำรงตำแหน่งครบวาระพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุอื่น (เริ่มหลังพ้นวาระ)
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (9 คน)120 วันก่อนครบวาระ90 วันนับแต่วันที่ตำแหน่งว่างลง
ป.ป.ช. (9 คน)
กกต. (7 คน)
คตง. (7 คน)
กสม. (7 คน)150 วันก่อนครบวาระ150 วันนับแต่วันที่ตำแหน่งว่างลง

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สว. 67 เลือกได้ 7 จาก 9 ตำแหน่ง

สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 200 กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีเก้าคน วาระดำรงตำแหน่งเจ็ดปี นับตั้งแต่ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง (มาตรา 207) มีอำนาจหน้าที่หลัก คือการพิจารณาว่ากฎหมายหรือร่างกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ วินิจฉัยอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) สว. รวมถึงรัฐมนตรีมีเหตุต้องพ้นจากตำแหน่งหรือไม่

ตลอดอายุการทำงานห้าปีของ สว. จะสามารถเลือกผู้มาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้เจ็ดจากเก้าตำแหน่ง เพราะมีตุลาการที่ทยอยพ้นวาระไป ดังนี้

1) นครินทร์ เมฆไตรรัตน์

2) ปัญญา อุดชาชน

อย่างไรก็ดี ทั้งสองคนมีวาระดำรงตำแหน่งยาวกว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนอื่น เนื่องจากมีที่มาตามรัฐธรรมนูญ 2550 ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 273 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป. ศาลรัฐธรรมนูญฯ) บทเฉพาะกาล มาตรา 79 กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดำรงตำแหน่งยังไม่ครบวาระตามรัฐธรรมนูญ 2550 และดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ (ก่อน 3 มีนาคม 2561) ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งกำหนดไว้ที่เก้าปี (มาตรา 208)

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558  ส่วนปัญญา อุดชาชน ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2558 ตุลาการทั้งสองคน จึงพ้นจากตำแหน่งในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567

3) อุดม สิทธิวิรัชธรรม

4) วิรุฬห์ แสงเทียน

5) จิรนิติ หะวานนท์

6) นภดล เทพพิทักษ์

ทั้งสี่คน ที่ผ่านความเห็นชอบจาก สว. ชุดพิเศษ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 และครบวาระดำรงตำแหน่งในเดือนเมษายน 2570

7) บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งในวันที่ 20 สิงหาคม 2563 และครบวาระดำรงตำแหน่งในเดือนสิงหาคม 2570 

สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เหลืออีกสองคน ที่ผ่านความเห็นชอบจาก สว. ชุดพิเศษ ได้แก่ อุดม รัฐอมฤต ได้รับโปรดเกล้าฯ เมื่อ 28 มกราคม 2566 จะพ้นวาระดำรงตำแหน่งช่วงเดือนมกราคม 2573 และสุเมธ รอยกุลเจริญ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 19 มีนาคม 2567 จะพ้นวาระดำรงตำแหน่งช่วงเดือนมีนาคม 2574 เท่ากับว่าทั้งสองคนพ้นตำแหน่งภายหลัง สว. 2567 หมดวาระไปแล้วจะเป็นหน้าที่ของ สว. ชุดถัดไปในการให้ความเห็นชอบ

ไม่ให้ความเห็นชอบไปแล้ว 2 ราย ต้องสรรหาใหม่แทนที่นครินทร์-ปัญญา

สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสองตำแหน่ง ที่จะต้องผ่านความเห็นชอบจาก สว. มีผู้สมัครเข้ารับการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในโควตาผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์สองคน เพื่อแทนที่นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และมีผู้สมัครเก้าคนในโควตาผู้ทรงคุณวุฒิสายราชการแทนที่ปัญญา อุดชาชน

อย่างไรก็ดี หลังการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีแคนดิเดตที่ผ่านด่านเข้าสู่กระบวนการพิจารณาให้ความเห็นชอบเพียงสองคน คือ ศาสตราจารย์สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โควตาผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์ และชาตรี อรรจนานันท์ อดีตอธิบดีกรมการกงสุล อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก โควตาผู้ทรงคุณวุฒิสายราชการ

ในการประชุม สว. เมื่อ 18 มีนาคม 2568 มีมติ “ไม่ให้ความเห็นชอบ” ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งสองราย เนื่องคะแนนเสียงเห็นชอบไม่เกินกว่ากึ่งหนึ่งหรือ 99 เสียงจากสว. ทั้งหมดที่มีอยู่ 199 คน

ตารางแสดงผลการลงมติให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
วันที่ผู้ได้รับการเสนอชื่อมติวุฒิสภาคะแนนเสียง
เห็นชอบไม่เห็นชอบงดออกเสียงไม่ลงคะแนนเสียง
18 มีนาคม 2568สิริพรรณ นกสวน สวัสดีไม่ให้ความเห็นชอบ4313671
ชาตรี อรรจนานันท์47115223

กระบวนการหลังจากนี้ ตาม พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 12 วรรคเก้า กำหนดว่า กรณีที่ สว. ไม่เห็นชอบให้ผู้ใดดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้ส่งรายชื่อนั้นกลับไปยังคณะกรรมการสรรหา พร้อมเหตุผลเพื่อสรรหาใหม่ ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน แล้วเสนอให้ สว. เห็นชอบต่อไป ผู้ที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจาก สว. จะไม่สามารถเข้ารับการสรรหาในครั้งใหม่ได้อีก

โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสองคนที่ดำรงตำแหน่งครบวาระแล้ว จะยังปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 208 วรรคสาม

เลือก ป.ป.ช. ได้เกินครึ่ง 5 จาก 9 ตำแหน่ง

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 232 กำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จำนวนเก้าคน มีวาระดำรงตำแหน่งเจ็ดปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว ตามมาตรา 233 มีอำนาจหน้าที่หลักๆ คือการตรวจสอบทุจริตผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

ตลอดอายุการทำงานห้าปีของ สว. จะสามารถเลือกผู้มาดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ได้ห้าจากเก้าตำแหน่ง เพราะมีกรรมการที่ทยอยพ้นวาระและมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ ดังนี้

1) พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบ 70 ปี

2) พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ (ประธาน ป.ป.ช.) พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบ 70 ปี

3) สุวณา สุวรรณจูฑะ

4) วิทยา อาคมพิทักษ์

สุวณา สุวรรณจูฑะ และวิทยา อาคมพิทักษ์ มีวาระดำรงตำแหน่งนานกว่าคนอื่น คือเก้าปี ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 273 ทั้งสองได้รับความเห็นชอบจาก สนช. และได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งพร้อมกันในวันที่ 30 ธันวาคม 2558 ทำให้วาระในการดำรงตำแหน่งของทั้งสองคนจะครบเก้าปีในเดือนธันวาคม 2567

5) สุชาติ ตระกูลเกษมสุข (ประธาน ป.ป.ช.) ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งในวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 จะครบวาระดำรงตำแหน่งเจ็ดปี ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2570

ขณะที่ตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ที่เหลืออีกสามคน จะดำรงตำแหน่งครบวาระหลังช่วงที่ สว. ชุดนี้หมดอายุไปแล้ว ได้แก่ เอกวิทย์ วัชชวัลคุ ซึ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2567 ส่งผลให้เอกวิทย์จะดำรงตำแหน่งครบวาระในช่วงเดือนมกราคม 2574 แมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง เมื่อ 19 มีนาคม 2567 แมนรัตน์จะดำรงตำแหน่งครบวาระในเดือนมีนาคม 2574 และภัทรศักดิ์ สุวรรณแสง ได้รับการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 จะดำรงตำแหน่งครบวาระในเดือนมิถุนายน 2574

อีกหนึ่งตำแหน่งที่เหลือ คือ ให้พศวัจณ์ กนกนาถ ซึ่ง สว. ชุดพิเศษจากการแต่งตั้ง ให้ความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ไปแล้วเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566 ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 168 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 25 เสียง และงดออกเสียง 20 เสียง แม้เวลาจะผ่านไปหนึ่งปีแปดเดือนแล้ว (นับถึงเดือนเมษายน 2568) แต่ยังไร้ความชัดเจนว่าพศวัจณ์จะได้ดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อไร 

สว. 67 ให้ความเห็นชอบ ป.ป.ช. ไปแล้วหนึ่งตำแหน่ง

สำหรับตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. แทนที่พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ ในสมัยของ สว. ชุดพิเศษจากการแต่งตั้ง เคยมีการสรรหาไปแล้วหนึ่งครั้ง โดยคณะกรรมการสรรหาเคยเสนอชื่อพล.ต.ท. ธิติ แสงสว่าง ต่อที่ประชุม สว. เพื่อให้ความเห็นชอบ แต่ที่ประชุม สว. เมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ไม่ให้ความเห็นชอบพล.ต.ท. ธิติ ด้วยคะแนนเสียง ให้ความเห็นชอบ 80 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 88 เสียง ไม่ออกเสียง 30 เสียง จึงนำมาสู่การสรรหาใหม่อีกรอบ มีผู้สมัครที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม 11 คน ประภาศ คงเอียดได้รับคะแนนสูงสุดในการลงมติของคณะกรรมการสรรหาทั้งสองรอบและผ่านด่านเข้าสู่การพิจารณาของ สว. โดยในการประชุม สว. เมื่อ 20 มกราคม 2568 มีมติ “ให้ความเห็นชอบ” ประภาศ คงเอียด ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.

ตารางแสดงผลการลงมติให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.
วันที่ผู้ได้รับการเสนอชื่อมติวุฒิสภาคะแนนเสียง
เห็นชอบไม่เห็นชอบงดออกเสียงไม่ลงคะแนนเสียง
20 มกราคม 2568ประภาศ คงเอียดเห็นชอบ17361

ส่วนอีกสามตำแหน่งที่เหลือ แทนที่พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ สุวณา สุวรรณจูฑะ และวิทยา อาคมพิทักษ์ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2568 คณะกรรมการสรรหาได้ลงคะแนนเลือกผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ ป.ป.ช. สามคน ประกอบด้วย

1) ประกอบ ลีนะเปสนันท์ ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งรองประธานศาลฎีกา แทนพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ

2) เพียรศักดิ์ สมบัติทอง อธิบดีอัยการ สำนักงานคณะกรรมการอัยการ แทนวิทยา อาคมพิทักษ์

3) ประจวบ ตันตินนท์ อดีตผู้บริหารบริษัทมหาชนจำกัด และผู้สอบบัญชีรับอนุญาต แทนสุวณา สุวรรณจูฑะ

หลังจากนั้น ได้เสนอต่อที่ประชุม สว. และใน 24 มีนาคม 2568 ได้มีมติตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (กมธ.สอบประวัติฯ) ตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ.2562 ข้อ 105 กำหนดให้ กมธ.สอบประวัติฯ จะต้องตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ตั้ง กมธ. หากไม่ทันสามารถขยายเพิ่มได้อีก 30 วัน หลังตรวจสอบแล้วเสร็จ จะต้องเสนอรายงานต่อที่ประชุม สว. เพื่อให้ลงมติให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้งสามคนต่อไป

เลือก กกต. คนใหม่ได้เกินครึ่ง 5 จาก 7 คน

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 222 กำหนดให้มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จำนวนเจ็ดคน และมีวาระดำรงตำแหน่งเจ็ดปี นับตั้งแต่ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ตามมาตรา 223 มีอำนาหน้าที่สำคัญคือการจัดการเลือกตั้ง สส. สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น และ “การเลือก สว.” รวมถึง “เก็บกวาด” สืบสวนไต่สวนหากพบว่ามีการกระทำความผิดในกระบวนการเลือกตั้งหรือกระบวนการเลือก

ตลอดอายุการทำงานห้าปีของ สว. จะสามารถเลือกผู้มาดำรงตำแหน่ง กกต. ได้ห้าจากเจ็ดตำแหน่ง เพราะมีผู้ที่ทยอยพ้นวาระ ดังนี้

1) อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.

2) ศาสตราจารย์สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์

3) ปกรณ์ มหรรณพ

ทั้งสามคนที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ พร้อมกัน เมื่อ 12 สิงหาคม 2561 จะดำรงตำแหน่งครบวาระเจ็ดปี ในเดือนสิงหาคม 2568

4) เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ

5) ฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ

ทั้งสองคนได้รับการโปรดเกล้าฯ เข้าสู่ตำแหน่ง 4 ธันวาคม 2561 จะดำรงตำแหน่งครบวาระเจ็ดปีในเดือนธันวาคม 2568

ขณะที่ กกต. อีกสองคน จะดำรงตำแหน่งครบวาระหลังช่วงที่ สว. ชุดนี้หมดอายุไปแล้ว ได้แก่ ชาย นครชัย ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566 จึงทำให้ ชาย นครชัยจะดำรงตำแหน่งครบวาระในช่วงเดือนตุลาคม 2573 และสิทธิโชติ อินทรวิเศษ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง กกต. เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 สิทธิโชติ จะสามารถดำรงตำแหน่ง กกต. ได้ถึงช่วงเดือนมีนาคม 2574

เลือก คตง. ได้เกือบหมด 6 จาก 7 ตำแหน่ง

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 238 กำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) จำนวนเจ็ดคน มีวาระดำรงตำแหน่งเจ็ดปีนับตั้งแต่ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ตามมาตรา 239 มีอำนาจหน้าที่หลักคือตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินของหน่วยงานรัฐ

ตลอดอายุการทำงานห้าปีของ สว. จะสามารถเลือกผู้มาดำรงตำแหน่ง คตง. ได้หกจากเจ็ดตำแหน่ง คือ

1) จินดา มหัทธนวัฒน์ พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบ 70 ปี

อีกห้าคน ที่ดำรงตำแหน่งเข้ามาพร้อมกันในวันที่ 22 กันยายน 2560 ซึ่งจะครบวาระดำรงตำแหน่งในเดือนกันยายน 2567 ได้แก่

2) พล.อ.ชนะทัพ อินทามระ (ประธาน คตง.)

3) พิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์

4) ยุพิน ชลานนท์นิวัฒน์

5) สรรเสริญ พลเจียก

6) ศาสตราจารย์อรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป

ขณะที่ คตง. อีกหนึ่งคน คือ ศิลักษณ์ ปั้นน่วม ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเมื่อ 13 สิงหาคม 2566 ก็จะดำรงตำแหน่งครบวาระในเดือนสิงหาคม 2573 ซึ่งพ้นวาระของ สว. 2567 แล้ว

นอกจากตำแหน่ง คตง. ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 241 ยังกำหนดให้มีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจำนวนหนึ่งคน โดยมีวาระดำรงตำแหน่งหกปี นับตั้งแต่ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 มาตรา 47 โดย สว. ชุดพิเศษ ได้ให้ความเห็นชอบมณเฑียร เจริญผลให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อ 2 เมษายน 2567 มณเฑียรได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง เมื่อ 4 มิถุนายน 2567 เท่ากับว่าจะดำรงตำแหน่งครบวาระในเดือนมิถุนายน 2573 ซึ่งพ้นวาระของ สว. 2567 ไปแล้ว

สรรหาแคนดิเดต คตง. ไปแล้วหกคน สว. ให้ความเห็นชอบ 4 ไม่เห็นชอบ 2 คน

ในกระบวนการสรรหา คตง. คนใหม่อีกหกตำแหน่ง เมื่อ 31 สิงหาคม 2567 คณะกรรมการสรรหาได้ลงมติเลือกผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง คตง. หกคน คือ

1) เกล็ดนที มโนสันติ์ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน แทนจินดา มหัทธนวัฒน์

2) พรพิมล นิลทจันทร์ รองเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ อดีตนักตรวจสอบภายใน สำนักตรวจสอบภายใน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แทนพล.อ.ชนะทัพ อินทามระ

3) ยุทธพงษ์ อภิรัตนรังสี อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด แทนพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์

4) พศุตม์ณิชา จำปาเทศ อดีตรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน แทนยุพิน ชลานนท์นิวัฒน์

5) นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. แทนสรรเสริญ พลเจียก

6) เฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ แทนอรพิน ผลสุวรณ์ สบายรูป

เมื่อ 16 ธันวาคม 267 ที่ประชุม สว. ได้มีมติตั้งกมธ.สอบประวัติฯ 15 คน ต่อมา 10 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ประชุม สว. มีมติ “ให้ความเห็นชอบ” ผู้ได้รับการเสนอชื่อดำรงตำแหน่ง คตง. สี่คน และ “ไม่ให้ความเห็น” ชอบสองคน ดังนี้

ตารางแสดงผลการลงมติให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง คตง.
วันที่ผู้ได้รับการเสนอชื่อมติวุฒิสภาคะแนนเสียง
เห็นชอบไม่เห็นชอบงดออกเสียงไม่ลงคะแนนเสียง
10 กุมภาพันธ์ 2568เกล็ดนที มโนสันติ์เห็นชอบ167914
พรพิมล นิลทจันทร์170317
ยุทธพงษ์ อภิรัตนรังสี161622
เฉลิมพล เพ็ญสูตร175412
พศุตม์ณิชา จำปาเทศไม่เห็นชอบ4811627
นิวัติไชย เกษมมงคล3014515

เท่ากับว่า ตำแหน่ง คตง. ยังมีที่ว่างอีกสองตำแหน่ง ที่จะมาแทนยุพิน ชลานนท์นิวัฒน์ และสรรเสริญ พลเจียก ซึ่งหลังสว. ไม่ให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้งสองคน จะต้องสรรหาบุคคลใหม่เพื่อส่งให้ สว. ให้ความเห็นชอบอีกครั้ง โดยผู้ที่ไม่ได้รับความเห็นชอบแล้ว จะไม่สามารถเข้ารับการสรรหาใหม่ได้อีก (พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 มาตรา 46 วรรคสอง)

สว. 2567 เลือก กสม. ได้ใหม่ยกชุด

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 246 กำหนดให้มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จำนวนเจ็ดคน วาระดำรงตำแหน่งเจ็ดปี นับตั้งแต่ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เสนอแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใดๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน

ตลอดอายุการทำงานห้าปีของ สว. จะสามารถเลือกผู้มาดำรงตำแหน่ง กสม. ได้ทั้งเจ็ดคน ได้แก่

1) พรประไพ กาญจนรินทร์ (ประธาน กสม.)

2) ปิติกาญจน์ สิทธิเดช

3) ปรีดา คงแป้น

4) สุชาติ เศรษฐมาลินี

5) ศยามล ไกยูรวงศ์

6) วสันต์ ภัยหลีกลี้

ทั้งหกคนที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งพร้อมกันเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 และจะดำรงตำแหน่งครบวาระ ในเดือนพฤษภาคม 2571

7) สุภัทรา นาคะผิว ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง กสม. เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 จะดำรงตำแหน่งครบวาระในเดือนกรกฎาคม 2572 อย่างไรก็ดี แม้ระยะเวลาสุภัทราดำรงตำแหน่งครบวาระ จะเป็นเดือนเดียวกันกับที่ สว. 2567 หมดวาระ แต่กฎหมายก็กำหนดให้กระบวนการสรรหาจะต้องเริ่ม “ก่อน” หมดวาระอยู่แล้ว ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 19 วรรคท้าย กำหนดให้กระบวนการสรรหา กสม. คนใหม่ แทนที่คนที่ดำรงตำแหน่งครบวาระ จะต้องเริ่มภายใน 150 วันก่อนวันที่ กสม. คนนั้นดำรงตำแหน่งครบวาระ

พิจารณาตามกรอบเวลาในกฎหมายแล้ว กระบวนการสรรหา กสม. คนใหม่แทนที่ สุภัทรา นาคะผิว จะต้องเริ่มประมาณช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2572 เมื่อผ่านกระบวนการรับสมัคร-สรรหาแล้ว ก็จะเสนอชื่อต่อไปยังที่ประชุม สว. และตั้งกมธ.สอบประวัติฯ ซึ่งใช้ระยะเวลาไม่เกิน 60 วัน จากนั้นจึงส่งให้ สว. ให้ความเห็นชอบ

เลือกผู้ตรวจการแผ่นดินคนใหม่หมด 3 ตำแหน่ง

ผู้ตรวจการแผ่นดิน จะมีกรรมการน้อยกว่าองค์กรอิสระอื่นๆ ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 228 กำหนดให้มีผู้ตรวจการแผ่นดินจำนวนสามคน และมีวาระดำรงตำแหน่งเจ็ดปีนับแต่ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ตามมาตรา 229 มีอำนาจหน้าที่สำคัญคือการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือไม่เป็นธรรมจากการใช้อำนาจของหน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐ

ตลอดอายุการทำงานห้าปีของ สว. จะสามารถเลือกผู้ตรวจการแผ่นดินใหม่ได้ทั้งสามตำแหน่ง เพราะมีผู้ที่อายุครบ 70 ปีและผู้ที่ดำรงตำแหน่งครบวาระ ดังนี้

1) รองศาสตราจารย์อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ มีอายุครบ 70 ปี

2) สมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งฯ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2561 ดำรงตำแหน่งครบวาระในเดือนพฤศจิกายน 2568

3) ทรงศัก สายเชื้อ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงดำแหน่งเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2564 ดำรงตำแหน่งครบวาระเป็นคนสุดท้ายในเดือนพฤศจิกายน 2571

ไม่ให้ความเห็นชอบไปแล้ว 1 ราย

สำหรับตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะแทนที่รองศาสตราจารย์อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ เมื่อ 24 กันยายน 2567 คณะกรรมการสรรหาเสนอชื่อรื่นวดี สุวรรณมงคล อดีตอธิบดีกรมคุมประพฤติและอดีตอธิบดีกรมบังคับคดีต่อที่ประชุม สว. หลังจากตั้งกมธ.สอบประวัติฯ แล้วเมื่อ 23 ธันวาคม 2567 ต่อมา 18 กุมภาพันธ์ 2568 สว. มีมติ “ไม่ให้ความเห็นชอบ” รื่นวดี ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน เท่ากับว่า คณะกรรมการสรรหาจะต้องสรรหาและเสนอชื่อต่อที่ประชุม สว. อีกครั้ง โดยผู้ที่ไม่ได้รับความเห็นชอบ จะไม่สามารถเข้ารับการสรรหาได้อีก (พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ 2560 มาตรา 13 วรรคสอง)

ตารางแสดงผลการลงมติให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน
วันที่ผู้ได้รับการเสนอชื่อมติวุฒิสภาคะแนนเสียง
เห็นชอบไม่เห็นชอบงดออกเสียงไม่ลงคะแนนเสียง
18 กุมภาพันธ์ 2568รื่นวดี สุวรรณมงคลเห็นชอบ1813027

สว. มีอำนาจเห็นชอบ กสทช. – ข้าราชการระดับสูงหลายองค์กร

นอกจากอำนาจให้ความเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 2560 แล้ว สว. ยังมีอำนาจให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในบางองค์กรที่กฎหมายระดับพระราชบัญญัติกำหนดไว้ เช่น ประธานศาลปกครองสูงสุดและตุลาการศาลปกครองสูงสุด อัยการสูงสุด กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

ประธาน-ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

ศาลปกครอง จัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2540 มีอำพิจารณาคดีทางปกครอง กรณีเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือกระทำละเมิด โดยศาลปกครองมีสองชั้น คือ 1) ศาลปกครองชั้นต้น ซึ่งประกอบด้วยศาลปกครองกลางและศาลปกครองในภูมิภาค และ 2) ศาลปกครองสูงสุด

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ) กำหนดให้ตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด และตุลาการศาลปกครองสูงสุด ต้องได้รับความเห็นชอบจาก สว. สำหรับตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด มาตรา 15/1 กำหนดไว้ว่า ให้คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.)  พิจารณาคัดเลือกตุลาการในศาลปกครองสูงสุดคนหนึ่งเป็นประธานศาลปกครองสูงสุด แล้วเสนอชื่อต่อนายกรัฐมนตรี และให้นายกฯ นำเสนอขอความเห็นชอบต่อ สว. ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับการเสนอชื่อ

เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 ที่ประชุม สว. ให้ความเห็นชอบประธานศาลปกครองสูงสุดแล้วหนึ่งคน คือ ประสิทธิ์ศักดิ์ มีลาภ โดยผู้สมควรตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด เคยเข้าสู่การพิจารณาของ สว. ชุดพิเศษมาแล้วเมื่อ 1 เมษายน 2567 คือ วิษณุ วรัญญู แต่ สว. ชุดพิเศษ ไม่ให้ความเห็นชอบ จึงนำมาสู่การเสนอชื่อบุคคลใหม่และเข้าสู่การพิจารณาใน สว. 2567

ตารางแสดงผลการลงมติให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด
วันที่ผู้ได้รับการเสนอชื่อมติวุฒิสภาคะแนนเสียง
เห็นชอบไม่เห็นชอบงดออกเสียงไม่ลงคะแนนเสียง
3 กันยายน 2567ประสิทธิ์ศักดิ์ มีลาภเห็นชอบ1641791

ส่วนตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 15 กำหนดว่า ก.ศป. จะต้องนำรายชื่อผู้ที่ได้พิจารณาคัดเลือกเหมาะสมที่จะแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุด เสนอต่อนายกฯ เพื่อให้นายกฯ นำรายชื่อดังกล่าวขอความเห็นชอบต่อ สว. ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับการเสนอชื่อ

เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ประชุมวุฒิ สว. ได้ให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดแล้วหนึ่งคน คือ ร.ต.ท.หญิง สุทธิมา พิพัฒน์พิบูลย์

ตารางแสดงผลการลงมติให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด
วันที่ผู้ได้รับการเสนอชื่อมติวุฒิสภาคะแนนเสียง
เห็นชอบไม่เห็นชอบงดออกเสียงไม่ลงคะแนนเสียง
24 กุมภาพันธ์ 2568ร.ต.ท.หญิง สุทธิมา พิพัฒน์พิบูลย์เห็นชอบ143137

อัยการสูงสุด

นอกจากศาลและตำรวจ อัยการก็เป็นอีกหนึ่งในองคาพยพที่สำคัญต่อกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะในคดีอาญาหรือคดีที่หน่วยงานรัฐเป็นจำเลย ตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 (พ.ร.บ.องค์กรอัยการฯ) กำหนดโครงสร้างองค์กรอัยการประกอบด้วย คณะกรรมการอัยการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ (ก.อ.) อัยการสูงสุด และพนักงานอัยการอื่น ในบรรดาตำแหน่งพนักงานอัยการทั้ง 18 ตำแหน่ง ตามมาตรา 9 อัยการสูงสุดเป็นตำแหน่งที่มีลำดับชั้นสูงสุด มีอำนาจในฐานะผู้บริหารสำนักงานอัยการสูงสุด นอกจากนี้ อัยการสูงสุดยังมีอำนาจหน้าที่เฉพาะตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เช่น อำนาจสอบสวนคดีและสั่งฟ้องคดีอาญาซึ่งมีความผิดตามกฎหมายไทยที่ได้ทำนอกราชอาณาจักร (มาตรา 20)

ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดได้ ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจาก สว. ด้วย พ.ร.บ.องค์กรอัยการฯ มาตรา 10 กำหนดว่า การแต่งตั้งและพ้นจากตำแหน่งของอัยการสูงสุดต้องเป็นไปตามมติของ ก.อ. และได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม สว. และให้ประธาน สว. เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งอัยการสูงสุด

ในการประชุม สว. เมื่อ 3 กันยายน 2567 มีมติให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดแล้วหนึ่งคน คือ ไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ

ตารางแสดงผลการลงมติให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด
วันที่ผู้ได้รับการเสนอชื่อมติวุฒิสภาคะแนนเสียง
เห็นชอบไม่เห็นชอบงดออกเสียงไม่ลงคะแนนเสียง
3 กันยายน 2567ไพรัช พรสมบูรณ์ศิริให้ความเห็นชอบ18429

กสทช.

กสทช. เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 (พ.ร.บ.กสทช. ฯ) ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่กิจการวิทยุ โทรทัศน์ โทรคมนาคมโดยตรง รวมถึงพิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่ดังกล่าว

กสทช. ประกอบไปด้วยกรรมการเจ็ดคน เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกิจการกระจายเสียง ด้านกิจการโทรทัศน์ ด้านกิจการโทรคมนาคม ด้านละหนึ่งคน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคหรือส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ด้านละหนึ่งคน และด้านอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ สองคน

กสทช. มีวาระดำรงตำแหน่งหกปี และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว  โดยผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งกสทช. จะมาจากการสรรหาโดยคณะกรรมการ ประกอบด้วย

1) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หนึ่งคน

2) ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาหรือผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา หนึ่งคน

3) ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด หนึ่งคน

4) กรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุม ป.ป.ช. หนึ่งคน

5) กรรมการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุม คตง. หนึ่งคน

6) ผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน หนึ่งคน

7) ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ผู้ที่จะเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ กสทช. ต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา 14/2 แห่งพ.ร.บ.กสทช. ฯ และจะผ่านด่านคณะกรรมการสรรหาได้ ต้องได้รับคะแนนเสียงถึงสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ (มาตรา 15 วรรคห้า) หลังจากคณะกรรมการสรรหาลงมติคัดเลือกแล้ว จะต้องเสนอรายชื่อให้ที่ประชุม สว. เพื่อให้ความเห็นชอบ ผู้ที่จะได้เป็นกรรมการ กสทช. ต้องได้รับความเห็นชอบจาก สว. ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของ สว. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ (มาตรา 16)

เลขาธิการ ปปง.

แม้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. จะออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 38/2560 แก้ไขพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 จากเดิมที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) คัดเลือก จะต้องได้รับความเห็นชอบจาก สว. แก้ไขเป็นไม่ได้ระบุว่าต้องได้รับความเห็นชอบจาก สว. แล้ว แต่ยังมีอีกตำแหน่งสำคัญในองค์กรดังกล่าว ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจาก สว. อยู่ คือตำแหน่ง เลขาธิการ ปปง. ที่มีบทบาทสำคัญคือเป็นผู้บริหารสำนักงาน ปปง. โดยมาตรา 41 และมาตรา 42 กำหนดว่า ให้เลขาธิการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ทำหน้าที่ควบคุมดูแลสำนักงานปปง.และเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้าง ซึ่งปฏิบัติงานในสำนักงานขึ้นตรงต่อนายกฯ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจาก สว. ด้วย

เลขาธิการ ป.ป.ท.

ตามพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 เดิมกำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ประกอบด้วยประธานและกรรมการไม่เกินห้าคน ซึ่งครม. แต่งตั้งโดยได้รับความเห็นชอบจาก สส. และ สว. แต่การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายในปี 2559 ส่งผลให้นับแต่นั้นมาตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ท. ก็ไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติอีก

อย่างไรก็ดี ตำแหน่งเลขาธิการป.ป.ท. ซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ทำหน้าที่ควบคุมดูแลและรับผิดชอบการปฏิบัติราชการของสำนักงานต่อคณะกรรมการ ป.ป.ท. และเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสำนักงาน ยังต้องได้รับความเห็นชอบจากสว. โดยให้ป.ป.ท. คัดเลือก เสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อส่งให้ สว. ให้ความเห็นชอบต่อไป (มาตรา 51/1)

เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

พระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 มาตรา 63 วรรคสาม กำหนดให้เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลราชการของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จะต้องได้รับความเห็นชอบจาก สส. และ สว. ตามลำดับ แต่ถ้าหากรัฐสภามีแค่สภาเดียว ก็ให้ได้รับความเห็นชอบของสภานั้น