2 เมษายน 2568 เวลา 11:00 น. คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาเรื่องการย้ายผู้ต้องขังโดยไม่สมัครใจและการใช้ความรุนแรง โดยมีผู้เข้าร่วมจากฝ่ายผู้ร้องเรียน เช่น พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ทนายความของเก็ท-โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง พิชญา เกตุอุดม ตัวแทนครอบครัวของเก็ท-โสภณ และปฏิมา แฟนของบุ๊ค-ธนายุทธ ณ อยุธยา และฝ่ายผู้ชี้แจงเข่น ตัวแทนกรมราชทัณฑ์และเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ที่มาที่ไปของคำร้องนี้คือ การบังคับย้ายเรือนจำของก้อง-อุกฤษฎ์ สันติประสิทธิ์กุล บุ๊ค-ธนายุทธและสถาพร โดยมีเก็ท-โสภณเข้าไปช่วยเหลือและร่วมกันทำอารยะขัดขืนเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568

ตัวแทนกรมราชทัณฑ์ชี้แจงว่า ในการประชุมคณะกรรมการราชทัณฑ์เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2568 ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีนโยบายขับเคลื่อนเรือนจำระหว่างการพิจารณาของกรุงเทพมหานคร โดยกำหนดให้เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเป็นเรือนจำนำร่องโดยมีการกำหนดว่า ให้เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ คุมขังผู้ต้องขังระหว่างการสอบสวนในชั้นตำรวจและชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นในคดีทั่วไปและคดียาเสพติด โดยก่อนมีนโยบายดังกล่าวผู้ต้องในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯมีอยู่ประมาณ 3,500 คน กลุ่มเป้าหมายหรือแผนในการย้ายคือ นักโทษเด็ดขาด 2,000 คน ผู้ต้องขังระหว่างการอุทธรณ์และฎีกาจะย้ายออก 900 คน ในจำนวนนี้ 400 คนไปที่เรือนจำคลองเปรมอีก 500 คนไปที่เรือนจำบางขวาง
วินิจ อ่อนพร้อม ผู้อำนวยการส่วนควบคุมผู้ต้องขัง เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า เขาอยู่ในเหตุการณ์การย้ายผู้ต้องขังทางการเมืองวันที่ 19 มีนาคม 2568 เจ้าหน้าที่ทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ใช้กำลังและไม่ได้ทำร้ายเลย เมื่อเจ้าหน้าที่อธิบายการย้ายเรือนจำ ปรากฏว่า เขาไม่รับฟัง มีการทิ้งตัวลงนอน เขาระบุว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้ไปกดหัว พยุงตัวขึ้นด้วยซ้ำและพาเก็ท-โสภณกลับแดนเนื่องจากไม่มีรายชื่อย้าย ส่วนอีกสามคนที่มีรายชื่อได้แก่ ก้อง-อุกฤษฎ์ สันติประสิทธิ์กุล บุ๊ค-ธนายุทธและสถาพร เจ้าหน้าที่พยุงตัวให้ไปนั่งที่แถวเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง หลังจากนั้นมีการร้องเรียนเรื่องการทำร้ายร่างกาย ต่อมาจึงสั่งให้สถานพยาบาลไปตรวจร่างกาย ปรากฏว่า ทั้งสี่คนไม่มีแผลใดๆทั้งสิ้น
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ทนายความของเก็ท-โสภณ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงตามเวชระเบียนเก็ท-โสภณมีบาดแผลที่สีข้าง ขณะที่ปฏิมาระบุว่า ครอบครัวของธนายุทธไปเยี่ยมเขาก็ พบว่า เขาปากแตกและมีรอยถลอกตามตัว
ชลธิชา แจ้งเร็ว กรรมาธิการ ระบุว่า เข้าใจนโยบายในการแยกผู้ต้องขังระหว่างผู้ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีและถึงที่สุดแล้ว ซึ่งเป็นนโยบายที่หลายฝ่ายเห็นด้วยกัน อย่างไรก็ตามการดำเนินนโยบายต้องคำนึงหลายมิติ เธอถามถึงเกณฑ์การส่งผู้ต้องขังไปที่เรือนจำคลองเปรมและบางขวาง และความเป็นไปได้ของการเปิดเผยกล้องวงจรปิด
ประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ ระบุว่า เขาเคยถูกควบคุมตัวในช่วงปี 2519 “เขาจะย้ายไปไหน เขาจะเอาไปที่ไหน…ไม่มีการต่อสู้ขัดขวางความบาดเจ็บก็ไม่มี จะเป็นคดีการเมืองหรือคดีอะไรก็ตามหมายความว่า ผู้ต้องขังต้องได้รับการคุ้มครอง มีการย้ายผู้ต้องขังจำนวนมากๆก็ไม่มีปัญหา มีปัญหาบางคน บางกลุ่ม โดยสมัครใจหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นที่จะเป็นเหตุที่มาเป็นข้อโต้แย้ง…” เขามองว่า การประชุมเหมือนเป็นการมาเถียงกัน ตัวแทนราชทัณฑ์ที่มาวันนี้ก็เป็นผู้ปฏิบัติไม่ได้เป็นผู้วางกฎเกณฑ์ พร้อมทั้งขอให้ผู้ร้องเรียนพูดให้ชัดเจนว่า ต้องการอะไรและต้องการให้คณะกรรมาธิการทำอะไร พรเพ็ญระบุว่า ต้องการความปลอดภัยในเนื้อตัวร่างกาย หลักประกันในสิทธิระหว่างที่ถูกคุมขังภายใต้การคุมขังของราชทัณฑ์
นนทรัตน์ หอมศรีประเสริฐ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการและอดีตผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษมีนบุรี ซึ่งเป็นเรือนจำต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทยที่แยกผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณา เรือนจำบางขวางเป็นเรือนจำที่มีความมั่นคงสูงและรับโทษตั้งแต่ 50 ปีจนถึงประหารชีวิต เขาระบุว่า ไม่ทราบว่าคดีการเมืองที่ย้ายไปเรือนจำบางขวางมีโทษเท่าไหร่ แต่การย้ายไปเรือนจำใกล้กันถือว่า ดี แต่หากย้ายออกนอกเขตกรุงเทพมหานครอาจจะเดือดร้อนมากกว่านี้ ทั้งนี้แนวปฏิบัติของการย้ายผู้ต้องขังจะไม่มีการแจ้งล่วงหน้าเนื่องจากเป็นเรื่องความปลอดภัย
พิชญา เกตุอดุม ตัวแทนครอบครัวของเก็ท-โสภณ กล่าวว่า มีผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 คือทีปกรถูกย้ายไปเรือนจำพระนครศรีอยุธยา ทำให้ครอบครัวไม่สามารถตามไปเยี่ยมได้ มีกรณีผู้ต้องขังที่หากเป็นแฟนก็ไม่สามารถเยี่ยมได้เนื่องจากทางเรือนจำจะอนุญาตให้เฉพาะคนในครอบครัวนามสกุลเดียวกันหรือต้องจดทะเบียนสมรสเข้าเยี่ยมได้เท่านั้น อีกประเด็นหนึ่งบุ๊ค-ธนายุทธที่มีโทษเหลือเพียงไม่กี่เดือน แต่กลับถูกย้ายไปที่เรือนจำกลางบางขวางที่เป็นเรือนจำความมั่นคงสูง
ตัวแทนกรมราชทัณฑ์ตอบคำถามชลธิชาเรื่องการกำหนดเกณฑ์การย้ายเรือนจำว่า ในการประชุมกำหนดกลุ่มดังนี้
- กลุ่มที่หนึ่ง ที่ต้องอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯก็คือกลุ่มระหว่างสอบสวนในชั้นตำรวจ และไต่สวนพิจารณาในศาลชั้นต้น และกลุ่มผู้ต้องขังเด็ดขาด 700 คนที่มีนโยบายคงไว้ร้อยละ 20
- กลุ่มที่สอง ที่จะต้องย้ายเรือนจำคือ ผู้ต้องขังระหว่างชั้นอุทธรณ์และฎีกา แยกเป็นเรือนจำกลางคลองเปรม 400 คนและเรือนจำกลางบางขวาง 500 คนและกลุ่มผู้ต้องขังเด็ดขาด 1,300 คน ส่วนการแบ่งเรือนจำกลางคลองเปรมและบางขวางจะขึ้นอยู่กับเขตอำนาจศาล
ธนกฤต แก้วบุญทอง ผู้อำนวยการส่วนควบคุมผู้ต้องขัง เรือนจำกลางบางขวาง กล่าวว่า ในขั้นตอนการรับตัวผู้ต้องขังจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อมาถึงจะมีแพทย์ตรวจร่างกาย ซึ่งจะทำให้เห็นร่องรอยการทำร้าย ในส่วนของการบริหารจัดการ กระบวนการแรกรับจะนำผู้ต้องขังแยกแดนเพื่อให้มีความสะดวก ในส่วนของคดีการเมืองมีทั้งหมดหกคนที่ต้องการอยู่รวมกัน จึงกำหนดให้ทั้งหมดอยู่รวมกันที่แดนหนึ่ง ซึ่งเขามีการพูดคุยกับทั้งธนายุทธและเพื่อนๆเช่น เชน ชีวอบัญชา
ในตอนท้ายทางกรรมาธิการมีความเห็นว่า กรมราชทัณฑ์ควรเปิดเผยกล้องวงจรปิดในช่วงเหตุการณ์ย้ายเรือนจำที่เป็นประเด็นอยู่เพื่อความโปร่งใสและข้อมูลเวชระเบียนของผู้ต้องขัง ซึ่งเป็นวัตถุพยานที่สำคัญ และให้ทำเอกสารชี้แจงเพื่อเป็นหลักฐานแก่กรรมาธิการได้แก่ เงื่อนไขและคุณสมบัติของผู้ถูกย้าย ขั้นตอนการย้ายและเกณฑ์การพิจารณา การเข้าเยี่ยมและการส่งต่อข้อมูลเอกสารและภาพจากกล้องวงจรปิดและเวชระเบียน