เสนอเปิดเว็บไซต์ฐานข้อมูลมลพิษให้ประชาชนวางแผนรับมือเอง ด้วยร่างกฎหมาย PRTR

ลองจินตนาการว่า อากาศที่เราสูดดมในตอนนี้เต็มไปด้วยมลพิษ น้ำ และอาหารที่เรากินในทุกวันปนเปื้อนสารเคมี โดยที่เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า มลพิษนั้นเกิดจากสารเคมีใด สะสมมานานเท่าไร มีแหล่งกำเนิดหลักมาจากที่ไหน และใครบ้างต้องรับผิดชอบกับมลพิษที่เกิดขึ้น แต่สถานการณ์นี้ไม่ได้ไกลเกินที่จะต้องจินตนาการเพราะเป็นสถานการณ์จริงของสิ่งแวดล้อมในบ้านเรา คงจะดีกว่าหากมีกฎหมายที่ป้องกัน และแก้ไขปัญหาการรั่วไหลของมลพิษจากฝีมือมนุษย์ได้

แม้จะมีกฎหมายที่กำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมต้องรายงานข้อมูลสารเคมีอันตรายต่อรัฐอยู่แล้ว เช่น ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยเรื่องการรายงานชนิดและปริมาณสารมลพิษที่ระบายออกจากโรงงาน แต่ไม่ได้มีกฎหมายที่บังคับให้ต้องเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ต่อสาธารณชน ประชาชนจึงได้แต่รอข้อมูลเท่าที่ภาครัฐจะเปิดเผยให้ทราบได้เท่านั้น

ภาคประชาชนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม จึงถอดบทเรียนปัญหาการขาดแคลนข้อมูล และจัดทำข้อเสนอเป็นร่าง พ.ร.บ.การรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ ซึ่งใช้ชื่อที่ลอกแบบมาจากกฎหมายต่างประเทศว่า Pollutant Release and Transfer Register หรือใช้คำเรียกย่อว่า กฎหมาย PRTR และชวนกันเข้าชื่อประชาชนจนได้ครบ 10,000 ชื่อ นำเสนอร่างกฎหมายนี้ต่อรัฐสภา ด้วยความหวังว่า ประเทศไทยจะมีมีฐานข้อมูลของสารเคมีอันตรายที่เข้าถึงง่าย และแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนของมลพิษในสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

ไอลอว์ พูดคุยกับ สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) ผู้อยู่เบื้องหลังการเสนอร่างกฎหมาย PRTP เพื่อให้เข้าใจถึงที่มาที่ไป เนื้อสาระของร่างกฎหมาย รวมทั้งความท้าทาย และอุปสรรคในการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้

ย้อนเหตุการณ์มลพิษรั่วไหล ซ้ำแล้วซ้ำเล่า สังคมขาดข้อมูล

สุภาภรณ์ เล่าว่า มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) ทำงานในประเด็นทางกฎหมายที่เกิดจากกรณีการปนเปื้อนทางมลพิษมาตลอด เช่น อุบัติภัยการรั่วไหลของโคลบอลต์-60 ไปสู่คนเก็บของเก่าขายในปี พ.ศ. 2543, การลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมในพื้นที่ชุมชนเกษตร ต.หนองแหน ฉะเชิงเทรา ในปี พ.ศ. 2555, กรณีไฟไหม้โรงงานหมิงตี้ที่เต็มไปด้วยสารสไตรีนติดไฟ ในปี พ.ศ.2564, การขนย้ายกากแคดเมียม ในปี พ.ศ.2567 ฯลฯ

ประสบการณ์จากการทำงานเรื่องสิทธิชุมชนของสุภาภรณ์มากกว่า 24 ปี ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาการปนเปื้อนของสารเคมีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล้วนเกิดจากอุปสรรคที่สังคมไม่รู้ว่า โรงงานอุตสาหกรรมแต่ละแห่งทำการครอบครอง ผลิต หรือขนย้ายสารเคมีอันตรายอะไรบ้าง ส่งผลให้เกิดความไม่เข้าใจในการรับมือกับเหตุการณ์ ทำให้สุภาภรณ์เห็นความจำเป็นว่า ประเทศไทยต้องมีกฎหมาย PRTP 

ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์โคบอลต์-60 ที่สมุทรปราการ ไม่มีการให้ข้อมูลต่อประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงว่า มีสารเคมีที่รุนแรงและส่งผลต่อชีวิต จึงมีผู้ลักลอบเก็บซากเครื่องฉายรังสีชนิดนี้ไปแยกชิ้นส่วนและขายต่อ ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 3 ราย เจ็บป่วยรวมไปถึงพิการกว่า 10 ราย หรือเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานหมิงตี้เคมิคอล ที่สมุทรปราการ เจ้าหน้าที่ไม่สามารถดับเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากไม่ทราบว่า ไฟที่ไหม้เกิดจากสารเคมีชนิดใด เพราะไม่ใช่สารเคมีทุกตัวจะสามารถจัดการด้วยน้ำได้ และไม่ทราบว่าหลังจากดับไฟเสร็จแล้ว ยังมีสารเคมีใดหลงเหลืออยู่ในพื้นที่อีกบ้าง

“…อีกกรณีที่สะเทือนใจมากก็คือ แคดเมียมที่แม่ตาว (อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก) ที่นั่นมีการปนเปื้อนสารแคดเมียมในพื้นดินที่ชาวบ้านต้องปลูกข้าว แล้วก็ไปสะสมในข้าว คนในพื้นที่เหมือนกินสารพิษไปทุกวันนะ รัฐรู้ สังคมรู้ แต่ชาวบ้านก็ต้องกิน พวกเขาไม่ได้มีเงินที่จะไปซื้อข้าวอื่นมากิน เขาก็รู้สึกว่า ถ้าเขาไม่กินเขาตายเลย แต่เขากินเพื่อยังมีชีวิตอยู่ …” สุภาภรณ์กล่าว

ภาครัฐอ่อนแอ กฎหมายล้าสมัย แก้ไขปัญหามลพิษไม่ได้

ประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมมลพิษอยู่แล้ว ฉบับที่ใช้เป็นหลักในทุกเรื่องก็คือ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และอีกหลายฉบับที่แยกกันไปตามแต่ละประเด็น แต่สุภาภรณ์เห็นว่า อุปสรรคในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม คือ การบังคับใช้กฎหมายเพื่อปราบปรามหรือดำเนินการกับผู้กระทำความผิดให้ได้ผลจริง

“…ครั้งหนึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะเข้าไปตรวจโรงงาน แล้วปรากฏว่าถูกชายชุดดำไม่ให้เข้า อ้างว่าเป็นการบุกรุก อธิบดีก็ต้องไปร้องศาล แล้วก็มีประสานกำลังกับหน่วยงานหลายๆ หน่วยงาน เมื่อมีคำสั่งแล้วก็เข้าไปตรวจ ขนาดเจ้าหน้าที่กรมโรงงานฯ ยังเข้าไม่ได้ ถามว่าแล้วใครจะตรวจสอบได้ ชาวบ้านเดือดร้อนจะไปพึ่งใคร…” สุภาภรณ์ ยกตัวอย่าง

สุภาภรณ์เล่าสถานการณ์ด้วยว่า ระหว่างที่ภาครัฐประสบกับปัญหากำลังพลไม่เพียงพอในการไปติดตามควบคุม แต่ความย้อนแย้งคือ ภาครัฐยังคงออกใบอนุญาตกิจการที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ได้คำนึงว่าพื้นที่ดังกล่าวสามารถรองรับสารมลพิษได้มากน้อยเพียงใด ทำให้แม้ว่า ประเทศไทยจะมีการประกาศเขตควบคุมมลพิษ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ปัญหาถูกแก้ไขอย่างยั่งยืน

เปิดเผยข้อมูลสารก่อมลพิษเพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ

สุภาภรณ์ อธิบายว่า แม้กฎหมายหลายฉบับที่มีอยู่แล้วกำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมต้องรายงานข้อมูลสารเคมี แต่ข้อมูลดังกล่าวกลับไม่ถูกเอามาประมวลแล้วเปิดเผยให้ประชาชนเข้าถึง หากประชาชนต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับสารก่อมลพิษ ก็ต้องมีคำร้องส่งไปขอจากทางหน่วยงานราชการแบบเป็นรายกรณี ซึ่งสร้างความยุ่งยากและเพิ่มภาระให้กับประชาชน คนทั่วไปที่ต้องการจะค้นหาข้อมูลก็อาจหาไม่ได้

ประสบการณ์อีกด้านหนึ่งของสุภาภรณ์ คือ หน่วยงานรัฐมักจะไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลสารมลพิษให้แก่ประชาชน เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการละเมิดความลับทางการค้าของผู้ประกอบการ เป็นการเพิ่มอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนเข้าไปอีก

สุภาภรณ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา หรือประเทศในยุโรป ฯลฯ ก็มีการใช้กฎหมายทำนองเดียวกับ PRTR ที่เสนอให้โรงงานอุตสาหกรรมต้องเปิดเผยข้อมูลสารก่อมลพิษ ซึ่งประเทศเหล่านั้นเข้มงวดเรื่องความลับทางการค้าทางธุรกิจมากอยู่แล้ว แต่ก็บังคับให้เปิดเผยข้อมูล โดยกฎหมายไม่ได้บอกให้เปิดเผยสูตรในการผลิต แค่ต้องการให้เปิดเผยว่าคุณเก็บอะไรอยู่ แล้วสารเคมีนั้นเข้าข่ายสารเคมีอันตรายตามบัญชีที่รัฐกำหนดไหม ไม่ใช่ว่ามี PRTR แล้ว ทุกโรงงานจะต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับงานของตัวเอง

“…หน่วยงานรัฐในปัจจุบันก็พยายามบอกว่ามี (PRTR) อยู่แล้วในส่วนของเขา เช่น โรงงานก็ต้องส่งรายงานสารมลพิษให้กับกรมโรงงานอยู่แล้ว แต่คำถามคือว่า ส่งแล้วยังไงต่อ? คนที่รู้มีแค่เจ้าหน้าที่ใช่ไหม ถ้าประชาชนอยากรู้ต้องไปขอรายโรงงานใช่ไหม แต่ว่าส่วนสำคัญของ PRTR คือ นอกจากรู้รายโรงงานแล้ว เรารู้มลพิษสะสมด้วย นั่นแหละที่จะนำมาสู่การจัดการที่มีประสิทธิภาพ”

“เวลาเราพูดถึง PM 2.5 ว่าใน กทม. สาเหตุหลักๆ มาจากรถยนต์ ถามว่าแล้วข้อมูลโรงงานคุณมีไหม เพราะ กทม. ก็มีโรงงานอุตสาหกรรม และรอบๆ กทม. ก็มีอุตสาหกรรมรายล้อม แล้วอุตสาหกรรมพวกนั้นก็ก่อให้เกิด PM 2.5 เหมือนกัน คือ เราต้องการที่จะมี PRTR เพื่อรู้แหล่งกำเนิดมลพิษที่ชัดเจนและไปจัดการที่ต้นทาง ไม่ใช่มาแก้ไขปัญหาโดยผลักภาระให้ประชาชนรับผิดชอบสุขภาพตัวเอง ต้องซื้อหน้ากากอนามัยเอง ซื้อเครื่องฟอกอากาศกันเอง แล้วถามว่าคนระดับล่างๆ ที่เขาหาเช้ากินค่ำก็ไม่พออยู่แล้ว เขาจะไปดูแลจัดการสุขภาพของเขาอย่างไร …” สุภาภรณ์ กล่าว

สร้างฐานข้อมูลมลพิษ ประชาชนวางแผนรับมือเองได้ รัฐจัดสรรทรัพยากรตรงจุด

ร่างกฎหมาย PRTR ที่รอคิวการพิจารณาของรัฐสภาอยู่แล้ว กำหนดให้บริษัทหรือโรงงานที่ประกอบอุตสาหกรรมต้องเปิดเผยข้อมูลการครอบครอง การเคลื่อนย้าย การปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม โดยภาครัฐเป็นผู้รวบรวมและจัดทำระบบข้อมูลเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะผ่านเว็บไซต์ ซึ่งสุภาภรณ์มองว่า มาตรการนี้เป็นส่วนสำคัญของการเสนอกฎหมายที่จะส่งผลให้มาตรการที่รัฐเข้าไปกำกับมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากรู้ว่าแหล่งที่มาของสารเคมีมาได้อย่างไร ภาคประชาชนเองก็สามารถเข้าถึงข้อมูลของสารเคมีที่เป็นอันตรายในพื้นที่ต่างๆ ได้ทันทีผ่านระบบออนไลน์ โดยไม่ต้องเขียนคำร้องขอจากหน่วยงานรัฐ ทำให้ประชาชน, เอกชน, ภาครัฐ สามารถรับมือและวางแผนจัดการกับสารมลพิษเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในสังคมได้อย่างถูกวิธี 

ตัวอย่าง หากโรงพยาบาลทราบว่า พื้นที่โดยรอบมีโรงงานที่ปล่อยสารเคมีอะไรออกมาบ้าง, มีวิธีปล่อยอย่างไรบ้าง เช่น ทางน้ำหรือทางอากาศ ข้อมูลเหล่านี้จะสามารถนำไปพิจารณาการออกมาตรการรับมือ, เฝ้าระวังด้านสุขภาพได้ หากรู้ว่า คนไข้ที่ป่วยอยู่ใกล้โรงงานที่มีสารเคมี A ก็อาจสันนิษฐานได้ว่าคนไข้ป่วยเนื่องจากได้รับสารเคมี A และสามารถรับมือได้อย่างถูกต้องทันเวลา หรือหากเกิดอุบัติภัยที่ไม่คาดฝันขึ้นมา เช่น สารเคมีรั่วไหล, เกิดเพลิงไหม้  ประชาชนที่ได้รับผลกระทบสามารถทราบได้ว่าโรงงานดังกล่าวเก็บสารเคมีอะไร, มีวิธีรับมืออย่างไร เจ้าหน้าที่ดับเพลิงก็มีข้อมูลก่อนว่าจะใช้วัสดุในการดับเพลิงอย่างไร

“ในขณะที่ภาครัฐไม่มีกำลังคน ไม่มีงบประมาณ ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเข้มงวด สิ่งเหล่านั้นคือการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ แต่หากเรามี “ฐานข้อมูล” จากสถานการณ์จริง การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ก็จะง่ายยิ่งขึ้น ฐานข้อมูลที่ประมวลภาพรวมจะนำมาสู่การออกแบบการกำกับดูแลและการจัดการเมื่อเกิดเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รัฐบาลจะสามารถจัดสรรทรัพยากรในการแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ โดยไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการใดมาตรการเดียวจากส่วนกลาง”  สุภาภรณ์ กล่าว

อัมรินทร์ สายจันทร์​เจ้าหน้าที่ของ EnLaw อีกคนหนึ่งนำเสนอตัวอย่างของระบบเปิดเผยข้อมูลสารมลพิษของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ทางเว็บไซต์ที่เรียกว่า EPA (U.S. Environmental Protection Agency) ซึ่งเป็นระบบที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจัดทำขึ้นตามกฎหมาย PRTR โดยในหน้าเว็บไซต์จะประกอบไปด้วยข้อมูลสารมลพิษ, โรงงานอุตสาหกรรม, สรุปคุณภาพสิ่งแวดล้อม, สถิติที่สำคัญต่างๆ ที่สามารถหาแบบแยกประเภทได้ เช่น แบ่งตามรัฐ, แบ่งตามเมือง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะทำให้คนเห็นว่าพื้นที่ใดของสหรัฐมีการปล่อยสารมลพิษสูงสุด ซึ่งจะไปสัมพันธ์กับการตั้งถิ่นที่อยู่ หรือการออกแบบผังเมือง เป็นต้น

ภาพจากสไลด์นำเสนอของมูลนิธิบูรณะนิเวศ

“ขนาดเราอยู่ประเทศไทย เรายังดูข้อมูลของอเมริกาได้เลย แต่ของเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าข้าง ๆ บ้านเรา หรือรอบๆ พื้นที่ที่เราอาศัยอยู่กำลังมีสารมลพิษอะไรออกมาให้พวกเราอยู่” อัมรินทร์ แสดงความคิดเห็น

ผู้ก่อมลพิษไม่เคยรับผิดชอบ ต้องเพิ่มโทษอาญา

ในปัจจุบันผู้ที่ก่อมลพิษแทบจะไม่มีใครที่ต้องติดคุกหรือต้องจ่ายเงินเพื่อดูแลจัดการสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเลย แต่กลายเป็นภาระของรัฐในการใช้งบประมาณภาษีของประชาชนเข้ามาฟื้นฟูเยียวยาพื้นที่ที่เกิดความเสียหายแทน จากมุมมองของผู้เสนอกฎหมายนั้นต้องการให้การปกปิดหรือการแจ้งข้อมูลเท็จเป็นโทษอาญา เพราะการดำเนินกิจการหาผลประโยชน์โดยการสร้างความเสี่ยงให้สังคมถือเป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะหากจงใจปกปิดไม่เปิดเผยข้อมูลที่จำเป็น หรือไม่ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงได้กำหนดบทลงโทษที่รุนแรงเอาไว้ เช่น

มาตรา 36 …ผู้ใดรายงานข้อมูลสารมลพิษ หรือข้อมูลอื่นตามที่กฎหมายกำหนด ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดความจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับตั้งแต่ห้าแสนถึงห้าล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“…การที่มัน (สารมลพิษ) ปนเปื้อนไปแล้ว ไม่ใช่แค่ประชาชนต้องกินข้าวปนเปื้อนมลพิษ แต่มันคือทั้งชีวิตของเขา หลายๆ ชีวิตที่คุณ (กลุ่มธุรกิจ) ต้องรับผิดชอบจากการที่แค่คุณไม่ประกอบธุรกิจให้มันเป็นไปตามหลักการทางกฎหมาย เราต้องคิดว่าการกระทำของคุณมันไม่ใช่อุบัติภัย อุบัติเหตุอะไรที่เกิดจากความไม่ตั้งใจ เพราะการประกอบธุรกิจที่มันมีความเสี่ยง แต่คุณจงใจไม่รับผิดชอบ แบบนี้คุณก็ต้องมีความผิด บางคนยังมีคำถามเรื่องโทษอาญาเกี่ยวกับเรื่องจำคุก ในมุมเราคิดว่ามันต้องมีความรับผิดที่ค่อนข้างชัดเจน และการลงโทษเป็นส่วนหนึ่งที่จะเป็นมาตรการเชิงป้องปรามไม่ให้เกิดลักษณะนี้ด้วย เพราะแม้กฎหมายจะดูเรื่องแค่เปิดเผยข้อมูล แต่ปลายทางของมันคือการที่คุณก่ออาชญากรรม ด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้กับคนและชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่มันยากต่อการแก้ไข ในมุมหนึ่งมันก็ต้องมีโทษที่เขาจะต้องรับผิดชอบตรงนี้ด้วย…”

กลุ่มธุรกิจเห็นด้วยให้มีฐานข้อมูลมลพิษ ป้องกันข้อกล่าวหาว่าเป็นตัวร้ายได้

สุภาภรณ์ ให้ข้อมูลว่าในระหว่างการยกร่างกฎหมาย มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มธุรกิจที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และพบว่า ตัวแทนจากกลุ่มธุรกิจส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะบริษัทที่มีมาตรการตรวจสอบสารเคมีที่ดีอยู่แล้ว เพราะบริษัทเหล่านั้นมีความรู้สึกว่า หากมีกฎหมายที่จัดทำระบบเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ จะทำให้พวกเขาออกตัวได้ง่ายขึ้นในกรณีที่เกิดปัญหาสารเคมีปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม 

ยกตัวอย่าง สมมุติว่าพื้นที่มาบตาพุด มีโรงงาน 100 แห่ง แล้วเกิดปัญหาสารเคมีรั่วไหล หากประชาชนไม่มีข้อมูลก็จะไม่สามารถรู้ได้ว่าโรงงานแห่งใด คือ ตัวการปล่อยมลพิษในครั้งนั้น ซึ่งจะนำไปสู่การเหมารวมว่าโรงงานทั้ง 100 แห่งปล่อยสารพิษทั้งหมด หากประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ว่า โรงงานแห่งใดเก็บสารเคมีอะไรบ้าง เวลาเกิดปัญหาก็จะทำให้สังคมรับรู้ได้ว่า สารพิษดังกล่าวมาจากที่ใด สำหรับโรงงานทำถูกต้อง มีความรับผิดชอบต่อสังคม กฎหมายตัวนี้และระบบฐานข้อมูลที่ดีก็จะเป็นเกราะคอยปกป้องความน่าเชื่อถือของโรงงาน 

นอกจากนี้สุภาภรณ์ยังเชื่อว่า การสร้างระบบฐานข้อมูลยังก่อให้เกิดการแข่งขันในการลดการปล่อยของเสียด้วย เนื่องจากไม่มีบริษัทใดต้องการติดอันดับผู้ปล่อยมลพิษมากที่สุดในประเทศไทย และพวกเขายังสามารถลดต้นทุนในการส่งข้อมูลให้กับรัฐได้ เพราะปัจจุบันบริษัทต้องส่งข้อมูลให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบหลายหน่วยงานซึ่งเป็นการทำงานซ้ำซ้อนกัน ดังนั้นหากมีกฎหมายที่รวบรวมข้อมูลเป็นฐานข้อมูลกลางที่เปิดเผยต่อสาธารณะ หน่วยงานใดต้องการข้อมูลก็เข้ามาใช้งานระบบได้เลย ซึ่งจะช่วยลดภาระของผู้ประกอบการลงด้วย

เสนอเปิดเว็บไซต์ฐานข้อมูลมลพิษให้ประชาชนวางแผนรับมือเอง ด้วยร่างกฎหมาย PRTR

รัฐบาลไม่ใส่ใจ ราชการอ้างไม่พร้อม ทำกฎหมายไม่คืบหน้า

ในฐานะผู้เสนอร่างกฎหมาย สุภาภรณ์ให้ความเห็นว่า รัฐบาลขาดเจตจำนง (Political View) ในการแก้ไขปัญหา ซึ่งปัญหาเกิดจากหน่วยงานรัฐที่อาจจะรู้สึกไม่พร้อมในการจะทำระบบรองรับ เนื่องจากเป็นการเพิ่มภาระหน้าที่ให้เจ้าหน้าที่รัฐที่มีจำนวนเท่าเดิม แต่ปริมาณงานมากขึ้น กฎหมาย PRTR จำเป็นต้องมีระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ซึ่งต้องใช้การประมวลผลและการดูแลสูง แต่ความคิดเห็นส่วนตัวของสุภาภรณ์มองว่า หากรัฐบาลให้ความสำคัญและจริงจังกับเรื่องนี้จริง ก็ต้องตั้งงบประมาณ, ตั้งหน่วยงานพิเศษสำหรับเรื่องนี้ขึ้นมา

“… รู้สึกว่าประเทศเราลงทุนเรื่องอื่นเยอะมาก เรามีงบประมาณในเรื่องการสนับสนุนการลงทุนเยอะมากนะ BOI อะไรต่างๆ แต่กลับไม่มีงบประมาณมาสนับสนุนเครื่องมือป้องกันหรือแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังเลย ไม่เห็นนโยบายเรื่องนี้ที่ชัดเจนเลยว่า เราจะตั้งงบประมาณในเรื่องการประมวลข้อมูลมลพิษ สร้างเจ้าหน้าที่ไปกำกับตรวจสอบติดตามผู้กระทำผิดมารับผิดชอบให้ชัดเจน นโยบายเหล่านี้เราแทบไม่เห็น จากรัฐบาลเลย…” ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมกล่าว

สุภาภรณ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากสารเคมีปนเปื้อนมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น กรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม, กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น ประชาชนเองไม่สามารถรับรู้ได้ว่า หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมีการประสานงานด้านข้อมูลระหว่างหน่วยงานมากน้อยเพียงใด ซึ่งหากมีกฎหมาย PRTR ก็จะทำให้เรื่องนี้ชัดเจนขึ้นว่า หน่วยงานมีหน้าที่ส่งต่อข้อมูลกันเอง

ยืนยันหลักการ ไม่เปลี่ยนเนื้อหาหลักแม้เคยถูกปัดตกมาแล้ว

ร่างกฎหมาย PRTR เคยถูกนำเสนอมาแล้วครั้งหนึ่งโดยสส. พรรคก้าวไกล (เดิม) เคยถูกปัดตกมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยในช่วงปี 2564 มีการตีความว่าร่างกฎหมาย PRTR เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงินมีผลให้ใช้จ่ายงบประมาณ จึงต้องให้นายกรัฐมนตรีรับรองก่อนการบรรจุวาระการประชุมของรัฐสภา แต่นายกรัฐมนตรีขณะนั้น คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่รับรอง ร่างกฎหมายจึงตกไป

เมื่อสอบถามว่า การถูกปัดตกมาแล้วครั้งหนึ่งจะมีผลกระทบต่อร่างกฎหมายใหม่ที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอไปหรือไม่ สุภาภรณ์ ให้ความเห็นว่า การปัดตกร่างกฎหมาย PRTR ไม่สามารถคาดเดาเหตุผลอะไรได้ ดังนั้น จึงไม่ได้ปรับเปลี่ยนร่างกฎหมายเพื่อหลบเลี่ยงไม่ให้เป็นกฎหมายการเงิน เพราะสุดท้ายร่างกฎหมายจะถูกตีความว่าเป็นเรื่องการเงินหรือไม่การเงิน อยู่ที่เจตจำนงทางการเมือง หากรัฐบาลยังไม่พร้อมจะให้กฎหมายนี้ถูกเสนอต่อ เขาก็อาจจะใช้เหตุผลนี้ได้เหมือนกันในการปัดตก คือสื่อสารไปเลยว่า แม้ว่ากฎหมายฉบับนี้จะเข้าข่ายเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน รัฐก็ต้องผลักดัน เพราะสิ่งนี้คือการลงทุนเพื่อดูแลสิทธิของประชาชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในระยะยาว

“… ถ้าตีความว่ามันต้องมีงบประมาณมาจัดการ มันก็ต้องมี คือมันเป็นเรื่องสำคัญที่แม้ว่าจะเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน คุณก็ต้องผลักดันให้กฎหมายฉบับนี้ออกมาไม่ใช่ว่า เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงินแล้วถูกปัดตก แปลว่าคุณไม่สนใจสิทธิในสิ่งแวดล้อมใช่ไหม ไม่สนใจเรื่องสิทธิของประชาชนใช่ไหม…”

อากาศจะสะอาดได้ ก็ต้องมีกฎหมาย PRTR

สุภาภรณ์ อธิบายว่าช่วงที่มีการเปิดตัวร่างกฎหมาย PRTR สังคมเองก็ให้ความสนใจ หรือตอนเหตุการณ์ไฟไหม้ที่หมิงตี้ ทุกคนก็ตั้งคำถามเรื่องนี้ว่า ประเทศไทยถึงเวลาที่จะมีกฎหมาย PRTR ได้หรือยัง แต่ว่าสุดท้ายความสนใจก็มาพร้อมกับกระแสปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นเพราะชื่อกฎหมายที่ดูเข้าใจยาก และเฉพาะทาง ยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับ ร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ที่ชื่อของกฎหมายมีความหมายชัดเจน ทำให้ประชาชนเข้าใจง่าย ทั้งที่ๆ การจะมีอากาศสะอาดได้ ต้องมาคู่กับกฎหมาย PRTR หมายความว่าหากมีกฎหมายที่บังคับให้โรงงานเปิดเผยข้อมูลการครอบครองและการปล่อยสารเคมีต่อสาธารณชน การจัดการมลพิษตาม พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ก็จะทำได้ง่ายยิ่งขึ้น

“…เป็นความท้าทายในฐานะผู้เสนอร่างกฎหมายว่าจะทำยังไงให้เรื่องที่ยังดูเป็นเทคนิค หรือเป็นเรื่องที่ไกลตัวมาเชื่อมโยงกับชีวิตคนทั่วไป แล้วตอบให้ได้ว่าเขาจะได้ประโยชน์อะไรจากการผลักดันกฎหมายนี้ บางพื้นที่ที่เขาก็รู้สึกว่าเขาอาจจะไม่ได้มีอุตสาหกรรมอะไรเยอะเท่าไร สิ่งเหล่านี้จะไปสัมพันธ์หรือสำคัญกับชีวิตเขายังไง อันนี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เวลาเสนอร่างกฎหมายก็จะต้องออกแบบเรื่องการรณรงค์ให้มันง่ายขึ้น” สุภาภรณ์ เล่าถึงความท้าทายในการผลักดัน PRTR ให้เป็นจริง