เปิดราคา “บ้านหลังใหม่” (ที่พังไปแล้ว) ของ สตง. วางงบค่าก่อสร้าง + ค่าคุมงาน 2,210 ล้านบาท

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อ 28 มีนาคม 2568 สำนักงานการตรวจเงิน (สตง.) ซึ่งเป็นหน่วยงานธุรการขององค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากอาคารสำนักงานแห่งใหม่ที่กำลังก่อสร้างอยู่นั้น “ถล่ม” ลงมา

ท่ามกลางข้อสงสัยและกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน วันที่ 1 เมษายน 2568 ก็มีรายงานข่าวจดหมายจากผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน “สูดลมหายใจลึกๆ กุมมือกันให้แน่น และก้าวไปพร้อมๆ กัน” โดยความตอนหนึ่งของจดหมายดังกล่าว ระบุว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อ 28 มีนาคม 268 “นอกจากทำให้ความฝันของเราในการมีบ้านหลังใหม่ที่รอคอยกันมาอย่างยาวนาน พังลงต่อหน้าต่อตาแล้ว ยังส่งผลถึงความน่าเชื่อถือ ศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิที่ร่วมกันสั่งสมกันมา…”

บ้านหลังใหม่ ที่รอคอยกันมาอย่างยาวนานนี้ มีวงเงินงบประมาณในการก่อสร้างเท่าไหร่ ชวนดูข้อมูลจากเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 3 (ขาวคาดแดง) งบประมาณรายจ่ายฉบับปรับปรุง ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เล่มที่ 15

โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ ย่านจตุจักร เป็นโครงการระยะยาวที่ผูกพันงบประมาณหลายปีงบประมาณ โดยมีค่าใช้จ่ายหลักๆ สองก้อน คือ 1) ค่าก่อสร้าง 2) ค่าควบคุมงานก่อสร้างอาคาร

เฉพาะค่าก่อสร้าง วางวงเงินไว้ทั้งสิ้น 2,136,000,000 บาท (สองพันหนึ่งร้อยสามสิบหกล้านบาท) ในจำนวนนี้ วางไว้ว่าจะใช้เงินประมาณที่รัฐจัดสรรให้ตามกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีแต่ละปี จำนวน 1,495,200,000 (หนึ่งพันสี่ร้อยเก้าสิบห้าล้านสองแสนบาท) ที่เหลืออีก 640,800,000 บาท (หกร้อยสี่สิบล้านแปดแสนบาท) มาจากเงินนอกงบประมาณ ซึ่งมาจากรายได้และทรัพย์สินของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเอง เช่น ทรัพย์สินที่มีคนบริจาคให้สำนักงาน รายได้จากค่าธรรมเนียม โดยเงินนอกงบประมาณนี้ เป็นรายได้ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินไม่ต้องนำส่งคลัง ต่างๆ (มาตรา 70 มาตรา 71)

ในวงเงินงบประมาณ 1,495,200,000 บาท ตั้งงบประมาณแต่ละปีงบประมาณไว้ ดังนี้

ปี 2551 – 2565 ตั้งงบประมาณ 691,911,100 บาท

ปี 2566 ตั้งบประมาณ 38,590,200 บาท

ปี 2567 ตั้งงบประมาณ 301,659,500 บาท

ปี 2568 ตั้งงบประมาณ 260,563,600 บาท

นอกจากนี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ยังเสนอว่าจะผูกพันงบประมาณโครงการดังกล่าวต่อในปี งบประมาณ 2569 ในวงเงินงบประมาณ 202,475,600 บาท

ส่วนค่าใช้จ่ายก้อนที่สอง ค่าควบคุมงานก่อสร้างอาคาร วางวงเงินงบประมาณรวมไว้ทั้งสิ้น 74,653,200 (เจ็ดสิบสี่ล้านหกแสนห้าหมื่นสามพันสองร้อยบาท) แบ่งเป็นเงินนอกงบประมาณ 22,396,000 บาท (ยี่สิบสองล้านสามแสนเก้าหมื่นหกพันบาท) และเงินงบประมาณ 52,257,200 บาท (ห้าสิบสองล้านสองแสนห้าหมื่นเจ็ดพันสองร้อยบาท) โดยตั้งงบประมาณแต่ละปีงบประมาณ ดังนี้

ปี 2564 – 2565 ตั้งงบประมาณ 23,225,600 บาท

ปี 2566 ตั้งงบประมาณ 1,451,400 บาท

ปี 2567 ตั้งงบประมาณ 23,847,500 บาท

ปี 2568 ตั้งงบประมาณ 3,732,700 บาท

ทั้งนี้ เมื่อ 30 มีนาคม 2568 สตง. ชี้แจงผ่านเว็บไซต์ว่า กระบวนการก่อสร้างอาคาร สตง. ได้เสนอขออนุมัติงบประมาณรายการค่าก่อสร้าง เป็นจำนวนเงิน 2,560 ล้านบาท และได้รับการอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรี  เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ต่อมาได้ดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างก่อสร้างตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และได้ผู้ชนะการประกวดราคา ได้แก่ กิจการร่วมค้า ไอทีดี – ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด) ซึ่งเป็นผู้เสนอราคารายต่ำสุด ด้วยวงเงิน 2,136 ล้านบาท และได้ดำเนินการเบิกจ่ายมาแล้วทั้งสิ้น 22 งวด เป็นจำนวนเงินที่เบิกจ่าย ไปแล้วทั้งสิ้น 966.80 ล้านบาท (คิดเป็น 45.26% จากวงเงินค่าก่อสร้าง 2,136 ล้านบาท)

ทั้งนี้ คตง. เจ็ดคน ที่มาจากการสรรหาและเห็นชอบโดยวุฒิสภา และมีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (ผู้ว่าสตง.ฯ ) อีกคนหนึ่ง หรือซึ่งมีที่มาจากการสรรหาและเห็นชอบโดยวุฒิสภาเช่นกัน

คตง. หกจากเจ็ดคนคน ชุดก่อนหน้านี้ที่มีพลเอกชนะทัพ อินทามระ เป็นประธาน มาจากการเห็นชอบตั้งแต่ยุคของสภานิติบัญญัติแแห่งชาติ หรือสนช. และสว. ชุดพิเศษที่คสช.​ เลือกมา เห็นชอบกรรมการอีกหนึ่งตำแหน่ง คือ ศิลักษณ์ ปั้นน่วม ส่วนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนปัจจุบัน คือ มณเฑียร เจริญผล ได้รับความเห็นชอบให้เข้าดำรงตำแหน่งโดยสว. ชุดพิเศษที่ คสช. เลือกมา เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 และดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่นั้น

คตง. หกคนหมดวาระการดำรงตำแหน่งลงตั้งแต่ช่วงกลางปี 2567 และมีการเปิดรับสมัครเพื่อสรรหาบุคคลใหม่มาเป็น คตง. โดยกระบวนการสรรหาก็มีตัวแทนจาก “องค์กรอิสระอื่นๆ” มาร่วมกัน และผู้ได้รับการสรรหาก็เป็นคนที่มาจากสตง. เองสองคน มาจากศาลรัฐธรรมนูญ และมาจากป.ป.ช. แต่กระบวนการสรรหาที่เกิดขึ้นนั้นมีข้อครหาว่า อาจไม่ครบองค์ประกอบและไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีผู้สมัครไปฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนกระบวนการสรรหานี้ ซึ่งศาลปกครองรับฟ้องไว้พิจารณา

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 สว. ชุดปี 2567 ที่มาจากการ “แบ่งกลุ่ม-เลือกกันเอง” ก็ได้ลงมติเห็นชอบรายชื่อผู้ถูกเสนอให้เป็นคตง. ไปสี่จากหกคน และไม่เห็นชอบอีกสองคน ซึ่งทั้งสี่รายชื่อที่ผ่านการลงมติของสว. แล้วกำลังอยู่ระหว่างรอการโปรดเกล้าฯ เพื่อเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

สตง. เป็นหนึ่งในองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ แม้จะไม่ได้มีบทบาททางการเมืองมากเท่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)​ หรือไม่ได้มีผลงานโดดเด่นจากการยุบพรรคเท่ากับศาลรัฐธรรมนูญ​หรือไม่มีบทบาทในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยเหตุจริยธรรมเท่ากับคณะกรรมการป้องกันและปราบการทุจริตและประพฤติมิชอบแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สังคมจึงยังได้ยินชื่อเสียงขององค์กรนี้ไม่มากนัก แต่โดยกฎหมายแล้ว “ที่มา” ขององค์กรเหล่านี้ “เหมือนกัน” ทั้งหมด คือ มาจากคณะกรรมการสรรหาชุดเดียวกันที่แต่ละองค์กรจะส่งคนมาคัดเลือกกัน และให้สว. เป็นผู้เห็นชอบ โดยสว. แต่ละชุดก็มีที่มาแบบพิเศษตามรัฐธรรมนูญนี้ เป็นวงจรการเลือกกันไปเลือกกันมาและไม่ตรวจสอบกันเองระหว่างผู้มีอำนาจทางการเมืองและองค์กรที่ถูกคาดหมายให้เป็น “อิสระ” เหล่านี้