แผ่นดินไหว ใครรับมือ? เปิดกฎหมายและงบกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย-กรมอุตุนิยมวิทยา

วันที่ 28 มีนาคม 2568 เวลาประมาณ 13:20 น. มีรายงานข่าวถึงสถานการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมา และมีแรงสั่นสะเทือนหลายจังหวัดในประเทศไทย ทั้งในบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพและปริมณฑล นอกจากนี้ ในวันดังกล่าว ยังมีรายงานข่าวว่าอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่กำลังก่อสร้างพังถล่มลงมา และมีคนงานก่อสร้างที่ติดอยู่ภายในอาคาร

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ชวนดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานใดที่ต้องรับมือกรณีที่เกิดสาธารณภัยบ้าง และสำรวจงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 มีงบประมาณองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

เปิดกฎหมาย มหาดไทยรับผิดชอบหลักเมื่อมีภัยสาธารณะ

กฎหมายที่กำหนดมาตรการและกลไกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยโดยตรง คือ พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 (พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย และมีอำนาจออกกฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับและประกาศเพื่อปฏิบัติการตามกฎหมายนี้

คำว่า สาธารณภัย ตามพ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ หมายความว่า อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ภัยแล้ง โรคระบาดในมนุษย์ โรคระบาดสัตว์ โรคระบาดสัตว์น้ำ การระบาดของศัตรูพืช รวมถึงภัยอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อสาธารณชน ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติ มีผู้ทำให้เกิดขึ้น อุบัติเหตุ หรือเหตุอื่นใด ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายของประชาชน หรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน หรือของรัฐ รวมถึงภัยทางอากาศ และการก่อวินาศกรรม

พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ กำหนดให้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งเป็นกรมภายใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทย (ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 มาตรา 31 (6) ประกอบมาตรา 30) เป็นหน่วยงานกลางของรัฐ ในการดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของประเทศ โดยมีอำนาจหน้าที่หลักๆ คือ

  1. จัดทำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติเสนอคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) เพื่อขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี โดยการจัดทำแผนการดังกล่าว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะต้องร่วมกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภทมาปรึกษาหารือและจัดทำ  จะจัดให้หน่วยงานภาคเอกชนเสนอข้อมูลหรือความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาในการจัดทำแผนด้วยก็ได้
  2. จัดให้มีการศึกษาวิจัยเพื่อหามาตรการในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้มีประสิทธิภาพ
  3. ปฏิบัติการ ประสานการปฏิบัติ ให้การสนับสนุน และช่วยเหลือหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานภาคเอกชน ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และให้การสงเคราะห์เบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัย ผู้ได้รับภยันตราย หรือผู้ได้รับความเสียหายจากสาธารณภัย
  4. แนะนำ ให้คำปรึกษา และอบรมเกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแก่หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานภาคเอกชน
  5. ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละระดับ

นอกจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยซึ่งเป็นหน่วยงานส่วนกลางทำงานภัยสาธารณะ เพื่อประโยชน์ในการทำงาน พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ ก็กำหนดให้กรมสามารถจัดตั้งศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขึ้นในบางจังหวัด จะให้มีสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดขึ้น เพื่อทำงานกำกับดูแลและสนับสนุนการปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในจังหวัดหรือตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายก็ได้

โดยมาตรการการรับมือกรณีเกิดภัยสาธารณะขึ้น แบ่งได้เป็นสี่ระดับ ดังนี้

หนึ่ง กรณีเกิดสาธารณภัยในระดับร้ายแรงอย่างยิ่ง ผู้มีอำนาจสั่งการหลัก คือ นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย โดยมีอำนาจบังคับบัญชาและสั่งการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายอำเภอ ผู้บริหารท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ดำเนินการเพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนในพื้นที่ที่กำหนด

สอง กรณีเกิดสาธารณภัยขนาดใหญ่หรือทั่วประเทศ ผู้มีอำนาจสั่งหลักหลัก คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจควบคุมและกำกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทั่วประเทศให้เป็นไปตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ มีอำนาจบังคับบัญชาและสั่งการ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายอำเภอ ผู้บริหารท้องถิ่น นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ปลัดกรุงเทพมหานคร เจ้าพนักงาน และอาสาสมัครทั่วประเทศ

สาม กรณีเกิดสาธารณภัยในพื้นที่จังหวัด หรือในกรุงเทพมหานคร

กรณีของ 76 จังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด จะเป็นผู้มีอำนาจสั่งการหลัก มีอำนาจสั่งการหน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งอยู่ในจังหวัด ให้ดำเนินการในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และมีอำนาจสั่งการ ควบคุม และกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานและอาสาสมัคร

นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดยังมีหน้าที่ต้องกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้จัดให้มีวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ ยานพาหนะ และสิ่งอื่น เพื่อใช้ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และดำเนินการให้หน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้การสงเคราะห์เบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัย หรือผู้ได้รับภยันตรายหรือเสียหายจากสาธารณภัย

กรณีของกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้มีอำนาจสั่งการหลัก อำนาจโดยรวมคล้ายผู้ว่าราชการจังหวัด มีอำนาจสั่งการส่วนราชการและหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร แต่เนื่องจากกรุงเทพมหานครเองก็เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (รูปแบบพิเศษ) อยู่แล้ว ดังนั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็จะไม่มีอำนาจไปสั่งการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ แต่ก็มีหน้าที่ต้องประสานกับหน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง

สี่ กรณีเกิดสาธารณภัยในพื้นที่อำเภอ ผู้มีอำนาจสั่งการหลัก คือ นายอำเภอ มีอำนาจสั่งการหน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องซึ่งอยู่ในเขตอำเภอให้ดำเนินการในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีอำนาจสั่งการ ควบคุม และกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานและอาสาสมัคร

เมื่อเกิดภัยสาธารณะขึ้น หากเกิดในเขตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพื้นที่ใด ผู้บริหารท้องถิ่นนั้นจะต้องจัดการสาธารณภัยนั้น สามารถสั่งข้าราชการฝ่ายพลเรือน พนักงานส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ เจ้าพนักงาน อาสาสมัคร ให้ดำเนินงานได้ ขอความช่วยเหลือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นได้ สามารถใช้เครื่องมือสื่อสารของหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนทุกระบบที่อยู่ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และต้องรีบแจ้งนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดทราบ นายอำเภอก็จะมีอำนาจรับผิดชอบในเขตพื้นที่อำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจรับผิดชอบในเขตพื้นที่จังหวัด

สำหรับการรับมือกับหน้างานเมื่อมีภัยสาธารณะเกิดขึ้น กรณีที่จำเป็นต้องดัดแปลง ทำลาย หรือเคลื่อนย้ายสิ่งก่อสร้าง วัสดุ หรือทรัพย์สินของบุคคลใดๆ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายอำเภอ ผู้บริหารท้องถิ่น มีอำนาจสั่งการให้ทำได้เท่าที่จำเป็นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ตัวอย่างเช่น กรณีแผ่นดินไหวและส่งผลให้ตึกถล่ม สามารถสั่งให้เคลื่อนย้ายซากของสิ่งก่อสร้างเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ข้างในได้

นอกจากนี้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ มาตรา 30 ยังกำหนดมาตรการภายหลังจากเกิดสาธารณภัยแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายอำเภอ ผู้บริหารท้องถิ่น ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบนั้น จะต้องสำรวจความเสียหายจากสาธารณภัยและทำบัญชีรายชื่อผู้ประสบภัยและทรัพย์สินที่เสียหายไว้ เพื่อเยียวยาฟื้นฟูต่อไป

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตั้งงบสามปี 499.9 ล้าน พัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่

จากการสำรวจพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และเอกสารงบประมาณ (ขาวคาดแดง) ของสำนักงบประมาณ ฉบับที่สาม เล่มที่แปด กระทรวงมหาดไทย พบว่ากรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตั้งงบประมาณรายจ่ายไว้รวม 6,622,294,900 บาท  แบ่งเป็น 1) งบประมาณรายจ่ายของกรม 5,232,746,500 บาท และ 2) งบประมาณรายจ่ายบุคลากร 1,389,548,400 บาท

เมื่อดูเฉพาะงบประมาณรายจ่ายของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ภายใต้วงเงิน 5,232,746,500 บาท พบว่าตั้งวงเงินงบประมาณไว้สำหรับรายจ่ายหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นงบดำเนินงาน ค่าสาธารณูปโภค และค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่สุดคือ งบลงทุน 3,711,939,500 บาท ซึ่งมีค่าครุภัณฑ์ เครื่องมือ อุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการป้องกันบรรเทาสาธารณภัย เช่น รถอากาศยานไร้คนขับ เรือกู้ภัยโพลีเอทิลีนแบบเปิดหัว รถยนต์ดับเพลิง รถปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัย พร้อมเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่

หนึ่งในงบลงทุนที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับการแจ้งเตือนภัยพิบัติแผ่นดินไหวโดยตรง คืองบประมาณโครงการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งตั้งเป็นงบประมาณผูกพันข้ามปีสามปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 ถึงปีงบประมาณ 2569 รวมวงเงิน 449,995,000 บาท เฉพาะปีงบประมาณ 2568 ตั้งงบประมาณไว้ที่ 269,997,000 บาท

นอกจากนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ยังมีงบรายจ่ายอื่นที่ตั้งไว้ 29,072,400 บาท  มีโครงการที่น่าสนใจ คือ โครงการให้บริการข่ายสื่อสารกลางและให้บริการรับแจ้งเหตุสาธารณภัย ตั้งงบประมาณไว้ที่ 9,791,500 บาท สำหรับปีงบประมาณ 2568 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยใช้วิธีจ้างเอกชนโดยวิธีเฉพาะเจาะจง เพื่อมาทำงานในโครงการนี้ ผู้ได้รับการคัดเลือก คือ บริษัท มาดาม เจ จำกัด

จากการสืบค้นข้อมูลผ่านช่องทางสื่อสารออนไลน์ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พบผลผลิตที่สอดคล้องกับโครงการให้บริการข่ายสื่อสารกลางและให้บริการรับแจ้งเหตุสาธารณภัย คือแอปพลิเคชัน Thai Disaster Alert เป็นแอปพลิเคชันสำหรับแจ้งเตือนสาธารณภัยจากเจ้าหน้าที่ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และเครือข่ายภาคีด้านสาธารณภัยของกรมป้องกันสาธารณภัย และยังมีไลน์ออฟฟิเชียล ปภ. รับแจ้งเหตุ 1784 @1784DDPM ซึ่งมีฟังก์ชันให้รับแจ้งเตือนภัยในจังหวัด แต่ผู้ใช้บริการจะต้องยินยอมเปิดตำแหน่ง (Location)

กรมอุตุนิยมวิทยา มีโครงการติดตั้งระบบเครือข่ายสมรรถนะสูง ตรวจเฝ้าระวังแผ่นดินไหวและสึนามิ ตั้งงบสามปี 650 ล้านบาท

นอกจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อีกหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวพันกับสาธารณภัย คือ กรมอุตุนิยมวิทยา สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยหนึ่งในพันธกิจขององค์กร ที่ระบุไว้ในเอกสารงบประมาณ (ขาวคาดแดง) ของสำนักงบประมาณ ฉบับที่สาม เล่มที่ห้า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คือ เตือนภัย ปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน พัฒนาข้อมูลและการพยากรณ์ตอบสนองต่อความต้องการของสังคมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในปีงบประมาณ 2568 กรมอุตุนิยมวิทยา ตั้งเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีไว้ที่ 1,898,834,500 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) งบประมาณรายจ่ายบุคลากร 427,571,100 บาท และ 2) งบประมาณสำหรับกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อปฏิบัติตามแผนงานยุทธศาสตร์จัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ 1,471,263,400 บาท

ผลผลิตจากการดำเนินของกรมอุตุนิยมวิทยา เช่น ข่าวพยากรณ์อากาศ รายงานแผ่นดินไหว และประกาศเตือนภัยธรรมชาติ ตั้งงบประมาณ 184,466,200 บาท ในจำนวนนี้ประกอบด้วย 1) งบดำเนินงาน เช่น ค่าตอบแทนสำหรับการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ (OT) ค่าเบี้ยประชุมกรรมการ 2) งบลงทุน ค่าก่อสร้างอาคารที่ทำการ อาคารที่พักอาศัย และสิ่งก่อสร้างประกอบ 3) งบเงินอุดหนุน เช่น ค่าบำรุงสมาชิกองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก

กรมอุตุนิยมวิทยา ไม่เพียงตั้งงบประมาณสำหรับโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบตรวจสภาพอากาศ แต่ยังมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหวโดยตรง คือ โครงการติดตั้งระบบเครือข่ายสมรรถนะสูง ตรวจเฝ้าระวังแผ่นดินไหวและสึนามิ โดยโครงการนี้ มีสถานที่ดำเนินการ คือ กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว และ 40 สถานีต่างจังหวัด ระยะเวลาดำเนินการสามปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 ถึง 2569 ตลอดสามปีงบประมาณ ตั้งวงเงินไว้ที่ 650,000,000 บาท เฉพาะปีงบประมาณ 2568 ตั้งวงเงิน 271,227,600 บาท

วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ จากเอกสารงบประมาณ ระบุว่า

  • เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการหาศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยและบริเวณใกล้เคียงโดยติดตั้งสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวชนิดช่วงคลื่นกว้าง (Broadband Seismometer) ในบริเวณที่เป็น gap ของระบบตรวจวัดแผ่นดินไหวเดิม
  • เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการวิเคราะห์กลไกการเกิดแผ่นดินไหวหรือลักษณะการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อน (Focal Mechanism หรือ Moment Tensor) ซึ่งสามารถนำไปวิเคราะห์การเกิดสึนามิ การวิเคราะห์แผนที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว และการทำแผนที่ความรุนแรงจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว
  • เพื่อประยุกต์ใช้งาน loT ในการส่งข้อมูลคลื่นแผ่นดินไหวแบบเวลาจริงจากสถานีตรวจแผ่นดินไหวทั้งหมดมายังระบบประมวลผลกลางกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว
  • เพื่อวางพื้นฐานในการพัฒนาระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวล่วงหน้า (Earthquake Early Warning)
  • เพื่อเป็นแหล่งศึกษาดูงานสำหรับ เยาวชน และประชาชนทั่วไป สามารถเข้าใจภัยแผ่นดินไหวได้ดีขึ้นและสามารถถ่ายทอดประสบการณ์ต่อในครอบครัวหรือชุมชนได้
  • เพื่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนซึ่งเป็นแนวคิดการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่

หากต้องเยียวยาความเสียหายจากภัยสาธารณะ มีงบกลาง เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติและความเสียหาย จำเป็นต้องเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะ ก็ยังมีเงินงบกลาง เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นอยู่ โดยตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตั้งวงเงินงบประมาณนี้ไว้ที่ 96,556,710,300 บาท

อย่างไรก็ดี การเบิกจ่ายงบประมาณประเภทนี้ ก็มีหลักเกณฑ์เฉพาะ ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 โดยหน่วยรับงบประมาณ สามารถขอรับจัดสรรงบประมาณรายการดังกล่าวได้สำหรับรายจ่ายกรณีต่อไปนี้เท่านั้น

  1. รายจ่ายเพื่อการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ
  2. รายจ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายเพื่อการเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง
  3. รายจ่ายที่ได้รับจัดสรรงบประมาณไว้แล้วแต่มีจำนวนไม่เพียงพอและมีความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโดยเร็ว
  4. รายจ่ายที่ไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณ แต่มีภารกิจจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการและต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโดยเร็ว