เสนอร่างพ.ร.บ. “คุ้มครอง” ผู้ให้บริการทางเพศ กำกับสถานบริการให้ปลอดภัย เลิกแนวคิดที่มุ่ง “ปราบปราม”

เสนอร่างพ.ร.บ. “คุ้มครอง” ผู้ให้บริการทางเพศ กำกับสถานบริการให้ปลอดภัย เลิกแนวคิดที่มุ่ง “ปราบปราม”

มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ เชิญชวนลงชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ให้บริการทางเพศ ที่จะคุ้มครองสิทธิของคนทำงานบริการทางเพศให้มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับทุกอาชีพ มีสิทธิต่อรองกับลูกค้าและนายจ้าง ปฏิเสธการให้บริการได้ เรียกร้องค่าตอบแทนที่เป็นธรรมได้ ได้รับสวัสดิการดูแลสุขภาพ โดยกำกับสถานบริการต้องขออนุญาตต้องปลอดภัย ไม่รบกวนชุมชน เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีห้ามเข้า และมีกลไกรองรับคนที่อยากเลิกและไปประกอบอาชีพอื่น

กฎหมายเดิมปี 39 ทำให้ Sex Worker ตกอยู่ในความเสี่ยงทุกวัน

เป็นเวลาเกือบ 30 ปีเต็มที่ประเทศไทยใช้พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 เป็นกฎหมายหลักฉบับเดียวที่เกี่ยวข้องกับงานบริการทางเพศและอาชีพ Sex Worker โดยไม่เคยถูกแก้ไขปรับปรุงเลย กฎหมายนี้มีแนวคิดหลัก มุ่งเน้นการ “ปราบปราม” การกระทำความผิด เห็นได้ชัดจากวิธีการเขียนที่มาตราต้นๆ มีแต่การกำหนดความผิดและบทลงโทษ ขณะที่มาตราหลังๆ ก็พอจะมีกลไกการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพให้กับเหยื่อของการกระทำความผิดด้วย

พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ที่ใช้กันอยู่ไม่ได้กำหนดความผิดและโทษสำหรับการ “ขาย” และการ “ซื้อ” บริการทางเพศ โดยยังถือว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่แต่ละคนจะตัดสินใจมีเพศสัมพันธ์ หรือให้บริการทางเพศกับใครหรือไม่ก็ได้ และจะตัดสินใจทำเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ก็ได้ แต่กฎหมายใช้วิธีเขียน “โอบล้อม” เอาผิดการขายบริการทางเพศที่ทำเป็นกิจการอย่างเป็นกิจจะลักษณะ โดยกำหนดห้ามการชักชวน แนะนำตัว โฆษณา และข้อสำคัญ คือ ห้ามการเข้าไป “มั่วสุม” ในสถานค้าประเวณี กำหนดโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท ทำให้ผู้ที่เลือกประกอบอาชีพนี้โดยสมัครใจตกอยู่ในความเสี่ยงตลอดเวลาของการทำงาน อาจกลายเป็นผู้กระทำความผิดและโดนตำรวจจับได้ทุกเมื่อ

แม้กฎหมายที่ใช้อยู่จะอนุญาตให้บุคคลเลือกประกอบอาชีพขายบริการทางเพศโดยสมัครใจเอง “ได้” แต่กฎหมายโดยภาพรวมก็ยังสร้างอุปสรรคนานับปการ หากดูจาก “เหตุผล” ของการออกพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ที่เขียนไว้ท้ายพ.ร.บ. ก็จะเห็นมุมมองที่ “ดูถูก” หรือไม่ให้เกียรติต่อผู้ที่เลือกประกอบอาชีพให้บริการทางเพศอย่างมาก โดยเขียนไว้ว่า “การค้าประเวณีมีสาเหตุสำคัญมาจากสภาพเศรษฐกิจและสังคม ผู้กระทําการค้าประเวณีส่วนมากเป็นผู้ซึ่งด้อยสติปัญญาและการศึกษา…” และกฎหมายนี้มุ่งหมายที่จะนำคนออกจากอาชีพนี้มากกว่าคุ้มครองให้มีสิทธิเลือกประกอบอาชีพได้อย่างปลอดภัย โดยให้ผู้กระทำความผิดถูกส่งตัวไปอยู่ในสถานพัฒนาอาชีพแทนการลงโทษจำคุกได้ 

สถานการณ์ที่ผ่านมา 30 ปี ภายใต้พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ผู้ประกอบอาชีพการให้บริการทางเพศและสถานบริการก็มีอยู่ทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยไม่ได้ทำให้อาชีพนี้หมดไป แต่คนที่เลือกประกอบอาชีพนี้ถูกลดทอนศักดิ์ศรี แม้จะทำงานเพื่อแลกกับค่าตอบแทนแต่ก็ไม่ได้รับสิทธิ ไม่ได้รับการดูแล ไม่ได้รับสวัสดิการ เช่นเดียวกับการประกอบอาชีพอื่น เมื่อตกเป็นผู้ถูกกระทำทั้งจากผู้ใช้บริการ หรือผู้ประกอบการ ก็ไม่อาจลุกขึ้นเรียกร้องร้องความเป็นธรรมได้จากกระบวนการตามกฎหมายที่มีอยู่ เพราะเมื่อเดินไปขอความช่วยเหลือจากตำรวจ จาก “ผู้เสียหาย” ก็อาจตกเป็น “ผู้ต้องหา” ไปแทน

ช่วงปี 2562 กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดยกร่างกฎหมายมาแก้ไขพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 และภาคประชาชนได้พยายามเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น จนมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมายกร่างกฎหมายฉบับใหม่ โดยมีตัวแทนของมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งด้วย และยกร่างกฎหมายสำเร็จออกมาหนึ่งฉบับในช่วงปลายปี 2566 ที่มุ่งจะเปลี่ยนหลักการจากการ “ปราบปราม” การค้าประเวณี เป็นมุ่ง “คุ้มครอง” ผู้ที่ประกอบอาชีพให้บริการทางเพศ แต่ร่างฉบับดังกล่าวที่มีพม. เป็นเจ้าภาพกลับยังไม่มีความคืบหน้าที่จะถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้จริง

เสนอร่างใหม่ เน้นคุ้มครองสิทธิ ศักดิ์ศรี เสรีภาพ

มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ซึ่งทำงานสนับสนุนสิทธิของผู้ให้บริการทางเพศ มายาวนาน จึงร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมริเริ่มการรวบรวมรายชื่อของประชาชนให้ได้ครบ 10,000 ชื่อ เพื่อนำร่างกฎหมายฉบับที่จัดทำขึ้นโดยมีพม. เป็นเจ้าภาพเสนอต่อรัฐสภาให้ได้ โดยร่างที่จะเสนอใช้ชื่อว่า ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ให้บริการทางเพศ (ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองฯ) แสดงถึงแนวคิดที่เปลี่ยนไปจากกฎหมายเดิม เสนอยกเลิกพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี และกำหนดกลไกคุ้มครองผู้ให้บริการทางเพศ

มาตรา 6 ของร่างพ.ร.บ.คุ้มครองฯ เขียนว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของผู้ให้บริการทางเพศย่อมได้รับความคุ้มครอง… และมาตรา 7 เขียนว่า ผู้ให้บริการทางเพศย่อมได้รับการคุ้มครองจากการถูกเลือกปฏิบัติ ทั้งในช่วงเวลาที่ทำงานอยู่และหลังเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่นแล้ว ซึ่งเป็นหลักการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ที่จะทำให้ผู้ประกอบอาชีพนี้มีศักดิ์ศรีและสิทธิเช่นเดียวกับผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ ไม่ถูกแบ่งแยก หรือปฏิเสธการเข้าถึงโอกาสต่างๆ เพราะทำหรือเคยทำอาชีพนี้

ร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดอายุของผู้ให้บริการทางเพศ ต้องไม่ต่ำกว่า 18 ปี โดยผู้ที่พบเห็นการขายบริการทางเพศสำหรับผู้ที่อายุไม่ถึงเกณฑ์มีหน้าที่ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบ และผู้ที่ใช้บริการทางเพศ หรือ “ลูกค้า” ที่ซื้อบริการจากผู้ที่อายุ 15-18 ปีมีความผิด มีโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี และปรับตั้งแต่ 80,000-400,000 บาท ผู้ที่ซื้อบริการจากผู้ที่อายุน้อยกว่า 15 ปีมีความผิด มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท

คุ้มครองสิทธิแรงงาน เรียกร้องค่าตอบแทนได้ ปฏิเสธไม่รับงานได้

ปัญหาเดิมของผู้ให้บริการทางเพศ คือ เมื่อประกอบอาชีพที่ไม่ได้รับการยอมรับโดยกฎหมายก็ไม่มีสิทธิในสัญญาการจ้างทำงาน ทำให้เจ้าของร้านอาจถือโอกาสเอาเปรียบทางการเงินได้ เช่น ตั้งจ่ายค่าตอบแทนที่น้อยเกินไป การหักเงินในวันลาที่สูงเกินไป รวมทั้งการไม่มีสวัสดิการตามสมควร ทั้งวันหยุด ทั้งการดูแลสุขภาพในฐานะที่ทำงานที่มีความเสี่ยง ไม่สามารถสมัครเข้ารับสิทธิในกองทุนประกันสังคม หรือหากผู้ให้บริการทางเพศถูกละเมิดสิทธิแรงงาน เช่น ทำงานแล้วไม่ได้รับค่าจ้าง ถูกไล่ออกโดยไม่ได้ทำผิด ก็ไม่อาจลุกขึ้นใช้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมายแรงงานได้

ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองฯ มาตรา 12 เขียนไว้ว่า ผู้ให้บริการทางเพศย่อมมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนในอัตราที่เหมาะสม ยุติธรรม ไม่เป็นการเอาเปรียบ และข้อตกลงระหว่างเจ้าของกิจการและผู้ให้บริการทางเพศต้องมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงาน ไม่ใช่การจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายครั้งตามจำนวนงานที่ได้รับ เพราะการตกลงจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายครั้งนั้นอาจทำให้คนทำงานถูกเอาเปรียบ หากเป็นช่วงที่มีลูกค้าน้อย ก็อาจจะได้รับค่าตอบแทนไม่เพียงพอสำหรับการเลี้ยงชีพ หรือไม่ได้รับสวัสดิการอื่นๆ ไม่ได้รับอนุญาตให้มีวันหยุดหรือวันลาตามสมควร

ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองฯ มาตรา 12-13 เขียนไว้ว่า ผู้ให้บริการทางเพศมีสิทธิปฏิเสธการให้บริการได้ และผู้ซื้อที่มาใช้บริการก็มีสิทธิปฏิเสธไม่รับบริการได้เช่นกัน การตกลงสัญญาใดๆ ไม่สามารถใช้เป็นเหตุบังคับให้ต้องมีเพศสัมพันธ์กันถ้าไม่เต็มใจจะมีเพศสัมพันธ์กับคนนั้นๆ ถ้ามีการทำสัญญาให้จ่ายค่าปรับกรณีไม่ให้บริการทางเพศ ข้อตกลงนั้นให้เป็นโมฆะ กรณีที่มีการจ่ายเงินกันแล้วปฏิเสธไม่ให้บริการก็จะต้องคืนเงินตามสัดส่วนของบริการที่ได้เกิดขึ้นแล้ว หรือหากยังไม่มีการจ่ายเงินกันแล้วปฏิเสธไม่ให้บริการ ก็อาจต้องจ่ายบางส่วนตามบริการที่เกิดขึ้นแล้วเช่นกัน

ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองฯ มาตรา 17 เขียนให้ผู้ให้บริการทางเพศมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้ หรือสามารถลาออกได้ โดยการบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนจ่ายค่าจ้างรอบถัดไปเช่นเดียวกับการจ้างงานประเภทอื่น และหากเจ้าของกิจการละเมิดสิทธิ ศักดิ์ศรี เลือกปฏิบัติ ก็สามารถบอกเลิกหรือลาออกได้เลยทันที โดยมาตรา 21 และ 23 กำหนดให้คดีความข้อพิพาทระหว่างผู้ให้บริการทางเพศ กับเจ้าของกิจการ หรือผู้ใช้บริการ อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแรงงาน

คุมเข้มจดทะเบียนสถานบริการให้ปลอดภัย อายุต่ำกว่า 20 ปีห้ามเข้า

ไม่ว่ากิจการที่ขายบริการทางเพศจะอยู่ในรูปแบบของ ร้านเหล้า ร้านคาราโอเกะ ซ่อง อาบอบนวด หรือบริการประเภทใด รวมทั้งกิจการที่ไม่ได้มุ่งขายบริการทางเพศเป็นหลักแต่ “เล็งเห็นได้” ถึงการพบปะติดต่อกันของผู้ให้บริการทางเพศและผู้ใช้บริการทางเพศ ต้องขออนุญาตและจดทะเบียนต่ออธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย หรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยใบอนุญาตมีอายุสามปี หากใครไม่มีใบอนุญาตมีโทษจำคุกหกเดือนถึงสองปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท

ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองฯ มาตรา 27 กำหนดให้สถานที่ประกอบกิจการทางเพศต้องห่างจากวัด ศาสนสถาน โบราณสถาน โรงเรียน สถานศึกษา สถานพยาบาล หอพัก อย่างน้อย 200 เมตร ต้องมีมาตรการป้องกันการรบกวนคนที่อยู่อาศัยใกล้เคียง ต้องมีห้องที่ไม่สามารถมองเห็นจากภายนอกได้ แต่บุคคลที่อยู่ภายในห้องต้องออกมาได้ตลอดเวลา และมีการติดตั้งอุปกรณ์ขอความช่วยเหลือ ต้องมีอุปกรณ์ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองฯ มาตรา 31 กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการมีหน้าที่จัดสวัสดิการด้านสุขภาพอนามัยให้แก่ผู้ให้บริการทางเพศ หรือสนับสนุนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยาหรือวัคซีน

ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองฯ มาตรา 33 กำหนดว่า  ห้ามมิให้ผู้ประกอบกิจการทางเพศยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าไปใช้บริการทางเพศ หรือทำงานในสถานประกอบกิจการทางเพศ โดยให้มีหน้าที่ตรวจบัตรหรือเอกสารที่แสดงอายุของผู้ที่จะเข้าไปด้วย

ตั้งศูนย์คุ้มครอง ฝึกอาชีพ จัดสวัสดิการ

ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ให้บริการทางเพศ มีผลจริงในทางปฏิบัติได้ จะต้องมีกระบวนการเพื่อบังคับใช้โดยให้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวเป็นหน่วยงานหลักที่จะคุ้มครองดูแลผู้ให้บริการทางเพศ ทั้งยังมีงานที่เกี่ยวข้องทั้งของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน และกระทรวงสาธารณสุข ทำให้รัฐมนตรีทั้งสี่กระทรวงมีหน้าที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย

ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองฯ มาตรา 37 กำหนดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองการให้บริการทางเพศ มีรัฐมนตรีพม. เป็นประธาน มีกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีตัวแทนจากผู้ประกอบกิจการสามคนและผู้ให้บริการทางเพศสามคน ซึ่งเป็นการยกระดับจากกฎหมายเดิมที่มีคณะกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ มีปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นประธาน โดยไม่เคยให้ผู้ประกอบกิจการและผู้ให้บริการทางเพศมีส่วนร่วมด้วย 

นอกจากนี้ร่างพ.ร.บ.คุ้มครอง มาตรา 39 ยังกำหนดให้มี คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้ให้บริการทางเพศประจำจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีผู้แทนขององค์กรผู้ประกอบกิจการทางเพศไม่เกินสามคน ผู้แทนขององค์กรผู้ให้บริการทางเพศไม่เกินสี่คน และผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนอีกสามคน เป็นกรรมการ ทำหน้าที่กำกับดูแลการคุ้มครองผู้ให้บริการทางเพศ และการประกอบกิจการทางเพศในจังหวัดนั้นๆ ซึ่งเป็นการถอดแบบมาจากกฎหมายเดิมที่กำหนดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพประจำจังหวัด และเพิ่มให้มีอำนาจเรียกเอกสาร ตรวจค้นตัวผู้เสียหาย ตรวจค้นยานพาหนะ และเข้าไปในสถานประกอบกิจการเมื่อได้รับแจ้งว่ามีการกระทำความผิด 

ตามมาตรา 50-52 กำหนดให้มีการตั้งศูนย์คุ้มครองผู้ให้บริการทางเพศ ซึ่งถอดแบบมาจากสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพในกฎหมายเดิม มีหน้าที่ฝึกอบรมความรู้เกี่ยวกับสิทธิและสวัสดิการที่ผู้ให้บริการทางเพศพึงได้รับ ฝึกอาชีพ การดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้ให้บริการทางเพศ สร้างความรู้ความเข้าใจและความตระหนักเกี่ยวกับความจำเป็นในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ส่งเสริมทักษะการประกอบอาชีพ ป้องกันไม่ให้บุคคลเข้าสู่การให้บริการทางเพศก่อนวัยอันควร รับเรื่องร้องเรียนและตรวจสอบข้อเท็จจริง

กรณีได้รับคำขอจากผู้ที่ประสงค์จะเลิกอาชีพให้บริการทางเพศ ให้ศูนย์คุ้มครองผู้ให้บริการทางเพศช่วยเหลือให้เข้าถึงสวัสดิการรักษาพยาบาล จัดให้มีการฝึกอาชีพ หรือการเข้าถึงการศึกษา จัดหางาน ตามความสนใจ โดยผู้ให้บริการทางเพศมีสิทธิตัดสินใจด้วยตนเอง และมีสิทธิ ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ได้รับการรักษาความลับและความเป็นส่วนตัว 

มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์เปิดให้ประชาชนที่เห็นด้วยและพร้อมสนับสนุน ช่วยลงชื่อให้ครบ 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ให้บริการทางเพศ ฉบับนี้ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา สำหรับผู้ที่พร้อมช่วยลงชื่อ สามารถลงชื่อได้ระบบทางเว็บไซต์นี้ซึ่งข้อมูลและเอกสารจะถูกจัดส่งให้กับมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ต่อไป