ศาลอาญายกฟ้อง “ป้ามล” ทิชา ณ นคร คดีที่ถูกพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ยื่นฟ้องในข้อหา #ดูหมิ่น #หมิ่นประมาท โดยการโฆษณา จากการโพสเฟซบุ๊กตอบโต้ว่า “เถื่อน ถ่อย ไร้อารยะ…” จากเหตุที่พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวถึงนักกิจกรรมเยาวชนด้วยความรุนแรง

เหตุการณ์นี้เริ่มขึ้นและเป็นที่สนใจของสังคม จากการที่มีนักกิจกรรมกลุ่มหนึ่งไปชุมนุมประท้วงหน้าพรรคเพื่อไทยในช่วงการจัดตั้งรัฐบาล พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ แถลงข่าวกับสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 โดยกล่าวถึงเยาวชนที่ไม่ใส่ชุดนักเรียน พร้อมทวงถามความรับผิดชอบในบทบาทของผู้ปกครอง โดยใช้คำว่า “ถ้าเป็นลูกผม ผมฆ่าทิ้งเลย เด็กแบบนี้เอาไว้ได้ที่ไหน ถ้าเป็นลูกผม ผมไม่เอาหรอก”
จากนั้นทิชา ณ นคร หรือ “ป้ามล” ผู้ที่ทำงานด้านสิทธิเด็ก บำบัดฟื้นฟูเยาวชนที่กระทำความผิด ได้โพสต์เฟซบุ๊กต่อว่า พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ พร้อมกับนำภาพของพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์มาโพสต์ด้วย โดยใช้ข้อความส่วนหนึ่งว่า “ต่อให้คนพูดถ้อยคําดังกล่าวเป็นผู้ใหญ่ในสถานะใดก็ถือว่า เถื่อน ถ่อย เกินที่จะรับได้…”
.
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยื่นฟ้องคดีต่อศาลโดยตรง โดยกล่าวหาทิชาว่า โพสต์ข้อความโดยมีเจตนาให้บุคลทั่วไปเข้าใจว่าโจทก์เป็นคนไม่ดี เป็นคนเถื่อน ถ่อย กดขี่ ดูหมิ่นดูแคลนประชาชน เพราะโจทก์เป็นคนที่น่ารังเกียจไร้อารยะ.. ซึ่งจำเลยตั้งค่าการโพสเป็นสาธารณะมีคนแชร์ต่อไปจำนวนมาก มีคนมาแสดงความเห็นในทางไม่ดีกับโจทก์เป็นจำนวนมาก
25 มีนาคม 2568 ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษา โดยศาลพิพากษาให้ยกฟ้อง คำพิพากษาสรุปใจความโดยย่อได้ว่า
ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เบิกความว่า เหตุการณ์คดีนี้มีการนัดชุมนุมและประท้วงโดยการ มีการเทน้ำแดงและเผาหุ่นฟางเพื่อประท้วงที่พรรคเพื่อไทยไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล โจทก์จึงกล่าวถึงภาพรวมของการชุมนุม ไม่ได้มุ่งข่มขู่คุกคามใครเป็นการเฉพาะ การกล่าวถึงเรื่อง “ฆ่าทิ้ง” เป็นการกล่าวทำนองพ่อแม่สั่งสอนลูก เป็นเพียงคำขู่เพื่อป้องปรามไม่ให้กระทำความผิด ไม่ได้ตั้งใจจะฆ่าจริงๆ และการกล่าว่าฆ่าก็หมายถึงถ้าเป็นลูกของตัวเอง ไม่ได้หมายถึงนักกิจกรรมคนใด
จำเลย เบิกความต่อสู้คดีนี้ว่า คำกล่าวของโจทก์ส่งเสริมค่านิยมความรุนแรงต่อเด็ก โจทก์เป็นสส. มีอำนาจเหนือกว่าเด็กและเยาวชนที่ชุมนุม สะท้อนทัศนคติต่อเยาวชนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบเรื่องเครื่องแบบของโรงเรียนว่าจะถูกกระทำความรุนแรงได้ การวิจารณ์ของจำเลยมุ่งเน้นไปที่คำพูดของโจทก์ ไม่ได้มุ่งที่ตัวโจทก์ ถ้าเป็นคนอื่นพูดคำเหล่านี้ก็จะทำเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้จำเลยทำหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่าการกระทำของโจทก์ขัดต่ออนุสัญญาเรื่องสิทธิเด็ก และกสม. ทำรายงานออกมาแล้วว่า โจทก์ไม่ได้คำนึงถึงสภาพแวดล้อม หลักการปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็ก ตามรัฐธรรมนูญ ตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก และอนุสัญญาระหว่างประเทศ และยังสร้างความเกลียดชังเกินสมควร เป็นการละเมิดสิทธิเด็กด้วย จำเลยยังทำหนังสือร้องเรียนต่อสภาผู้แทนราษฎรให้ตรวจสอบจริยธรรมของโจทก์ในฐานะสส. ด้วย แต่โจทก์ลาออกจากสส. ก่อน จึงยุติเรื่องการสอบสวน
แม้จำเลยมีทัศนคติแตกต่างจากต่อโจทก์ในเรื่องนี้ เพราะบทบาทหน้าที่ของจำเลยย่อมแตกต่างจากโจทก์ จำเลยทำงานด้านสิทธิเด็กและเยาวชน ส่วนโจทก์เคยเป็นตำรวจมาก่อนต้องปราบปรามการกระทำความผิด การแสดงความเห็นของจำเลยก็ต้องไม่กระทบต่อสิทธิของผู้อื่น
ตามพจนานุกรม คำว่า ดูหมิ่น หมายถึงการเหยียดหยาม ทำให้อับอาย การที่จำเลยโพสเฟซบุ๊กกล่าวหาโจทก์ว่า ถ่อย ไร้อารยะ เป็นการสบประมาท กล่าวถึงโจทก์ในทางไม่ดี เป็นการดูหมิ่นโจทก์โดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393 และยังเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่า โจทก์ดูถูกดูแคลนประชาชนที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาเท่านั้น
ปัญหาต่อไปที่ต้องวินิจฉัยมีว่า การกระทำของจำเลยเข้าข้อยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การกล่าวของจำเลยไม่ได้มุ่งหมายต่อตัวโจทก์โดยเฉพาะ ไม่ได้กล่าวถึงพฤติกรรมอื่นของโจทก์ และไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน หากเป็นบุคคลอื่นจำเลยก็จะย่อมทำสิ่งเดียวกัน เป็นการเตือนโจทก์โดยสื่อสารสาธารณะ แม้จะมีการใส่ความผสมอยู่ด้วย แต่ก็เป็นการทำไปโดยสุจริต
จำเลยเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก ทำงานด้านเด็ก ย่อมรู้และเข้าใจจิตใจเยาวชนที่ถูกต่อว่า และทราบว่าการกระทำใดเป็นการละเมิดสิทธิเด็กหรือไม่ จำเลยยังร้องเรียนต่อกสม. และสภาผู้แทนราษฎร ในเรื่องเดียวกัน การโพสเฟซบุ๊กจึงเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม โจทก์เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นบุคคลสาธารณะ เป็นที่คาดหวังของประชาชน ย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 329
พิพากษายกฟ้อง