ละครเพื่อไทย อภิปรายนายกฯ​ไม่จริงใจแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปการเมือง

24 มีนาคม 2568 เวลาประมาณ 22.50 น. พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ในประเด็นความไม่จริงใจและความไม่คืบหน้า ในการปฏิรูปการเมืองและการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย

ละครเพื่อไทย อภิปรายนายกฯ​ไม่จริงใจแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปการเมือง

พริษฐ์ วัชระสินธุ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2567 ที่ท่านนายกรัฐมนตรีอ่านคำแถลงนโยบายว่าจะทำให้คนไทยมีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ก็เข้าใจว่าจะทำให้คนไทยนึกย้อนไปถึงภาพจำสมัยรัฐบาลของที่นำโดยพรรคการเมืองของท่านในอดีต ที่ประชาชนรู้สึกว่า กำลังมีประชาธิปไตยที่กินได้ ผสมผสานเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองกับการเมืองที่ยึดโยงกับประชาชน แต่เพียงเวลาไม่นานในรัฐบาลนี้ ภาพประชาธิปไตยที่กินได้พังทลายไปเรียบร้อยแล้ว 

ค่า GDP ของเราโตน้อยที่สุดในอาเซียน ค่าแรงเราแตะ 400 บาทต่อวันแค่สี่จังหวัด แม้ว่านายกฯ จะสอบตกเรื่องเศรษฐกิจอย่างชัดเจน สิ่งที่ไม่น่าเชื่อยิ่งกว่า คือ สอบตกเรื่องการยกระดับประชาธิปไตย ทั้งที่ในช่วงเวลาของการเลือกตั้งปี 2566 ประเทศเรามีความหวังมากที่จะเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย เราเหมือนจะมีฉันมามติร่วมกันว่า เศรษฐกิจที่เป็นธรรม ระบบราชการที่โปร่งใสตรวจสอบได้ ไม่สามารถงอกออกมาได้ในรัฐบาลที่เป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตย ซึ่งแปรเปลี่ยนเป็นคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่า 70% ที่เข้าคูหาเลือกตั้ง ลงโทษผู้นำที่สืบทอดอำนาจมาจากเผด็จการ และลงคะแนนให้กับพรรคการเมืองฝ่ายค้านในเวลานั้น ด้วยความคาดหวังว่าจะเอาอำนาจจากประชาชนไปสร้างการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย แต่แล้วก็กลายเป็นได้รัฐบาลที่ผสมข้ามขั้ว

ประชาธิปไตยทุกวันนี้ไม่ได้ดีไปกว่าภายใต้นายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้นำการรัฐประหาร เพราะจากดัชนีประชาธิปไตยที่จัดทำโดย Economist Intelligence Unit ก็จะเห็นว่า เราบกพร่องกว่าเดิมจริงๆ จากที่เคยได้คะแนน 6.67 เมื่อปี 2565vลดลงมาเหลือ 6.35 ในปี 2566 และตอนนี้ลดลงมาเหลือ 6.27 ในปี 2567

หรือดัชนี้เสรีภาพสื่อ ที่จัดอันดับโดยองค์กร Freedom House ก็ถูกลดสถานะลงมา จากเดิมที่มีเสรีภาพ “บางส่วน” ตอนนี้สถานการณ์เสรีภาพสื่อของประเทศไทยจัดอยู่ในหมวด “ไม่เสรี” หรือหากไม่อยากใช้ตัวชี้วัดสากล เราใช้ไม้บรรทัดของพรรคเพื่อไทยเองก็ได้ โดยบันไดหกชั้นสู่ระบอบประชาธิปไตย ที่พรรคเพื่อไทยเคยทำกราฟฟิกไว้ว่าก้าวแรกคือรัฐธรรมนูญจากประชาชน วันนี้ยังไม่ได้เริ่มแม้แต่ก้าวเดียว 

บุคคลที่ต้องรับผิดชอบมากที่สุดต่อความล้มเหลว คือ นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร โดยการเอาอำนาจที่ประชาชนมอบให้เพื่อไปผลักดันวาระที่ก้าวหน้า ไปแลกกับผลประโยชน์ส่วนตน และเครือข่ายที่พึ่งกาการมีอยู่ของท่าน เป็นเหมือนละครเรื่องหนึ่ง ที่มีนายกฯ เป็นตัวละครหลัก

ตอนที่พรรคเพื่อไทยจับมือจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยเศรษฐา ทวีสิน แทบไม่มีการพูดถึงเลยว่าจะผลักดันนโยบายอะไรร่วมกัน สาระสำคัญมีอยู่ที่ย่อหน้าแรกเท่านั้น คือ การจับมือกันของพรรคการเมืองเหล่านี้ก็เพื่อไม่แก้ไขมาตรา 112 และไม่เอาพรรคก้าวไกล พอมาถึงการจัดตั้งรัฐบาลของแพทองธาร ชินวัตร ก็ไม่ได้เอานโยบายเป็นตัวตั้ง พรรคการเมืองอื่นๆ ที่มาร่วมกันก็ไม่บอกว่าจะมีนโยบายอะไรเป็นเรื่องสำคัญ มีแค่การท่องคาถาเดิมว่าจะไม่แก้ไขมาตรา 112 นโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาจึงเลื่อนลอย เคว้งคว้าง ไร้คำสัญญาที่เป็นรูปธรรม

สองปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า แม้พวกเขาจะหาเสียงโดยนโยบายที่แตกต่างกันแค่ไหน แม้จะเคยไล่หนูตีงูเห่ามา แต่ความจริงแล้วพวกเขาเป็นขั้วเดียวกันที่มีคุณสมบัติร่วมกัน คือ ความคงเส้นคงวาในการกลับคำพูดโดยไม่เขินอายต่อคำพูดของตัวเองในอดีต เพียงเพื่อให้อยู่ในอำนาจ

พริษฐ์ ตั้งชื่อละครตอนหนึ่งว่า “ปากอย่างใจอย่าง” ที่หมายถึงนายกรัฐมนตรีที่บอกว่าจะปฏิรูปการเมือง แต่ไม่เคยออกแรงให้ได้เห็น ซึ่งมีหลายตัวอย่าง แต่คงไม่มีเรื่องไหนที่สะท้อนให้เห็นชัดถึงความไม่จริงใจเท่ากับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

จำเป็นจริงๆ ที่ต้องย้ำว่า หลายปัญหาและหลายความจริงทางการเมืองในวันนี้มีต้นกำเนิดมาจากรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะรัฐธรรมนูญนี้ทำให้กลไกปราบโกงล่าช้า อ่อนแอ ถูกแทรกแซงได้ เปิดช่องให้รัฐบาลกับป.ป.ช. สามารถฮั้วกันได้ โดยใช้ตำแหน่งประธานรัฐสภาเป็นเครื่องมือ ทำให้อำนาจที่มาของวุฒิสภาไม่สมดุลกัน มีกระบวนการเลือกสว. ที่พิศดารไม่ยึดโยงกับประชาชน และเอื้อต่อมหกรรมการโกงที่ทุกท่านรู้ มีแต่กกต. ที่ไม่รู้ ทำให้เกิดการยุบพรรคการเมือง ตัดสิทธินักการเมืองเป็นว่าเล่น กระทบต่อเสถียรภาพทางการเมือง ทำให้พี่น้องประชาชนต้องรับกรรมที่มีแพทองธารเป็นนายกรัฐมนตรีทั้งที่ไม่ใช่ตัวเลือกแรกของประชาชน และไม่ใช่ตัวเลือกแรกของพรรคที่ท่านสังกัด

นายกรัฐมนตรี เขียนไปเองในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลว่าจะเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยเร็วที่สุด แต่ท่านทำอะไรไปบ้างที่จะสามารถเรียกได้ว่าเป็นการเร่งรัดนโยบายเรือธงนี้ ตอนท่านเข้ารับตำแหน่ง ก็เป็นช่วงเวลาที่ สว. พยายามจะรื้อเรื่องพ.ร.บ.ประชามติฯ ท่านก็ลอยตัวเหนือปัญหาบอกว่าเป็นเรื่องของสภา ทั้งที่ใครก็รู้ว่ารอยร้าวของสส. กับสว. นี้เป็นรอยร้าวเดียวกันกับรอยร้าวระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล 

พอเสนอให้ทำประชามติสองครั้ง เพื่อให้รัฐบาลสามารถผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จได้ทัน เพื่อรักษาคำพูดของท่าน ท่านนายกฯ ก็ไม่ออกแรงแม้แต่นิดเดียว จะขอเข้าพบท่านนายกฯ ก็ไม่สละเวลามาแม้แต่ชั่วโมงเดียวที่จะคุยให้รู้เรื่อง พอพวกผมทำสำเร็จที่โน้มน้าวให้ประธานรัฐสภาให้บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ท่านนายกฯ มีหน้าที่เดียวคือพยายามรวบรวมเสียงของสส. ฝ่ายรัฐบาลให้เพียงพอ ให้ผ่านวาระที่หนึ่งไปได้ แต่ท่านนายกฯ ก็ปล่อยจอย ไม่ทำอะไรเลย ร่างของคณะรัฐมนตรีก็ไม่มีทั้งๆ ที่เป็นนโยบายของรัฐบาล และสส. ซีกรัฐบาลก็มาหักกันเองในสภาแห่งนี้ จนทำให้สภาต้องล่มไป

ท่านนายกฯ ให้สัมภาษณ์แก้เก้อว่าได้พยายามพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว แต่ภายในไม่กี่ชั่วโมงท่านอนุทินแหกท่านอีกรอบ โดยการบอกว่า นายกฯไม่เคยมาพูดคุยเรื่องรัฐธรรมนูญเลย

สะท้อนให้เห็นชัดถึงความไม่จริงใจของท่านนายกฯ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่พอสังคมเริ่มตั้งคำถาม ท่านนายกฯ ก็ส่งคนของท่านออกมาแข่งกันประดิษฐ์วาทะกรรมว่า นี่คือยุทธศาสตร์อันชาญฉลาดที่ทำได้จริง มากกว่าแค่ได้ทำ ทั้งที่ไม่เคยเห็นท่านทำอะไรเลยเรื่องรัฐธรรมนูญ

แน่จริงท่านยอมรับตรงๆ เลยครับว่าเมื่อได้เป็นนายกฯ ได้เข้าสู่อำนาจ แล้วก็ไม่สนใจเรื่องรัฐธรรมนูญอีก แน่จริงท่านนายกฯ ยอมรับตรงๆเลยครับ ว่าพอท่านไปทำดีลให้คุณพ่อท่านได้กลับบ้านมาแล้ว ส่วนหนึ่งของดีลนั้น คือ ท่านจะต้องปกป้องรัฐธรรมนูญ 60 ไว้ให้ได้

เปรียบเทียบระดับความพยายามกับเรื่องคาสิโน ก็จะเห็นความแตกต่างกันอย่างชัดเจน เพราะขณะที่ท่านปล่อยเกียร์ว่างเรื่องรัฐธรรมนูญ แต่เรื่องอื่นแม้ไม่เคยหาเสียงไว้ก็พร้อมจะทำทุกวิถีทาง เล่นทุกท่ายาก ลุยทุกกองไฟ เพื่อให้ได้มา

นอกจากนี้ พริษฐ์ ยังกล่าวถึงบทบาทอื่นๆ ของนายกรัฐมนตรีซึ่งแสดงให้เห็นว่า ไม่มีความจริงใจเรื่องการปฏิรูปการเมือง เช่น การยอมถอยเรื่องพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เพื่อการปฏิรูปกองทพ หรือนายกรัฐมนตรีไม่ยอมเข้าสภาเพื่อมามาตอบกระทู้ถามของสส. เมื่อไปตรวจสอบดูก็เห็นว่า บางวันมีการไปภารกิจต่างประเทศ บางวันไปงานอีเว้นต์อื่นในประเทศแต่ไม่มาสภา มีเจ็ดวันที่นายกฯ ไม่มีตารางงานอื่น แล้วก็มีวันที่ตั้งใจมาตอบเฉพาะคำถามที่เตรียมกันไว้กับสส. ฝ่ายรัฐบาล พอหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านถามก็เลยเดินหนีออกไปก่อน

สำหรับประเด็นเรื่องการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น พริษฐ์มองว่า รัฐบาลนี้ตรวจสอบแต่ฝ่ายตรงข้าม ปล่อยปละละเลยการคอรัปชั่น ดัชนี้ชี้วัด หรือ Corruption Index ตกลงมาแย่สุดในรอบ 12 ปี เรื่องการยกเลิกกฎระเบียบที่ล้าสมัยและเปิดช่องให้มีการทุจริต นายกฯ ก็ไม่ลงมาลุยเองแต่ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำแทน เรื่องง่ายๆ แค่การไปเปิดงานต่อต้านคอร์รัปชั่นสากลโดยไปอ่านสคริปยังส่งรัฐมนตรีไปแทน มีแต่คุณพ่อท่านนายกฯ ที่วันนึงก็ยอมรับสารภาพผิดว่าเคยทุจริต แล้วยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ