ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีตอบกลับการอภิปรายไม่ไว้วางใจเกี่ยวกับการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับประเทศจีนระบุว่า ชาวอุยกูร์เป็นปัญหาตกค้างมานาน พวกเขาเข้าเมืองผิดกฎหมายซึ่งมีโทษเพียงสองปี แต่ถูกขังมานานถึง 11 ปี ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดหลักมนุษยธรรม “…กล่าวหารัฐบาลสารพัดว่า รัฐบาลเล่นละครอย่างงั้นอย่างงี้ ผมขอยืมใช้คำพูดของท่านอดีตรองนายกฯว่า ท่านเป็นนักโกหกตัวยง…เข้าใจได้ท่านไร้ประสบการณ์ ไม่เคยบริหารประเทศ…จึงพยายามจะพูดอะไรหลายเรื่องเพื่อให้ต้องมาแสดงออกโดยไม่คำนึงถึงว่า ผลประโยชน์ของประเทศและความมั่นคงของชาติจะต้องใช้ความระมัดระวังอะไร ใช้แต่จินตนาการ พูดแล้วเหมือนไม่รักประเทศ แล้วก็จินตนาการต่อไปเรื่อย โดยนำสิ่งเหล่านี้มาวิจารณ์คนอื่นว่า เป็นนักต้มตุ๋น ว่าเป็นนักแสดง จริงๆ ทั้งหมดเนี่ย ถ้าท่านชี้นิ้วมาที่ผมทั้งหมดเนี่ย มันกลับไปที่ท่าน เดี๋ยวผมจะยกตัวอย่างให้รู้ว่า แต่ละเรื่องที่ท่านโกหกมีอะไรบ้าง…”

“ผมอยากจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับชาวอุยกูร์ ปัญหาเรื่องชาวอุยกูร์เป็นปัญหาที่ตกค้างมานานมาก จริงๆ ชาวอุยกูร์ที่เข้ามาเค้าผิดเรื่องการเข้าประเทศผิดกฎหมาย โทษเขาอย่างสูงกว่าสองปี แต่รัฐบาลไทยที่ผ่านมายังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จึงได้ขังเข้ามาถึง 11 ปี ซึ่งการขังเขาถึง 11 ปีเนี่ย ก็เป็นเรื่องที่ผิดหลักมนุษยธรรม แต่ปัญหาของประเทศไทยคือเราอยู่บนทางสองแพร่งซึ่งล้วนแต่มีคนวิพากษ์วิจารณ์ทั้งสิ้น…เรามีกฎหมายทรมานอุ้มหาย เพราะฉะนั้นการที่เราขังเขาเกินจากโทษที่เขาควรจะได้รับ โทษจริงๆสองปีเท่านั้น สารภาพแล้วว่า จะเหลือปีนึงหรือครึ่งปี แต่เราเอาเค้ามา 11 ปี”
เขาระบุว่า รัฐบาลมีทางเลือกสามทาง คือ ขังต่อไปซึ่งเป็นเรื่องไม่สมควร ส่งไปประเทศที่สาม หรือส่งกลับประเทศเจ้าของ และยืนยันว่าทางเลือกที่สองเป็นเพียงความเพ้อฝัน เนื่องจากไม่มีประเทศใดให้สถานะผู้ลี้ภัยหรือขอรับไปอย่างเป็นทางการ “หนทางที่สองคือส่งไปประเทศที่สาม ผมถามท่านถ้าชาวอุยกูร์เป็นเรื่องความสำคัญด้านสิทธิมนุษยชนจริงๆ ทำไมไม่มีใครขอเขากลับไป ทำไมไม่มีใครให้สิทธิผู้ลี้ภัยกับเขา แม้กระทั่งองค์การระหว่างประเทศก็ยังไม่เห็นใยดีเลย ถ้าให้สถานะเป็นผู้ลี้ภัย รัฐบาลไทยก็จะจัดการได้ง่ายขึ้น มีแต่คนพูด เหมือนพวกเรานี่แหละ มีแต่คนพูดไม่เคยดูว่าความเป็นจริงจะทำได้ยังไง บอกว่ายินดีจะพูดจะรับ แต่จดหมายที่เป็นทางการอย่างที่พึงกระทำไม่เคยมีเพราะฉะนั้นเรื่องการไปประเทศที่สามเป็นเรื่องความเพ้อฝันของพวกท่าน เป็นเรื่องความเพ้อฝันของคนอีกหลายๆคน ส่วนที่สาม เป็นเรื่องที่ต้องส่งเข้าไปให้กับประเทศเจ้าของ ท่านบอกว่าเขาไม่ใช่ชาวจีน มีบางคนที่ท่านมีหลักฐานว่าเขาเป็นชาวตุรกีท่านโกหก ผมมีหลักฐานทั้งหมดว่า 40 คนเป็นคนจีน ท่านบอกว่า 40 คน เป็นคนที่ถือสัญชาติตุรกี อันนี้ก็โกหก…ผมมีหลักฐานแน่นอนว่า 40 คนนี่สมัครใจ ท่านอยากเจอ อยากทราบไม่มีปัญหาพบกันได้เอาหลักฐานมาเปิดให้ดูต่อหน้าสื่อมวลชน”
ภูมิธรรมระบุว่า รัฐบาลได้รับการยืนยันผ่านจดหมายทางการทูตจากจีนว่าจะไม่ทำร้ายหรือจับชาวอุยกูร์เข้าคุก เขาระบุว่า การตัดสินใจมีกลไกห้าประการประกอบด้วยการตกลงอยู่บนพื้นฐานอำนาจอธิปไตยไทย กรอบกฎหมายภายในประเทศ ผลประโยชน์ไทยในมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความมั่นคงแห่งชาติ หลักสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะหลักที่จะไม่ส่งบุคคลกลับไปยังที่อันตราย (non-refoulement) และการพิจารณาโดยหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ
ในตอนท้ายภูมิธรรมระบุว่า “คุณรู้ไหมว่า ชาวอุยกูร์เขานับถือมุสลิมแบบไหน ผมไปยังไม่เห็นคนใส่ฮิญาบเหมือนคุณกัณวีร์พูดเลย ไม่เจอเลย อยู่สองวันทำงานตั้งแต่เจ็ดโมงเช้าถึงสามสี่ทุ่ม…มีคนที่เขารู้เรื่องของชาวอุยกูร์มากพอ เขาบอกว่า …สตรีชาวอุยกูร์สามารถเดินคล้องแขนโอบกอดกับผู้ชายได้ เพราะเขาเป็นมุสลิมสายปฏิรูปที่ไม่เคร่งครัดในหลักศาสนา ชาวอุยกูร์นับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ สำนักคิดฮัมบาลีแบบเดียวกับตุรกี จึงไม่เหมือนกับมุสลิมอีกหลายส่วน ซึ่งก็เป็นสิทธิของแต่ละฝ่าย นิกายที่เคร่งครัดคือวะฮาบีย์และชีอะห์…เมื่อรัฐบาลกำลังจะทำความจริงให้ปรากฏต่อชาวโลกไปพบทำไมไม่ตั้งใจแล้วใช้สติ ฟังแล้วพิจารณาเพราะสิ่งที่ท่านตั้งคำถาม มันขัดแย้งกับชาวโลก…”
ด้านกัณวีร์ สืบแสงชี้แจงข้อกล่าวหาว่า “โกหก” จากการอ้างเอกสารที่ระบุสัญชาติชาวอุยกูร์ที่ลี้ภัยว่าเป็นชาวตุรกีว่า เป็นข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งในสไลด์ที่นำเสนอได้ระบุชัดเจนแล้ว ส่วนกรณีข้อเสนอของประเทศที่สาม ข้อมูลดังกล่าวมาจากข้าราชการกระทรวงต่างประเทศที่มาชี้แจงในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนเองว่า “มีรัฐบาลจากสามประเทศ เขาสนใจที่จะรับชาวอุยกูร์ไป ผมก็เอามาจากข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ผมไม่ได้จินตนาการนะ”