24 มีนาคม 2568 สมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า (สชป.) ร่วมกับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เคลื่อนขบวนไปปักหลักชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่อย่างไม่มีกำหนดเพื่อทวงสัญญากับรัฐบาล สืบเนื่องจากรัฐบาลที่นำโดยแพทองธาร ชินวัตร ผ่านร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567


ต่อมาวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 มีการเจรจาพูดคุยจนเกิดเป็นบันทึกข้อการหารือร่วมกันระหว่างตัวแทนรัฐบาล นำโดยรองนายกรัฐมนตรี ประเสริฐ จันทรรวงทอง ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับการบริหารราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับภาคประชาชน แต่จนถึงขณะนี้เวลาล่วงเลยมากว่า 4 เดือนแล้ว แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าหรือท่าทีว่ารัฐบาลจะทำตามข้อเรียกร้อง หนักไปกว่านั้นในระดับพื้นที่มีสถานการณ์ที่น่ากังวล เจ้าหน้าที่เริ่มปักป้ายโครงการในพื้นที่แล้ว แม้ว่าจะยังไม่ได้ทำข้อมูลตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาเลย เมื่อสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ได้รับคำตอบว่า ยังไงก็ต้องทำตามโครงการอยู่ดีก็ทำล่วงหน้าไปก่อนได้
ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือระบุว่า พี่น้องบางชุมชนมีปัญหาเรื่องสถานะบุคคลก็ถูกยึดที่ดินทำกินเลย เพราะถือว่าไม่มีสถานะบุคคลสัญชาติไทย สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดคำถามและข้อกังวลว่า บันทึกข้อตกลงต่างๆที่ทำร่วมกันอาจจะบิดพลิ้วหรือไม่ โดยประกาศปักหลักที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ จนกว่าจะบรรลุข้อเรียกร้องทุกข้อ สำหรับข้อเรียกร้องมีดังนี้
- เร่งดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยเร่งด่วน โดยคณะกรรมการนั้นต้องมีสัดส่วนที่เท่ากันระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน และในระหว่างการแก้ไขกฎหมาย ขอให้ยุติการนำพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามมาตรา 121 แห่ง พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และยุติการเตรียมประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่ม จำนวน 23 แห่ง จนกว่าจะมีการปรับแก้ไขกฎหมายจนแล้วเสร็จ (ตามบันทึกการหารือการแก้ไขปัญหาของประชาชนที่กำลังเดือดร้อนจากกฎหมายป่าอนุรักษ์) เมื่อวันที่ 29พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ณ ศาลากลางเชียงใหม่ (ครม.สัญจร)
- เร่งดำเนินการแก้ไขมติคณะรัฐมนตรี 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 มาตรการสำหรับการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในการกำหนดเงื่อนไขมติคณะรัฐมนตรี 30มิถุนายน พ.ศ. 2541 การกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำและแนวทางการอนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีเงื่อนไขระยะเวลาที่เป็นอุปสรรคและข้อจำกัดสิทธิชุมชน ให้นำไปสู่แนวทางการรับรองสิทธิชุมชนในพื้นที่ป่า ตามแนวทางพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562ตามมาตรา 10 (4) กำหนดมาตรการหรือแนวทางการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ซึ่งรวมถึงรูปแบบการจัดที่ดินในลักษณะแปลงรวมโดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ หรือรูปแบบในลักษณะอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ คทช. กำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเพื่อให้การใช้ที่ดินเกิดประโยชน์สูงสุด
- ขอให้เร่งรัดนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานโฉนดชุมชน เร่งดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชนชน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 โดยเร่งด่วน เพื่อเดินหน้าการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินและส่งเสริมสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรโดยชุมชนอย่างยั่งยืนร่วมกัน
- เร่งติดตาม ผลักดัน ให้มีมาตรการและกลไกในการแก้ไขปัญหาตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29ตุลาคม พ.ศ. 2567 เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักร รวมถึงคนไทยติดแผ่นดินที่ยังไม่ได้รับสัญชาติ โดยมีข้อสั่งการขอให้นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เสนอวาระข้อเรียกร้องของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ที่ดิน ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิบังคับใช้กฎหมาย
- ขอให้รองนายกรัฐมนตรี (นายประเสริฐ จันทรรวงทอง) ในฐานะผู้แทนรัฐบาล นำผลการเจรจาระหว่างรัฐบาล กับ สมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า (สชป.) และ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) (ตามข้อเรียกร้องข้อ 1-4) กราบเรียนนายกรัฐมนตรี และนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ภายในวันอังคารถัดไปหลังการเจรจาได้ข้อยุติ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีรับทราบและมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนตามผลการเจรจาต่อไป
