จองวันว่างกันอีกครั้ง สำหรับการ #เลือกตั้งเทศบาล ซึ่งกำหนดแล้วเป็นวันที่ 11 พฤษภาคม 2568 เป็นวันอาทิตย์ คูหาเปิด 08.00-17.00 น. สำหรับคนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในเขตเทศบาล ทั้งเทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล ทั่วประเทศ

เทศบาลเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับพื้นฐาน มีความใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของประชาชน มากกว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับใหญ่อย่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรืออบจ. เนื่องจาก อบจ.มีเขตพื้นที่ดูแลครอบคลุมทั้งจังหวัด แต่เทศบาลนั้นมีพื้นที่รับผิดชอบในขนาดที่เล็กกว่าทำให้การดูแลจัดการเป็นไปได้อย่างทั่วถึงมากกว่า
พื้นที่ของเทศบาล ก็คือพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ ที่มีความหนาแน่นของประชากรพอสมควร หรือ ตามอำเภอเมือง หรือตามเขตตำบลที่มีคนอยู่อาศัยเยอะๆ
สำหรับคนในจังหวัดต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ชนบท หรือมีประชากรหนาแน่น้อย อาจเป็นพื้นที่บริหารขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ไม่นับเป็นเขตเทศบาล ก็ยังไม่ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งในรอบนี้ แต่ละคนเช็คสิทธิ และที่ตั้งตามทะเบียนบ้านของตัวเองให้ดี เพราะบางพื้นที่อบต. เมื่อมีคนอยู่เยอะขึ้นก็เปลี่ยนแปลงยกระดับขึ้นเป็นเทศบาลได้
เทศบาลหมดวาระสี่ปี จึงกำหนดเลือกตั้งใหม่ 11 พฤษภาคม 2568
เทศบาลมีโครงสร้างการบริหาร ประกอบด้วย นายกเทศมนตรีหนึ่งคน และสภาเทศบาลโดยจำนวนของสมาชิกเทศบาล (สท.) แตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทของเทศบาล ดังนี้
1. เทศบาลนคร มี 4 เขตเลือกตั้ง มีสมาชิกสภาเทศบาลนครได้ เขตละ 6 คน รวม 24 คน
2. เทศบาลเมือง มี 3 เขตเลือกตั้ง มีสมาชิกสภาเทศบาลเมืองได้ เขตละ 6 คน รวม 18 คน
3. เทศบาลตำบล มี 2 เขตเลือกตั้ง มีสมาชิกสภาเทศบาลตำบลได้ เขตละ 6 คน รวม 12 คน
เนื่องจากในปี 2564 มีการจัดการเลือกตั้งเทศบาลพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 28 มีนาคม 2564 ทั้งนายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาเทศบาลที่ได้รับเลือกตั้งในคราวเดียวกันมีวาระการดำรงตำแหน่งสี่ปี และหมดวาระพร้อมกันในวันที่ 27 มีนาคม 2564 ทำให้ต้องกำหนดวันเลือกตั้งเทศบาลขึ้นใหม่ เป็นในวันที่ 11 พฤษภาคม 2568
อย่างไรก็ดี ระหว่างช่วงสี่ปีของการดำรงตำแหน่งมีเทศบาลบางแห่งที่นายกเทศมนตรีหรือสมาชิกสภาเทศบาล ลาออกหรือมีเหตุให้พ้นจากตำแหน่งก่อนหมดวาระ จึงมีการเลือกตั้งซ่อมไปก่อนแล้ว ทำให้ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2568 จะมีการจัดเลือกตั้งทั้งนายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาเทศบาล ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ สำหรับบางแห่งที่มีการเลือกตั้งซ่อมไปก่อนแล้วก็ไม่ได้มีเลือกตั้งตำแหน่งนั้นๆ พร้อมกัน แต่ยังคงมีการเลือกตั้งในตำแหน่งอื่นๆ ที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระ ประชาชนทุกคนจึงต้องตรวจสอบสิทธิเลือกตั้งของตัวเองว่า มีสิทธิเลือกตั้งในวันที่ 11 พฤษภาคม 2568 ในตำแหน่งใดบ้าง หรือจะต้องมีการเลือกตั้งซ่อมก่อนหน้านั้นหรือไม่

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเทศบาล ทุกคนต้องเช็คตัวเอง
ประชาชนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร หรืออยู่ในเขตเมืองพัทยา หรืออยู่ในเขตพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จะไม่มีสิทธิเลือกตั้งเทศบาล โดยประชาชนต้องตรวจสอบสิทธิเลือกตั้งของตัวเองว่า บ้านของตัวเองอยู่ในเขตเทศบาลหรือไม่ และจะต้องไปใช้สิทธิในวันใด โดยสามารถตรวจสอบการใช้สิทธิได้ที่เว็บไซต์ของกระทรวงมหาดไทย คลิกที่นี่
ตามพ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 ผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งเทศบาล ต้องมีคุณสมบัติดังนี้
– มีสัญชาติไทย แต่ถ้าแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
– อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง
– มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับถึงวันเลือกตั้ง แต่ถ้าย้ายทะเบียนบ้านอยู่ในเขตเทศบาลเดียวกัน ก็ให้นับระยะเวลาต่อกันให้ครบหนึ่งปี
วิธีการออกเสียงกาบัตรสองใบ ไม่มีเลือกตั้งล่วงหน้า
การออกเสียงลงคะแนนเลือกนายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาเทศบาล ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะได้รับบัตรเลือกตั้ง สองใบ ได้แก่ บัตรเลือกตั้งนายกเทศมนตรี และบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล แยกขาดจากกัน
สำหรับนายกเทศมนตรี กากบาทออกเสียงเลือกผู้สมัครได้หนึ่งคนเท่านั้น
สำหรับสมาชิกสภาเทศบาล กากบาทออกเสียงเลือกผู้สมัครได้เขตละไม่เกินหกคน ถ้าประสงค์จะลงคะแนนให้ผู้สมัครน้อยกว่าหกคน สามารถทำได้โดยการกากบาทตามหมายเลขเฉพะาที่อยากเลือกเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเลือกให้ครบหกคน แต่จะลงคะแนนให้มากกว่าหกคนไม่ได้ มิฉะนั้นจะเป็นบัตรเสีย โดยที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเลือกผู้สมัครสมาชิกสภาเทศบาล ได้อย่างอิสระ โดยจะเลือก “ยกทีม” หรือ “รายคน” ก็ได้
การเลือกตั้งเทศบาล ใช้กติกาเดียวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นอื่นๆ คือ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องไปใช้สิทธิตามที่อยู่ในทะเบียนบ้านในวันจริงเท่านั้น ไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า และไม่มีการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขต สำหรับคนที่มีธุระหรือต้องไปทำงานในถิ่นที่อยู่อื่น มีทางเลือกเดียวคือต้องเดินทางกลับบ้านในวันเลือกตั้งจริงเท่านั้น

ไม่ไปเลือกตั้งระวังเสียสิทธิ ต้องแจ้งเหตุด้วย
ตามพ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 42 กำหนดไว้ว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิ จะถูกจำกัดสิทธิดังต่อไปนี้
- สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภา
- สมัครรับเลือกตั้งเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
- เข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
- ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองและข้าราชการฝ่ายรัฐสภา
- ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้ริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น
- ดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น และเลขานุการรองประธานสภาท้องถิ่น
การจำกัดสิทธิมีกำหนดเวลาสองปีนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นระหว่างนั้นและไปใช้สิทธิ ก็ไม่ทำให้สิทธิที่ถูกจำกัดกลับคืนมาจนกว่าจะครบระยะเวลาสองปี
ตามมาตรา 40 กำหนดหลักเกณฑ์ว่า หากผู้ใดไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเนื่องจากมีเหตุอันสมควร ให้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ภายในเจ็ดวันก่อนเลือกตั้งหรือเจ็ดวันหลังเลือกตั้ง โดยทำเป็นหนังสือไปยื่นหรืออาจมอบหมายให้ใครไปยื่นแทนก็ได้ หรือส่งทางไปรษณีย์หรือทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้