“ฮั้วเลือก สว.” ดีเอสไอ “มุดโพรง” หาช่องดำเนินคดีหนีอำนาจกกต.

“ฮั้วเลือก สว.” ดีเอสไอ “มุดโพรง” หาช่องดำเนินคดีหนีอำนาจกกต.

25 กุมภาพันธ์ 2568 จะเป็นอีกหนึ่งวันที่ประชาชนต้องคอยจับตา กับการประชุมคณะกรรมการของ ”กรมสอบสวนคดีพิเศษ” (กคพ.) หรือ “ดีเอสไอ” ซึ่งประกอบขึ้นจากตัวแทนหน่วยงานรัฐ กระบวนการยุติธรรม ภาคการเมือง และภาคเอกชน ว่าจะมีมติเห็นชอบให้รับข้อร้องเรียน “ฮั้วเลือกตั้ง สว.” มาเป็นคดีพิเศษตาม พ.ร.บ.กรมสอบสวนคดีพิเศษฯ หรือไม่ หลัง สว. ค่ายสีน้ำเงิน ประกบ นักการเมืองพรรคภูมิใจไทย ทยอยเดินหน้าออกแถลงการณ์ต่อต้านการตรวจสอบนี้ ระบุเหตุผลว่าดีเอสไอไม่มีอำนาจ และเป็นความพยายามของฝ่ายการเมืองในการล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ

ถ้าดีเอสไอตัดสินใจ “เดินหน้า” และองค์กรต่างๆ รับลูก จนทำให้ สว. จำนวนประมาณ 140 คน หรือเกินกว่าครึ่งของสภาหลุดจากตำแหน่งได้จริง ตัวสำรองก็จะเลื่อนขึ้นมาแทนที่ หากเหลือตัวสำรองไม่พอก็อาจถึงขั้นต้องจัดการเลือกวุฒิสภาขึ้นใหม่ และเหตุการณ์นี้ก็จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองของประเทศไทยที่จำไม่ลืมอย่างแน่นอน

กรมสอบสวนคดีพิเศษนั้น ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสอบสวนแทนตำรวจใน “คดีพิเศษ” ​ที่ไม่ได้มีอำนาจสอบสวน “ทุกคดี” ในราชอาณาจักร โดยเฉพาะเมื่อเป็นเรื่องเลือกตั้งที่มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีอำนาจโดยตรงอยู่แล้ว ถ้าหากจังหวะนี้ดีเอสไอ “ก้าวไม่ถูก” ใช้การเมืองนำกฎหมายและกระบวนการทางกฎหมายไปไม่สุด ก็อาจ “ขาพลิก” กลายเป็นแผลใหญ่ทางการเมืองกันได้

อำนาจสืบสวนสอบสวน เป็นจุดตั้งต้นที่ต้องมีกฎหมายรองรับ

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 บัญญัติไว้ว่า “ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน” หมายความว่า การที่อัยการคนใดคนหนึ่งจะฟ้องคดีแก่ผู้กระทำความผิดคนใด คดีนั้นต้องผ่านการสืบสวนสอบสวนมาก่อน ถ้าคดีนั้นไม่มีการสอบสวน อัยการจะไม่สามารถยื่นฟ้องคดีได้เลย หรือถ้ายื่นฟ้องไปแล้วศาลต้องยกฟ้องสถานเดียว ไม่ว่าจำเลยจะกระทำความผิดจริงหรือไม่ก็ไปต่อไม่ได้

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 นิยามความหมายของการสืบสวนสอบสวนไว้ดังนี้

“การสืบสวน” หมายความถึง การแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐาน ซึ่งพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจได้ปฏิบัติไปตามอำนาจและหน้าที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเพื่อที่จะทราบรายละเอียดแห่งความผิด

“การสอบสวน” หมายความถึง การรวบรวมพยานหลักฐานและการดำเนินการทั้งหลายอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดและเพื่อจะเอาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ

จากตัวบทกฎหมาย จะเห็นได้ว่า หลังจากสืบสวนจนได้รายละเอียดแห่งความผิดแล้ว พนักงานสอบสวน ผู้มีอำนาจในการสอบสวน จึงรวบรวมรายละเอียดแห่งความผิดดังกล่าวมาอยู่ในรูปแบบของพยานหลักฐานต่างๆ เพื่อใช้ในการพิสูจน์ความผิด การสืบสวนและสอบสวนจึงเป็นของคู่กัน และต้องทำโดยเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมด นี่คือหลักการพื้นฐานที่เป็น “จุดตั้งต้น” ในกระบวนการนำตัวผู้กระทำความผิดมาพิจารณาคดีและลงโทษได้

ในบรรดาหน่วยงานรัฐทั้งหลาย ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนจะสืบสวนและสอบสวนคดีอาญาได้ทั้งหมด เฉพาะคนที่มีอำนาจเท่านั้นสามารถทำได้ หากกฎหมายไม่ได้ยืนยันหลักการนี้ก็จะเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐกว้างขวางเกินไป จนกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

หลักห้ามไม่ให้สืบซ้ำสอบซ้อน

ในกฎหมายอาญา มีหลักการพิจารณาคดีที่สำคัญหลักหนึ่ง เพื่อใช้ในการประกันสิทธิเสรีภาพของบุคคล คือ หลักห้ามดำเนินคดีอาญาซ้ำ (ne bis in idem) อันมีความหมายว่า บุคคลจะไม่ได้รับความเดือดร้อนซ้ำสองสำหรับการกระทำเดียวกัน ซึ่งในการดำเนินคดีอาญา ไม่ถูกดำเนินคดีจากข้อสงสัยเดียวกันหลายครั้งโดยหลายหน่วยงาน ผู้ดำเนินคดีจำเป็นต้องคำนึงถึงหลักกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้การดำเนินคดีอาญาเป็นไปอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่อง เป็นธรรม และไม่ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ

ลองนึกภาพเหตุการณ์ว่า หากในการกระทำที่สงสัยว่าเป็นความผิดหนึ่งครั้ง มีการสืบสวนสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ที่มาจากหลายหน่วยงาน โดยไม่ได้คุยหรือตกลงกันมาก่อน ต่างคนต่างสอบสวน พยานหลักฐานในคดีที่อาจจะมีชิ้นเดียวก็แย่งกันไป และข้อเท็จจริงที่ได้ก็อาจจะไม่ครบถ้วนหรือไม่ตรงกัน พอถึงชั้นอัยการก็ต้องสงสัยว่าควรยื่นฟ้องหรือมีคำสั่งตามสำนวนคดีไหนกันแน่ หรือเลวร้ายที่สุด ถ้าอัยการต่างคนกันก็ฟ้องซ้ำไปเลย ทำให้บุคคลผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดนั้นต้องแบกรับภาระหนักเกินสมควร กฎหมายจึงกำหนดให้มีหลักการดังกล่าวเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหา

ทั้งนี้ อำนาจสืบสวนสอบสวน ซึ่งเป็นอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายหรืออำนาจบริหาร ไม่สามารถถูกแบ่งแยกได้ ผู้ใช้คือฝ่ายบริหาร แม้ในการทำงานจะมีการแบ่งแยกความรับผิดชอบของหน่วยงานออกไปตามท้องที่หรือตามประเภทคดีต่างๆ เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงาน แต่ไม่ใช่การแยกอำนาจของการสืบสวนสอบสวนออกจากกัน อย่างไรก็ตาม ก็อาจมีข้อสังเกตได้ว่า รัฐธรรมนูญตั้งแต่ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา กำหนดให้มีการถ่ายโอนอำนาจสืบสวนสอบสวนในคดีบางประเภทไปเป็นของ “องค์กรอิสระ” ซึ่งไม่อยู่ภายใต้บังคับของฝ่ายบริหาร กรณีนี้เกิดขึ้นคล้ายกันในบางประเทศ เช่น ไต้หวัน

นิยาม “คดีพิเศษ” เปิดกว้าง เปิดทาง กคพ. ลงมติ

กรอบอำนาจการสืบสวนและสอบสวนคดีของดีเอสไอทั้งหมดขึ้นอยู่กับการนิยามว่า คดีใดถือเป็น “คดีพิเศษ” คือ ถ้าไม่ใช่คดีพิเศษ เจ้าหน้าที่ของดีเอสไอไม่สามารถทำอะไรได้เลย การนิยามขอบเขตของคดีพิเศษระบุอยู่ใน พ.ร.บ.กรมสอบสวนคดีพิเศษฯ (หรือที่เรียกว่า “พ.ร.บ.ดีเอสไอฯ) มาตรา 21 สรุปได้ดังนี้

1) ฐานความผิดตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.กรมสอบสวนฯ รวมแล้วมี 41 กลุ่มฐานความผิด ส่วนใหญ่เป็นความผิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจและการเงิน สามารถดูรายละเอียดได้ที่นี่ แต่ไม่ปรากฎว่ามีความผิดเกี่ยวกับอั้งยี่-ซ่องโจร หรือการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาแต่อย่างใด ทั้งนี้ประเภทของความผิดที่จะถูกจัดเป็นคดีพิเศษต้องมีองค์ประกอบลักษณะดังต่อไปนี้อย่างใดอย่างหนึ่งด้วย

  1. เป็นคดีซับซ้อน ต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวน และรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษ
  2. คดีที่มีผลกระทบรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือระบบเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ
  3. คดีข้ามชาติหรือองค์กรอาชญกรรม
  4. คดีที่มีผู้ทรงอิทธิพลเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน
  5. คดีที่มีพนักฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่ไม่ใช่ดีเอสไอเป็นผู้ต้องสงสัย

สรุปสั้นๆ ว่า ต้องเป็นฐานความผิดที่มีการกำหนดไว้ในบัญชีท้าย พ.ร.บ. และต้องเข้าเงื่อนไข้อ 1-5 ข้อใดข้อหนึ่งด้วย ถ้าไม่เข้าเงื่อนไข จะไม่เป็นคดีพิเศษ และดีเอสไอไม่มีอำนาจสอบสวน

2) คดีความผิดอาญาอื่นที่กคพ. มีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของคณะกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ให้รับเป็นคดีพิเศษ

ข้อสองนี้เป็นอำนาจเปิดกว้างมาก คือคดีอาญาใดๆ ก็ได้ ไม่ว่าจะข้อหาอะไร จะเล็กจะน้อยใหญ่ โดยไม่จำกัดว่าต้องเข้าเงื่อนไขเช่นเดียวกับคดีในข้อ 1. หาก กคพ. เห็นด้วยโดยมีมติ 2 ใน 3 คดีเหล่านั้นสามารถกลายเป็น “คดีพิเศษ” และทำให้เจ้าหน้าที่ของดีเอสไอมีอำนาจสืบสวนสอบได้

ข้อหาตามกฎหมายสว. อำนาจกกต. ยังมีศักดิ์ใหญ่กว่า

กคพ. ตามมาตรา 5 ของพ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ มีองค์ประกอบ 20 คน ได้แก่ (1) นายกรัฐมนตรี (2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (3) ปลัดกระทรวงยุติธรรม (4) ปลัดกระทรวงการคลัง (5) ปลัดกระทรวงมหาดไทย (6) ปลัดกระทรวงพาณิชย์ (7) อัยการสูงสุด (8) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (9) เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา (10) เจ้ากรมพระธรรมนูญ (11) นายกสภาทนายความ และ (12-20) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่ง ครม. แต่งตั้งจากแขนงต่างๆ กล่าวคือ พากันมาครบทีม เกินกว่าครึ่งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมกองอยู่ตรงนี้แล้ว

นอกจากนี้ในช่วงท้ายของ มาตรา 21 ยังกำหนดให้อำนาจใน “คดีพิเศษ” ที่มีลักษณะเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท (หมายถึง ในการกระทำความผิดครั้งเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายเรื่อง เช่น ยิงคนตายด้วยปืนเถื่อน ผิดทั้งกฎหมายห้ามฆ่าคน และห้ามครอบครองปืนโดยไม่ได้รับอนุญาติ) หรือหลายเรื่องต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันกัน (เช่น ฉ้อโกงและฆ่าพยานปิดปาก) เจ้าหน้าที่คดีพิเศษสามารถขยายอำนาจสืบสวนสอบสวนไปยังความผิดเรื่องอื่นได้ด้วย แม้ว่าความผิดนั้นจะไม่ใช่คดีพิเศษก็ตาม ยกตัวอย่าง นาย ก. เป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่และปล่อยแชร์ลูกโซ่ แต่ต่อมามีคนจะไปแจ้งความ จึงฆ่าปิดปาก กรณีนี้แม้ความผิดฐานฆ่าคนจะไม่ได้เป็นคดีพิเศษ แต่เป็นการกระทำความผิดที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวกันพัน กฎหมายก็กำหนดให้อำนาจสอบสวนของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอขยายครอบคลุมมาถึงฐานฆ่าคนตายด้วย

เมื่อพิจารณาตามกฎหมายของดีเอสไอ ประกอบกับหนังสือจากดีเอสไอถึง กกต. ที่เผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย ระบุความเห็นของดีเอสไอว่า เหตุการณ์ฮั้วเลือก สว. เข้าข่ายเป็นความผิด 3 กรณี ได้แก่ [1] ความผิดตาม พ.ร.ป.การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาฯ มาตรา 77 (1) [2] ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 (ความผิดฐานอั้งยี่-ซ่องโจร) และ [3] ความผิดฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ ซึ่งมีเพียงแค่ความผิดฐานฟอกเงินเท่านั้นที่เป็นความผิดในบัญชีแนบท้าย

แต่ทั้งนี้ ความผิดฐานฟอกเงินดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องมาจากที่ พ.ร.ป.การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาฯ มาตรา 77 วรรคสอง กำหนดให้ความผิดตาม (1) ถือเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินด้วย ดังนั้น ในกรณีข้อสงสัยการฮั้วเลือก สว. ก็ยังไม่ได้เป็นการฟอกเงินด้วยตัวเอง แต่เป็นความผิดที่กฎหมายกำหนดให้ “ถือเสมือน” เป็นการฟอกเงิน และเมื่อถือเสมือน ก็จะเข้าข่ายเป็นความผิดตามบัญชีแนบท้ายของ พ.ร.บ.ดีเอสไอฯ ทันที

แต่ก็จะเกิดความสับสนขึ้นต่อมาว่าอำนาจสืบสวนสอบสวนในกรณีการทุจริตเลือกสว. นั้น สรุปแล้วเป็นของ กกต. หรือดีเอสไอกันแน่ เพราะตามหลักกฎหมายที่กล่าวไปข้างต้น ไม่ควรจะมีการสืบสวนสอบสวนที่ซ้ำซ้อนกัน ทั้งนี้ กกต. อาจจะได้เปรียบตรงที่เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่ดีเอสไอเป็นราชการส่วนกรม ในสังกัดของกระทรวงยุติธรรม ตั้งขึ้นตามกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ กกต. จึงมีสิทธิและศักดิ์สูงกว่าดีเอสไอในคดีเหล่านี้

ส่วนความผิดตาม พ.ร.ป การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาฯ และอั้งยี่ซ่องโจรที่ไม่อยู่ในบัญชีแนบท้ายของ พ.ร.บ.ดีเอสไอฯนั้น กรณีที่จะให้ดีเอสไอมีอำนาจสืบสวนสอบได้ ก็จะต้องใช้กลไกผ่านการลงคะแนนเสียง มติ 2 ใน 3 ของ กคพ. เพื่อให้รับเอาคดีดังกล่าวมาเป็นคดีพิเศษ ให้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอมีอำนาจสืบสวนสอบสวนได้

ส่วนการที่ดีเอสไอกำลังจะก้าวเข้ามาทำหน้าที่ที่ กกต. มีหน้าที่เดิมอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีผลงานปรากฏนั้น ก็ยังตั้งคำถามเรื่องความเหมาะสมได้ เพราะจากสถิติคดีที่มีการรายงานในผลการดำเนินของดีเอสไอ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา (2004-2024) คดีพิเศษกว่าร้อยละ 67.91 นั้นเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับอาชญกรรมทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยีสารสนเทศ ทรัพย์สินทางปัญญา ผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม และมาตรฐานอุตสาหกรรม ขณะที่จำนวนคดีที่เหลือถูกจัดอยู่ในหมวดอาชญกรรมข้ามชาติและอาชญกรรมพิเศษ ความเชี่ยวชาญของดีเอสไอไม่ใช่เรื่องการเลือกตั้งหรือการเมืองมาก่อนหน้านี้

กกต. ผูกขาดคดีเลือกตั้ง-พรรคการเมือง ดึงคดีมาเก็บไว้เองได้หมด

หน่วยงานที่รัฐธรรมนูญฯ กำหนดให้มีอำนาจโดยตรงในการสืบสวน ไต่สวน และดำเนินคดีความผิดเกี่ยวกับ “กฎหมายการเลือกตั้งและพรรคการเมือง” โดยตรงอย่าง “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” ปรากฎตามมาตรา 224 (2) แห่งรัฐธรรมนูญฯ บัญญัติว่า

มาตรา 224 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

(2) ควบคุมดูแลการเลือกตั้งและการเลือกตาม (1) ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และควบคุมดูแลการออกเสียงประชามติให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อการนี้ ให้มีอำนาจสืบสวนหรือไต่สวนได้ตามที่จำเป็นหรือที่เห็นสมควร”

ประกอบกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ และ พ.ร.ป.การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาฯ นิยามต้องตรงกันว่า “กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง” หมายความว่า “กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา กฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และให้หมายความรวมถึงกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติด้วย”

และยังกำหนดให้บุคคลซึ่ง กกต. แต่งตั้งให้สืบสวนไต่สวน มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ มาตรา 42 วรรค 4 และให้สำนวนไต่สวนนั้นมีฐานะเป็นการสอบสวนของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามมาตรา 44 ด้วย

กฎหมายยังตอกย้ำความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของในอำนาจการดำเนินคดีของกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองของ กกต. ด้วยบทบัญญัติในมาตรา 42 วรรค 5 และมาตรา 49

 “มาตรา 42 วรรค 5 ความในวรรคหนึ่งไม่เป็นการตัดอำนาจคณะกรรมการ (กกต.) ที่จะดำเนินการให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการดำเนินการไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา”

มาตรา 49 เมื่อความปรากฎต่อคณะกรรมการว่าหน่วยงานของรัฐหรือพนักงานสอบสวนได้รับเรื่องการกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองไว้พิจารณา และคณะกรรมการเห็นว่าเป็นการสมควรที่คณะกรรมการจะดำเนินการเองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะกรรมการมีหนังสือแจ้งให้หน่วยงานของรัฐหรือพนักงานสอบสวนนั้นโอนเรื่องหรือส่งสำนวนการสอบสวนเกี่ยวกับการกระทำความผิดนั้นมาให้คณะกรรมการเพื่อดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ในกรณีเช่นนี้ให้หน่วยงานของรัฐหรือพนักงานสอบสวนโอนเรื่องหรือส่งสำนวนการสอบสวนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองมาให้คณะกรรมการภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งดังกล่าว”

หมายความว่า หากตำรวจ ดีเอสไอ หรือหน่วยงานต่างๆ ที่มีอำนาจสอบสวนการกระทำความผิดอาญา ได้รับเรื่องร้องเรียนที่เห็นว่ามีมูลจะดำเนินคดีในฐานความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ก็สามารถทำได้ แต่กกต. มีอำนาจเหนือกว่าที่จะพิจารณาว่า คดีใดต้องการจะให้หน่วยงานอื่นดำเนินการหรือต้องการที่จะเอามาทำเอง ถ้า กกต. ต้องการดึงคดีทั้งหลายมาทำเองก็ยังสามารถออกคำสั่งให้โอนเรื่องมาไว้ในมือของกกต. เท่านั้นก็ได้

ดีเอสไอ “มุดโพรง” ใช้ช่องอั้งยี่-ซ่องโจร หลบอำนาจกกต.

จากข้อกฎหมายที่กล่าวมาข้างต้น พอเห็นได้ว่า อำนาจการดำเนินคดีเกี่ยวกับกฎหมายการเลือกตั้งและพรรคการเมืองนั้นอยู่ภายใต้การตัดสินใจของ กกต. เป็นใหญ่ที่สุด หน่วยงานอื่นจะดำเนินคดีได้ก็ต่อเมื่อ กกต. อนุญาตให้ทำ   

ดังนั้น หากกคพ. ตัดสินใจรับคดี “ฮั้วเลือก สว.” เป็นคดีพิเศษ ผ่านวิธีการลงคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของ กคพ. โดยใช้มูลเหตุฐานความผิดตาม พ.ร.ป.การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาฯ มาตรา 77 (1) เช่นนี้ กกต. ก็จะสามารถเข้ามามีอำนาจในการตัดสินใจตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้งฯ ว่าจะให้ดีเอสไอทำคดีต่อไปหรือไม่ หรือจะเก็บคดีมาทำไว้เองต่อไป จะเห็นได้จากที่ดีเอสไอมีหนังสือไปถาม กกต. ตามที่เปิดเผยออกมาในโซเชียลมีเดียว่า จะให้ดีเอสไอสืบสวนหรือ กกต. จะสืบสวนเอง

แต่ในข้อเท็จจริงปรากฏตอบช่วงเวลาที่มีการจัดการเลือกสว. ว่า  มีผู้สมัครสว. ยื่นเรื่องเรื่องร้องเรียนเช่นนี้ต่อ กกต. มานานแล้ว และเป็นจำนวนหลายคดี ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการสืบสวนอยู่ แต่ไม่เห็นผลลัพธ์จนกระทั่งกกต. ประกาศรับรองผลการเลือกไปก่อน และสว. ชุดใหม่เข้าทำหน้าที่มาแล้วหลายเดือนการตรวจสอบของกกต. ก็ไม่คืบหน้า หากให้ดีเอสไอสืบสวนต่อไปตามทางนี้ ก็จะเป็นการใช้อำนาจสืบสวนสอบสวนซ้ำซ้อน ซึ่งผิดกับหลักคุ้มครองสิทธิเสรีภาพทางกฎหมายอาญา แต่หาก กกต. เลือกทิ้งการสืบสวนสอบสวนของตัวเอง และให้ดีเอสไอทำคดีต่อ ก็จะเป็นการฉีกหน้าตนเองทิ้งยับเยิน

ทางเลือกที่เหลือคือ ดีเอสไอและกคพ. เลือกใช้ “ฐานความผิด” ในการดำเนินคดีนี้ที่ไม่ใช่กฎหมายการเลือกตั้งและพรรคการเมือง เข้ามาจับเป็นคดีพิเศษ ผ่านวิธีการลงมติคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของ กคพ. เช่นกัน ซึ่งในที่นี้ ตามที่มีการเผยรายงานทางสื่อมวลชน ดีเอสไอเลือกชงฐานความผิด “อั้งยี่-ซ่องโจร” ตามประมวลกฎหมายอาญมาตรา 209-210 ขึ้นมา ซึ่งไม่เข้าเกณฑ์ ทั้งบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.กรมสอบสวนคดีพิเศษฯ และไม่เป็นความผิดตามกฎหมายการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ซึ่งทำให้ กกต. จะไม่มีอำนาจในการเข้ามายุ่งเกี่ยวกับฐานความผิดนี้

อย่างไรก็ดี หากเลือกใช้ทางตั้งข้อหา “อั้งยี่-ซ่องโจร” ข้อกังวลที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือ การฮั้วเลือก สว. มีองค์ประกอบความผิดครบถ้วนตามข้อหานี้หรือไม่หรือไม่ เพราะองค์ประกอบของ “อั้งยี่” ต้องมีการรวมตัวกันเพื่อกระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขณะที่ซ่องโจรต้องกระทำผิดอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติในภาค 2 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งดีเอสไอในฐานะผู้สืบสวนสอบสวนและชงประเด็นนี้ขึ้นมาก็เป็นฝ่ายหาหลักฐานมาพิสูจน์ให้ได้ และอาจจะมีผลต่อการพิสูจน์ความถูกผิดในชั้นศาล เพราะหากไม่สามารถหาหลักฐานให้เข้าองค์ประกอบของข้อหา “อั้งยี่-ซ่องโจร” ได้เพียงพอ แต่กลับดำเนินคดีไปโดยเน้นที่องค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.ป.การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาฯ มาตรา 77 (1) แทน ก็อาจเข้าข่ายว่าจะสืบสวนสอบสวนทับซ้อนกับคดีในมือของ กกต. ก็เป็นได้

ข้อมูลเพิ่มเติม

ความผิดฐานอั้งยี่-ซ่องโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 และมาตรา 210

มาตรา 209 ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท

ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า ผู้จัดการหรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในคณะบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

มาตรา 210 ผู้ใดสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าเป็นการสมคบเพื่อกระทำความผิดที่มีระวางโทษถึงประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage
Trending post