เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญเช็คชื่อสส.สว. “ถ่วง” แก้รัฐธรรมนูญ กลางลานหน้าหอศิลป์ฯ

14 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 17.30 น. ณ ลานหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ จัดกิจกรรมปราศรัยและอ่านแถลงการณ์ เรียกร้องให้รัฐสภาหยุดเตะถ่วงการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ภายหลังเกิดเหตุการณ์สภาล่ม เนื่องจาก สส. และ สว. จำนวน 528 คน จงใจไม่แสดงตนในที่ประชุมทำให้องค์ประชุมไม่ครบ ส่งผลให้การอภิปรายและลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ต้องล่าช้าออกไป และโอกาสในการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อนการเลือกตั้งในปี 2570 เหลือริบหรี่

.
ช่วงแรกของงาน เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์  ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนำป้ายกระดาษที่มีรายชื่อ สส. และ สว. จำนวน 528 คนที่ไม่แสดงตนในที่ประชุมรัฐสภามาแปะบนกล้วย และร่วมกันเรียงผลกล้วยบนพื้นเป็นตัวอักษรคำว่า “ถ่วง” เพื่อสื่อถึงการเข้าร่วมประชุมเพื่ออภิปรายและลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของสมาชิกรัฐสภาว่า เป็นเรื่องง่ายๆ เรื่องกล้วยๆ แต่พวกเขากลับไม่ยอมทำหน้าที่แม้แต่จะเข้าประชุม โดยอ้างเหตุผลว่าการแก้ไขมาตรา 256 อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งที่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ระบุชัดเจนอยู่แล้วว่ารัฐสภาสามารถกระทำได้ เพียงแต่ต้องมีการทำประชามติ 2 ครั้ง  ครั้งแรกหลังรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เสร็จ และ ครั้งที่สองหลังสภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จ 

.
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงเหตุการณ์ในวันนี้ตอนหนึ่งว่า

.
“ความจริงแล้ว ต่อให้จะมีการอภิปราย ก็ยังคงไม่มีการลงมติในวันนี้ เพราะเวลาในที่ประชุมไม่ทัน อภิปรายไปแล้ว อีกสองสามเดือนก็คงต้องกลับมาลงประชามติกันใหม่ แต่วันนี้ พวกเขา (สมาชิกรัฐสภา) ไม่ยอมแม้กระทั่งจะให้อภิปราย ไม่ยอมแม้แต่จะให้มีคนไปด่าว่ารัฐธรรมนูญ 60 นั้นไม่ดีและสมควรที่จะถูกเขียนใหม่ เขากลัวที่จะได้ยิน ได้ฟังว่ารัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหารนั้น มันสืบทอดอำนาจอย่างไร เขากลัวว่าประชาชนมากขึ้น ๆ จะได้ยินได้ฟัง และจะจารึกไว้ว่ารัฐธรรมนูญ 60 นั้นควรเขียนใหม่ทั้งฉบับ”
.

“เพราะฉะนั้น เมื่อเขากลัว เราก็จะยิ่งทำแบบนั้น เขาไม่อยากให้เราพูด เราก็จะยิ่งพูด เขาไม่อยากให้ประชาชนรู้ เราก็ยิ่งต้องทำต่อไป เพราะการที่มี สว. ที่ไม่ยอมอภิปรายและลงมติ การที่มีศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นปัจจัยว่าต้องส่งเรื่องไปถามว่าทำได้ไหม และการมีพรรคการเมืองที่ไม่ยอมฟังอภิปรายนั่งอยู่เต็มสภาแบบนี้ สิ่งนี้คือปัญหาของรัฐธรรมนูญ 60”
.

หลังยิ่งชีพกล่าวจบตัวแทนเครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญผลัดกันอ่านแถลงการณ์ซึ่งมีความว่า 

.

“จากเหตุการณ์ ‘รัฐสภาล่ม’ ติดกันถึงสองวัน จนทำให้การอภิปรายและลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ต้องล่าช้าออกไปอย่างไม่มีกำหนด
.
ความล่าช้าดังกล่าว ทำโอกาสที่ประเทศไทยจะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชนให้ทันภายในปี 2570 ซึ่งเป็นไปตามคำสัญญาที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา จึงเป็นไปอย่างริบหรี่
.
ทางเครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่า ความล่าช้าทั้งหมดนี้ ไม่ใช่ปัญหาความขัดแย้งจากการตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่แตกต่างกัน แต่เป็นความขัดแย้งจากเจตจำนงทางการเมืองที่แตกต่างกัน
.
ดังนั้น การพยายามเตะถ่วงกระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 จึงเป็นความพยายามขัดขวางการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
.
พวกเรา เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ขอยืนยันข้อเรียกร้องเดิมต่อสมาชิกรัฐสภาว่า
.
1. สว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน และ สส. พรรคภูมิใจไทย ต้อง “หยุดอ้าง” คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่4/2564 เพื่อ “เตะถ่วง” การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่
.
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ระบุชัดเจนแล้วว่า รัฐสภามีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ การทำประชามติตลอดกระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ทำแค่สองครั้ง คือ “ก่อน” จัดทำรัฐธรรมนูญ และหลัง สสร. จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว
.
ไม่มีกฎหมายที่บังคับให้รัฐสภาต้องทำประชามติก่อนเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่ยุติแล้ว เมื่อต้นปี 2567 สส. ได้ส่งเรื่องไปถามศาลรัฐธรรมนูญ ศาลตอบกลับมาว่า วินิจฉัยโดยละเอียดและชัดเจนแล้ว การแก้รัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจรัฐสภา ทำได้ ไม่ต้องกังวลว่าจะขัดต่อกฎหมาย หรือขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
.
2. สส. และ สว. ควรใช้อำนาจในฐานะ “ผู้แทนปวงชน” ทำให้การแก้รัฐธรรมนูญเป็น “เรื่องกล้วยๆ” เดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมลงมติ “รับหลักการ” ร่างแก้รัฐธรรมนูญทุกข้อเสนอ เพื่อเปิดทางให้มีองค์กรมาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ และเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้
.
การพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นเพียง “ก้าวแรก” ของกระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่เท่านั้น ประเด็นที่มีข้อถกเถียง เห็นต่าง สามารถถกเถียงกันต่อไปได้ในชั้นกรรมาธิการ แต่หากรัฐสภาไม่รับหลักการแต่แรก ก้าวแรกนี้อาจไม่ได้เริ่มเลย
.
สุดท้ายนี้ เราอยากขอบคุณพี่น้องประชาชนทุกคนที่ร่วมเคลื่อนไหวและผลักดันข้อเรียกร้อง “การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดย สสร. เลือกตั้ง 100%” เราเห็นว่า ความหวังเดียวที่จะทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้สำเร็จ ไม่ได้อยู่ที่รัฐสภา แต่อยู่ที่ประชาชนทุกคนพร้อมใจกันส่งเสียงกดดันรัฐสภาให้ยอมรับอำนาจของประชาชน”

RELATED TAGS

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage
Trending post