เปิดชื่อ สว. สส. อยากถ่วงเวลาแก้รัฐธรรมนูญ เสนอญัตติด่วนถามศาลอีกรอบว่ามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ไหม

13 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาวาระสำคัญ พิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญสองฉบับ ซึ่งเสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคประชาชน และพรรคเพื่อไทย ทั้งสองฉบับมีสาระสำคัญ คือการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญจากการเลือกตั้ง มาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ 

ตอนเช้าก่อนประชุมรัฐสภา เวลาประมาณ 08.36 น. เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชิงเสนอญัตติด่วน ขอให้ที่ประชุมพิจารณาลงมติยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ เมื่อเปิดประชุมรัฐสภาแล้ว วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ชี้แจงว่าเมื่อเสนอเป็นหนังสือและเรื่องด่วนที่ประธานรัฐสภา มีสิทธิบรรจุวาระได้ จึงให้ที่ประชุมพิจารณาตัดสินใจร่วมกันว่าจะให้เลื่อนขึ้นมาก่อนวาระอื่นๆ หรือไม่ นำมาสู่ข้อถกเถียง และลงมติว่าจะเลื่อนญัตติดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาก่อนวาระแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่

เปิดชื่อ สว. สส. อยากถ่วงเวลาแก้รัฐธรรมนูญ เสนอญัตติด่วนถามศาลอีกรอบว่ามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ไหม

สว. ยันจะส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ อ้างจะผิดกฎหมาย

พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. อภิปรายว่า “ผมไม่เห็นด้วยกับการมีการประชุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในวันนี้” ด้านประธานรัฐสภา แจงกลับว่า ขณะนี้ขอให้อภิปรายในประเด็นการพิจารณาเลื่อนญัตติก่อน แต่พิสิษฐ์ก็ยันกลับว่า ถ้าไม่ได้พูดวันนี้ ก็จะไม่เข้าประชุมเลย

หลังจากนั้น ประธานรัฐสภาให้เปรมศักดิ์ เพียยุระ อภิปรายนำเสนอหลักการและเหตุผล เปรมศักดิ์ระบุว่า เขาเป็น สว.สีขาว ท่ามกลางกระแสเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จึงได้เสนอญัตตินี้เพื่อให้สมาชิกได้ดำเนินการอย่างมีบรรทัดฐาน ตามหลักการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โ

เปรมศักดิ์แจงเหตุผลญัตติด่วน เรื่องขอให้รัฐสภามีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรค 1(2) ว่า ตามที่ สส. พรรคประชาชน และ สส. พรรคเพื่อไทย เสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญ มีสาระสำคัญเหมือนกัน คือตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

ด้วยเหตุที่กล่าวมานั้นจึงเกิดปัญหาว่ารัฐสภามีอำนาจโหวตหรือไม่เนื่องจากคำวินิจฉัยที่ 4/2564 มีใจความว่าการแก้ไขมาตรา 256 เพิ่มเติมหมวด 15/1 ย่อมเป็นผลให้เกิดการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เป็นการแก้ไขในหลักการสำคัญที่ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมต้องการปกป้องคุ้มครองไว้ หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อนว่าสมควรร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ดังนั้นจึงต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติสามครั้ง เนื่องจากถ้าไม่มีอำนาจพิจารณาจะส่งผลเสียต่องบประมาณประเทศและส่งผลต่อความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจหน้าที่ทำได้ ก็จะส่งผลให้การดำเนินการของรัฐสภาเป็นไปโดยชอบตามกฎหมายต่อไป 

ปริญญา วงษ์เชิดขวัญ สว. อภิปรายสนับสนุนให้เลื่อนญัตติขึ้นโดยกล่าวว่า “สว. ไม่สามารถชี้ให้ได้ว่าท่านต้องทำตามเรา แต่ถ้าสว.ไม่ได้สบายใจ ถ้าร่าง (แก้รัฐธรรมนูญ) นี้ไม่ได้มีถึงหนึ่งในสาม ก็จะเอาอะไรต่อไปครับ ให้เลื่อนญัติขึ้นมาก่อน” เช่นเดียวกับยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา สว. ที่อภิปรายเห็นด้วยกับการเลื่อนญัตติ และรัชนีกร ทองทิพย์ 

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส. พรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่าสนับสนุนให้ญัตตินี้เลื่อนขึ้นมาก่อนเพราะต้องทำประชามติเสียก่อนจึงจะบรรจุระเบียบวาระได้ ทั้งนี้ประชาธิปัตย์ไม่ได้มีเจตนายื้อเวลา แต่ไม่อยากให้เสียของและไปตายตอนจบ

ด้านประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส. พรรคเพื่อไทย กล่าวโดยมีใจความว่าเห็นควรเลื่อนญัตติดังกล่าวขึ้นมา แต่ไม่ได้เห็นด้วยกับเนื้อหาเนื่องจากผู้เสนอญัติส่งศาลทำตัวเหมือนศาลรัฐธรรมนูญเสียเองว่าต้องทำประชามติกี่ครั้ง 

สว. ข้างน้อย – สส. พรรคประชาชน แย้งไม่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ

ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส. พรรคประชาชน อภิปรายว่าไม่ให้ด้วยกับการเลื่อนญัตตินี้ขึ้นมาก่อน ด้วยเหตุผลว่า

ประการแรก การบรรจุระเบียบวาระเป็นอำนาจโดยแท้ของประธานรัฐสภา และประธานรัฐสภาก็ได้วินิจฉัยแล้วว่าสามารถบรรจุระเบียบวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับได้ เรื่องนี้ ไม่ใช่ความเห็นของประธานรัฐสภาโดยฝ่ายเดียว พริษฐ์ วัชรสินธุได้เข้าไปชี้แจงกับประธานรัฐสภา และฝ่ายกฎหมายอีกแล้ว

ประการที่สอง การพิจารณาญัติกฎหมาย พระราชบัญญัติ หรือรัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ 

ปกรณ์วุฒิ เห็นว่าญัตติวันนี้รวมถึงความเห็นของสมาชิกรัฐสภาที่บอกว่าไม่สามารถมีอำนาจในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญได้ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ต้องเร่งแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญโดยเร็วที่สุด เพราะว่าแม้กระทั่งผู้แทนปวงชนชาวไทยที่ประชาชนเลือกตั้งให้ทุกท่านเข้ามาในการแก้ไขกฎหมาย แก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังสงสัยตัวเองกันเลยว่าทำได้หรือไม่ได้ 

“ในการเป็นผู้แทนประชาชน ถ้าไม่มีความกล้าหาญเหล่านั้น ไม่ต้องเสนอตัวมาเป็นผู้แทนประชาชน ผมไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนญัตตินี้ขึ้นมาครับ” ปกรณ์วุฒิกล่าว

ฝั่ง สว. นรเศรษฐ์ ปรัชญากร อภิปรายไม่เห็นด้วยให้เลื่อนญัติขึ้นมา

เวลา 11.11 น. ประธานรัฐสภาแจ้งว่าจะให้ลงมติว่าจะเลื่อนญัตติขึ้นมาหรือไม่โดยให้สมาชิกรัฐสภาเสียบบัตรแสดงตนเพื่อตรวจสอบองค์ประชุมในเวลา 11.16 น. ที่ประชุมแจ้งผลว่ามีองค์ประชุมทั้งสิ้น 527 คน จำนวนผู้ลงมติ 526 ลงมติเห็นด้วย 247 ลงมติไม่เห็นด้วย 275 และงดออกเสียง 4  

ดังนั้น มติที่ประชุมรัฐสภาไม่เห็นด้วยให้เลื่อนญัตติขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) หลังจากนั้นเวลา 11.23 น. พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงษ์ สมาชิกวุฒิสภา ได้ลุกขึ้นอภิปรายว่า “ด้วยเหตุผลที่ไม่มีการเลื่อนในวันนี้ และเป็นการประชุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอออกจากที่ประชุมแห่งนี้” และได้ออกไปพร้อมด้วยสมาชิกวุฒิสภาจำนวนหนึ่ง

เปิดชื่อคนเสนอญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญ พบ สส. พลังประชารัฐ – เพื่อไทย – กล้าธรรม

เมื่อดูเอกสารเสนอญัตติด่วนที่นำโดย สว. เปรมศักดิ์ เพียยุระ พบว่ามีสมาชิกรัฐสภาคนอื่นๆ ร่วมลงชื่อด้วยอีก 61 คน เท่าที่พอจะแกะรายชื่อมาได้ พบว่ามี สว. ร่วมลงชื่ออย่างน้อย 20 คน และ สส. อย่างน้อย 21 คน

สว. อย่างน้อย 20 คนที่ร่วมลงชื่อ ได้แก่

  1. เศรณี อนิลบล
  2. พลตำรวจตรี อังกูร คล้ายคลึง
  3. ชูชาติ อินสว่าง
  4. ยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา 
  5. พ.ต.ท.วันไชย เอกพรพิชญ์
  6. ว่าที่พันตรี กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์
  7. เดชา นุตาลัย
  8. วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ 
  9. วาสนา ยศสอน
  10. กมล สุขคะสมบัติ
  11. ประทุม วงศ์สวัสดิ์ 
  12. วิธาวีร์ ประทุมสวัสดิ์ 
  13. นิชาภา สุวรรณนาค 
  14. มังกร ศรีเจริญกูล
  15. วีระพันธ์ สุวรรณนามัย 
  16. สมบูรณ์ หนูนวล 
  17. ชิบ จิตนิยม
  18. อภินันท์ เผือกผ่อง 
  19. สุทิน แก้วพนา
  20. กิติศักดิ์ หมื่นศรี

สส. พรรคเพื่อไทย อย่างน้อยแปดคน ร่วมลงชื่อ ได้แก่

  1. มนพร เจริญศรี พรรคเพื่อไทย 283 
  2. เอกธนัช อินรอด เลขที่ 495 พรรคเพื่อไทย
  3. ชูศักดิ์ แม้นทิม หมายเลข 100 พรรคเพื่อไทย
  4. ภูมพัฒน์ พชรทรัพย์ หมายเลข 280 พรรคเพื่อไทย
  5. เชิดชัย ตันติศิรินทร์ หมายเลข 393 พรรคเพื่อไทย
  6. สัพพัญญู ศิริไปล์ หมายเลข 399 พรรคเพื่อไทย
  7. พรเทพ พูนศรีธนากูล หมายเลข 239 พรรคเพื่อไทย
  8. วรวงค์ วรปัญญา หมายเลข323 พรรคเพื่อไทย

สส. พรรคกล้าธรรม อย่างน้อย 12 คน

  1. อรรถกร ศิริลักธยากร หมายเลข 479 พรรคกล้าธรรม
  2. นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา หมายเลข 197 พรรคกล้าธรรม
  3. องอาจ วงษ์ประยูร หมายเลข 459 พรรคกล้าธรรม
  4. เชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ หมายเลข 104 พรรคกล้าธรรม
  5. จตุพร กมลพันธ์ทิพย์ หมายเลข 041 พรรคกล้าธรรม
  6. ชัยทิพย์ กมลพันธ์ทิพย์ หมาย 086 พรรคกล้าธรรม
  7. สะถิระ เผือกประพันธุ์ หมายเลข 408 พรรคกล้าธรรม
  8. ปกรณ์ จีนาคํา หมายเลข 200 พรรคกล้าธรรม
  9. อัครแสนคีรี โล่ห์วีระ หมายเลข 487 พรรคกล้าธรรม 
  10. เพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์ หมายเลข 267 พรรคกล้าธรรม
  11. ปรีดา บุญเพลิง หมายเลข 221 พรรคกล้าธรรม
  12. จีรเดช ศรีวิราช หมายเลข 056 พรรคกล้าธรรม

สส. พรรคพลังประชารัฐ อย่างน้อยหนึ่งคน คือ  

  1. กาญจนา จังหวะ พรรคพลังประชารัฐ

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage
Trending post