นัดแก้รัฐธรรมนูญล่ม! หลังถกสองชั่วโมงครึ่ง สว. เล่นเกมเตะถ่วง อยากส่งศาลรธน. อีกรอบ – องค์ประชุมไม่ครบ

13 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีนัดสำคัญเพื่อพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญสองฉบับ เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคประชาชน และอีกฉบับเสนอโดย สส.พรรคเพื่อไทย สาระสำคัญ คือ ปลดล็อกรัฐธรรมนูญ 2560 ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จากการเลือกตั้งมาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ อย่างไรก็ดี เมื่อเริ่มประชุมไปได้สองชั่วโมงครึ่ง การประชุมก็จบลง “สภาล่ม” ประธานรัฐสภาก็ต้องสั่งปิดการประชุมเพราะองค์ประชุมไม่ครบ นัดประชุมต่อในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 09.30 น.

ตลอดระยะเวลาการประชุมร่วมกันของรัฐสภาสองชั่วโมงครึ่ง เป็นไปอย่าง “ไม่ราบรื่น” สส. สว. หลายส่วนแสดงท่าทีว่าอยาก “เตะถ่วง” การแก้รัฐธรรมนูญ ด้วยหลายกลวิธี

นัดแก้รัฐธรรมนูญล่ม! หลังถกสองชั่วโมงครึ่ง สว. เล่นเกมเตะถ่วง อยากส่งศาลรธน. อีกรอบ – องค์ประชุมไม่ครบ

ภูมิใจไทยประกาศกลางสภาไม่พิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ อ้างขัดคำวินิจฉัย

หลังเปิดประชุมเวลา 09.30 น. ไชยชนก ชิดชอบ สส. พรรคภูมิใจไทย ลุกขึ้นอภิปรายแสดงจุดยืนทันควันว่าพรรคภูมิใจไทยขอไม่เข้าร่วมพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญในวันนี้ เนื่องจากเห็นว่าขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ก่อนหน้านี้พรรคภูมิใจไทย โดยอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยแถลงในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2568 ว่าการบรรจุวาระขัดแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ที่พรรคตีความว่าต้องทำประชามติ “ก่อน” จึงทำให้มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเข้าร่วมประชุม ยืนยันว่าจะลงชื่อเข้าร่วมประชุมแต่จะไม่ร่วมพิจารณา ส่วนประเด็นการยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความพรรคภูมิใจไทยจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง อนุทินทิ้งท้ายว่านี่ไม่ใช่การขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถูกต้องตามกฎหมาย

สว. เสนอญัตติด่วน อยากส่งเรื่องไปถามศาลรัฐธรรมนูญอีกรอบ

ด้านวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เริ่มแถลงวาระการประชุมในวันนี้ มีญัตติด่วนที่ถูกเสนอสอดแทรกเข้ามาโดย เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เพื่อขอให้ที่ประชุมพิจารณาลงมติยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ ซึ่งสอดคล้องกับท่าทีของ สว. จำนวนหนึ่งที่เคยแสดงมาก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี ญัตติด่วนดังกล่าว เพิ่งเสนอช่วงเช้าก่อนเปิดประชุมรัฐสภา ในเวลาประมาณ 08.36 น.

เมื่อมีญัตติแทรกขึ้นมา สมาชิกรัฐสภาจึงมีข้อถกเถียงว่า ควรเลื่อนญัตติด่วนของ สว. เปรมศักดิ์ ขึ้นมาพิจารณาก่อนหรือไม่ โดยสมาชิกรัฐสภามีความเห็นแตกต่างกันออกเป็นสองแนวทาง สส. พรรคประชาชนหลายคน อดิสร เพียงเกษ สส. พรรคเพื่อไทย นันทนา นันทวโรภาส สว. นรเศรษฐ์ ปรัชญากร สว. ระบุชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนญัตตินี้ขึ้นมาพิจารณาก่อน เพราะไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยซ้ำอีก

อีกฝั่งหนึ่งคือ สว. ที่เคยประกาศท่าทีไว้ในลักษณะนี้มาก่อนหน้านี้แล้วว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องจัดทำประชามติก่อนเท่านั้น ไม่เช่นนั้นจะไม่มีความชอบธรรมตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ สส. พรรคประชาธิปัตย์ ประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ และสุทิน คลังแสง สส. พรรคเพื่อไทยที่ระบุว่าต้องการให้สอบถามศาลรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนก่อนอีกด้วย 

ต่อมาในเวลา 11.16 น. ที่ประชุมรัฐสภามีมติไม่เห็นชอบให้เลื่อนญัตติของ สว. เปรมศักดิ์ขึ้นมาพิจารณาก่อนด้วยคะแนนเสียงไม่เห็นชอบ 275 เสียง เห็นชอบให้เลื่อน 247 เสียง และงดออกเสียงอีกสี่เสียง เท่ากับว่าที่ประชุมจะต้องเริ่มพิจารณาข้อเสนอเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้ต่อไป

สว. แพ้โหวต ชิงวอล์กเอาท์ เปรมศักดิ์-สุทิน ดึงเกมเช็กองค์ประชุม จบที่ “สภาล่ม”

เมื่อที่ประชุมมีมติไม่เห็นชอบให้เลื่อนญัตติของ สว. เปรมศักดิ์ขึ้นมาพิจารณาก่อน ฝ่ายที่สนับสนุนให้เลื่อนก็เริ่มออกลายวอล์คเอาท์ออกจากที่ประชุมพร้อมเสนอให้นับองค์ประชุมใหม่ โดยทั้ง สว. เปรมศักดิ์ เพียยุระ และสุทิน คลังแสง สส. พรรคเพื่อไทยต่างก็เสนอให้มีการนับองค์ประชุมโดยการเสียบบัตร 

เวลา 12.00 น. เมื่อมีการนับองค์ประชุมปรากฎว่ามีสมาชิกรัฐสภาแสดงตัวอยู่ในที่ประชุมเพียง 204 คน ที่ประชุมรัฐสภาก็ต้องล่มไปเพราะมีองค์ประชุมไม่ครบถึง 346 เสียงซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 692 คน โดยประธานรัฐสภานัดประชุมใหม่ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 09.30 น.

หากย้อนไปดูจำนวนองค์ประชุมก่อนหน้า ลงมติว่าจะเลื่อนหรือไม่เลื่อนญัตติของ สว. เปรมศักดิ์ที่เสนอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาพิจารณาก่อนหรือไม่นั้น ยังมีองค์ประชุมที่ร่วมลงมติในเวลา 11.16 น. เป็นจำนวน 527 คน เท่ากับว่าหลังลงมติและเกม “ยื้อเวลา” ของสว. แพ้โหวตไปนั้น มีสมาชิกรัฐสภา ทั้ง สส. และ สว. วอล์คเอาท์ออกจากที่ประชุมไป 323 คน  

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage
Trending post