
ท่ามกลางสถานการณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 เพื่อเปิดช่องให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จากการเลือกตั้งมาเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งรัฐสภาจะพิจารณาวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2568 จากข้อเสนอสองชุดของพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทย ฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับการประชุมนัดสำคัญนี้ส่งเสียงอ้างว่าต้องส่งไปเรื่องยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าต้องทำประชามติก่อนจะพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 หรือไม่ แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยไว้ชัดเจนแล้ว
ก่อนหน้านี้ 29 มีนาคม 2567 รัฐสภาเคยถกเถียงในประเด็นเดียวกันนี้มาแล้ว เมื่อประธานรัฐสภาไม่บรรจุวาระการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล (ก่อนถูกยุบพรรคและ สส. ที่ไม่ถูกตัดสิทธิย้ายมาสังกัดพรรคประชาชน) เพราะมีข้อกังว่าอาจขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ที่ถูกตีความว่าต้องทำประชามติ “ก่อน” จะบรรจุวาระร่างแก้รัฐธรรมนูญ แก้ไขมาตรา 256 และยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าแท้จริงแล้วจะต้องทำประชามติกี่ครั้งและต้องทำในขั้นตอนไหนบ้าง ต่อมาวันที่ 17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องโดยระบุว่า การบรรจุวาระเป็นอำนาจหน้าที่ของประธานรัฐสภาอยู่แล้ว และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 นั้น “ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยละเอียดและชัดเจนแล้ว”
ข้อถกเถียงนี้คลี่คลายหลังพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เดินสายพูดคุยกับประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและประธานรัฐสภาว่าเมื่อไปสำรวจคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากแล้วไม่พบว่าจะต้องทำประชามติสามครั้งและสามารถบรรจุวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 ได้โดยที่ไม่ต้องทำประชามติก่อน จึงนำไปสู่การบรรจุวาระข้อเสนอของพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทย แม้จะคลี่คลายลงแล้วแต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้หากพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญในวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2568 อาจขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564
แม้ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายจะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า รัฐสภาสามารถเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องทำประชามติก่อนการพิจารณา แต่ก็มี สส. สว. ที่มองต่าง โดยมีฝ่ายที่อ้างว่าต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญก่อน และฝ่ายที่เห็นว่ารัฐสภาเดินหน้าพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลย ดังนี้
สว. – ภจท. มองต้องทำประชามติก่อนแก้รัฐธรรมนูญ อ้างกลัวขัดคำวินิจฉัย
ฟากฝั่งรัฐสภา ตัวละครสำคัญอย่างสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่จำเป็นต้องใช้เสียง “เห็นด้วย” หนึ่งในสามร่างแก้รัฐธรรมนูญถึงจะผ่านได้ มี สว. อย่างน้อยห้าคนที่แสดงจุดยืนกังวลว่าการพิจารณาในวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2568 จะขาดความชอบธรรมเนื่องจากยังไม่ได้มีการทำประชามติ “ก่อน” พิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญ
วุฒิชาติ กัลยาณมิตร เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) ระบุกับ บีบีซีไทยว่าตนเห็นด้วยกับข้อเสนอของชูศักดิ์ ศิรินิลที่ระบุว่าอาจจำเป็นต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยอีกครั้งเพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจ เดินหน้ากระบวนการต่อไปโดยไม่กังวล
“สว. คุยกันแล้วว่าอยากได้ความชัดเจนในการทำประชามติ เพราะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะนี้ สว. กับ สส. มองไม่ตรงกัน เรามีความกังวล ถ้าอย่างนั้นทำไมไม่สอบถามเพื่อให้เกิดความชัดเจนก่อน ท่านจะได้ชี้ขาดว่าให้ทำประชามติก่อนหรือหลัง ทุกคนจะได้สบายใจ” วุฒิชาติ กล่าว
พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. และโฆษกวิปวุฒิสภา แจงความเห็นส่วนตัวว่าไม่เห็นชอบกับข้อเสนอเขียนรัฐธรรมนูญใหม่อยู่แล้ว เพราะเห็นว่ารัฐสภาสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราได้เท่านั้น หากจะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ “ต้อง” ไปทำประชามติสอบถามความเห็นประชาชนก่อน หากประชาชนเห็นชอบจึงค่อยดำเนินการต่อไป แต่ตนจะไม่ร่วมกระบวนการส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความซ้ำ เพราะเห็นว่าก็จะได้คำตอบแบบเดิม แต่ในมุมภาพรวมแล้ว สว. พิสิษฐ์ ระบุกับไทยโพสต์ว่า สว. “ยังไม่มีธง” ในการลงมติวันที่ 13 – 14 กุมภาพันธ์ 2568 และกำชับให้ สว. ทุกคนเข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน
พล.อ.สวัสดิ์ ทัศนา หนึ่งในวิปวุฒิสภา แสดงความเห็นในทำนองเดียวกับกับ สว. พิสิษฐ์ว่าตนนั้นไม่เห็นชอบกับข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน และส่วนตัวตีความว่าการจะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับต้องทำประชามติสอบถามประชาชนเสียก่อน นอกจากนี้ยังมี สว. ที่แสดงความเห็นในลักษณะเดียวกันนี้อีกอย่างน้อยสองคนคือ ปริญญา วงษ์เชิดขวัญ และชาญวิศว์ บรรจงการ
ขณะเดียวกันก็มีคลื่นใต้น้ำที่พยายามจะชงเรื่องไปยังประธานรัฐสภาให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย คือ สว. เปรมศักดิ์ เพียยุระ นัดหมายสื่อมวลชนในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อให้สัมภาษณ์กรณีที่ตนได้รวบรวมรายชื่อ สว. 40 คนเพื่อเตรียมยื่นญัตติกับประธานรัฐสภาให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัธฐรรมนูญ แต่เมื่อถึงเวลานัดหมายเปรมศักดิ์ก็ปิดโทรศัพท์และแจ้งสื่อมวลชนว่าจะไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ ทั้งสิ้น
นอกจากความเห็น สว. ทั้งห้าคนแล้ว ยังมีความเห็นของสำนักกฎหมายวุฒิสภาที่ส่งไปยังวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาว่าหลังสำนักกฎหมายวุฒิสภาตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 แล้วได้ใจความว่าจะต้องทำประชามติสามครั้งคือเพิ่มประชามติ “ก่อน” เสนอญัตติแก้ไขมาตรา 256 เข้ามา ซึ่งการตีความในลักษณะนี้ของ สว. จะทำให้การประชุมวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2568 ขัดแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภาระบุว่าความเห็นของสำนักกฎหมายวุฒิสภาจะเป็นท่าทีส่วนใหญ่ของ สว. ในการพิจารณาอีกด้วย
ในฟากพรรคการเมือง หลังประชุม สส. ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2568 อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยเปิดเผยว่า จะไม่เข้าร่วมพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2568 นี้ ด้วยเหตุผลว่าการบรรจุวาระขัดแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ที่พรรคตีความว่าต้องทำประชามติ “ก่อน” จึงทำให้มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเข้าร่วมประชุม ยืนยันว่าจะลงชื่อเข้าร่วมประชุมแต่จะไม่ร่วมพิจารณา ส่วนประเด็นการยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความพรรคภูมิใจไทยจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง อนุทินทิ้งท้ายว่านี่ไม่ใช่การขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ธนกร วังบุญคงชนะ รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ระบุจุดยืนชัดว่าตนนั้นไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพราะเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้น “ถือว่าดีอยู่แล้ว” ส่วนในประเด็นว่าจะต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ ธนกรระบุว่า การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะต้องทำประชามติ หากไม่มีการทำประชามติ จะมีปัญหาเรื่องความชอบธรรม เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านการทำประชามติมาแล้ว และสมาชิกรัฐสภาที่ร่วมพิจารณาในวาระนี้สุ่มเสี่ยงที่จะถูกร้องว่าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ทว่า ภายในพรรครวมไทยสร้างชาติก็มีความคิดเห็นไปในทิศทางที่แตกต่างกัน คือ เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งระบุว่าไม่ได้กังวลในประเด็นว่าจะต้องทำประชามติก่อนจะพิจารณาวาระการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ เพราะไม่ใช่แนวทางที่พรรคหาเสียงไว้แต่ต้นอยู่แล้ว พร้อมย้ำจุดยืนว่าสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นตนไม่ขัดข้องถ้าไม่แตะต้องหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์
นอกเหนือจากฝ่ายที่กังวลว่าหากพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญในวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2568 จะขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีอีกกลุ่มก้อนทางการเมืองที่ไม่ได้เห็นว่าจะจำเป็นต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่มองว่าการประชุมในวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2568 ส่อแววต้องถกเถียงกันอย่างหนักในประเด็นนี้
นิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา คาดเดาว่าข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญของทั้งสองพรรคจะไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ด้วยข้อกังวลที่ว่ายังไม่ได้มีการทำประชามติเสียก่อน นิกรระบุว่า “จะส่งผลต่อการลงคะแนน การอภิปรายไม่มีปัญหา แต่การลงคะแนนนั้นถ้าลงคะแนนไปแล้ว จะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นจะมีปัญหาว่า หากมีการลงมติไปจะมีคนร้องหรือไม่ ผมเชื่อว่าจะมีคนร้องแน่ว่าเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ” ความเห็นในทำนองเดียวกันกับนิกรนี้ยังมีจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ สส. พรรคประชาธิปัตย์เชื่อว่าจะมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญแน่
ปชน. – พท. มองรัฐสภาเริ่มได้เลย ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้ครบถ้วนแล้ว
ส่วนฟากที่เห็นว่าการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาข้อเสนอเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ชอบธรรมและถูกต้องตามมติของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 แล้ว เห็นว่าสามารถเดินหน้าต่อพิจารณาต่อไปได้ โดยไม่จำเป็นต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีก เพราะศาลรัฐธรรมนูญระบุไว้อย่างชัดเจนแล้ว
ก่อนหน้านี้ในช่วงกุมภาพันธ์ 2567 วันมูหะหมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เคยวินิจฉัยไม่บรรจุวาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ด้วยข้อกังวลว่า “ยัง” ไม่มีการทำประชามติจึงไม่สามารถบรรจุวาระได้ แต่เมื่อมีข้อมูลใหม่หลังจากที่พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. พรรคประชาชนนำเสนอแล้วจึงทบทวนและบรรจุวาระการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ วันมูหะหมัดนอร์ ระบุว่า “ในคำวินิจฉัยของศาล (รัฐธรรมนูญ) เขาใช้คำว่าถ้าสภาฯ ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้ไปถามประชาชนก่อน ดังนั้นคำว่าสภาฯ มีความต้องการจะแก้ ก็ต้องตีความสภาฯ หมายถึงอะไร ก็ต้องหมายความว่าที่ประชุมของรัฐสภาเสียงข้างมาก ซึ่งต้องบรรจุ (วาระการประชุม)”
ต้นเรื่องที่ทำให้วาระเขียนรัฐธรรมนูญสามารถบรรจุวาระได้ คือ พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. พรรคประชาชน ซึ่งพริษฐ์ ระบุว่าไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็นใดที่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีก ตนได้นำเสนอหลักฐานที่ระบุว่าการทำประชามติกระทำแค่สองครั้ง ไม่จำเป็นต้องทำก่อนการเสนอญัตติแก้ไขมาตรา 256 ดังนี้
- คำวินิจฉัยส่วนตนที่ตุลาการเสียงข้างมากห้าคนระบุว่าการทำประชามติสองครั้งเพียงพอ
- สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่สรุปคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ไม่ได้ระบุว่าต้องทำประชามติก่อนแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256
- ผลการหารือกับประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านหนึ่ง ที่เห็นพ้องว่าไม่จำเป็นต้องทำประชามติถึงสามครั้ง
พริษฐ์ระบุเพิ่มเติมว่า “สำหรับใครที่จะยื่น ก็มีคำถามว่ายื่นไปแล้วได้อะไร เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยไม่รับคำร้องมาแล้วในปี 2567 แต่ต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง จะได้คำตอบที่แตกต่างจากเดิมอย่างไร เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยไว้แล้วด้วยเช่นกัน”
คู่ขนานมากับพรรคประชาชนคือพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองหนึ่งในสองพรรคที่ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 ประกบกัน ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส. พรรคเพื่อไทยระบุว่า “ในความเห็นของตนและพรรคเพื่อไทย การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ยังไม่ใช่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรานี้เป็นอำนาจของ สส. และ สว. และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในปี 2564 ออกมาระหว่างที่รัฐสภากำลังพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระสาม ณ ขณะนั้นก็ไม่เคยคำสั่งห้ามพิจารณา จึงเป็นเครื่องยืนยันว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา”
นอกจากนี้พรรคกล้าธรรมของ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่ายังแสดงจุดยืนที่สอดคล้องกับพรรคเพื่อไทยที่เห็นว่ากระบวนการของรัฐสภาในวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2568 นี้สามารถดำเนินการต่อไปได้ ร.อ. ธรรมนัสเองยังกำชับ สส. ของพรรคกล้าธรรมว่า “อย่าขาดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร”