12 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 16:00 น. ตัวแทนนักศึกษาจากเจ็ดมหาวิทยาลัย เช่น องค์การนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สโมสรนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กลุ่มเสรีเกษตรแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะกรรมการนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ่านแถลงการณ์เรียกร้องเรื่องการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ หนึ่งในข้อเสนอคือ ให้มีการผลักดันให้เกิดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยหวังว่า กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะต้องดำเนินการโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นไปตามเจตจำนงของประชาชนอย่างแท้จริง
ทั้งหมดเห็นพ้องว่า รัฐธรรมนูญต้องแก้ไขทุกหมวด ทุกมาตรา การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำเป็นที่จะต้องสามารถแก้ไขได้ทั้งฉบับ ในทุกหมวด ทุกมาตรา โดยไม่มีข้อยกเว้น ทั้งนี้การเสนอให้รัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้ในทุกหมวด ทุกมาตรานั้น “ไม่ได้” เป็นการเรียกร้องให้ สสร. ต้องแก้ไขหมวดหนึ่งหมวดใดหรือมาตราใดเป็นการเฉพาะ แต่เป็นการเปิดช่องทางให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดกว้างมากที่สุดเพื่อให้สามารถสะท้อนเจตจำนงหรือปัญหาของประชาชนได้อย่างครอบคลุม ทางเรามีจุดยืนว่าการเสนอแก้ไขกฎหมาย จะต้องสามารถเสนอได้ทุกเรื่อง ตราบใดที่ยังอยู่ในพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพที่ไม่เป็นการละเมิดผู้ใดโดยยึดโยงจากกระบวนการของรัฐสภา
การร่างรัฐธรรมนูญต้องยึดโยงกับประชาชน การร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 มีที่มาโดยคณะรัฐประหารและผ่านการประชามติแบบที่ไม่มีเสรีภาพ คำถามประชามติที่กำกวมและยังมีการแก้ไขเนื้อหารัฐธรรมนูญภายหลังการทำประชามติก่อนการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญที่มีที่มาเช่นนี้ไม่อาจสะท้อนเจตจำนงของประชาชนส่วนใหญ่ แต่ถูกใช้เป็นเครื่องมือรักษาอำนาจของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ใช่เพื่ออำนาจของประชาชน