ลุ้นอุทธรณ์คดีม. 112 ของฟลุค-กิตติพล กรณีชูรูป “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10”

“ถ้าไม่ทำผิดจริง จะกลัวอะไร” เป็นวาทกรรมที่ผู้สนับสนุนมาตรา 112 ยกขึ้นมากล่าวอ้าง ให้จำเลยมาตรา 112 แต่ระหว่างทางเพื่อพิสูจน์ว่า ตัวเองบริสุทธิ์นั้นจำเลยอาจต้องเสียโอกาสและเวลาในชีวิต เช่นเดียวกับที่ฟลุค กิตติพล หนึ่งในจำเลยคดี 112 ต้องเผชิญ วันที่เขาถูกดำเนินคดีเขามีอายุเพียง 19 ปี ฟลุคบอกกับเราว่า เขาไม่ได้กลัวในการถูกกล่าวหา เพราะมั่นใจว่าไม่ได้ทำความผิดตามมาตรา 112  และแม้ว่าคดีของฟลุค ศาลจังหวัดอุบลราชธานีจะมีคำสั่งยกฟ้องแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 แต่คดียังไม่ถึงที่สุด อัยการอุทธรณ์คดี โดยศาลนัดอ่านคำพิพากษาอุทธรณ์วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 

แม้ว่าเขาจะไม่กลัวด้วยเชื่อว่า ตัวเองไม่ผิดแต่การถูกกล่าวหาคดีโทษหนักอย่างมาตรา 112 ก็กินเวลาชีวิตเขาไปมากกว่าสามปี ฟลุคบอกว่า “ผมเหมือนถูกหยุดเวลาอยู่ตอนอายุ 19”

เพราะทุกข์กับสภาพเศรษฐกิจจึงชูป้ายไม่มีจะกินในร. 10 

ปัจจุบันฟลุคอายุ 22 ปี ทำงานเป็นกราฟฟิกดีไซเนอร์ เขาเล่าว่า ช่วงที่ถูกฟ้องคดีเขาอายุเพียง 19 ปี เพิ่งเรียนจบคอมพิวเตอร์กราฟฟิกได้ใหม่ๆ และตกงาน ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ทำให้เขาสะท้อนความรู้สึกผ่านการแสดงออกในการชุมนุมทางการเมือง

“ตอนประมาณเดือนสิงหาคม ปี 64 ผมไปกิจกรรมคาร์ม็อบกับเพื่อน และผมก็เลยเขียนคำว่า ‘ไม่มีจะแดกไปรัชกาลที่ 10’ ใส่ลงไปในกระดาษ แล้วก็ใส่ลงในกรอบสีทอง ก็ถือเดินไป เดินมาแถวนั้น แต่ว่าจังหวะหนึ่งที่ช่างภาพถ่ายเอาไว้ได้คือหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ หลังจากนั้นก็ได้ยินมาจากเพื่อนว่าผมจะโดนเล่น ม.112 ตั้งแต่ช่วงสิงหาแล้ว แต่ก็ยังไม่มีหมายมา มาอีกทีคือเดือนมีนาคมของปีถัดมา คือ ปี 65 ซึ่งตอนนั้นคือผมก็สลับไปมาระหว่างระหว่างอุบลฯ-กรุงเทพ เพราะว่าตอนนั้นผมมาทำงานที่กรุงเทพแล้ว”

“ข้อความผมไม่มีความหมายเลยซับซ้อนเลย ตอนนั้นผมทำงานร้านหมูกระทะ ในช่วงโควิด-19 ระบาดแล้วคนติดโควิดไปกินที่ร้าน ทำให้ร้านต้องปิดทำความสะอาด แต่เนื่องจากว่าตอนนั้นเค้าไม่ได้จ้างผมเป็นพนักงานประจำ เค้าจ้างผมเป็นรายวัน วันนึงก็ได้ไม่กี่ร้อย พอร้านปิด เจ๊ก็บอกว่าไม่ต้องมาทำแล้ว ผมก็เลยตกงาน ไม่มีจะแดกจริงๆ ตั้งแต่มิถุนา ปี 64 ก่อนจะเกิดม็อบ”

คดีของฟลุคอัยการบรรยายฟ้องว่า การนำแผ่นข้อความที่เขียนว่า “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” ไปใส่กรอบรูปสีทอง และไปยืนถ่ายภาพบริเวณด้านหน้าของพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 เป็นการแสดงกิริยาเหยียดหยามพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ 

ฟลุคเล่าว่า เขาเป็นเพียงผู้ร่วมชุมนุมคนหนึ่ง แต่มีบางครั้ง ที่ในภาษาบ้านเขาเรียกว่า ‘เหลือใจ’ คือมีขึ้นปราศรับบ้าง ขอโทรโข่งพูดบ้างตามจังหวะที่สะดวก แต่ว่าส่วนใหญ่เขาเป็นเพียงผู้เข้าร่วมชุมนุม ซึ่งการถูกฟ้องมาตรา 112 นั้น ฟลุคบอกกับเราว่า ตกใจ แต่ก็ไม่ได้ถือว่าเหนือความคาดหมาย

“ก่อนหน้านั้น ผมก็โดน พรก.ฉุกเฉินจากการเข้าร่วมม็อบสองครั้ง เลยมีทนายที่ให้การช่วยเหลือพอสมควรถามว่าโดน 112 มันเหนือความคาดหมายไหม ก็ไม่ แต่ก็ตกใจนิดหน่อย เพราะเราพอรู้ความหมายมาของสิ่งนี้ และมิตรสหายหลายๆ คนก็โดน บางคนโดนจากโพสต์ จากแชร์ ก็เลยค่อนข้างทราบ แล้วก็รับมือเตรียมการรพอสมควร”

แต่ถึงอย่างนั้น ฟลุคก็คิดว่า เขาไม่คิดว่าจะโดนเพราะเขารู้ว่า “สิ่งที่ผมเขียนความหมายตรงตัว ไม่สามารถตีความเป็นอื่นได้ คำว่า ‘ในรัชกาลที่ 10’ ในที่นี้หมายถึงช่วงเวลานั้น ที่ผมตกงาน เข้าข่ายไม่มีจะแดก ในตอนที่ให้การที่ศาลผมบอกว่า คือตอนนั้นตั้งใจจะสื่อว่ายุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นในยุคประยุทธ์ หรือในรัชกาลที่10 ไม่มีความสำคัญสำคัญ คือคำว่า ‘ไม่มีจะแดก’ สำคัญกว่าคำลงท้าย แต่คนที่ฟ้องผม เขาเอาคำลงท้ายมาเป็นเหตุ แล้วบวกกับเอารูปที่ว่าผมเดินไป เดินมาแถวนั้นแต่มีจังหวะที่ถ่ายติดผมกับพระบรมฉายาลักษณ์ก็เลยอ้างองค์ประกอบภาพว่าผมตั้งใจไปยืนเพื่อดูหมิ่น ท้าทาย”

ฟลุคเล่าว่า จากการโดนคดีที่เขามั่นใจว่า ไม่ได้ต้องการดูหมิ่น หรือท้าทายพระมหากษัตริย์ ทำให้เขาเห็นปัญหาของมาตรานี้ “นอกจากผม จากการเข้าร่วมการชุมนุม ก็มีพี่ๆ เพื่อนๆ หลายคน ที่เค้าโดนคดีนี้ บางคนคือลักษณะการวิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่เข้าองค์ประกอบ ม.112 เลย เช่น การพูดถึงหมา การพูดถึงอดีตพระมหากษัตริย์”

ชีวิตเหมือนถูกหยุดเอาไว้เหมือนตอนอายุ 19

แม้ว่าศาลชั้นต้นจะยกฟ้องคดีของฟลุค ทำให้เขาไม่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำเหมือนจำเลยมาตรา 112 คนอื่นๆ แต่เขาก็ต้องอยู่กับความวิตกกังวล และคดีก็กินเวลาชีวิตเขาไปสามปี จนเขาบอกกับเราว่าเหมือนโดนหยุดเวลาไว้ตั้งแต่ช่วงถูกฟ้อง

“การโดนคดีนี้ ทำให้ผมไม่สามารถวางแผนอนาคตผมในช่วงหนึ่งถึงสามปีได้เลย เพราะผมไม่รู้ว่าปีหน้า หรือในสองปีข้างหน้า ผมจะอยู่ในจุดไหน ตราบใดที่คดียังไม่เสร็จสิ้น ผมได้ให้สัมภาษณ์ในงานเสวนาแห่งหนึ่ง ผมพูดว่า ชีวิตผมมันเหมือนถูกหยุดเอาไว้เหมือนตอนอายุ 19 ก็คือทำให้ผมไม่กล้าคิดไกล ไม่กล้าคิดอะไรในระยะยาวสักเท่าไหร่ เหมือนแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็เหมือนใช้ชีวิตไปวันๆ” 

“มันยังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ผมไม่กล้าเรียนต่อในหาวิทยาลัย เพราะมีหลายคนที่ถูกขังอยู่ในระหว่างการเรียนมหา’ลัยเช่นอย่างกรณีล่าสุดของก้อง ที่พี่เขาเหลือไม่กี่หน่วยกิตก็จะเรียนจบมหา’ลัยแล้ว แต่มหา’ลัยไม่ยอมให้เข้าสอบ เพราะยังอยู่ในเรือนจำ ผมไม่อยากเกิดกรณีแบบนั้น บวกกับลักษณะงานของเราตอนนี้ ทำให้การเรียนต่อยังเกิดขึ้นได้ยาก” 

อย่างไรก็ตามเขาได้เตรียมตัวในกรณีที่แย่ที่สุดหากจะต้องเข้าเรือนจำไว้แล้ว “ผมพูดตรงๆ นะ ในช่วงนั้นผมดูพวกคอนเทนต์คนคุกมาพอสมควรเลย เรียนรู้เลยว่าถ้าต้องเข้าไปอยู่ในนั้นผมจะเอาชีวิตรอดยังไง ผมก็ได้เตรียมการอะไรหลายๆ อย่าง แม้กระทั่งวันที่ศาลชั้นต้นตัดสิน ผมทำพินัยกรรมตัวเองไว้ว่าจะจัดการกับสินทรัพย์ของผมยังไง งานที่ผมทำ หรือข้าวของต่างๆ ที่เกี่ยวกับผม หรือแม้กระทั่งเงินในบัญชี”

การฟังฟลุคเล่าในสิ่งที่คิด และเตรียมตัวสำหรับกรณีที่แย่ที่สุดของคดีนี้ ทำให้เราถามเขาออกมาตรงๆ ว่าเขาเคยคิดไหมว่า ทำไมสิ่งนี้ถึงเกิดขึ้นกับเขา ?

“คิดอยู่ตลอดครับ ด้วยที่ก่อนหน้านี้ ช่วงอายุ 17-18 ปี ผมได้รับการรักษาอาการซึมเศร้าอยู่เป็นระยะ และหลังจากเจอกับคดี มันทำให้ผมเกิดภาวะนอนไม่หลับ ซึ่งเผชิญอยู่แบบนี้สองปีกว่า จนกระทั่งทางศาลยกฟ้อง บางวันก็หลับสนิทขึ้น”

ฟลุคยังเล่าว่า นอกจากอาการนอนไม่หลับแล้ว ในช่วงหลังคดียังกระทบกับครอบครัวของเขาด้วย เพราะช่วงไม่กี่เดือนก่อนการพิพากษาในศาลชั้นต้น ยายของเขา ซึ่งเป็นผู้พิการอยู่แล้วเกิดป่วย และต้องเข้าโรงพยาบาล ทำให้ตั้งแต่ช่วงนั้น เขาต้องการเป็นเสาหลักของบ้าน “ผมกลายเป็นเสาหลัก ต้องดูแลยาย ดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายของที่บ้านเป็นหลัก นั่นเป็นจุดที่ทำให้ผมค่อนข้างกังวล” ฟลุคย้อนเล่าถึงช่วงที่คดียังพิจารณา

การยกฟ้องที่ไม่คาดคิด และชีวิตที่ได้กลับมาหลังยกฟ้อง

จากผู้เข้าร่วมชุมนุมสู่จำเลยที่ต้องขึ้นศาลและสู้คดี ฟลุคบอกว่า เขาได้เห็นผู้คนมากมายที่พยายามยัดเยียดในสิ่งที่เขาไม่ได้ทำ

“ผมเห็นคนที่เราไม่รู้จักพยายามจะตัดสินเราให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ตามที่เขาต้องการ เราเข้าใจได้ว่าในส่วนของคดี เค้าอ้างว่ามันเป็นอาญาแผ่นดิน เค้ามีหน้าที่ในการปกป้องความเป็นรัฐ และพยานฝั่งโจทก์มีประมาณ 12 ปาก และเกือบทุกคนเป็นข้าราชการทั้งนั้น ก็เลยค่อนข้างที่จะเข้าใจในมุมมองของเขา แต่ว่าเราก็ให้เหตุผลเราค่อนข้างดีพอสมควร บวกกับทนายความในคดีผมทั้งสองคน ที่ละเอียด และให้ความช่วยเหลืออย่างดี”

“พยานฝั่งโจทก์ มี 12 ปาก แปดปากเป็นตำรวจ และอีกสี่ปากเป็นนักวิชาการ คืออาจารย์ระดับมหาวิทยาลัยและครูสอนภาษาไทย มีสองท่านที่กลับคำให้การในชั้นศาลว่าข้อความ ‘ในรัชกาลที่ 10’ อาจหมายถึงช่วงเวลา ไม่ใช่ตัวบุคคล ซึ่งในคำพิพากษาก็ยกการกลับคำให้การของพยานทั้งสองมาเป็นบรรทัดฐาน ยกฟ้องคดีผมด้วย ซึ่งเป็นอะไรที่ ผมรู้สึกโอเคว่า อย่างน้อยข้าราชการทั้งสองยังเข้าใจบริบท และข้อความว่า มันไม่เข้าองค์ประกอบจริงๆ” 

แต่ถึงอย่างนั้นแนวโน้มคดีมาตรา 112 ในช่วงที่ผ่านมาก่อนหน้านัดฟังคำพิพากษาก็ทำให้ฟลุคเสียความมั่นใจ และมองว่า คดีของเขาอาจลงเอยในกรณีที่เขาไม่คาดคิดได้  “ในวันที่ตัดสินออกมาออกมาว่า ยกฟ้อง ผมจำได้ว่าผมยืนนิ่งอยู่ประมาณสามนาที ผู้พิพากษาก็เดินออกจากไปแล้ว แต่ผมยังยืน และร้องไห้ตรงนั้นออกมา ตรงที่เพื่อนๆ พี่ๆ ที่ไปฟังคำตัดสินด้วยประมาณ 20 คน แล้วผมก็รีบโทรไปหายายทันที บอกว่าวันนี้ได้กลับบ้านแล้ว หนึ่งวันก่อนที่ศาลจะตัดสิน ห้องนอนผมถูกทำความสะอาดค่อนข้างดี เหมือนครอบครัวผมกะว่าอาจจะไม่มีคนเข้าไปนอนในนั้นอีกซักพัก

ฟลุคมองว่า คำพิพากษาในคดีของเขาที่ยกฟ้องนั้น คือการตีความตามมาตรา 112 ตามบทกฎหมายที่ควรจะเป็น “คำว่า ‘ไม่มีจะแดก’ เป็นคำไม่สุภาพทั่วไป ไม่ใช่คำด่า ในคำพิพากษาก็ระบุเอาไว้ว่าเป็นคำที่ไม่สุภาพ ไม่เหมาะสม แต่ไม่ถึงกับการเป็นเป็นการดูหมิ่น เพราะตอนนั้นผมยังชี้แจงไว้กับศาลว่าขอให้อัยการเอาคำว่าไม่มีจะแดกมาด่าผมเลย แต่สุดท้ายท่านก็ทำไม่ได้”

ในวันที่เราพูดคุยกับฟลุค เป็นวันครบรอบหนึ่งปีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องคดีของเขาพอดิบพอดี เขาเล่าว่า ชีวิตหนึ่งปีหลังยกฟ้อง ทำให้เขาได้หายใจหายคอ และได้ทำอะไรหลายๆ อย่างมากขึ้น “ช่วงปีที่ผ่านมา เป็นหนึ่งปีที่ผมได้ทำอะไรหลายอย่างมากเลย ผมได้กลับไปทำด้านของการพัฒนาชุมชนเมืองเก่า ทำงานในด้านที่มันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมหลายอย่าง ทำจิตอาสา งานออกแบบต่างๆ เรียกว่า เป็นปีที่ผมได้ทำทั้งงานเล็กและงานใหญ่ มันค่อนข้างที่จะปลดล็อคศักยภาพของเราพอสมควรเลย เพราะว่าความกังวลลดลงไปค่อนข้างเยอะมากแล้ว” 

สำหรับนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 เขาบอกกับเราว่า เขาได้ศึกษาแนวโน้มคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 มาแล้ว ซึ่งมีสองสามคดี ซึ่งคดีเหล่านั้น ศาลอุทธรณ์มักจะตัดสินยืนตามศาลชั้นต้น ยังไม่เคยเห็นคดีที่คำตัดสินของศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับกับศาลศาลชั้นต้น ดังนั้นเขาจึงมีความคาดหวังว่า คดีของเขาก็จะเป็นอีกคดี ที่ศาลจะยืนคำตัดสินตามเดิมด้วย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงๆ ฟลุคเองก็มีแผน และความตั้งใจ ที่จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยหลังคดีจบ

“ผมมีแผนว่าเมษาปีนี้ ถ้ามหาลัยรามคำแหงเปิดรับสมัครนักศึกษาวิทยาเขตศรีสะเกษ อำนาจเจริญ ผมก็คงจะสมัครเรียน เรียนรัฐศาสตร์” แต่ถึงอย่างนั้นฟลุคก็บอกว่า คงเป็นการเรียนไปด้วย และทำงานไปด้วยเช่นกัน และเขายังมีความตั้งใจ อยากพัฒนาเมืองเก่า และชุมชนของเขาในอนาคตด้วย 

 สามปีในการสู้คดีกับความหวังในการแก้ ม.112 

เป็นเวลากว่าสามปีกับการต่อสู้กับคดีนี้ ฟลุคบอกกับเราว่า อุดมการณ์ของเขายังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป และยังคงมีความหวังถึงการเปลี่ยนแปลงในประเทศ 

“อุดมการณ์ผมไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก มุมมองที่ผมมองต่อเรานายทุน ศักดินาก็ยังคงเป็นเหมือนเดิมคือต้องการจะให้เปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปก็คือวิธีการ ผมเริ่มหันไปทำงานกับชุมชนมากขึ้น ผมเริ่มหันไปทำงานที่เกี่ยวกับงานด้านการสร้างสรรค์มากขึ้น เพราะว่านี่ก็คือวิธีการต่อสู้อีกรูปแบบหนึ่งของเรา”ซึ่งฟลุคบอกกับเราว่า นี่ถือเป็น ‘ลัทธิแก้’ ของเขา

ทั้งเขายังหวังว่าคดีมาตรา 112 คดีอื่นๆ ที่ยังไม่มีการตัดสิน และอยู่ในกระบวนการพิจารณา จะไม่มีการตีความเกินเลยด้วย “ถ้าด่าตรงตัวจริงๆ ก็อีกเรื่องนึง แต่ขอว่าอย่าให้การตีความมันเกินเลยไปกว่านี้ เช่นอดีตกษัตริย์ หรือแม้กระทั่งหมา หรือเชื้อพระวงศ์ที่ไม่ใช่รัชทายาท ไม่ใช่ราชินี อย่าตีความเกินเลยไปกว่านี้ หรือแม้กระทั่งการวิจารณ์โดยสุจริต เช่นการพูดถึงการถือหุ้น ก็ไม่ควรนับเป็นการดูหมิ่นเช่นกัน”

“ถ้าเกิดฝ่ายที่ปกป้องยังอยากคงมาตรานี้ต่อไป ด้วยรูปแบบว่าใครจะฟ้องก็ได้ ก็อยากให้เค้าลองทบทวนดีๆ ว่า ถ้าคิดจะเป็นเจ้าทุกข์แทนพระมหากษัตริย์หรือทายาท การฟ้องร้องต้องไม่ทำให้ท่านเสียหาย เช่นว่าการที่พวกคุณเจ็บใจ มันไม่ได้แปลว่าผิดกฎหมาย ฟ้องเพราะหมั่นไส้ ฟ้องเพราะเจ็บใจ แล้วคุณอ้างการเป็นเจ้าทุกข์แทนพระมหากษัตริย์เพื่อผลประโยชน์ของตัวคุณเอง ผมว่านี่เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ และคนที่ศรัทธาในสถาบันกษัตริย์เค้าจะไม่ทำกันนะ”

ฟลุคยังมีความหวังให้มาตรา 112 นี้ถูกแก้ไขอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งเท่านั้นมีอำนาจฟ้อง การลดโทษ หรือการแยกการดูหมิ่นออกไป แต่สิ่งที่เขาหวังเลย คือหวังว่า “การแอบอ้างเพื่อหาผลประโยชน์ไม่ควรมี”

ในฐานะจำเลย ที่ต้องวนเวียนอยู่กับคดีนี้ ฟลุคบอกว่า เขาเข้าใจได้ ที่มาตรา 112 อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ถูกพูดถึงกว้างขวาง หรือบ่อยครั้งเท่าในช่วงหนึ่ง “ผมว่าหน้าที่ของสังคมกับประเด็น 112 มันก็มาเป็นรอบๆ และนี่คือก็หมดวัฏจักรของมันแล้ว เพราะว่าการที่สังคมจะสนใจเรื่องใดตลอดเวลา มันก็คงเป็นไปไม่ได้อยู่ บางคนอาจจะบอกว่า จากกระแสแรง แต่สุดท้ายมึงก็ต้องแยกย้ายกันไปทำมาหากิน มันก็ต้องเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว ผมก็ยังอินอยู่นะ แต่ผมก็บาลานซ์ชีวิต เพราะชีวิตเรามีอะไรมากกว่านั้น มากกว่าแค่การต่อสู้ ยังไงต้องกินข้าว ต้องนอน ต้องขี่มอเตอร์ไซค์ออกไปซื้อของ ผมเลยเข้าใจในกระแสสังคมตอนนี้ สุดท้ายแล้วคนเค้าอาจจะมาค้นลิ้นชักความทรงจำ แล้วพบว่ามีประเด็นนี้อยู่ในใจของเค้าอยู่ ในความคิดของก็ได้”

สุดท้ายแล้วฟลุคยังเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น โดยเขาบอกกับเรา “หลายคนอาจจะเป็นเหมือนผมนะ แบบผมก็ไม่ได้คาดหวัง แต่ก็ตั้งตารอการเปลี่ยนแปลง รอคอยวันนั้น วันนั้นคือวันอะไรคนน่าจะรู้ ผมคิดว่าวันนั้นจะยังมา” เขากล่าวทิ้งท้าย

RELATED TAGS

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage