เครือข่ายประชาชนเขียนรัฐธรรมนูญใหม่หวังสภาผ่านร่างรัฐธรรมนูญใหม่ พร้อมเลือกตั้งสสร. 100% 

5 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภาเครือข่ายประชาชนเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องกรณีพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ของเครือข่ายประชาชนเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ โดยเครือข่ายได้ส่งหนังสือเชิญประธานรัฐสภา หัวหน้าพรรคเพื่อไทย หัวหน้าพรรคประชาชน ประธานกรรมาธิการพัฒนาการเมืองการมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชนสิทธิ เสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภคและประธานคณะอนุกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนมารับหนังสือ

เวลาประมาณ 10.20 น. ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ยื่นหนังสือต่อตัวแทนประธานรัฐสภา ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชนและผู้นำฝ่ายค้าน เทวฤทธิ์ มณีฉาย และประภาส ปิ่นตบแต่ง สมาชิกวุฒิสภา(สว.) 

รายละเอียดหนังสือโดยสรุปคือ ขอให้รัฐสภายืนยันหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ทุกหมวด ทุกมาตราของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากเผด็จการทหาร การงดเว้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 1 หมวด 2 จึงเป็นการรับรองอำนาจของเผด็จการทหาร ทำลายอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย และขอให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 100 % เพื่อให้ยึดโยงกับอำนาจอธิปไตยของประชาชน และให้มีกระบวนการในส่วนร่วมของประชาชนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (อ่านรายละเอียดหนังสือทั้งหมดด้านล่าง) 

ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า “ พรรคเพื่อไทยเองก็มีจุดยืนเดียวกันในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะมีส่วนร่วมโดยที่พี่น้องประชาชนมากขึ้น เราได้ยื่นร่างแก้ไขมาตรา 256 ที่ว่าด้วยการจัดตั้งให้มีสสร. เข้าสู่การพิจารณาของสภาแล้ว เข้าใจว่าจะมีการบรรจุวาระและจะได้พิจารณากันในช่วงสัปดาห์หน้า ก็ยืนยันครับว่าในเชิงรายละเอียดเราอาจจะมีบางเรื่องที่แตกต่างกันแต่ในเชิงหลักการแล้วก็แนวทางเรามุ่งหวังว่าจะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยมีหลักการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนด้วยกัน ก็คาดหวังว่าสัปดาห์หน้าจะมีการลงมติแล้วก็ได้ผลลัพธ์ไปในทางบวกและจะขับเคลื่อนร่วมกันต่อไป“

ด้านณัฐพงษ์ หัวหน้าพรรคประชาชนกล่าวว่า “ขอบคุณเครือข่ายภาคประชาชนที่มายื่นหนังสือเพื่อผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับแล้วก็ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านก็ยืนยันว่าพวกเราพร้อมที่จะร่วมผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เช่นเดียวกัน แล้วก็นอกเหนือจากผู้แทนราษฎรที่วันนี้ ก็ยินดีที่พรรคเพื่อไทยมายืนยันว่าอยากจะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเช่นเดียวกัน ผมเองก็อยากจะให้ทางท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นผู้นำของฝ่ายบริหารได้ช่วยกันผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส่วนรายละเอียดอื่นๆที่เรายังเห็นไม่ตรงกันก็ยังสามารถหารือร่วมกันในชั้นวาระที่สอง วาระที่สามได้ต่อไป”

หลังจากนั้นประภาส ปิ่นตบแต่ง สมาชิกวุฒิสภาและประธานคณะอนุกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้ขึ้นมากล่าวว่า “…ในประเด็นเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญและเรื่องของมาตรา 256 ทางร่างที่นำเสนอเข้ามาทั้งสองร่างก็เห็นว่าการสถาปนารัฐธรรมนูญโดยประชาชนก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกระบวนการที่สำคัญ ที่จะต้องตั้งสสร. ที่ยึดโยงกับอำนาจของประชาชนมาจากการเลือกตั้ง โดยส่วนตัวก็เห็นด้วยในการผลักดันที่จะให้เกิดกระบวนการดังกล่าวนี้ โดยหนังสือที่รับมาทั้งสองฉบับนี้ก็จะได้เอาเข้าไปพิจารณาในอนุกรรมธิการพัฒนการเมืองและการมีส่วนร่วมฯ และกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ…”

เทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภากล่าวต่อโดยมีใจความว่า “…ในฐานะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองการมีส่วนร่วมของประชาชนสิทธิมนุษยชนสิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค ประเด็นหนึ่งเลยครับ ผมอยากจะส่งเสียงและพี่น้องก็อยากจะส่งเสียง ที่มายื่นวันนี้ก็อยากจะส่งเสียงก็คือการแก้รัฐธรรมนูญเป็นนโยบายของรัฐบาลไม่ใช่นโยบายของพรรคใดพรรคหนึ่ง อันเป็นที่รู้กันดังนั้นการจะผ่านหรือไม่ผ่านเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลด้วย ดังนั้นมันไม่ใช่แค่พรรคหนึ่งแต่เป็นการรับผิดชอบร่วม 

ผมยังไม่ค่อยได้ยินเสียง อย่าว่าอย่างนั้นอย่างนี้เลยครับ ผมยังไม่ได้ยินเสียงนายกรัฐมนตรีนอกจากวันที่ 12 กันยายนที่พูดแถลงในนโยบายในที่ประชุมรัฐสภาเท่านั้น หลังจากนั้นผมยังไม่เห็นนายกรัฐมนตรีถึงเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเลยและที่สำคัญคือพรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะหัวหน้าพรรคก็ยังไม่เห็นการพูดเรื่องเหล่านี้

และมันจะมีวาระเข้ามาอาทิตย์หน้าแล้ว ผมก็รู้สึกว่ามันเงียบเหงาเสียเหลือเกิน อย่างน้อยที่สุดผมเรียกร้อง อย่างน้อยถ้านายกพูดคำว่า “รัฐธรรมนูญ” สักครั้งหนึ่งให้ผมได้ยินก่อนที่วันที่ 13-14 เราจะพิจารณาได้ก็จะเป็นนิมิตหมายอันดี …มันเป็นความรับผิดชอบร่วมของรัฐบาลนะครับไม่ใช่เพียงแค่พรรคเพื่อไทยเท่านั้น ก็ฝากไปถึงพรรคเพื่อไทยส่งเสียงเยอะๆ ไม่เฉพาะมิสเตอร์รัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิลเพียงแค่ลำพัง…ส่วนทาง สว. เอง แน่นอนครับ ทุกท่านก็คงถือเป็นเงื่อนไขหรืออุปสรรคสำคัญโดยเฉพาะการต้องใช้เงื่อนไขหนึ่งในสาม หนึ่งในสามคือ 67 คนซึ่งก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย

ดังนั้นเมื่อทางตัวแทนของภาคประชาชนมายื่นแล้วผมก็จะพยายามจะสื่อสาร สว. …ยังไม่รวมถึงเรื่องของ สว. ที่มีแนวคิด มุมมองหรือแนวนโยบายหรืออะไรต่างๆ ที่รู้สึกสอดคล้องกับพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค ผมคิดว่าก็เลยต้องย้ำไปยังรัฐบาลนะครับว่าส่งเสียงหน่อย สว. จะได้มีความคิดหรือคล้อยตามให้เห็นต้องตรงกันกับการแก้ไข”  

ณัฐวุฒิ กรมภักดี เลขากลุ่มขบวนการประชาธิปไตยอีสาน (กป.อพช. ภาคอีสาน) กล่าวปิดท้ายว่า จริงๆ “พวกเราคือเครือข่ายประชาชนคนธรรมดาเลยครับที่เรารู้สึกว่าประเทศนี้คือบ้านของเรา เมื่อเราเชื่อว่าประเทศนี้คือบ้านของการวางโครงสร้าง หรือรัฐธรรมนูญก็จำเป็นมากที่เจ้าของบ้านจะต้องมีส่วนร่วม เราจึงพยายามที่จะเข้ามาเชื่อมร้อยเรื่องรัฐธรรมนูญให้มันเชื่อมโยงกับชีวิตของทุกคน เราเชื่อว่าทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการเขียนรัฐธรรมนูญนี้ได้ในทุกวิถีทาง

เราจึงรวมตัวกันเพื่อแสดงออกในจุดยืนเรื่องแบบนี้เราก็ยังคงต้องย้ำข้อเสนอของเรา ในวันที่ 13-14 นี้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนขอให้รัฐธรรมนูญผ่านไปสู่การแก้ไขถ้าเราเชื่อเหมือนกันว่ารัฐธรรมนูญที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบันฉบับ 60 นี้ เป็นตัวกั้นขวางความมีชีวิตที่ดีขึ้น เป็นความกั้นขวางประชาธิปไตย เราคงต้องร่วมกันทำให้มันผ่านไปเพื่อไปแก้ไขและไปเขียนใหม่มันขึ้นมาจากพวกเราทุกคน ถ้าใครที่ขัดขวางอยู่มันก็จะเป็นเครื่องยืนยันชัดเจนว่าคนกลุ่มนั้นคือคนที่ไม่ต้องการให้ประเทศนี้เดินหน้าไปได้

เรื่องนี้คือเรื่องสำคัญที่เราอยากจะย้ำและชวนทุกคนทั้ง สว. และสส. เพราะไม่งั้นเราก็จะติดหล่มอยู่กับเศษซากมรดกของคสช. อย่างนี้ไปอีกยาวนาน ก็คิดว่าวันนี้เรามาแสดงออกก็มาจากหลายพื้นที่ในประเทศไทย เรารู้สึกว่าเราอยู่เฉยๆ ไม่ได้เพราะรัฐธรรมนูญคือเรื่องของเราทุกคนและ 13-14 นี้ขอให้ผ่านวาระแรกนะครับ ช่วยกันนะครับ 

เมื่อมีกระบวนการร่างใหม่เกิดขึ้นขอให้ยังยึดจากการสำคัญคือรัฐธรรมนูญต้องยึดโยงกับประชาชนไม่ใช่ให้ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งขึ้นมาเขียน ควรให้ประชาชนออกแบบและกำหนดชีวิตของเขาเอง” 


รายละเอียดหนังสือของเครือข่ายประชาชนเขียนรัฐธรรมนูญใหม่

“ด้วยเครือข่ายประชาชนเขียนรัฐธรรมนูญใหม่เป็นเครือข่ายประชาชนที่มาจากหลายประเด็นปัญหาทั้งจากปัญหาป่าไม้ที่ดิน ปัญหาการสร้างเขื่อน ปัญหาการทําเหมือง ปัญหาละเมิดสิทธิเกษตรกร ปัญหาคนจนเมือง ปัญหาด้านการศึกษา ปัญหาการบริหารจัดการท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากการรัฐประหารในปี 2557 ที่ทหารเข้ายึดอํานาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คณะรัฐประหารได้เเต่งตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามารวมศูนย์อํานาจ และทําลายระบอบประชาธิปไตย ต่อมามีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย ทหาร ชนชั้นนําและนักกฎหมายที่รับใช้ชนชั้นนํา เพียง 36 คน โดยมีเป้าหมายทําลายอํานาจอธิปไตยที่มาจากปวงชน รวมศูนย์อํานาจเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชนชั้นนํา และกลุ่มทุนผูกขาด เปิดทางให้กลุ่มทุน ทหารเข้ามามีบทบาทสําคัญในการเขียนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเป็นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้กําหนดให้มียุทธศาสตร์ชาติ เพื่อกําหนดแผนการพัฒนาประเทศในมาตรา 65 ภายใต้หมวดแนวนโยบายของรัฐแม้จะอ้างว่าการกําหนดยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนแต่กลับพบว่าสิ่งที่ถูกกําหนดในยุทธศาสตร์ชาตินั้น เพื่อมุ่งสร้างความมั่นคงของรัฐ และการผูกขาดการใช้ทรัพยากรเพื่อประโยชน์ของกลุ่มทุนขนาดใหญ่เท่านั้น เช่น การเร่งรัดให้เกิดการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เป็นเหตุให้เกิดการแย่งยึดที่ดินของประชาชน นโยบายอ้อยและน้ําตาลที่ขยายพื้นที่การปลูกอ้อย และเพิ่มโรงงานน้ําตาลในภาคอีสาน โดยอ้างว่าจะนําไปสู่การพัฒนา เศรษฐกิจชีวภาพ เเต่กลายเป็นนโยบายที่เร่งการขยายการทําลายพื้นที่การเกษตรของเกษตรกรรายย่อย และเพิ่มปัญหา มลภาวะทางอากาศจาก PM 2.5 เป็นต้น และเพื่อเป้าหมายความมั่นคงของรัฐก็เกิดกลไกการทําลายสิทธิเสรีภาพของ ประชาชน และละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง โดยสิ่งเหล่านี้ถูกรับรองในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

แม้ต่อมาภายหลังจะมีรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560รัฐธรรมนูญจากเผด็จการทหารที่ไม่เป็นประชาธิปไตยไมยึดโยงกับ ประชาชน เป็นผลทําให้การเลือกตั้งในปี 2562 และปี 2566 ถูกบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน โดยพรรคการเมืองที่ ได้รับเลือกเป็นอันดับหนึ่งไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. เป็น ปัจจัยสําคัญในการจัดตั้งรัฐบาล ทําให้เรามีรัฐบาลไร้เสถียรภาพและไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน รัฐสภาไม่สามารถทําหน้าที่ผลักดันการแก้ไขกฏหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชน และการแก้ปัญหาของประชาชนผ่านกลไลรัฐสภาได้ เท่าที่ควร รัฐธรรมนูญที่มาจากเผด็จการได้ทําลายโครงสร้างทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยจนสิ้น ประชาชนมีแนวโน้มถูกคุกคามมากขึ้น รัฐธรรมนูญที่ควรเป็นเครื่องมือในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และหลักประกันในการมีชีวิตอย่างมี ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กลับกลายเป็นเครื่องมือในการแย่งยึดทรัพยากรและริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน

หลังประธานรัฐสภา ท่านวันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้เตรียมบรรจุวาระในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อเปิด กระบวนการให้มีการทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในการประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 การจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ของพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทย ในวันที่ 14 กุมภาพพันธ์ 2568 นั้น เครือข่ายประชาชนเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งได้ติดตามผลักดันการเขียนรัฐธรรมนูญ ใหม่มากว่า 7 ปี จากคํามั่นสัญญาของทุกพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง ปี 2566 การลงคะแนนเสียงเลือกตัวแทนจาก พรรคการเมืองเข้าสู่สภาในแต่ละครั้ง เพื่อหวังให้เข้ามาผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะพวกเราเห็นว่าปัญหาความ เดือดร้อนของประชาชนนั้นล้วนมีสาเหตุมาจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่าง ยั่งยืนคือการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ที่มีโครงสร้างอํานาจเป็นประชาธิปไตยมีความยึดโยงกับประชาชนโดยประชาชนมีส่วน ร่วมในทุกขั้นตอน ฉะนั้นการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 การจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ครั้งนี้ จึงมีความสําคัญอย่างยิ่งในการเดินหน้ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็น ความหวังในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนทั้งประเทศเช่นกัน

        เครือข่ายประชาชนเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ จึงขอเรียกร้องต่อประธานรัฐสภาไทย ดังนี้

        1. ขอให้รัฐสภาพิจารณารับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 การจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทยในวันที่ 13-14 กุมภาพพันธ์ 2568 เพื่อให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้าต่อไป

        2. ขอให้รัฐสภายืนยันหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ทุกหมวด ทุกมาตรา ของรัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2560 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากเผด็จการทหาร การงดเว้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 1 หมวด 2 จึงเป็นการรับรองอํานาจของเผด็จการทหาร ทําลายอํานาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย

        3. ขอให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 100 % เพื่อให้ยึดโยงกับอํานาจอธิปไตยของประชาชน และให้มีกระบวนการในส่วนร่วมของประชาชนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่“ 

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage