ส่องรายละเอียด หมวด 5 มาตรา 27 พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ สาเหตุที่ประเทศไทยยังคงต้องรอกฎหมายชาติพันธุ์ต่อไป 

ดูเหมือนว่า กฎหมายที่จะให้ความคุ้มครองและยกระดับชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ยังไม่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทยได้ง่ายๆ แม้จะมีการเสนอทั้งจากประชาชน จากพรรคการเมืองต่างๆ รวมทั้งรัฐบาลมาแล้ว เมื่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ….  (ร่างพ.ร.บ.ชาติพันธุ์ฯ) มาถึงจุดที่เห็นต่างกัน และวิปฯ รัฐบาลขอให้ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. … (กมธ.ชาติพันธุ์ฯ) นำร่างกฎหมายดังกล่าวกลับไปพิจารณาให้ครบถ้วนในส่วนของเนื้อหาสาระบางมาตราที่ยังไม่มีความเหมาะสม และมีความสุ่มเสี่ยงที่จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในส่วนของ หมวด 5 พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ 

8 มกราคม 2568 ระหว่างที่การพิจารณา ร่างพ.ร.บ.ชาติพันธุ์ฯ ในวาระที่สองดำเนินไปจนถึงหมวด 5 พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ส.ส.หลายคนจากพรรคเพื่อไทยทักท้วงว่า มาตรา 27 มีโอกาสขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่เหมาะสมเนื่องจากมีประโยคที่ยกเว้นไม่ต้องนำกฎหมายมาใช้ในพื้นที่คุ้มครอง ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ จึงขอหารือให้เลื่อนการประชุมไปเป็นวันที่ 15 มกราคม 2568 แทน แต่เมื่อถึงกำหนดวันดังกล่าว ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.จากพรรคเพื่อไทย กลับขอให้ที่ประชุมเลื่อนการพิจารณาออกไปอีกครั้ง เนื่องจากยังเห็นว่าคณะกรรมาธิการยังไม่ได้มีการแก้ไขในมาตราดังกล่าว ซึ่งทำให้ สส.ในสภาหลายคนไม่สบายใจ ส่งผลให้การพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ ต้องถูกเลื่อนออกไปอีกครั้งถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 

เปิดเนื้อหา หมวด 5 มาตรา 27 จากร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

หมวด 5 พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ มีจำนวน 6 มาตราได้แก่ มาตรา 27-32 หมวดนี้ถูกร่างขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากในปัจจุบันมีประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนจากกฎหมายประกาศที่ดินของรัฐ ทั้งกฎหมายป่าไม้ อุทยาน เขตป่าสงวน เขตห้ามล่าสัตว์ป่า และเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งดำเนินไปโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งผลให้พื้นที่ทำกินของประชาชนหลายล้านคนถูกประกาศเป็นพื้นที่ของรัฐ และประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถใช้ชีวิตตามวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมได้ 

เพื่อบรรเทาทุกข์ของคนในพื้นที่ให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติอีกครั้ง ร่างพ.ร.บ.ชาติพันธุ์จึงต้องการกำหนดพื้นที่คุ้มครองขึ้นเป็นกรณีพิเศษ โดยยกเว้นการใช้กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดังกล่าว รวมไปถึงกำหนดกฎเกณฑ์และกติการ่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและชุมชนในพื้นที่ เพื่อคุ้มครองวิถีชีวิต และการรักษาวัฒนธรรม ส่งเสริมคุณภาพชีวิต ของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งอาจจะแตกต่างออกไปจากกติกที่กำหนดมาจากส่วนกลางและใช้กับทุกพื้นที่ทุกชุมชนที่มีวิถีชีวิตและสภาพภูมิประเทศแตกต่างกัน โดยแบ่งรายละเอียดตามมาตราได้ดังนี้ 

มาตรา 27 หลักการและเหตุผลในการประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ 

การประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ มีขึ้นเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยต้องทำข้อตกลงระหว่างชุมชนและเจ้าหน้าที่เป็นแผนแม่บทและแผนที่สำหรับกติกาและการจัดการในพื้นที่ ซึ่งในระหว่างการประกาศใช้พื้นที่คุ้มครอง จะมีการขอยกเว้นไม่นำกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องมาใช้ในพื้นที่ เช่น พ.ร.บ.ป่าไม้, พ.ร.บ.ป่าสงวน เป็นต้น โดยเป็นไปภายใต้คณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

มาตรา 28 เงื่อนไขการยกเลิกพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตชาติพันธุ์ 

หากชุมชนมีการทำผิดข้อตกลงที่ทำไว้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ สามารถยกเลิกพื้นที่คุ้มครองและกลับไปใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้

มาตรา 29  สิทธิประโยชน์ของประชาชนในชุมชนภายใต้พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตชาติพันธุ์

ประชาชนในชุมชนที่อยู่ภายในพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิใช้ประโยชน์จากที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในเรื่องดังต่อไปนี้ ตามธรรมนูญของพื้นที่คุ้มครอง วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ 

(1) ก่อสร้าง แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อการอยู่อาศัย การทำกินการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ การเกษตรกรรม การประมง การเลี้ยงสัตว์ และกิจกรรมสาธารณะ ของชุมชน

(2) ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอื่นในพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ได้ ตามความจำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคในครัวเรือน เศรษฐกิจชุมชน หรือใช้ในกิจกรรมสาธารณะของชุมชน

(3) ปฏิบัติพิธีกรรมตามประเพณีและจิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์

(4) การอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด

ซึ่งการใช้ประโยชน์ดังกล่าวมีเงื่อนไขคือ จะต้องเป็นไปอย่างสมดุล ไม่กระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพหรือกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา 30 การจัดตั้งคณะกรรมการบริหารพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

การบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองฯ ดังกล่าว จำเป็นต้องมีคณะกรรมการบริหารพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งจะประกอบด้วย

1.ผู้แทนของหน่วยงานของรัฐในพื้นที่

2.ผู้แทนของชุมชนในพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

รวมกันทั้งหมดจำนวนไม่น้อยกว่า 7 คนแต่ไม่เกิน 15 คน โดยให้มีผู้แทนหน่วยงานของรัฐในพื้นที่จำนวนไม่เกิน 1 ใน 3 ของจำนวนคณะกรรมการบริหารพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ 

ประธานกรรมการบริหารพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์จะมาจากการเลือกในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นผู้แทนของชุมชนในพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ 

มาตรา 32 อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

คณะกรรมการบริหารพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ จะมีหน้าที่

(1) จัดทำธรรมนูญของพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ และเสนอต่อสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมเพื่อให้ความเห็นชอบ โดยอย่างน้อยต้องประกอบด้วย สิทธิและหน้าที่ของประชาชนในพื้นที่ทำดินพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน พื้นที่ทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ และพื้นที่สงวนและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การทำนุบำรุงรักษาสืบทอดศิลปวัฒนธรรมและภาษา มาตรการบังคับใช้ธรรมนูญในพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งนี้ เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือสุขภาพอนามัย และต้องไม่ขัดหรือแย้งกับแผนแม่บทและแผนที่แสดงพื้นที่การจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ตาม มาตรา 27 รวมถึงจัดทำแผนงาน โครงการ และงบประมาณของพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิต กลุ่มชาติพันธุ์เสนอต่อศูนย์เพื่อขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่าย

(2) จัดให้มีการประเมินผลการดำเนินการตามแผนแม่บทโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

(3) เสนอให้มีการปรับปรุงแผนแม่บทหรือแผนที่แสดงพื้นที่การจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ และเมื่อชุมชนเห็นชอบด้วยแล้วให้ดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 

(4) ประสานงานการรับความช่วยเหลือ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์จากหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน

(5) สนับสนุนการจัดทำข้อมูลวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ตาม ร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้

(6) เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเพื่อเพิกถอนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงแนวเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

ส.ส.เพื่อไทย อภิปรายกังวล มาตรา 27 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

8 มกราคม 2568 ในระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ มีสส.จากพรรคเพื่อไทยหลายคนลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความเป็นห่วงต่อเนื้อหาในมาตรา 27 ซึ่งเป็นมาตราที่กล่าวถึงหลักการและเหตุผลในการจัดตั้งพื้นที่คุ้มครองฯ แต่มีข้อความตอนหนึ่งที่ระบุว่า ไม่ให้นำกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องมาใช้ในพื้นที่ดังกล่าว ดังนี้

“มาตรา 27 เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองวิถีชีวิตและวัฒนธรรม การรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล เป็นธรรม และยั่งยืน การส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีบนฐานเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรม และการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนตามภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ คณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ 

ก่อนการประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ให้ชุมชนทำความตกลงกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อจัดทำแผนแม่บทและแผนที่แสดงพื้นที่การจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมและศูนย์มีหน้าที่สนับสนุน ชุมชนในการดำเนินการดังกล่าว และต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในระเบียบของคณะกรรมการ

แผนแม่บทและแผนที่ที่จัดทำขึ้นตามความตกลงตามวรรคสอง ต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์นั้นสามารถอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ในพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ได้โดยไม่ต้องนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับแก่พื้นที่ดังกล่าวทั้งนี้ เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือสุขภาพอนามัย  

เมื่อดำเนินการตามวรรคสองเสร็จแล้ว ให้สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมเสนอแผนแม่บทและแผนที่ที่ได้จัดทำขึ้นตามความตกลงกับหน่วยงานของรัฐต่อคณะกรรมการเพื่อประกอบการพิจารณาประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธ์ตามวรรคหนึ่งต่อไป“


ประโยคที่มีปัญหาคือประโยคว่า โดยไม่ต้องนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับแก่พื้นที่ดังกล่าว ในวรรคสาม ซึ่ง สส.เพื่อไทยหลายคนมีความเข้าใจว่า การเขียนในลักษณะดังกล่าวเป็นการเขียนเพื่อลบล้างกฎมายหรือทำให้กฎหมายอื่นถูกยกเลิก (Overrule) ซึ่งจะขัดต่อรัฐธรรมนูญที่ระบุให้ประชาชนมีหน้าที่ต้องรักษากฎหมายอย่างเคร่งครัด และขัดต่อหลักความเสมอภาค หากมีพื้นที่ไม่ถูกบังคับใช้กฎหมายเหมือนพื้นที่อื่นๆ 

วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล แสดงข้อกังวลเกี่ยวกับการทำข้อตกลงระหว่างชุมชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งอาจจะเอื้อให้เกิดการทุจริตได้ ดังนั้นวรวัจน์จึงเสนอให้นำประโยคดังกล่าวออก 

“…เราบอกว่าเจ้าหน้าที่ไปทำความตกลง แล้วถ้าจนท.รัฐเกิดไปตกลงให้ โดยทุจริต เป็นอันว่าอยากให้มีการแก้ไข โดยเอาคำว่า ไม่ให้มีการนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้ โดยข้อตกลงของคนบางกลุ่ม (จนท. กับ ชุมชน)…” 
“ไม่มีใครที่อยากจะไปลงมติ แล้วถูกร้องภายหลังว่าขัดรัฐธรรมนูญ หรือว่าไปถูกร้องเรื่องอื่นๆ ว่า ปล่อยให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย หรือว่าออกกฎหมายไปล้มล้างกฎหมาย ผมว่าไม่อยากมีใครอยากโดนแบบนั้นหรอกครับ เพราะแฉะนั้นต้องเรียนทางกรรมาธิการด้วยความเคารพ ถ้าจะกรุณา เอาประโยคนี้ออกเถอะครับว่า ไม่ให้นำกฎหมายฉบับนี้มาบังคับใช้” 

อดิศร เพียงเกศ กล่าวว่ามาตรานี้ทำให้คนไม่เท่าเทียมกัน 

“(ประโยคที่ว่า) โดยไม่ต้องนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้กับพื้นที่ดังกล่าว การตีความ จะให้อำนาจคนไม่มีกลุ่มตกลงกัน น่าจะทบทวน ใช้ข้อความอื่น เพราะเหมือนออกกฎหมายให้อภิสิทธิ์ชนปล้นทรัพยากรธรรมชาติ โดยเจตนา” 

ทศพร เสรีรักษ์ ได้ยกหลักการในรัฐธรรมนูญขึ้นมาอ้าง โดยอธิบายว่า 

“หน้าที่ของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเขียนไว้ข้อหนึ่งว่า ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทีนี้เรามาเขียนกฎหมาย อยากจะถามนักกฎหมาย ถามพวกเราทุกคนว่า เราสามารถเขียนกฎหมายได้หรือว่า ไม่ต้องเอากฎหมายมาใช้บังคับ มันเป็นการย้อนแย้งกันเองของกฎหมายที่ออกมา เพื่อให้คนปฏิบัติตามกฎหมาย แต่มาเขียนกฎหมายบอกว่า คุณไม่ต้องเอากฎหมายมาใช้บังคับ กรรมาธิการก็คงต้องหาคำตอบดีๆ เพราะถ้าไม่มีคำตอบที่ดีๆ ผมก็คงไม่ยกมือให้ผ่าน”

นพดล ปัทมะได้ขอความชัดเจนว่า “การไม่นำกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้” กฎหมายที่เกี่ยวข้องดังกล่าวคืออะไรบ้าง เนื่องจากมีหลายฉบับ และการเขียนกว้างๆ แบบนี้เปิดโอกาสให้มีการตีความได้ โดยให้ข้อคิดเห็นว่าการเขียนกฎหมายข้อยกเว้นต้องระบุกฎหมายให้ชัดเจน ว่าจะยกเว้นกฎหมายใดบ้าง เพื่อไม่ให้เกิดการตีความเอื้อผลประโยชน์ต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง วอนขอให้คณะกรรมาธิการเขียนกฎหมายที่มีลักษณะเป็นข้อยกเว้นให้มีความชัดเจน โดยคำนึงถึงความเสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมาย 

กมธ.แจง ประโยคเจ้าปัญหาไม่ใช่การยกเลิกกฎหมายเดิม เพียงแต่ไม่บังคับใช้ชั่วคราว

เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล กรรมาธิการ ขอชี้แจงโดยอธิบายว่า การที่ชุมชนใดจะมีสิทธิในพื้นที่คุ้มครองนั้น ชุมชนไม่สามารถดำเนินการด้วยตัวเอง หากแต่ต้องทำข้อตกลงกับเจ้าหน้าที่ของรัฐก่อนที่รัฐจะประกาศกำหนดพื้นที่คุ้มครองฯ หากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตอุทยานหรือเขตป่าสงวน ชุมชนจำเป็นต้องไปทำข้อตกลงกับอุทยานหรือเขตป่าสงวนว่าจะมีข้อตกลงอย่างไร ดังนั้นข้อความที่บัญญัติว่า “ไม่ให้นำกฎหมายดังกล่าวมาบังคับใช้” เลาฟั้งพยายามอธิบายว่าไม่ใช่การยกเลิกกฎหมายในพื้นที่ยังคงต้องบังคับใช้กฎหมายได้ตามปกติ เพียงแต่ว่า การประกาศพื้นที่คุ้มครองเหล่านี้ เป็นลักษณะของการอนุญาตให้ชุมชนอยู่อาศัยในเขตป่าของรัฐได้ชั่วคราวเท่านั้น ไม่ใช่การยกเลิกกฎหมายเดิมที่มีอยู่ และหากชุมชนใดเมื่อได้รับอนุญาตแล้ว มีการทำผิดข้อตกลงที่ทำไว้กับรัฐ ก็สามารถถูกยกเลิกเพิกถอนการประกาศพื้นที่ดังกล่าว และกลับไปใช้กฎหมายเดิมได้ตามปกติ

อภินันท์ ธรรมเสนา กรรมาธิการ ได้ชี้แจงถึงประเด็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการกำหนดพื้นที่คุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ แม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีกฎหมายที่ประกาศพื้นที่คุ้มครองในลักษณะนี้มาก่อน แต่มติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลว่า และกะเหรี่ยง ได้มีการนำร่องพื้นที่คุมครองวิถีชีวิต กว่า 24 พื้นที่ โดยมีลักษณะสำคัญคือ 

1.ก่อนจะประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครอง ต้องพิสูจน์ก่อนว่าเป็นชุมชนดั้งเดิมซึ่งอยู่มาก่อนการประกาศสภาพพื้นที่เป็นเขตป่าสงวน หรืออุทยานแห่งชาติ 

2.ชุมชนและเจ้าหน้าที่รัฐต้องทำความตกลง เหมือน 24 พื้นที่ที่นำร่องว่า จะออกแบบกติการ่วมกันอย่างไร ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมให้กับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ให้มาออกแบบกติการ่วมกัน  

มาตรา 27 เรื่องของพื้นที่คุ้มครองจึงเป็นกลไกลหนึ่ง ที่ใช้เยียวยากลุ่มชาติพันธุ์ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงทรัพยากรที่ดิน เมื่อทำความตกลงแล้ว ตามกฎหมายฉบับนี้ต้องมีการเสนอให้คณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนกระทรวงต่างๆ เป็นกรรมการให้ความเห็นชอบ ต้องพิจารณาว่าจะเห็นชอบให้เป็นพื้นที่คุ้มครองหรือไม่ ซึ่งต้องรอคณะกรรมการเห็นชอบแล้ว จึงจะตั้งคณะกรรมการบริหารพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ 

ขั้นตอนนี้มีความสำคัญ เนื่องจากหากคณะกรรมการมีการให้ความเห็นชอบ ไม่ว่าจะกระทรวงทรัพยากร กระทรวงเกษตร จะเป็นผู้พิจารณาว่าพื้นที่ใดเหมาะสมที่จะเป็นพื้นที่คุ้มครอง 

ซึ่งคณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก จึงมีความเห็นว่า 

1.การพิสูจน์ชุมชนดั้งเดิม

2.การทำข้อตกลง ที่ต้องผ่านความเป็นชอบจากคณะกรรมการแห่งชาติ

กลไกเหล่านี้จึงได้รับการรับรองจากระดับพื้นที่ (คณะกรรมการพื้นที่) และระดับชาติ (คณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์) และถึงจะมีกลไกที่ให้ชุมชนอยู่ในพื้นที่ได้ ทั้งนี้ประเด็นที่ตั้งข้อสังเกตว่า จะเขียนกฎหมายเพื่อยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายนั้น อภินันท์ยกตัวอย่าง การเขียนพ.ร.บ.ป่าชุมชน 2562 ที่เขียนว่า

“มาตรา 7 การจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่ป่าหรือพื้นที่อื่นของรัฐตามพระราชบัญญัตินี้ไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงเขตหรือเพิกถอนพื้นที่ป่า หรือเปลี่ยนแปลงสถานะหรือถอนสภาพพื้นที่อื่นของรัฐ ที่นำมาจัดตั้งเป็นป่าชุมชน และมิให้นำกฎหมายว่าด้วยป่าไม้และกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติมาใช้บังคับเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีการเพิกถอนป่าชุมชน โดยให้ใช้ระเบียบที่คณะกรรมการนโยบายกำหนดตามมาตรา 18 แทน เว้นแต่พระราชบัญญัตินี้จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น” 

อภินันท์อธิบายว่า ในกรณีของการประกาศจัดตั้งป่าชุมชนนั้น ระหว่างที่มีการจัดตั้งป่าชุมชน กฎหมายก็บัญญัติมิให้นำกฎหมายว่าด้วยป่าไม้หรือกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ มาใช้บังคับเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีการเพิกถอน ดังนั้น หลักการประกาศพื้นที่คุ้มครองฯ จึงใช้หลักการเดียวกัน คือ ในระหว่างที่ใช้พื้นที่คุ้มครอง จะขอยกเว้นการใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องบางมาตรา หากไม่มีการปฏิบัติตามกติกาที่กำหนดไว้ พื้นที่คุ้มครองก็จะถูกเพิกถอน และกลับไปใช้กฎหมายตามปกติ 

อภินันท์เชื่อว่าบทบัญญัติดังกล่าวเป็นหลักการที่มีความรัดกุมพอสมควร ที่จะส่งเสริมให้พื้นที่คุ้มครองเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ในร่างพ.ร.บ.ชาติพันธุ์ฯ ยังมีมาตรา 28 ระบุไว้อีกว่า ถ้าชุมชนฝ่าฝืนกติกา ก็จะให้กลับใช้กฎหมายปกติไปบังคับ นั่นหมายความว่า กฎหมายปกติยังสามารถใช้ได้อยู่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องยังมีฐานะใช้ได้อยู่ แต่ในระหว่างที่มีข้อตกลงร่วมกัน และชุมชนนั้นไม่ผิดกติกา ก็สามารถใช้กติกาที่เห็นชอบร่วมกันดำเนินการได้

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage