เทียบสองข้อเสนอแก้ 256 ปชน.-พท. เพื่อเลือกตั้ง สสร. เขียนรัฐธรรมนูญใหม่

13 – 14 กุมภาพันธ์ 2568 ถูกกำหนดให้เป็นวันที่รัฐสภาจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 ซึ่งจะเป็นการปลดล็อคเงื่อนไขที่ทำให้รัฐธรรมนูญ 2560 แก้ไขได้ง่ายขึ้นและนำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะมาทำหน้าที่ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อนจะให้ประชาชนลงประชามติให้ความเห็นชอบอีกครั้ง

ก่อนมาถึงวันที่รัฐสภาได้บรรจุวาระพิจารณาในวันที่ 13 – 14 กุมภาพันธ์ 2568 พริษฐ์ วัชรสินธุ จากพรรคประชาชน ได้พูดคุยหารือกับทั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและประธานรัฐสภาถึงประเด็นที่ว่าการทำประชามติเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาทำประชามติถึงสามครั้ง สามารถทำครั้งแรกพร้อมกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ที่จะต้องทำประชามติอยู่แล้วและทำอีกครั้งหลังจากที่ สสร. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จแล้วเพื่อให้ประชาชนได้ลงประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่ จนกระทั่งฝ่ายกฎหมายของรัฐสภาสรุปความเห็นที่จะบรรจุร่างแก้ไขมาตรา 256 เข้าสู่การพิจารณาได้ทันทีโดยไม่ต้องทำประชามติ “ก่อน” ตามแนวทางเดินของรัฐบาล

พรรคเพื่อไทยในฐานะผู้นำรัฐบาล และพรรคประชาชนในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ต่างก็เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเนื้อหาแตกต่างกันในรายละเอียดว่าจะดำเนินการขั้นตอนอย่างไรและควบคุมเนื้อหาของการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่มากแค่ไหน โดยที่ร่างของทั้งสองพรรคการเมืองต่างก็มีจุดร่วมกันในใจความสำคัญสองประเด็น ประเด็นแรกคือการแก้ไขมาตรา 256 โดยตัดเงื่อนไขที่จะต้องมีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) อย่างน้อยหนึ่งในสาม หรืออย่างน้อย 67 คนให้ความเห็นชอบ ประเด็นที่สองคือการเพิ่มหมวด 15/1 การจัดรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านการเลือกตั้ง สสร. โดยตรงจากประชาชน

แก้ 256 ตัดเงื่อนไข สว. 1 ใน 3 แก้รัฐธรรมนูญง่ายขึ้น

โดยเดิมเงื่อนไขหลักในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราแค่เพียงบางเรื่องบางตัวอักษร หรือการแก้ไขเพื่อเปิดทางให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จะถูกล็อคด้วยเงื่อนไขที่ สว. ต้องเห็นชอบด้วยอย่างน้อยหนึ่งในสาม หรือ สว. 67 อย่างน้อย 67 คน เงื่อนไขนี้ทำให้รัฐธรรมนูญ 2560 แก้ไขได้ยากและที่ผ่านมาเคยถูกแก้ไขได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น เงื่อนไขตามตัวบทเดิมมี ดังนี้

  • ในวาระแรกต้องมีสมาชิกรัฐสภาเห็นชอบด้วยอย่างน้อยกึ่งหนึ่งหรืออย่างน้อย 350 คน และสว. เห็นชอบอย่างน้อยหนึ่งในสาม
  • ในวาระสามต้องมีสมาชิกรัฐสภาเห็นชอบด้วยมากกว่ากึ่งหนึ่งหรืออย่างน้อย 351 คน พรรคฝ่ายค้านที่ไม่มีประธานรัฐสภา-รอง รัฐมนตรี เห็นชอบร้อยละ 20 และ สว.เห็นชอบอีกอย่างน้อยหนึ่งในสาม 

ข้อเสนอปลดล็อคประตูบานแรกของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนเห็นพ้องกันว่าจะต้องยกเลิกเงื่อนไข สว. เห็นชอบหนึ่งในสามทิ้งไปในการพิจารณาของรัฐสภาในวาระแรกและวาระสามโดยให้ใช้เงื่อนไขอื่นแทน ส่วนเงื่อนไขแรกในวาระแรกที่ต้องมีเสียงเห็นชอบอย่างน้อยกึ่งหนึ่งและในวาระสามที่ต้องมีเสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งทั้งสองพรรคยังคงไว้ดังเดิม

พรรคประชาชนเสนอเพิ่มเงื่อนไข สส.ต้องเห็นชอบ 2 ใน 3

พรรคประชาชนเสนอเงื่อนไขให้ใช้เสียงเห็นชอบสองในสามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แทน หรือจะต้องมีเสียง สส. อย่างน้อย 334 เสียงที่เห็นชอบด้วยทั้งในวาระแรกและวาระสาม หากมีเสียง สส. เห็นชอบด้วยอย่างน้อย 351 เสียงการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราก็จะผ่านฉลุยโดยที่ สว. จะลงมติอย่างไรก็ได้ จะไม่เห็นชอบทั้งหมดเลยก็ได้

256 ฉบับเพื่อไทย แค่ 351 เสียง ก็แก้รัฐธรรมนูญได้

ในขณะที่ข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยในส่วนนี้เสนอให้ใช้เงื่อนไขที่เรียบง่ายกว่าคือในวาระแรกใช้แค่เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งหรือ 350 เสียงของรัฐสภาก็เพียงพอ ในวาระที่สามใช้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งหรืออย่างน้อย 351 เสียงดังเดิม โดยไม่มีเงื่อนไขว่าจะต้องมี สส. หรือ สว. หรือฝ่ายค้านเห็นชอบเป็นจำนวนเท่าใด 

นอกจากนี้ทั้งสองพรรคยังเสนอเหมือนกันว่าให้การริเริ่มเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ง่ายขึ้น โดยแก้ไขให้จากเดิมต้องใช้เสียง สส. หรือ สส.+สว. อย่างน้อยหนึ่งในห้าในการเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นใช้แค่หนึ่งในสิบแทน รวมถึงเสนอให้การเตะถ่วงแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการส่งศาลรัฐธรรมนูญทำได้ยากขึ้น โดยกำหนดจำนวนใหม่ที่จากเดิมต้องใช้เสียง สส. สว. หรือ สส.+สว. อย่างน้อยหนึ่งในสิบเป็นหนึ่งในห้าแทน

ข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ให้สามารถเสนอและแก้ได้ง่ายขึ้นนี้จะทำให้ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยยังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะสามารถใช้วิธีการตามข้อเสนอนี้แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่เป็นปัญหาไปได้พลางก่อน โดยไม่ติดอุปสรรคของสว. เมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วก็จะต้องไปใช้วิธีการตามที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่บัญญัติเอาไว้

เลือกตั้ง สสร. แบ่งเขตล้วน vs. ระบบผสม

สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ สสร. คือกลุ่มบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ในการร่างรัฐธรรมนูญ ในประวัติศาสตร์การเขียนรัฐธรรมนูญหลากหลายฉบับของประเทศไทย ไม่เคยมี สสร. ชุดใดที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ที่ผ่านมาเคยมีแต่การเลือกตั้งทางอ้อมหรือการแต่งตั้งจากผู้มีอำนาจเท่านั้น หากข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนผ่านเป็นกฎหมาย ประชาชนก็จะได้เลือก สสร. เพื่อไปร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในแบบที่ต้องการได้

แม้ว่าทั้งสองพรรคจะกำหนดให้ สสร. มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน 200 คน แต่ก็จะมีวิธีการเลือกตั้งที่แตกต่างกัน โดยรูปแบบของพรรคเพื่อไทยเสนอให้มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตตามจังหวัด แต่ละจังหวัดมีจำนวน สสร. มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่ามีประชากรเท่าไร เมื่อประชาชนเลือกตั้ง สสร. แล้วก็จะให้ผู้ที่ได้คะแนนเรียงลำดับมากสุดไปหาน้อยสุดที่อยู่ในจำนวนที่จังหวัดนั้นจะมี สสร. ได้ได้รับเลือกเป็น สสร. ของจังหวัดนั้น 

ส่วนรูปแบบของพรรคประชาชนแบ่งครึ่ง สสร. 200 คนออกเป็นสองระบบ 100 คนแรกจะมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตตามจังหวัดคล้ายกับพรรคเพื่อไทยเพียงแค่มีจำนวนที่น้อยกว่า ส่วนอีก 100 คนจะมาการการเลือกตั้งที่ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ผู้สมัครจะต้องลงสมัครเป็นทีม แต่ละทีมจะต้องมีผู้สมัครอย่างน้อย 20 คนแต่ไม่เกิน 100 คน ประชาชนไม่ว่าจะอยู่จังหวัดใดก็สามารถเลือก “ทีม” ที่เสนอแนวทางที่ชอบได้ และให้คำนวนคะแนนว่าประชาชนทั้งประเทศเลือกทีมนั้นเท่าไรเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ว่าทีมนั้นจะได้รับ สสร. พึงมีกี่คน โดยเมื่อคำนวนคะแนนแล้วให้ผู้สมัครในทีมที่เรียงตามลำดับภายในทีมนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกเป็น สสร. แบบทีม

ข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยจะทำให้ สสร. ทั้งหมดมีความยึดโยงกับพื้นที่อย่างเข้มข้น ในขณะที่ข้อเสนอแบบผสมของพรรคประชาชนจะทำให้ประเด็นทางสังคมต่างๆ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่เดียวจะมีบทบาทในการร่างรัฐธรรมนูญของ สสร. ได้ เช่น ประเด็นความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ สิทธิแรงงาน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสิทธิมนุษยชน หรือสิทธิชุมชน เป็นต้น

เทียบคุณสมบัติผู้สมัคร สสร. สองข้อเสนอ

ส่วนประเด็นคุณสมบัติว่าใครจะสามารถสมัครรับเลือกตั้งเป็น สสร. ได้บ้างก็มีความสอดคล้องและแตกต่างกัน เรื่องหลักเกณฑ์ “อายุขั้นต่ำ” ทั้งสองพรรคกำหนดไว้อย่างผ่อนคลาย โดยกำหนดไว้ว่าจะต้องมีอายุ 18 ปีในวันเลือกตั้ง สสร. ซึ่งแตกต่างจากคุณสมบัติของ สส. ที่กำหนดไว้ที่ 25 ปี

แต่นอกจากเป็นคนสัญชาติไทยและมีอายุขั้นต่ำ 18 ปีแล้ว สำหรับ สสร. แบบแบ่งเขตตามจังหวัดของทั้งสองพรรคยังต้องมีความยึดโยงกับพื้นที่ โดยข้อเสนอพรรคเพื่อไทยระบุให้ ผู้สมัครในแบบแบ่งเขตตามจังหวัดจะต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

  • มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครเป็น สสร. ไม่น้อยกว่าห้าปี นับถึงวันที่สมัคร
  • เกิดในจังหวัดนั้น
  • เคยศึกษาอยู่ในจังหวัดนั้นไม่น้อยกว่าห้าปีการศึกษา
  • เคยรับราชการปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ ติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปี
  • มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครเป็น สสร. ติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปี

ส่วนของพรรคประชาชนแม้ว่าจะคล้ายกันแต่ก็กำหนดจำนวนปีที่มีความยึดโยงกับพื้นที่นั้นไว้น้อยกว่า ดังนี้

  • มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครติดต่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปีจนถึงวันสมัคร
  • อาศัย ทำงาน หรือเรียน ในเขตเลือกตั้งนั้นติดต่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับถึงวันเลือกตั้ง สสร.
  • เกิดในจังหวัดที่สมัคร
  • เคยเรียนอยู่ในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามปีการศึกษา
  • เคยรับราชการหรือปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามปี
  • เคยมีชื่ออยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามปี

ส่วน สสร. ที่สมัครเป็นทีมโดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้งของพรรคประชาชนไม่ได้กำหนดเงื่อนไขอื่นไว้แต่อย่างใด เพียงแค่มีสัญชาติไทยและอายุครบ 18 ปีก็สามารถเข้าร่วมทีมลงสมัครได้

นับถอยหลังไทม์ไลน์การทำงานของ สสร.

ข้อเสนอเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนระบุวิธีการทำงานและระยะเวลาที่ สสร. จะต้องยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จเอาไว้ พรรคเพื่อไทยกำหนดระยะเวลาที่สั้นกว่าคือ 180 วัน ในขณะที่พรรคประชาชนกำหนดเอาไว้ที่ 360 วัน แต่นอกจากเรื่องระยะเวลาที่ต่างกันหกเดือนแล้ว ก็ยังมีประเด็นอื่นที่แตกต่างกันอย่างมีความสำคัญด้วย เช่น เมื่อ สสร. ร่างเสร็จแล้วจะต้องทำอย่างไรต่อไป หรือ การตั้งคณะกรรมาธิการยกร่าง

เมื่อข้อเสนอแก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มี สสร. ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ภายใน 60 วันนับแต่นั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องจัดการรับสมัครและเลือกตั้ง สสร. ให้แล้วเสร็จ และเมื่อ กกต. ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง สสร. แล้ว สสร.จะสามารถเริ่มประชุมนัดแรกได้ โดยข้อเสนอพรรคก้าวไกลระบุให้ สสร. สามารถเริ่มประชุมครั้งแรกได้ไม่ช้ากว่า 15 วันนับแต่ที่มีประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง สสร. ในขณะที่พรรคเพื่อไทยกำหนดไว้ที่ 30 วัน

การประชุมนัดแรกนี้จะเป็นการเริ่มนับเวลาถอยหลังเพื่อไปสู่กรอบเวลาตามที่กำหนดไว้ของทั้งสองข้อเสนอ 

ภายใน 180 หรือ 360 วันนี้ สสร. จะต้องเดินหน้ารับฟังความเห็นจากภาคประชาชนในภาคส่วนต่างๆ รายงานความคืบหน้าในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ และยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้แล้วเสร็จ สำหรับวิธีการลงมือร่างนั้นจะมอบภาระให้มี “กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ” หรือที่เรียกว่า กรธ. รับภาระรับผิดชอบหลักในการทำหน้าที่ยกร่างทั้งฉบับ เมื่อเสร็จแล้วจะนำร่างส่งให้ สสร. 200 คนพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง 

แต่ประเด็นว่าหาก สสร. ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จไม่ทันระยะเวลาที่กำหนดไว้จะเป็นอย่างไรต่อไป ในข้อเสนอของพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทยระบุเหมือนกันว่าหาก สสร. ร่างเสร็จไม่ทันกำหนด สสร. จะพ้นจากตำแหน่งทั้งชุดทันทีและจะต้องมีการเลือกตั้ง สสร.ชุดใหม่ หากรัฐสภาเห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีก

กรธ. พรรคประชาชนตั้งคนนอกได้ 1 ใน 3

ข้อเสนอพรรคประชาชนระบุให้ กรธ. นั้น จะต้องมีจำนวนอย่างน้อย 45 คน แต่ในจำนวนนั้นจะล็อคที่นั่งไว้ให้ สสร. จากการเลือกตั้งอย่างน้อยสองในสาม ส่วนที่เหลืออีกหนึ่งในสามจะเป็นใครก็ได้ที่ สสร. ร่วมกันเห็นชอบแต่งตั้งให้เข้ามาทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจเป็นพื้นที่ของนักวิชาการหรือผู้มีความรู้ด้านเทคนิคในการยกร่างกฎหมาย เท่ากับว่าหากมีจำนวน กรธ. 45 คน จะต้องมี สสร. อย่างน้อย 30 คนที่เป็น สสร. ส่วนอีก 15 คนจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ในด้านต่างๆ ตามที่ สสร. เห็นควรแต่งตั้งก็ได้

กรธ. พรรคเพื่อไทย ทำเนียบ-สส.-สว.ล็อคได้ครึ่งหนึ่ง

ส่วนข้อเสนอพรรคเพื่อไทยก็มีการระบุให้ สสร. สามารถมีคนนอกได้เช่นกัน แต่คนนอกในฉบับของพรรคเพื่อไทยก็จะไม่ได้เป็นคนที่ไกลห่างออกไปมากนัก โดยกำหนดไว้ว่า กรธ. จะมี 47 คน ประกอบไปด้วย สสร.จากการเลือกตั้ง 24 คน ส่วนอีก 23 คนจะมาจากผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆที่กลุ่มก้อนทางการเมืองต่างเสนอชื่อให้ สสร. แต่งตั้ง กลุ่มก้อนการเมืองที่สามารถเสนอชื่อ สสร.ได้ มีดังนี้ 

  • สส. ตามโควต้าพรรคการเมืองเสนอได้ 12 คน 
  • สว. เสนอได้ 5 คน 
  • คณะรัฐมนตรีเสนอได้ 6 คน 

แต่ความเคร่งครัดของข้อเสนอในรายละเอียดของการร่างรัฐธรรมนูญยังไม่หยุดลงแค่นี้ ข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยยังระบุไว้ในมาตรา 256/9 วรรคห้า ว่าการร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะไม่สามารถแก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ได้ หากรัฐสภาวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญเป็นการเข้าข่ายมาตราในหมวดดังกล่าว ร่างรัฐธรรมนูญนั้นจะมีสถานะตกไปทันที และ สสร. จะต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งชุดเลยอีกด้วย 

เท่ากับว่าหน้าตาของรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับเพื่อไทยจะมีความใหม่ตั้งแต่หมวด 3 เป็นต้นไปส่วนหมวด 1 และหมวด 2 จะยังคงเก่าอยู่และต้องใช้แบบเดิมตามรัฐธรรมนูญ 2560

สสร.ร่างเสร็จแล้ว ส่งไม้ต่อไปที่รัฐสภาก่อนเข้าคูหาประชามติ

เมื่อหน้าที่ในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของ สสร. เสร็จสิ้นจนมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาว่าจะเห็นชอบให้ใช้รัฐธรรมนูญตามนี้หรืออไม่ ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญ เพราะข้อเสนอของทั้งสองพรรคระบุไว้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงว่ารัฐสภาจะมีบทบาทและอำนาจมากแค่ไหนในกระบวนการนี้

ข้อเสนอพรรคประชาชน รัฐสภาทำได้แค่อภิปราย คำตอบสุดท้ายอยู่ที่ประชาชน

เมื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับ สสร. ถูกเสนอมายังรัฐสภา ข้อเสนอพรรคประชาชนกำหนดให้รัฐสภาจะมีหน้าที่เพียงแค่อภิปรายแสดงความเห็นเท่านั้น ไม่มีอำนาจในการลงมติปัดตกหรือเสนอแก้ไขแต่อย่างใด โดยจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วันนับแต่ที่ สสร. ได้เสนอร่างมายังรัฐสภา พอเสร็จสิ้นการอภิปรายแล้วจะต้องส่งต่อไปยัง กกต. เพื่อจัดทำประชามติให้ประชาชนได้ลงประชามติให้ความเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กระบวนการนี้รัฐสภาจะมีบทบาทช่วยให้ประชาชนได้เห็นเนื้อหา รายละเอียดและมุมมองของรัฐสภาที่มีต่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ 

ข้อเสนอพรรคเพื่อไทย รัฐสภาต้องเห็นชอบ – สสร. ลงมติ 2 ใน 3 ยืนยันร่างได้

ส่วนข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยระบุไว้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยกำหนดให้รัฐสภามีอำนาจในการพิจารณาลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงข้างมากกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ สสร. เมื่อรัฐสภาเห็นชอบแล้วจึงค่อยส่งต่อไปยัง กกต. เพื่อจัดทำประชามติ

แต่หากรัฐสภาไม่เห็นชอบด้วย จะต้องส่งร่างคืนกลับไปยัง สสร. เพื่อให้ สสร. ตัดสินใจว่าจะแก้ไขตามมติรัฐสภาหรือไม่ หรือจะลงมติยืนยันตามร่างของ สสร. ด้วยคะแนนเสียงสองในสามหรือ สสร. อย่างน้อย 134 เสียง หาก สสร. ยืนยันร่างของตนแล้วสามารถส่งกลับไปยังรัฐสภาได้ โดยรัฐสภาจะทำได้เพียงแค่ให้ความเห็นเท่านั้นและส่งต่อไปยัง กกต. เป็นการต่อไป

หาก สสร. ไม่ลงมติยืนยันภายในกำหนดเวลา 30 วัน หรือไม่ได้เสียงถึง 134 เสียง ให้ถือว่าร่างนั้นเป็นอันตกไป แต่ สสร.ชุดนั้นจะยังมีสมาชิกภาพอยู่ดังเดิม และจะต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จภายใน 90 วันนับแต่ที่พ้นกำหนดเวลานั้น

เท่ากับว่าถ้า สสร. ไม่แก้ไขตามที่รัฐสภาบอกให้แก้ก็จะต้องใช้เสียง 134 เสียงยืนยันกลับไป และรัฐสภาจะมีหน้าที่เพียงให้ความเห็นเท่านั้น รัฐสภาไม่ได้มีอำนาจเหนือกว่าในการ “คว่ำ” ร่างรัฐธรรมนูญของ สสร.

อย่างไรก็ดี ตามข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย เมื่อกระบวนการในรัฐสภาเสร็จสิ้น-ประชาชนลงประชามติว่าเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญและประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่แล้วก็ถือว่าบทบาทของ สสร. เป็นอันจบลง แต่ในข้อเสนอของพรรคประชาชนระบุให้ สสร. ยังมีภารกิจต่อในการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้กำหนดไว้อีกด้วย เมื่อร่างเสร็จสิ้นแล้วต้องเสนอต่อรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ แต่หากเสร็จไม่ทัน 180 วัน ก็จะเป็นหน้าที่ของรัฐสภาแทน

เสร็จกระบวนการรัฐสภา ประชาชนลงประชามติครั้งที่สอง

หลังผ่านกระบวนการในรัฐสภาแล้ว กระบวนการถัดไปคือการจัดทำประชามติครั้งที่สองโดยเมื่อ กกต. ได้รับร่างจากรัฐสภาแล้วจะต้องจัดการประชามติไม่เร็วกว่า 90 และไม่ช้ากว่า 120 วัน โดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนจะต้องไปใช้สิทธิของตนในกระบวนการขั้นสุดท้ายนี้ และเมื่อลงประชามติเสร็จสิ้นแล้ว กกต. จะต้องประกาศผลให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน

หากผลประชามติระบุออกมาว่าประชาชนให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็สามารถนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯให้ทรงโปรดเกล้าประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้เลย โดยข้อเสนอของพรรคประชาชนระบุให้ ประธาน สสร. เป็นผู้นำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ

ร่างเพื่อไทยใช้กระบวนการคล้าย พ.ร.บ. พระมหากษัตริย์ทรงวีโต้ได้

ในขณะที่ร่างฉบับพรรคเพื่อไทยระบุให้ใช้วิธีการตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 81 วรรคสอง ละมาตรา 146 ซึ่งจะเป็นกระบวนการเดียวกับการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่นายกรัฐมนตรีจะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ เท่ากับว่าตามข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยนี้ หากพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้น 90 วันแล้วไม่ได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาหารือใหม่ หากรัฐสภามีมติยืนยันด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าอีกครั้งหนึ่ง หากพระมหากษัตริย์ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยภายใน 30 วัน และนายกรัฐมนตรีสามารถนำร่างขึ้นประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสมือนว่าพระมหากษัตริย์ได้ลงพระปรมาภิไธยแล้ว

ในกรณีที่ผลการลงประชามติชี้ชัดว่าประชาชนไม่ให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญนั้นจะมีสถานะเป็นอันตกไป และจะส่งผลให้ สสร. สิ้นสุดลงทันที รัฐสภาจะต้องเห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้ง ซึ่งจะเริ่มใหม่ตั้งแต่การเลือกตั้ง สสร. 

หากประชามติไม่ผ่าน รัฐสภาลงมติให้เริ่มเลือกตั้งสสร. ชุดใหม่ได้อีก

ในข้อเสนอพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนระบุสถานการณ์ที่จะส่งผลให้ สสร. ต้องสิ้นสุดลงโดยที่ยังร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่เสร็จสิ้น ได้แก่ ผลการทำประชามติชี้ชัดว่าประชาชนส่วนใหญ่ลงมติไม่เห็นชอบ หรือสสร. จัดทำร่างรัฐธรรมนูญไม่เสร็จในระยะเวลาที่กำหนด หรือรัฐสภาวินิจฉัยว่าเป็นการเข้าข่ายการแก้ไขหมวดต้องห้ามตามข้อเสนอพรรคเพื่อไทย แต่กรณีเหล่านี้ไม่ได้แปลว่าเมื่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่สำเร็จแล้ว จะต้องอยู่กับรัฐธรรมนูญ 2560 ตลอดไป ร่างทั้งสองฉบับออกแบบให้รัฐสภาในขณะนั้นสามารถลงมติเห็นชอบ เพื่อจะให้ดำเนินกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นอีกครั้งได้ โดยเริ่มใหม่ตั้งแต่เลือกตั้ง สสร. ซึ่ง สสร. ที่จะถูกเลือกเข้ามาใหม่นี้บุคคลเดิมจะเป็นซ้ำอีกไม่ได้ 

ในกระบวนการของรัฐสภานี้ ข้อเสนอพรรคประชาชน ระบุให้คณะรัฐมนตรี หรือ สส. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนเท่าที่มีอยู่ของ สส. หรือ สมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของสส.+สว. เท่าที่มีอยู่  (สส. อย่างน้อย 50 เสียง หรือ สส.+สว.อย่างน้อย 70 เสียง) มีสิทธิเสนอญัตติต่อรัฐสภาให้เริ่มกระบวนการใหม่ได้

ในขณะที่ข้อเสนอพรรคเพื่อไทยกำหนดไว้คล้ายกันแต่จะต้องใช้จำนวน สส. หรือ สมาชิกรัฐสภา ที่มากขึ้น โดยกำหนดจำนวนไว้ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้า (สส. อย่างน้อย 100 เสียง หรือ สส.+สว. อย่างน้อย 140 เสียง) แทน

การลงมติเพื่อให้ความเห็นชอบในญัตตินี้ ข้อเสนอพรรคเพื่อไทยกำหนดให้มีเสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรืออย่างน้อย 351 เสียง ส่วนในข้อเสนอของพรรคประชาชนกำหนดเงื่อนไขเพิ่มให้ในจำนวนที่เห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งนี้จะต้องมี สส. เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวน สส. เท่าที่มีอยู่ หรือ สส. อย่างน้อย 334 เสียง ทั้งนี้ หากรัฐสภาลงมติไม่เห็นชอบกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ญัตตินี้จะเสนออีกไม่ได้จนกว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ประชามติสองครั้งอาจได้ใช้รัฐธรรมนูญใหม่ทันเลือกตั้ง 70

โดยสรุปแล้วกระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ตามข้อเสนอของทั้งสองพรรคจะทำประชามติเพียงสองครั้ง โดยครั้งแรกต้องทำเพราะรัฐธรรมนูญ 256 (8) บังคับไว้อยู่แล้วว่าหากมีการแก้ไขวิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องมีการทำประชามติเสียก่อน

ซึ่งในข้อเสนอของทั้งสองพรรคการเมืองระบุไว้ในมาตรา 256 ว่าจะให้มีหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมา ซึ่งหากประชาชนลงประชามติให้ความเห็นชอบการกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ด้วยหลักการในข้อเสนอของทั้งสองพรรค ก็จะเป็นการเปิดทางให้ประเทศไทยได้มีการเลือกตั้ง สสร. เป็นครั้งแรกเพื่อมาทำหน้าที่ในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ 

สสร. ที่ถูกเลือกตั้งเข้ามาใหม่นี้จะต้องทำหน้าที่ในการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกกลุ่มทุกภาคส่วน เพื่อรวบรวมทุกความต้องการว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ควรจะมีเนื้อหาหรือหน้าตาอย่างไร จะจำกัดหรือคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในประเด็นใดมากแค่ไหน เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการในรัฐสภาแล้ว ผู้มีอำนาจสูงสุดกลุ่มสุดท้ายที่จะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญใหม่คือประชาชนที่จะต้องไปออกเสียงลงประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านกระบวนการร่างมา หากประชาชนให้ความเห็นชอบกับร่างแล้ว ก็สามารถนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญใหม่ ปิดฉากรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจของคสช.

เมื่อรวมการทำประชามติทั้งสองครั้งแล้วก็มีโอกาสที่กระบวนการจะเสร็จได้ “ทัน” ที่เราจะได้รัฐธรรมนูญใหม่ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2570 ไม่ว่าจะมีหน้าตาหรือเนื้อหาอย่างไรกับ ซึ่งจะเป็นการเริ่มบทประชาธิปไตยใหม่ของประเทศไทย

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage