27 มกราคม 2568 ณ ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร (LT1) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดเวทีรณรงค์สาธารณะเชิญชวนเสนอกฎหมาย “ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ด้านที่ดินและป่าไม้ พ.ศ. …” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเวทีรณรงค์มากมายตั้งแต่ข้าราชการผู้เกี่ยวข้อง อาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ ไปจนถึงกลุ่มผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมของภาครัฐ ซึ่งภายในงานมีการเปิดตัวร่างกฎหมายนิรโทษกรรม และเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากความไม่เป็นธรรมของการใช้กฎหมายเกี่ยวกับที่ดินและป่าไม้
“ป่ารุกคน ไม่ใช่คนรุกป่า” ทำความเข้าใจกระบวนการนิรโทษกรรม กับกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเริ่มถึงต้นตอปัญหาที่เกิดขึ้น มาจากการที่รัฐบาลขีดเส้นแบ่งแผนที่ ประกาศเขตป่าสงวน หรืออุทยานแห่งชาติ โดยขาดการพิจารณาว่าพื้นที่ที่ถูกประกาศนั้นเป็นพื้นที่ที่มีประชาชนอยู่อาศัยและทำมาหากินมาก่อน ดังนั้นการประกาศใช้กฎหมายเหล่านี้จึงทำให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ของตัวเองอยู่เดิมกลายเป็นผู้บุกรุกป่าในที่ของตัวเอง ดังนั้นจึงต้องสร้างความเข้าใจใหม่ว่าคนไม่ได้บุกรุกที่ป่า แต่เขตป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติต่างหากที่มาบุกรุกประชาชน
แม้ว่าจะมีมติคณะรัฐมนตรีมาตั้งแต่ปี 2541 ว่าหากเกิดกรณีพิพาทเกี่ยวกับที่ดินที่ประชาชนทำมาหากินมาก่อน ห้ามจับกุม แต่เวลาผ่านมากว่า 20 ปีแล้ว รัฐบาลยังไม่สามารถทำแนวเขตให้ชัดเจนขึ้นมาได้ว่าพื้นที่ไหนที่ประชาชนอยู่มาก่อน โดยเฉพาะในยุครัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้มาจากประชาชน การดำเนินนโยบายจึงเน้นไปที่การรับฟังชนชั้นนำใกล้ชิดอย่างนายทุน และข้าราชการระดับสูง ซึ่งขาดความเข้าใจในประชาชนที่เข้าไม่ถึงอำนาจรัฐ
หนทางสู่ความสำเร็จ ชูเรื่องความเป็นธรรม สร้างความเข้าใจให้สังคม “ป่ารุกคน ไม่ใช่คนรุกป่า”
อ.ปริญญา กล่าวว่าการทำให้เรื่องนี้สำเร็จเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย หากต้องการให้ร่างกฎหมายฉบับนี้สำเร็จ ทุกฝ่ายต้องเห็นพ้องต้องกัน ต้องพูดให้ชัดเจนว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ได้นิรโทษกรรมให้คนบุกรุกป่าพ้นผิดทั้งหมด แต่จะนิรโทษกรรมเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่มาก่อนประกาศป่าสงวน ประกาศเขตอุทยาน รวมไปถึงลูกหลานเจ้าของเดิมด้วย เนื่องจากเป็นการสืบมรดก ตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ ในขณะที่คนมาซื้อต่อ เป็นเจ้าของทีหลัง ยังคงเป็นประเด็นต่อว่าควรจะครอบคลุมถึงบุคคลเหล่านี้หรือไม่ เพราะหากมีการซื้อที่ดินไปทำประโยชน์อย่างอื่นต่อ เช่น เปิดรีสอร์ท ก็ชัดเจนว่าไม่ใช่เพื่อทำกิน สิทธิการนิรโทษกรรมก็ไม่ควรครอบคลุมไปถึงบุคคลเหล่านั้น
นอกจากนี้ การทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากสภา ทำให้พรรคการเมืองใหญ่ 2-3 พรรค เห็นพ้องต้องกันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องความเป็นธรรม ที่จะสามารถแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนได้ ทั้งนี้ ต้องไปลุ้น สว.อีกว่าจะผ่านหรือไม่
“หากทำให้สังคมเห็นได้ว่า เรามิได้นิรโทษกรรมให้กับคนบุกรุกป่า บุกรุกอุทยาน แต่นิรโทษกรรมให้กับคนที่ถูกป่าบุกรุก ถูกอุทยาบุกรุก การประกาศเขตมาทีหลังประชาชนที่มาอยู่ หากสื่อสารตรงนี้ออกไปให้ชัด ผมเชื่อว่าประชาชนจะมาร่วมสนับสนุน” อ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล กล่าว
ประชาชนเข้าไม่ถึงอำนาจรัฐ ต้นตอปัญหาป่ารุกคน
พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มาบรรยายพิเศษในฐานะตัวแทนพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม โดยอธิบายภาพรวมถึงปัญหาข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินในประเทศว่า แนวคิดของเรื่องที่ดินของประเทศไทยคือ ที่ดินทั้งหมดเป็นของรัฐ และประชาชนต้องเป็นฝ่ายมาแจ้งการครอบครองที่ดินต่อรัฐ รัฐจึงจะออกเอกสารสิทธิให้ ซึ่งทำให้มีประชาชนตกหล่น ไม่ได้มาแจ้งสิทธิการครอบครองแก่รัฐแม้ว่าตัวเองจะครอบครองที่ดินมานานแล้วก็ตาม ด้วยปัญหาหลายอย่าง เช่น ไม่ได้รับข่าวสารเนื่องจากอยู่ในถิ่นทุรกันดาร, ไม่รู้ความสำคัญของการแจ้งการครอบครอง เป็นต้น ดังนั้นเมื่อรัฐทำแผนที่สำหรับกฎหมายป่าไม้ที่ดินขึ้น ชาวบ้านก็ไม่สามารถแจ้งการคัดค้านได้ เนื่องจากไม่รู้ว่าที่ของตนอยู่หรือไม่อยู่ในแนวเขตประกาศ ดูแผนที่ไม่ออก แต่รัฐก็ขีดเส้นแบ่งเรียบร้อยแล้ว ซึ่งต่อมาแนวเขตเหล่านี้ก็ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกับชาวบ้านด้วย
พ.ต.ท.ประวุธให้ข้อมูลว่า การนิรโทษกรรมจำเป็นต้องเกิดขึ้น และไม่ควรจำกัดเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบหลังคำสั่ง คสช. เมื่อปี 2557 เท่านั้น แต่ควรไปนิรโทษกรรมให้ครอบคลุมไปถึงปี 2497 เนื่องจากมีชาวบ้านได้รับผลกระทบตั้งแต่ช่วงเวลาดังกล่าว ดังนั้นจึงมีความพยายามยกร่างกฎหมายนิรโทษกรรมขึ้นมาใหม่ที่ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 จนถึงวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ โดยกลุ่มเป้าหมายสำหรับการนิรโทษกรรมนั้น ทางหน่วยงานมองว่า คนที่อยู่มาก่อนควรได้รับการนิรโทษกรรม และควรได้สิทธิในที่ดินคืนด้วย แม้ว่าจะครอบครองเนื้อที่เท่าไรก็ตาม หากสามารถพิสูจน์ได้ ซึ่งการพิสูจน์นั้นไม่ใช่เรื่องยาก เพียงใช้ภาพถ่ายทางอากาศในอดีต ก็สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการใช้ประโยชน์มาก่อนหรือไม่ ส่วนกลุ่มที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานภายหลังการประกาศเขตอุทยานฯ เขตป่าสงวนฯ นั้น เป็นกรณีที่ค่อนข้างมีความยาก เนื่องจากกระทำความผิดจริง แต่ก็กระทำไปเพราะความยากจน ไม่มีที่ดินทำกิน จนต้องมาอยู่ในที่ดินที่เป็นของรัฐ ซึ่งส่วนนี้ภาคประชาชสังคมก็ขอว่าควรจะนำมาใส่ในร่างกฎหฉบับมายนี้ เป็นกลุ่มที่จะนิรโทษกรรม ล้างมลทิน แต่จะไม่ให้สิทธิในที่ดิน โดยในปัจจุบันมีการเสนอให้ยกร่างขึ้นมาใหม่ซึ่งคณะกรรมการเห็นชอบแล้วให้กระทรวงยุติธรรมรับเรื่องมายกร่างต่อไป ตอนนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ แม้จะมีอุปสรรคโดยเฉพาะแรงคัดค้านจากหน่วยงานในพืันที่ ซึ่งจำเป็นต้องรับฟังความเห็นจากหลายภาคส่วน เพื่อหาจุดที่เหมาะสมที่จะไปด้วยกันได้
“…การล้างมลทิน ต้องทำไปในคราวเดียวกัน เพื่อไม่ให้มีประวัติติดตัว บุคคลที่เข้ามาครอบครองที่ดินนั้นไม่ใช่อาชญากรร้ายแรง ไม่ใช่เป็นการฆ่าคนตาย ไปทำงานอะไรก็ติดขัดไปหมด มีประวัติอาชญากร จึงต้องล้างมลทินไปด้วย…”
ฟังเสียงจากชาวบ้าน ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายของรัฐ
ชวโรจน์ เปี้ยทา (ชุมชนห้วยน้ำหิน ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ)
ให้ข้อมูลว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ที่ผ่านมา ทำให้ชาวบ้าน 38 ครอบครัวเกิดความเดือดร้อนมาก ไม่มีที่ดินทำกิน ขาดโอกาสการประกอบอาชีพ ไม่มีรายได้ หนี้สินเพิ่มขึ้นจากที่มีมากอยู่แล้ว คุณภาพชีวิตไม่ดี ส่งผลให้เกษตรกรดังกล่าวมีหนี้สินการกู้เงินจาก ธกส. เพื่อลงทุนเตรียมทำการเกษตรแต่ไม่มีทำในปีที่ผ่านมา อีกทั้งตลอดระยะเวลา 3 ปี ต้องรับจ้างหากินไปแต่ละวัน บ้างก็ต้องจากครอบครัวเพื่อเร่ขายของต่างจังหวัด ซึ่งรวมหนี้สินทั้งหมดแล้วเป็นจำนวน 18,035,378 บาท เป็นเหตุทำให้ชาวบ้านไม่สามารถนำเงินมาชำระหนี้ ธกส. ได้ตามระยะเวลาที่กำหนด
อาซ่อ แช่เฉิ่ง (ชุมชนรินหลวง ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ)
ได้รับผลกระทบจากนโยบายการแปลงปลูกฟื้นฟูระบบนิเวศต้นน้ำปี้ พ.ศ.2561 จำนวน 300 ไร่และ โครงการฟื้นฟูสภาพป่าพื้นที่อำเภอไชยปราการ และพื้นที่ข้างเคียง พื้นที่ที่ 2 (ห้วยจะค่าน) แปลงปลูกป่าฟื้นฟูป่าอนุรักษ์ป่า ต้นน้ำ (ปลูกป่าทั่วไป) จำนวน 180 ไร่ แปลงที่ 3 จำนวน 80 ไร่แปลงที่ 6 จำนวน 100 ไร่ ซึ่งทำให้ชาวบ้านสูญเสียโอกาสในการเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดิน เกิดภาระหนี้สินจากการลงทุนในพื้นที่ทางการเกษตร, มีความพยายามใช้ระเบียบ คำสั่งทางปกครอง ขับไล่ กีดกันไม่ให้ชุมชนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ และดำเนินคดีเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา (ทั้งที่กระบวนการผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาอยู่ระหว่างการพิสูจน์สิทธิ)
กฤษณา ศรีสัมพันธ์ (ตัวแทนชุมชนบ้านโอด จ.อุบลราชธานี)
ได้รับผลกระทบจากคดีนโยบายทวงคืนผืนป่า (คดีปักป้าย,คดีแห้ง) ในพื้นที่ตำบลท่าเมือง อำเภอดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี 2 ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ คือบ้านโอด 52 ราย และบ้านนาดี 73 ราย ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ มีบ้านจำนวน 5 หลังคาที่ถูกกดดันให้รื้อถอน, สูญเสียโอกาสในการเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินเกิดภาระหนี้สินจากการลงทุนในพื้นที่ทางการเกษตร, มีรายได้น้อยลงและมีหนี้สินเพิ่มขึ้น และได้รับผลกระทบทางจิตใจเนื่องจากถูกสังคมและภายนอกมองอย่างเป็นผู้ร้าย ทำให้สูญเสียความศรัทธาในตนเอง
ยุพิน งามยิ่ง (ตัวแทนเครือข่ายกะเหรี่ยงตะวันตก)
ให้ข้อมูลว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 3 ราย ศาลฎีกา มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยปรับคนละ 5,000 บาท ในคดีนี้จำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์คดีสำหรับคดีจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาชั้นต้นที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 2 และ 3 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร (ตัวแทนชุมชนบางกลอย จ.เพชรบุรี)
อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานแจ้งความดำเนินคดี กับชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย 28 คน และเยาวชน 2 รายเมื่อเดือน มีนาคม 2564 จากการที่ชาวบ้าน 37 ครอบครัวลุกขึ้นต่อสู้เพื่อกลับขึ้นไปทำกินที่บางกลอยบนใจแผ่นดิน ซึ่งเป็นถิ่นฐานดั้งเดิมก่อนการถูกสั่งให้อพยพลงมา
ไพรสันติ จุ้มอังวะ (ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน ภาคอีสาน)
ได้รับผลกระทบกรณีปัญหาที่ดินชุมชนท่าเว่อ ต.ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ ถูกดำเนินคดีไม่ระบุตัว (คดีแห้ง) จำนวน 62 รายในพื้นที่โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ FBT 40 จำนวน 810 ไร่ เช่น แปลงปลูกฟื้นฟูป่าตามธรรมชาติ, แปลงปลูก ปี พ.ศ. 2538 (สำนักงานป่าไม้เขตนครราชสีมา), แปลงปลูก ปี พ.ศ. 2539 (สำนักงานป่าไม้เขตนครราชสีมา), แปลงปลูก ปี พ.ศ. 2539 (บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เป็นต้น
“ชุมชนท่าเว่ออยู่กันมาตั้งแต่ปี 2505-2510 แล้วครับ แล้วพอปี 2532-2533 มีการขับไล่ชาวบ้านรอบแรก มีไล่รอบสอง ขยับลงมาเรื่อย ๆ จนสุดท้ายคือ มันหมดทางจะไปแล้ว ทั้ง ๆ ที่เขาบอกว่าเป็นแปลงปลูกป่า แต่ก็ไม่มีการปลูกป่าเลยในเขตนั้น…”
ล่อง เพชรสุด ตัวแทนเครือข่ายเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน
“คนที่อยู่ในชุมชนก็พยายามดูแลรักษาป่า เพื่ออยู่กับชุมชนนั้นให้ได้ เพราะมันเป็นพื้นที่ดั้งเดิมที่เราทำกินมาก่อนที่ปู่ย่าตายายเราทำกินอยู่ แล้วเราก็คาดหวังว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะแก้ไขปัญหาให้พวกเราได้ เพราะทางอื่นเราก็สู้มาหมดแล้ว ยืนยันความเป็นตัวตนเราก็ยืนยันแล้วกับหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานในพื้นที่ที่จริงเขาก็รู้ว่าชุมชนอยู่มาก่อน แต่แนวทางแก้ไขปัญหารัฐก็คือ คิดว่าเราอยู่กับป่า ต้องเอาเราออกอย่างเดียว ก็ไม่ได้คิดจะแก้ไขปัญหาของคนที่อยู่กับป่าจริง ๆ”
“ที่จริงสังคมน่าจะเห็นใจคนที่อยู่กับป่านะ ผมคิดว่าถ้าให้หน่วยงานรัฐดูแลอย่างเดียว ไม่รู้จะมีป่าหลงเหลือเหมือนทุกวันนี้ไหม ทำไมไม่ให้คนที่อยู่กับป่าอย่างพวกเรา เหมือนผมเองผมก็เกิดในชุมชนบ้านตากด้วย ดูแลป่ามาตั้งเป็น 100 ปี ป่ายังอุดมสมบูรณ์ ผมว่าใครที่ต้องการจะขึ้นไปดูว่า เราดูแลป่าจริงไหมให้ขึ้นไปดูชุมชนบ้านตากเลย เพราะเส้นทางจะมีป่าตลอดก่อนถึงชุมชน ถ้าไม่มีชุมชนคงไม่มีป่า…”
อัศนีย์ รอดผล (ตัวแทนชุมชนชุมชนน้ำแดง จ.สุราษฎร์ธานี)
ถูกบริษัทเอกชนฟ้องร้องในข้อหา บุกรุกเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือบางส่วน หรือกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข, ทำให้เสียทรัพย์ และ กระทำการเป็นอั้งยี่ ช่องโจร ศาลอุทธรณ์จังหวัดเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานีสั่งจำคุกสมาชิกชุมชนน้ำแดงพัฒนา 7 ราย 4 ปี ในข้อหาบุกรุกที่ดินสาธารณะประโยชน์เอกชนปล่อยทิ้งร้าง (NPL)
“…กำไลข้อเท้า EM ออกมาช่วงนั้นพอดี สมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้นี่แหละค่ะ ได้ใช้เป็นกลุ่มแรก แล้วก็ถามว่ามันกระทบกับวิถีชีวิตของชาวบ้านไหม ชาวบ้านต้องอยู่ ต้องลงน้ำหาปลา พวกเราไม่มีไฟฟ้านะคะ แล้วเวลาแบตจะหมด ทีนี้ต้องไปหาชาร์จข้างนอก ปกติชาวบ้านก็ไม่ชอบพวกเราอยู่แล้ว กลัว (กำไล EM) จะระเบิดใส่บ้านเขา…”
นิภาภรณ์ ปุลา (ตัวแทนเครือข่ายฮักน้ำของ จ.อุบลราชธานี)
”…มันมีการข่มขู่ ซึ่งทำให้เราต้องจำยอม ยอมรับในชะตากรรมที่ ทำไมการที่เราอยู่ในพื้นที่ของเรา ที่เราอยู่มาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ สุดท้ายต้องกลายมาเป็นผู้บุกรุก ต้องออกจากพื้นที่ ไม่รู้ว่าจะต้องไปอยู่ไหน เพราะพื้นที่ในประเทศไทยทุกตารางนิ้วมีเจ้าของทั้งนั้น แล้วจะให้เราไปอยู่ไหน สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.นี้เราก็หวังว่า อย่างน้อยคนที่บริสุทธิ์ คนที่เป็นผู้บุกเบิกจะไม่มีคดีติดตัวเป็นอาชญากรรมของประเทศนี้ในคดีป่าไม้ “
แถลงการณ์ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมกรณีการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมฯ
หลังจากงานเสวนา ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมไดัมีการอ่านแถลงหารณ์ และเชิญชวนให้ประชาชนเข้าลงชื่อเสนอกฎหมาย ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ด้านที่ดินและป่าไม้ พ.ศ. … เพื่อคืนความยุติธรรมให้แก่สังคม
“เราขอยืนยันว่าที่ผ่านมามีคนจนผู้ยากไร้ คนชายขอบ ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายป่าไม้ที่ดินของรัฐ รัฐประกาศเขตทับซ้อนที่ดินของชาวบ้าน ทั้ง ๆ ที่เราอยู่มาก่อน ทำให้เราต้องกลายเป็นผู้บุกรุกหรือฝ่าฝืนกฎหมายจนถูกดำเนินคดี โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 มีคดีจากนโยบายทวงคืนผืนป่ากว่า 48,000 คดี ส่วนใหญ่คนที่โดนก็เป็นคนจนทั้งสิ้น
วันนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรมและล้างมลทินให้กับประชาชนเหล่านี้ เพื่อคืนสิทธิในที่ดินให้กับประชาชนที่อยู่มาก่อนการประกาศเขตที่ดินของรัฐ และให้ได้รับสิทธิในการจัดสรรที่ดินของรัฐตามนโยบายและกฎหมายต่าง ๆ และขอยืนยันว่าร่างกฎหมายนี้มีเจตนาที่จะคืนความเป็นธรรมให้กับคนยากจน คนไร้ที่ดินที่ถูกกดทับโดยกฎหมายไม่น้อยกว่า 10 ล้านครัวเรือน