คุณอาจไม่เคยได้ยินชื่อของพิมชนก ใจหงษ์ หรือรู้ว่าเธอคือใครมาก่อน พิมชนก ชื่อเล่น พิม คือหญิง วัย 27 ปี ที่ทำกิจกรรมท่ามกลางความร้อนแรงทางการเมือง เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองช่วงปี 2563-2564 ในฐานะเป็นการ์ดของกลุ่ม We Volunteer หรือ “วีโว่” จนกระทั่งวันหนึ่ง เธอถูกตำรวจ หรือหน่วยงานความมั่นเรียกว่าเป็น ‘บุคคลอันตราย และบุคคลเฝ้าระวัง’
จากผู้ชุมนุม สู่ผู้จัดการชุมนุม และภายหลังพิมชนกได้กลายเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาในข้อหาแห่งยุคสมัยฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 ซึ่งความอันตราย ที่ต้องถูกเฝ้าระวังที่หน่วยความมั่นคงเรียกนี้ ก็มาจากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2565 ว่า ‘รัฐบาลส้นตีน XXก็ส้นตีน🔥🙂’ แต่สำหรับตัวพิมนั้น เธอมองว่า เธอไม่ได้เป็นบุคคลอันตราย แต่เพียงแค่หลักการของเธอ มันขัดกับเขาเท่านั้น เธอจึงกลายเป็นความอันตรายของรัฐไปได้
แต่ก่อนที่ใครจะมีอำนาจตัดสินว่า เธอเป็นบุคคลอันตรายหรือไม่ เราอยากลองให้ทำความรู้จักตัวเธอ ประสบการณ์ อุดมการณ์ และการต่อสู้คดี มาตรา 112 ของเธอ เพื่อที่จะได้รู้จริงๆ ว่า เธอเป็นบุคคลอันตรายอย่างที่รัฐมอง หรือเป็นเพียงประชาชน ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกคนหนึ่ง
พิมชนก จากคนไม่สนใจการเมือง สู่การมีส่วนร่วมทางการเมือง
พิมชนก ใจหงส์ ซึ่งอายุ 27 ปีในวันที่กำลังจะถูกศาลพิพากษาและอายุ 25 ปีในวันที่คดีเริ่มขึ้น พื้นเพบ้านเกิดเป็นคนสุพรรณบุรี เธอบอกกับเราว่า ก่อนหน้านี้ เธอไม่เคยอินการเมืองเลย และไม่คิดว่ามันเกี่ยวข้องกับตัวเอง “พิมรู้สึกเฉยๆ ไม่ได้รู้สึกว่าการเมืองมีผลกระทบกับเรา เพราะเราอยู่ต่างจังหวัด แล้วไม่ได้มีความใส่ใจ แต่มาใส่ใจเพราะเห็นจากม็อบ ที่มีเด็กบาดเจ็บ เราเลยเริ่มรู้สึกว่า ทำไมเขาทำแรงจัง” พิมชนกยังเสริมว่า จากพื้นเพที่บ้านสนใจการเมือง และช่วงนั้นเสพสื่อทุกวัน เธอจึงค่อยๆ ซึมซับจากการด่า และวิจารณ์การเมืองของยาย จนมองเห็นปัญหา และเริ่มมาเข้าร่วมชุมนุม
“พอเรามาร่วมปุ๊ป เรารู้สึกว่าเราไม่ได้อยากเป็นแค่คนที่มาร่วม เราอยากเป็นมากกว่านั้น ก็เลยได้มาเป็นการ์ดของ WEVO โดยที่ตอนนั้นเราลาออกจากงานเลย เพราะเรารู้สึกว่าไม่มีเวลาให้ตรงนี้” เธอเล่าว่า เธอเคยเป็นพนักงานบริษัทเกี่ยวกับโทรศัพท์ แต่ที่ตัดสินใจลาออกจากงานเพราะเชื่อว่า การเคลื่อนไหวในตอนนั้น จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ รวมไปถึงจากกระแสสังคมที่เธอเห็น ทำให้เธอเชื่ออย่างนั้น
“พอเข้ามา เราก็เริ่มมีเพื่อนที่เป็นนักปราศรัย เริ่มรู้จักคนเยอะมากขึ้น เพราะเราต้องติดต่อคน สนิทสนมกัน กลายเป็นว่าอยู่ในสังคมนี้เพื่อนก็ชักชวนให้ลองขึ้นเวทีปราศรัย ก็เริ่มจากเวทีเล็กๆ ก็ปราศรัยมาเรื่อยๆ เราก็มีทำงานกับเครือข่ายต่างจังหวัดด้วย พอไม่มีคนปราศรัยเราก็ต้องผันตัวเองไปเป็นคนปราศรัยบ้าง ก็ไม่ได้โดนคดีร้ายแรงอะไร แต่กลายเป็นว่ามาโดนคดีม.112 ผ่านโพสต์เฟซบุ๊ก”
“เราพยายามระวังไม่ให้เข้าข่าย ม.112 ตอนแรกๆ ก็มีแอบกังวล แต่เราก็พยายามหาจุดที่ทำได้ แต่วันนี้ผลตอบรับก็ออกมาว่า มันก็ทำได้ แต่ถ้าเขาจะฟ้อง เขาก็ฟ้อง” พิมชนกบอก
เธอเคยโดนคดีเล็กๆ น้อยๆ จากการชุมนุม แต่หลายๆ คดีก็ได้เคลียร์ไปแล้ว จนเหลือเพียงแค่ 3 คดี ซึ่งเป็น คดีมาตรา 112 แค่ 1 คดี
โดยคดีที่ถูกสั่งฟ้อง เป็นคดีจากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า ‘รัฐบาลส้นตีน XXก็ส้นตีน🔥🙂’ ซึ่งพนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่า คำว่า ‘สถาบัน’ ในข้อความนี้ หมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ และคำว่า ‘ส้นตีน’ เป็นคำบริภาษ เป็นคำด่าที่ใช้อวัยวะเบื้องต่ำในการสื่อความหมาย เมื่อนำมารวมกันย่อมแสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยในการดูหมิ่น ให้ร้าย หรือลดทอนคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียชื่อเสียง
ในขณะที่ พิมชนกก็บอกกับเราว่า ในการการสืบพยาน เธอได้ชี้แจงว่า สถาบันในที่นี้ หมายถึงสถาบันการศึกษา เนื่องจากก่อนหน้าโพสต์นี้ เธอเพิ่งแชร์เนื้อหาข่าวเกี่ยวกับสถาบันการศึกษา และการตีเด็ก “แล้วถึงเราจะพูดถึงสถาบันกษัตริย์จริงๆ เราก็ไม่ได้พูดในโพสต์ ในโพสต์เราไม่ได้ระบุว่า คือสถาบันอะไร คำว่าสถาบันมันคือองค์กรนึง ดังนั้นเราก็พยายามสู้กันที่เจตนา”
พิมชนก บุคคลอันตราย ที่ต้องเฝ้าระวัง ?
ในคดีนี้ ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ความมั่นคงยังกล่าวอ้างว่า พิมชนก เป็นบุคคลอันตราย และบุคคลสุ่มเสี่ยงเฝ้าระวัง จากการที่เธอเคยเคลื่อนไหวทางการเมือง รณรงค์เรื่องมาตรา 112 และการไม่รับปริญญากับศักดินา แต่สำหรับพิมชนกนั้น เธอกล่าวย้ำกับเราว่า “พิมไม่ใช่คนอันตรายเลย”
“แค่หลักการของพิมมันขัดกับเขา ตัวพิมจะไปฆ่าใคร มันทำไม่ได้ แต่เรื่องของพิม เราก็คิดว่ามันเป็นการแกล้ง เพราะมันไม่เข้าข่าย ม.112 จริงๆ เหมือนเขาทำอะไรเราไม่ได้ เลยมาแจ้งผ่านโพสต์”
“เรารู้สึกว่ามันเป็นการสู้กันทางความคิดนะ ความคิดเราเป็นแบบนี้ คุณเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย พอพิมไม่เห็นด้วยก็กลายเป็นว่าอันตรายแล้ว เพราะเห็นไม่ตรงกัน เราคนเดียว มันทำอะไรไม่ได้ขนาดนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่ามีเราคนเดียว เรามีเพื่อน มีสังคม คือมันอาจจะไม่ชนะหรอก แต่ก็แข็งแรงนะ ที่อาจทำให้เกิดการพูดถึง แต่มันก็ไม่ใช่ความอันตรายอยู่ดี”
“จริงๆ เวลาทำงานก็ไม่ได้คาดคิดว่าจะชนะ หรือแพ้ แต่มันก็ต้องขยับเป็นสเต็ป มันมีประเด็นนี้จริงๆ มันเกิดสิ่งนี้จริงๆ มันมีคนที่ลำบากกับเรื่องขบวนเสด็จ ถ้าสังคมตั้งคำถามขึ้นมา เราก็โอเคแล้ว เพราะเรารู้ว่า เราไปล้มใครไม่ได้ หรือจะกระทบแรงๆ ก็คงทำไม่ได้ แค่ให้สังคมตั้งคำถาม ตระหนักได้ในเรื่องที่เราพยายามสื่อไป เราโอเคแล้ว” บุคคลอันตรายในสายตาตำรวจบอกกับเรา
ชีวิตที่ไม่แน่นอน เพราะคดีทางไกล
หนึ่งในปัญหาของ ม.112 คือ “การฟ้องทางไกล” ซึ่งเป็นการสร้างภาระให้กับจำเลย โดยพิมชนกเองก็ได้รับผลกระทบกับช่องโหว่นี้ เธอถูกจับกุมตัวขณะอยู่ที่บ้านพักในกรุงเทพฯ ด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 15 นาย ตามหมายจับของศาลจังหวัดเชียงใหม่ และพาเดินทางด้วยรถยนต์ ไปยัง สภ.แม่โจ้ จ.เชียงใหม่ เพื่อสอบสวน และเริ่มต้นการดำเนินคดีที่เชียงใหม่
พิมชนกบอกกับเราว่า ตัวเธอนั้นไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับจังหวัดเชียงใหม่ เพียงแต่เคยไปทำกิจกรรมรณรงค์เรื่องการไม่รับปริญญากับศักดินาที่นั่น ซึ่งเธอคาดว่าเป็นเหตุผลทำให้เธอถูกเฝ้าระวัง และตำรวจที่จังหวัดเชียงใหม่ก็เป็นฝ่ายเริ่มดำเนินคดีมาตรา 112 กับเธอเอง ซึ่งคดีที่ใช้กับเธอมีเหตุมาจากการโพสเฟซบุ๊ก หากจะเริ่มการดำเนินคดีก็สามารถเริ่มที่กรุงเทพฯ หรือจังหวัดที่ผู้ต้องหามีภูมิลำเนาอยู่ก็ได้
ซึ่งผลจากการสั่งฟ้อง ทำให้เธอต้องคอยไปขึ้นศาล และรายงานตัวเป็นประจำ สร้างความเหนื่อยล้าให้จำเลยในการสู้คดี
“ช่วง 3 เดือนแรกเหนื่อยมาก เราต้องไปเดือนละ 2 ครั้ง ช่วงไหนล้าๆ เราก็ไม่ลงมาเลย อยู่เชียงใหม่ไปเลย เพราะแป๊ปเดียวก็ต้องไปใหม่แล้ว ช่วงหลังๆ ระยะเวลาเริ่มทิ้งห่างมา ก็โอเคขึ้น แต่ก็ไม่ได้สบาย”
นอกจากการต้องไปต่อสู้คดีเป็นระยะทางไกลแล้ว เธอยังถูกจับกุมก่อนการเข้าสอบ TCAS เพียง 1 วัน ซึ่งเมื่อได้พูดคุยกันถึงตรงนี้ ประเด็นการสอบ TCAS แม้เธอจะไม่ใช่เด็กมัธยม 6 ที่เตรียมเข้ามหาวิทยาลัย ก็ทำให้เราเกิดคำถามว่า ทำไมเธอถึงอยากเข้าสอบในวัยนี้กัน ? แล้วเธอมีเป้าหมายอะไรกับสอบนี้ ?
“พิมเรียน ปวศ. มาก่อน แต่พิมลงสอบ TCAS เพราะอยากเข้ามหาลัยฯ รัฐ เพราะปวศ. ที่เราเรียนเป็นเอกชน ถ้าจะเข้ามหาลัยฯ รัฐ เขาไม่รับเทียบโอน ก็ต้องสอบให้เป็นกิจจะลักษณะไปยื่น ตอนนั้นเราอยากเรียนรัฐศาสตร์ อาจจะด้วยแรงจูงใจ และเพื่อนด้วย เราเลยรู้สึกว่าอยากเรียน”
“ถ้าได้เรียน และเรียนจบ เราอยากทำงานช่วยเหลือสังคม เราคิดว่ามันต่อยอดได้ในการทำงาน และก็ตอบโจทย์ตัวพิมด้วย เราอยากมีความรู้ไปช่วยคนที่ไม่รู้เลยได้ อยากเสนอตัวไปช่วยเขา อยากกำความรู้ตรงนี้ไปใช้ ไม่ใช่แค่ใครก็ไม่รู้มาพูด ตอนนั้นเราตั้งใจแค่นี้ อยากทำแค่นี้เลย” เธอเล่าที่มาของการจะไปสอบ TCAS
แต่หลังโดนคดี จนไม่ได้สอบ TCAS และแผนการเรียนล่มไป เธอยังบอกว่าแผนการทำงาน และอนาคตตอนนี้ ก็ไม่แน่นอนไปด้วย เพราะถูกดำเนินคดี
“ตอนนี้พิมก็รับตัดต่อวิดีโอ ทำรีวิว ช่วยงานที่บ้านที่ขายอาหาร จริงๆ พิมมีแพลนอยากเปิดร้านอาหารตามสั่ง หุ้นกับเพื่อน แต่ทำไม่ได้ เพราะอนาคตพิมไม่แน่นอน”
“ถ้าพิมจะเช่าคูหาในซอย เพื่อเปิดร้านตอนนี้ ก็ทำไม่ได้ เพราะคดีใกล้จะตัดสินแล้ว ถ้าเช่าไป แล้วติดคุกจะทำยังไง ใครจะทำต่อ เพราะครอบครัวก็อยู่ที่สุพรรณฯ คือเรามีเงิน มีศักยภาพจะทำแล้ว แต่เราไม่รู้ว่าจะได้อยู่ทำตรงนี้ไหม พออนาคตเราไม่แน่นอน จะทำอะไรก็ต้องเดี๋ยวก่อน” พิมชนกบอกกับเรา
เชื่อมั่นว่า “ประเทศมันทำอะไรเราได้แค่นี้ เต็มที่ก็แค่กักขัง”
แต่แม้ในคดีความที่เหมือนไม่มีความหวัง พิมชนกเสียงหนักแน่นบอกกับเราว่า อย่างน้อยที่บ้านเธอก็เป็นกำลังใจที่ดีให้ตลอด จนเธอเชื่อว่าเธอจะผ่านมันไปได้
“ที่บ้านพิมดีมาก เป็นกำลังใจดีๆ และเข้าใจลูก เขามีความเชื่อในตัวลูก มีเห็นด้วยบ้าง ไม่เห็นด้วยบ้าง แต่เขารู้ว่าถ้าเราทำดี มันดีได้ประมาณนี้ แต่ถ้าวันนึงสังคมมองว่าเราเป็นคนชั่ว ที่บ้านจะรู้ว่าเราไม่ดีได้เท่านี้ เกินกว่านี้ไม่ได้เหมือนกัน เขาค่อนข้างตามการเมือง เขาเลยมองเห็นผลกระทบจริงๆ เลยเข้าใจที่เราอยากเข้าไปทำ”
“พ่อก็บอกว่าสมมติถ้าติดจริงๆ (ติดคุก) ให้คิดว่าเราแค่ย้ายที่อยู่ กับไม่ได้เล่นโซเชียลฯ เรายังมีเพื่อนคุยข้างใน ถ้าเราเป็นคนดี อยู่ที่ไหนก็อยู่ได้ อาจจะไม่ได้สบาย ที่กินอะไรก็ได้ แต่ไม่ใช่ไม่มีปลายทาง”
“จริงๆ ก็มีตัวเลือกเรื่องการลี้ภัยนะ” พิมบอกกับเราตรงๆ แต่เธอเชื่อมั่นว่า “สำหรับพิม จำคุก 2 ปี พิมมั่นใจว่า พิมทนได้ แล้วพิมก็รู้ว่า ต่อให้พิมจะอยู่ข้างใน ครอบครัวพิม หรือเพื่อนพิมจะยังอยู่ตรงนี้ พิมไม่มีความกังวลเลย เพราะพ่อแม่ทำให้เราวางใจว่าเขาอยู่ตรงนี้”
“งั้นวันนี้ ถ้าเรามั่นใจว่าสิ่งที่เราทำมันถูก และเราเลือกแบบนี้แล้ว เราก็แค่ยอมรับในความเห็นต่างของผู้พิพากษา และเข้าไป แม้เข้าไปทำอะไรไม่ได้ ก็ให้รู้ว่าประเทศมันทำอะไรเราได้แค่นี้ เต็มที่ก็แค่กักขัง ทำมากกว่านี้ก็ไม่ได้ อย่างน้อยยังมีคนที่หวังข้างนอก เราโอเคแล้ว”
เธอเล่าว่า ในตอนแรกทนายพยายามว่าความด้วยวิธีเหมือนขอความเห็นใจจากศาล จนสุดท้ายเธอรู้สึกว่า ไม่อยากสู้คดีด้วยวิธีนี้ จึงขอให้ทนายสู้คดีอย่างเต็มที่ด้วยเหตุผล และเจตนา “เราคิดว่าเราไม่ได้ผิด เราบอกทนายว่า ไม่ต้องพูดให้เราน่าสงสาร สู้เลย ถ้าสุดท้ายจะติด เราก็ขอติดแบบที่เราภูมิใจ” พิมย้ำ
ท่ามกลางสถานการณ์ที่อาจจะถูกจำกัดสิทธิในเร็ววันนี้ พิมยังพูดติดตลกกับเราว่า หากเธอติดคุกขึ้นมาจริงๆ ไม่ต้องห่วงเธอเรื่องอาหารการกิน แต่ซื้อสกินแคร์ให้เธอในเรือนจำก็พอ
“ช่วงนี้ที่บ้านตามใจมาก เราอยากกินอะไร เขาช่วยหาให้ เขากลัวเราติดแล้วไม่ได้กิน เราก็บอกเขาว่าไม่ต้องเป็นห่วง พิมกินง่ายนะ พิมอยากให้ที่บ้านเชื่อใจพิมว่า เขาเลี้ยงลูกมาแม้จะอ่อนแอในด้านความคิดบ้าง แต่อยากให้เขารู้สึกว่าลูกเขาเหมือนเขานะ เขาเก่งแค่ไหน พิมอยากให้เขาเห็นว่าพิมก็เก่งได้แบบที่เขาเลี้ยงเรามา
พิมก็บอกว่า ถ้าพิมติดคุก พิมก็ไม่เอาเงินเขา เงินซัพพอร์ตที่จะมีให้ เราก็บอกทนายว่าไม่ต้องให้เรา ให้โอนเงินช่วยเหลือให้ที่บ้านหมดเลย เงินไม่ต้องเข้าพิม เรากินไรก็ได้ เต็มที่เราสั่งเสียว่า ซื้อสกินแคร์ให้หน่อย เพราะความสุขของเราไม่ใช่การกิน แต่คือการทาครีม”
“เราขอให้เรามองเงาในพื้น แล้วหน้าเราโอเค อย่างน้อยถ้าหลุดพ้นมาแล้ว หน้าจะสิวเห่อไม่ได้ ขอย้ำว่า เต็มที่ขอน้ำสะอาด และขอสกินแคร์” เธอพูดซ้ำ
เธอบอกว่า ได้สั่งเสียไม่ให้ที่บ้านไปเยี่ยมที่เรือนจำแล้วเรียบร้อย “คนเป็นพ่อเป็นแม่ คงไม่อยากเห็นลูกเข้าคุก วันที่ตัดสินพิมก็บอกไม่ให้เขาไป เราอยู่ได้ เราบอกเขาไว้ว่า จะไม่มีบทสัมภาษณ์ออกมาว่า เราอยู่ไม่ได้แน่ๆ” เธออยากให้ที่บ้านเชื่อใจ
พิมชนก ที่มองว่าสิ่งที่ทำมันคุ้มค่า แต่ราคาที่ต้องจ่ายแพงไปหน่อย
พิมชนกบอกกับเราว่า เธอค่อนข้างเตรียมตัวกับคำตัดสิน ซึ่งตอนนี้เธอเองมีโรคประจำตัวคือโรคซึมเศร้า ที่ได้เตรียมเอาใบรับรองแพทย์ไปให้กับศาล แต่ถึงอย่างนั้นเธอก็มั่นใจว่า เธอมีจุดยึดเหนี่ยวที่แข็งแรงมากพอ ก็คือครอบครัวกับเพื่อนรอบข้างที่แข็งแรง ซึ่งในมุมนี้เธอก็ยอมรับว่า หากติดคุกขึ้นมา กระแสสังคมข้างนอกอาจจะเงียบ แต่ครอบครัว และเพื่อนก็ยังเป็นกลุ่มคนที่เธอไว้ใจข้างนอกเช่นกัน
“กระแสข้างนอกมีผล 100% ดูอย่างกรณีแสตมป์ อภิวัชร์พอพูดถึง ม.112 ก็มีแรงกระเพื่อมขึ้นมา แต่ถ้าพิมติดคุก แล้วสังคมเงียบ เรายังค่อนข้างเชื่อใจในเพื่อนที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ อย่างน้อยมันเงียบ แต่เรามองว่านี้มันจะไม่หายไป ยังมีคนที่ทำงานอยู่ อาจจะกลุ่มเล็ก แต่เข้มแข็ง”
แต่แม้พิมชนก จะเข้มแข็ง และเชื่อว่าเธอจะผ่านมันไปได้ มันก็ทำให้เราอดสงสัยจะถามไม่ได้ว่า เธอคิดว่าการต่อสู้ของเธอ มันคุ้มแล้วหรือไม่ กับผลลัพธ์ที่อาจแลกมาด้วยเสรีภาพ ?
“จนถึงตอนนี้ อุดมการณ์พิมยังอยู่เหมือนเดิมนะ แต่วิธีปฏิบัติอาจจะเปลี่ยนไป พิมรู้สึกว่า ถ้าพิมไม่สนใจ ก็จะไม่แชร์ จะไม่ช่วยเล็กๆ น้อยๆ แต่ที่ต้องถอยเพราะครอบครัวเราก็โตขึ้น มันมีเรื่องอื่น แต่อุดมการณ์ มันก็หล่อเลี้ยงให้พิมรู้สึกว่า สิ่งที่ทำมันไม่ได้ผิด หรือถูก แต่มันสะท้อนให้เห็นว่า ถ้าจะเข้าคุก แต่ที่ผ่านมามันก็เกิดกระแสสังคมพอสมควร มันคุ้มแล้ว”
“ตอนเราไปสู้ เราก็ไม่ได้คิดว่าจะเปลี่ยนวันนี้ พรุ่งนี้ เราคาดหวังว่า วันนี้ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ ปลุกกระแสสังคม กระแสไม่รับปริญญา แล้วมีมหาลัยฯ แท็ก ถึงเราจะโดนคดี แต่ระหว่างทางมันเกิดการรับรู้ขึ้นจริง พิมว่าคุ้ม แต่มันจะไม่คุ้มถ้าทุกสิ่งที่เราทำเหลือศูนย์
ซึ่งตอนนี้มันก็มีช่วงต่อ มีคนไม่รับปริญญาจริงๆ มีคนพูดถึงปัญหาจริงๆ พิมว่าคุ้มแล้ว แต่ราคาที่จ่ายแพงไปหน่อยแค่นั้น ยืนยันว่าคุ้ม และเป็นไปอย่างที่คิด อาจจะมีเซอร์ไพรส์นิดหน่อย เรื่องคดีที่โดน แม้มันไม่ได้เข้าข่าย เขาก็ตวัดเข้าไปให้ มันก็ทำให้เราสงสัยว่ากฎหมายมันไม่ชัดเจน มันกว้างขนาดนี้ได้ยังไง ทั้งๆ ที่ตอนเขียน กฎหมายก็ดูชัดเจน แถมยังโดนพิพากษา 2 ปี ไม่รอลงอาญาด้วยซ้ำ”
สุดท้าย เธอย้ำว่า ปัญหาของ ม.112 ไม่ได้อยู่แค่ที่ตัวบทกฎหมาย แต่ยังเป็นคนที่พยายามบังคับใช้มันด้วย