หลังเครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ หรือ CONFORALL และพรรคประชาชนยื่นข้อเสนอให้ประธานรัฐสภาทบทวนการบรรจุวาระจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะในช่วงก่อนหน้านี้เคยมีประเด็นปัญหาว่าจะสามารถบรรจุวาระการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้หรือไม่ เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ระบุว่าการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่จะต้องมีการจัดทำประชามติเพื่อถามความเห็นประชาชน “เสียก่อน” จึงทำให้รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยวางแนวทางไว้ว่าจะเริ่มกระบวนการนี้ด้วยการทำประชามติ แต่ก็ใช้เวลาไปมาก และทำให้การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ไม่อาจเสร็จทันภายในการเลือกตั้ง 2570
ประเด็นปัญหานี้คลี่คลายลงเมื่อสำรวจดูคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งเก้า พบว่ามีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากหกคนที่ระบุว่าสามารถทำประชามติเพื่อถามว่าความเห็นประชาชนไปพร้อมกับการทำประชามติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ได้ จากนั้นพรรคประชาชนก็ได้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และได้บรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณา โดยมีสาระสำคัญสองประการ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อตัดเงื่อนไขที่จะต้องมีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้ความเห็นชอบออกไป และการวางแนวทางเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อเสนอพรรคประชาชนเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/49780
ในภายหลังพรรคเพื่อไทย จึงได้เสนอแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นร่างฉบับของตัวเองเข้าประกบโดยมีสาระสำคัญสองประการเช่นเดียวกับพรรคประชาชน คือ ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เสียก่อนเพื่อเปิดทางให้มีการเลือกตั้ง สสร. โดยโมเดล สสร. ของพรรคเพื่อไทยมีจุดเด่นอยู่ตรงที่จะใช้วิธีการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตตามจังหวัดเท่านั้น ซึ่งจะมีทั้งสิ้น 200 คน และโควต้าการตั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญแบบที่น่าจับตามอง
ตัดเงื่อนไข สว. หนึ่งในสาม ใช้เสียงข้างมากในรัฐสภาเท่านั้น
ข้อเสนอพรรคเพื่อไทยระบุเหตุผลที่ต้องแก้ไขมาตรา 256 ไว้ว่า ตัวบทของเดิมเป็นการจำกัดให้รัฐธรรมนูญแก้ยากจนถึงขั้นไม่สามารถแก้ไขได้ และรัฐธรรมนูญที่ดีต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะเป็นพลวัตรไม่หยุดนิ่งสามารถเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ของยุคสมัยได้ ผนวกกับรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกจัดทำขึ้นในช่วงเวลาพิเศษโดยที่ประชาชนไม่ได้ส่วนร่วมในการจัดทำอย่างแท้จริง ซึ่งข้อเสนอในการแก้ไขมาตรา 256 ของพรรคเพื่อไทย จะเป็นการแก้ไขมาตรา 256 ในอนุมาตราต่างๆ เช่น (1) (3) (6) (8) (9) ซึ่งใจความสำคัญคือการตัดเงื่อนไขที่ สว. จะต้องเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระแรกและวาระสามอย่างน้อยหนึ่งในสามออก
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 กำหนดวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยวางกลไกตั้งแต่ขั้นการเสนอญัตติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญไปจนถึงขั้นสุดท้ายในการนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งเป็นกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยากและซับซ้อนที่สุดในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทย โดยเดิมพื้นฐานวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 แบ่งออกเป็นสามขั้นตอนหลัก คือ
- การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ
- การพิจารณาของรัฐสภา
- การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
ข้อเสนอพรรคเพื่อไทยจะปรับปรุงทั้งในสามขั้นตอนดังกล่าว ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 : เพื่อไทยเสนอให้ สส. – รัฐสภา เสนอแก้รัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้น
สำหรับการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นอกจากคณะรัฐมนตรีและประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คนแล้ว สส. และสมาชิกรัฐสภา (สส. และ สว.) ยังมีสิทธิเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของ สส. (สส. ไม่น้อยกว่า 100 คน) หรือของสมาชิกรัฐสภา (สส.และสว. ไม่น้อยกว่า 140 คน) เพื่อเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ หลักเกณฑ์นี้ทำให้ที่ผ่านมาสส. ที่จะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้จะต้องมาจากพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่มีสส. เกิน 100 คน หรือต้องเกิดจากการเจรจาและ “ดีล” ทางการเมืองจึงจะทำให้ข้อเสนอถูกบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมได้
โดยข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยปรับเกณฑ์เงื่อนไขจำนวนขั้นต่ำในการเสนอญัตติ โดยปรับลดจากหนึ่งในห้าเป็น “หนึ่งในสิบ” ซึ่งจะทำให้การเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภาทำได้ง่ายขึ้น โดยเงื่อนไขใหม่นี้จะใช้เสียง สส. ไม่น้อยกว่า 50 คน และสมาชิกรัฐสภา ไม่น้อยกว่า 70 คน เท่านั้น
หรือกล่าวโดยง่ายว่าการปรับเกณฑ์ขั้นต่ำที่ สส. หรือสมาชิกรัฐสภาจะเสนอญัตติแก้รัฐธรรมนูญ ให้น้อยลง “สองเท่า”
ขั้นตอนที่ 2 : ตัดเงื่อนไข สว. 1 ใน 3 ใช้เงื่อนไขไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภาแทน
อุปสรรคหลักในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ จะต้องผ่านด่าน “รับหลักการ” ในวาระที่หนึ่ง และด่านลงมติในวาระที่สาม ซึ่งในทั้งสองด่านนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 (3) และ (6) ระบุให้ นอกจากที่จะต้องมีสมาชิกรัฐสภาเห็นด้วยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งหรือไม่น้อยกว่า 350 คนแล้ว ในจำนวนที่เห็นชอบนี้จะต้องประกอบไปด้วยเสียงเห็นชอบของ สว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม หรือต้องมี สว. เห็นชอบไม่น้อยกว่า 67 คน
ด่านรับหลักการ
ข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยปรับปรุงเงื่อนไขที่รัฐสภาจะมีมติเห็นชอบเพื่อรับหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยแก้ไขเงื่อนไขในการรับหลักการวาระที่หนึ่ง ให้ใช้เพียงเงื่อนไขเดียว คือจำนวนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาหรือไม่น้อยกว่า 350 คน โดยไม่ต้องมีเงื่อนไข สว. เห็นชอบอีก เท่ากับว่าหาก สส. อย่างน้อย 350 คน เห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ สว. ทั้งหมดยืนกรานไม่เห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ผ่านด่านขั้นแรกไปได้
ด่านวาระที่สาม
เมื่อผ่านด่านรับหลักการและด่านการพิจารณารายมาตราในวาระที่สองแล้ว ในเงื่อนไขการพิจารณาในด่านวาระที่สามนี้ เดิมจะต้องมีเสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภามากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ หรือไม่น้อยกว่า 351 คน และมีเกณฑ์เสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งนี้จะต้องประกอบไปด้วย
- สส. จากพรรคที่ไม่มี สมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานสภา หรือรองประธานสภา (พรรคฝ่ายค้าน) ร้อยละ 20
- สว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม หรือไม่น้อยกว่า 67 คน
พรรคเพื่อไทยเสนอให้ตัดเงื่อนไขทั้งสองนั้นออก โดยใช้แค่จำนวนเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งหรือไม่น้อยกว่า 351
โดยสรุปสำหรับในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภา พรรคเพื่อไทยเสนอตัดเงื่อนไขที่ต้องอาศัยเสียงของ สว. ออกทั้งหมด ซึ่ง สว. จะลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยจำนวนเท่าไหร่ก็ได้ แต่ญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้จะผ่านอุปสรรคทั้งสองด่านไปได้ ภายใต้หลักเกณฑ์เช่นนี้ รัฐสภาสามารถใช้เพียงเสียง สส. 351 เสียงก็เพียงพอต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเกินเกณฑ์ทั้งเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา โดย สว. จะลงมติอย่างไรก็ได้
ขั้นตอนที่ 3: ล็อคหมวด 1 หมวด 2 ยังต้องทำประชามติอยู่
ตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆ ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาทุกเงื่อนไขทุกวาระแล้ว ก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ หากว่าในร่างแก้ไขนั้นมีการแก้ไขในประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้ จะต้องจัดให้มีการทำประชามติเสียก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ
- หมวด 1 บททั่วไป
- หมวด 2 พระมหากษัตริย์
- หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
- เรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ
- เรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาล หรือองค์กรอิสระ
- เรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้
ในส่วนนี้พรรคเพื่อไทยเสนอปรับปรุงให้ต้องทำประชามติเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่วนการแก้ไขในประเด็นอื่นนอกจากนี้ เช่น คุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือที่เกี่ยวข้องกับศาล องค์กรอิสระ หรือแม้แต่มาตรฐานทางจริยธรรมที่เคยใช้เป็นเหตุให้เศรษฐา ทวีสิน ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็สามารถแก้ไขได้โดยที่ไม่ต้องทำประชามติ หากผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้วสามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญต่อไปได้
ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนขึ้นทูลเกล้าเพิ่มเป็นเกณฑ์ 1 ใน 5
ตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดว่า ในกรณีที่สส. หรือสว. บางส่วนเห็นว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภามาแล้ว อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองหรือรูปแบบของรัฐ หรือเป็นร่างที่ต้องจัดทำประชามติเสียก่อน ให้ สส. สว. หรือสมาชิกรัฐสภา ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบ หรือจำนวนดังนี้
- สส. ไม่น้อยกว่า 50 คน
- สว. ไม่น้อยกว่า 20 คน
- หรือสมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่า 70 คน
มีสิทธิเข้าชื่อเสนอเรื่องไปยังประธานสภาของตน หรือประธานรัฐสภาให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้ โดยในระหว่างที่ศาลยังไม่มีคำวินิจฉัยไม่สามารถนำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบนี้ขึ้นทูลเกล้าฯได้ ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่ที่ได้รับเรื่อง ซึ่งขั้นตอนนี้ยังไม่เคยมีกรณีเกิดขึ้นจริงแต่ก็อาจจะถูกใช้เพื่อ “ถ่วงเวลา” การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เช่นกัน
พรรคเพื่อไทย เสนอแก้ไขให้ขั้นตอนนี้ทำได้ยากขึ้น โดยแก้ไขสัดส่วนจากเดิมที่ สส. สว. หรือสมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบมีสิทธิเสนอเรื่องให้เป็นหนึ่งในห้าแทน หรือจำนวนดังนี้
- สส. ไม่น้อยกว่า 100 คน
- สว. ไม่น้อยกว่า 40 คน
- หรือสมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่า 140 คน
กล่าวโดยง่ายว่าจะต้องใช้เสียงมากขึ้น “สองเท่า” ในการที่จะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย
เพื่อไทยเสนอเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ มีสสร. จากการเลือกตั้ง 100%
ข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะให้ประชาชนได้เลือกตั้ง สสร. โดยตรงทั้งสิ้น 200 คน เพื่อมาทำหน้าที่ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะแก้ไขมาตรา 256 ให้เพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยจะมีเพิ่มเป็นมาตรา 256/1 – 256/15
ข้อเสนอพรรคเพื่อไทยกำหนดให้ สสร. 200 คนมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตตามจังหวัดทั้งสิ้น 200 คน โดยผู้ที่จะสมัคร สสร. ได้ จะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
- มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
- มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี บริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง
- ผู้สมัครในแบบแบ่งเขตตามจังหวัดจะต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
- มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครเป็น สสร. ไม่น้อยกว่าห้าปี นับถึงวันที่สมัคร
- เกิดในจังหวัดนั้น
- เคยศึกษาอยู่ในจังหวัดนั้นไม่น้อยกว่าห้าปีการศึกษา
- เคยรับราชการปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ ติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปี
- มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครเป็น สสร. ติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปี
และกำหนดลักษณะต้องห้ามไม่ให้ลงสมัคร สสร. ไว้ ดังนี้
- เป็นข้าราชการการเมือง
- เป็น สส. สว. หรือรัฐมนตรี
- ติดยาเสพติดให้โทษ
- เป็นบุคคลล้มละลายหรือบุคคลล้มละลายทุจริต
- เป็นภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวช
- อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะสิ้นสุดแล้วหรือไม่
- วิกลจริตจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
- อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
- ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายศาล
- เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
- เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
- เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
- เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
- เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง
- เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
- เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
- เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
- อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
- พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากหาประโยชน์จากการพิจารณางบประมาณ หรือถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินให้มีความผิดตาม รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 144 หรือมาตรา 235
เลือกตั้ง สสร. แบ่งเขตตามจังหวัด 200 คน
ข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยออกแบบการเลือกตั้ง สสร. ให้ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ใครมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านจังหวัดไหนก็เลือก สสร. ในจังหวัดนั้น โดยในแต่ละจังหวัดจะมีจำนวน สสร. พึงมีที่ไม่เท่ากัน จะมีจำนวน สสร. พึงมีในจังหวัดนั้นมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรในจังหวัดนั้นๆ ซึ่งจะมีวิธีการคำนวณหา สสร. พึงมีดังต่อไปนี้
- ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามทะเบียนราษฎรในปีสุดท้ายก่อนจะเลือกตั้ง สสร. เฉลี่ยด้วยจำนวน สสร. 200 คน จำนวนที่ได้รับนั้นคือจำนวนราษฎร ต่อ สสร. หนึ่งคน
- จังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสสร. หนึ่งคนให้จังหวัดนั้นมี สสร. ได้หนึ่งคน
- จังหวัดใดมีราษฎรเกินจำนวนราษฎรต่อสสร. 1 คน ให้จังหวัดนั้นมีสสร. เพิ่มขึ้นอีก 1 คนตามจำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์ต่อสสร. 1 คน
- กรณีที่มีสสร. ไม่ครบ 200 คน จังหวัดใดที่มีเศษเหลือจากการคำนวณมากที่สุดให้จังหวัดนั้นมีสสร. เพิ่มขึ้นอีก 1 คน และให้ใช้วิธีการดังกล่าวนี้กับจังหวัดที่มีเศษเหลือจากการคำนวณในลำดับรองลงมาจนกว่าจะมี สสร. ครบ 200 คน
เมื่อข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขจะต้องมีการประกาศรับสมัคร สสร. ภายใน 30 วัน และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสสร. ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่ที่ข้อเสนอนี้ผ่านเป็นกฎหมายด้วยเช่นกัน หรือต้องประกาศรับสมัครและจัดการเลือกตั้ง สสร. ให้เสร็จภายใน 60 วันนั่นเอง
ระบบการเลือกตั้ง สสร. ตามข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยจะมีความคล้ายกับการเลือกตั้ง สส. ในปี 2562 คือ การเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว ซึ่งผู้ที่จะมีสิทธิเลือกตั้ง สสร. เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 95 และมาตรา 96
โดยผู้ที่จะมีสิทธิเลือกตั้งจะต้อง
- มีสัญชาติไทย หรือการแปลงสัญชาติจะต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
- มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในวันเลือกตั้ง สสร.
- และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งจังหวัดนั้นเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง
ส่วนผู้ที่จะไม่มีสิทธิเลือกตั้ง สสร. คือ
- ภิกษุสามเณร นักพรต หรือนักบวช
- อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะสิ้นสุดแล้วหรือไม่
- ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
- หรือวิกลจริตจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
เมื่อมีการเลือกตั้ง สสร. เสร็จสิ้นแล้วให้ กกต. ประกาศรับรองผลงานเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันนับแต่วันที่มีการเลือกตั้ง สสร. โดยให้ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับจนครบตามจำนวน สสร. พึงมีในแต่ละจังหวัดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น สสร. กล่าวคือ หาก ก ข ค ง ได้รับคะแนนเรียงตามลำดับ และจังหวัดนั้นมีประชากรมากพอที่จะมี สสร. สามคน ก ข ค จะได้รับเลือกเป็น สสร. ในขณะที่ ง จะเป็นลำดับถัดไป
ในกรณีที่มีตำแหน่ง สสร. ว่างลง ด้วยการเสียชีวิตหรือการลาออกหรือการขาดคุณสมบัติ ให้ กกต. ประกาศเลื่อนบุคคลผู้ที่อยู่ในลำดับต่อไปจากผลการเลือกตั้ง สสร. ขึ้นมาเป็น สสร. แทนภายใน 15 วันเว้นแต่ว่าระยะเวลาในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเหลือไม่ถึง 90 วัน
นับถอยหลัง 180 วัน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จ
ตามโรดแมปที่ร่างฉบับนี้วางไว้ สสร. จะต้องเริ่มการประชุมนัดแรกไม่ช้ากว่า 30 วันนับแต่ที่ กกต. ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ซึ่งการประชุม สสร. นัดแรกจะเป็นการเริ่มนับถอยหลัง 180 วันที่ สสร. จะต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้แล้วเสร็จ ในระหว่างระยะเวลานี้ แม้ สส. หมดวาระหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร สสร. ก็ยังทำหน้าที่ต่อไปได้ แต่หากยกร่างรัฐธรรมนูญไม่เสร็จภายใน 180 วัน สสร. ชุดนี้ก็จะหมดวาระไป
ตั้ง กรธ. 47 คน สส. ล็อคได้ 12 คน สว. ล็อค 5 คน ครม. ล็อคอีก 6 คน
ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ได้จะทำโดยสสร. ทั้ง 200 คนไปพร้อมกัน แต่กำหนดให้ตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ในการยกร่างรัฐธรรมนูญตามแนวทางที่ สสร. ได้กำหนด จำนวน 47 คน
ข้อเนอของพรรคเพื่อไทยระบุให้ กรธ. ประกอบไปด้วย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง 24 คน และส่วนที่เหลือจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน ด้านรัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ ด้านการเมือง ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน อีก 23 คน ซึ่งตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ 23 คนนี้ สสร. จะแต่งตั้งจากรายชื่อที่เสนอโดย สส. ตามโควต้าพรรคการเมือง 12 คน โดย สว. 5 คน และจากการเสนอชื่อโดยคณะรัฐมนตรีอีก 6 คน
การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปและประชาชนในทุกจังหวัดอย่างทั่วถึง โดย สสร. คณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานรัฐจะต้องมีการเผยแพร่เนื้อหาสาระและความคืบหน้าของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านสื่อมวลชน และเวทีแสดงความคิดเห็นต่างๆ
แต่ข้อสำคัญในร่างที่พรรคเพื่อไทยเสนอขึ้น คือ การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไม่สามารถแก้ไขหมวด 1 บททั่วไปและหมวด 2 พระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ กรณีที่รัฐสภาวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญเข้าข่ายการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นตกไปทันทีและ สสร. จะสิ้นสุดลงไปด้วยเช่นกัน
ร่างเสร็จสิ้น ส่งรัฐสภาพิจารณาต่อ ถ้าไม่เห็นชอบ สสร. ยืนยันร่างได้
ตามขั้นตอนที่พรรคเพื่อไทยออกแบบไว้ เมื่อ สสร. ได้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 180 วัน จะนำเสนอร่างนั้นต่อรัฐสภาซึ่งรัฐสภาจะต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นภายใน 30 วัน หากรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายใน 30 วันให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบกับร่างของ สสร.
แต่กรณีที่รัฐสภาเห็นควรว่าให้แก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ให้ความเห็นกับชอบร่างรัฐธรรมนูญที่ สสร. ส่งมาให้ส่งร่างดังกล่าวนั้นคืนกลับไปและ สสร. จะพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมตามความเห็นของรัฐสภาหรือลงมติยืนยันร่างของตนเองภายใน 30 วันนับแต่ที่รัฐสภามีมติให้แก้ไขหรือไม่ให้ความเห็นชอบ โดยการลงมติยืนยันร่างรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวน สสร. เท่าที่มีอยู่ หรือหากมี สสร. ครบ 200 คนก็จะต้องมีคะแนนเสียงอย่างน้อย 134 คน แล้วจึงค่อยส่งคืนให้รัฐสภาพิจารณา “ให้ความเห็น” อีกครั้ง
หาก สสร. ไม่ลงมติยืนยันภายในกำหนดเวลา 30 วัน หรือไม่ได้เสียงถึง 134 เสียง ให้ถือว่าร่างนั้นเป็นอันตกไป แต่ สสร.ชุดนั้นจะยังมีสมาชิกภาพอยู่ดังเดิม และจะต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จภายใน 90 วันนับแต่ที่พ้นกำหนดเวลานั้น
เท่ากับว่าถ้า สสร. ไม่แก้ไขตามที่รัฐสภาบอกให้แก้ก็จะต้องใช้เสียง 134 เสียงยืนยันกลับไปและรัฐสภาจะทำหน้าที่เพียงให้ความเห็นเท่านั้น รัฐสภาไม่ได้มีอำนาจเหนือในการ “คว่ำ” ร่างรัฐธรรมนูญที่สสร. จัดทำขึ้น เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการนี้แล้ว ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็จะนำไปผ่านการทำประชามติเพื่อถามความเห็นของประชาชน
พระมหากษัตริย์ทรงวีโต้ได้เหมือน พ.ร.บ. ทั่วไป
เมื่อกระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ สสร. เสนอต่อรัฐสภาเสร็จสิ้นแล้ว กกต. จะต้องกำหนดวันออกเสียงประชามติซึ่งจะต้องไม่เร็วกว่า 90 วันและจะต้องไม่ช้ากว่า 120 วันนับแต่ที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยจะต้องกำหนดการออกเสียงประชามติให้เป็นวันเดียวกันทั่วประเทศ ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. เมื่อมีการลงประชามติให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว กกต. จะต้องประกาศผลการออกเสียงประชามติให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันนับแต่วันที่มีการลงประชามติ
หากผลการทำประชามติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ให้ประธานรัฐสภาหรือประธาน สสร. นำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ และกระบวนการเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 81 วรรคสอง และมาตรา 146 ซึ่งจะเป็นวิธีการคล้ายกับการพิจารณาออกกฎหมายระดับพระราชบัญญัติของรัฐสภา
กล่าวคือ เมื่อมีการทูลเกล้าให้พระมหากษัตริย์ให้ความเห็นชอบลงพระปรมาภิไธย หากพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้น 90 วันแล้วไม่ได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาหารือใหม่ หากรัฐสภามีมติยืนยันด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสองสภา ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าอีกครั้งหนึ่ง หากพระมหากษัตริย์ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยภายใน 30 วัน และนายกรัฐมนตรีสามารถนำร่างขึ้นประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสมือนว่าพระมหากษัตริย์ได้ลงพระปรมาภิไธยแล้ว
ในกรณีที่ผลการลงประชามติชี้ชัดว่าประชาชนไม่ให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญนั้นจะมีสถานะเป็นอันตกไป และจะส่งผลให้ สสร. สิ้นสุดลงทันที รัฐสภาจะต้องเห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้ง ซึ่งจะเริ่มใหม่ตั้งแต่การเลือกตั้ง สสร.
หากไม่ผ่านประชามติ หรือเข้าข่ายหมวด 1 หมวด 2 จะต้องเริ่มใหม่ตั้งแต่การเลือกตั้ง สสร.
ตามข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยหากมีเหตุให้ร่างรัฐธรรมนูญมีสถานะตกไปในกรณีนี้ต่อไปนี้ ก็ยังคงสามารถเริ่มกระบวนการใหมได้ตั้งแต่การเลือกตั้ง สสร. คือ
- กรณีที่รัฐสภาวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญของ สสร. เป็นการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2
- ผลประชามติไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ
- สสร. ไม่สามารถจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน สสร. จะสิ้นสุดลงด้วยเช่นกัน
กรณีที่กล่าวมา ไม่ได้ทำให้กระบวนการล้มเหลวและต้องกลับไปใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ต่อไป เพราะคณะรัฐมนตรี หรือ สส. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนเท่าที่มีอยู่ หรือ สส. + สว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนเท่าที่มีอยู่ของรัฐสภา มีสิทธิเสนอญัตติให้รัฐสภาริเริ่มการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้ โดยจะต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภาหรืออย่างน้อย 351 เสียง ให้เริ่มกระบวนการใหม่ได้ โดยเริ่มใหม่ตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกตั้ง สสร. ซึ่งคนที่คนเคยเป็น สสร. ในชุดก่อนหน้าแล้วจะไม่สามารถเป็น สสร. ได้อีก
โดยสรุป โรดแมปกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของพรรคเพื่อไทยจะใช้กรอบเวลาอย่างน้อย 450 วัน ดังนี้
- กกต. ประกาศรับสมัครและจัดการเลือกตั้ง สสร. ให้เสร็จภายใน 60 วัน
- กกต. จะต้องประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง สสร. ภายใน 15 วันนับแต่ที่มีการเลือกตั้ง
- ประชุม สสร. นัดแรกภายใน 30 วันนับแต่ที่ กกต. ประกาศรับรอง
- สสร. จะต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน
- เมื่อร่างเสร็จแล้ว รัฐสภาจะต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบภายใน 30 วันนับแต่ที่ได้รับร่าง
- เมื่อ กกต. ได้รับร่างแล้วจะต้องจัดทำประชามติไม่เร็วกว่า 90 วันและไม่ช้ากว่า 120 วัน
- กกต. จะต้องประกาศผลการลงประชามติภายใน 15 วันนับแต่วันที่มีการทำประชามติ