คดี ม. 112 ของ “ใจ” นักศึกษาผู้ถูกกล่าวหากรณีทวิตรูป-พระราชดำรัสรัชกาลที่ 9

จับตาคำพิพากษาอุทธรณ์ ม. 112 ของ ‘ใจ’ กรณีทวีตรูปพระราชดำรัสร. 9

21 มกราคม 2568 เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 609 ศาลอาญานัด ‘ใจ’ (นามสมมติ) นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ในคดีดำที่ อ.2964/2564 ฟังคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์ กรณีถูกกล่าวหาว่าทวีตข้อความและรูปภาพเกี่ยวกับรัชกาลที่เก้า โดยศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้จำคุกสามปีก่อนลดโทษเหลือสองปี คดีนี้เป็นคดีที่อารีย์ จิวรรักษ์ ข้าราชการเกษียณ สังกัดกระทรวงการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้ร้องทุกข์

ที่มาที่ไปของคดี

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 ‘ใจ’ เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 (พ.ร.บ. คอมฯ) กรณีถูกกล่าวหาว่าทวีตข้อความเกี่ยวกับรัชกาลที่เก้าในทวิตเตอร์ (หรือ X ในปัจจุบัน) หนึ่งข้อความ

ในชั้นสอบสวน พฤติการณ์ที่กล่าวหาระบุว่าเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 อารีย์ จิวรรักษ์ ข้าราชการเกษียณอายุ สังกัดกระทรวงการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้กล่าวหาในคดีนี้พบบัญชีทวิตเตอร์บัญชีหนึ่งทวีตข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ประกอบด้วยพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่เก้าจึงไปร้องต่อ บก.ปอท. ให้ดำเนินคดี โดยในเวลาดังกล่าวยังไม่ทราบว่า ใครเป็นเจ้าของทวีตดังกล่าว ต่อมาตำรวจสอบสวนจนนำมาสู่การกล่าวหา ‘ใจ’ เป็นผู้ต้องหาในคดีนี้  ซึ่งเขาให้การปฏิเสธ 

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 อัยการมีคำสั่งฟ้องคดีโดยบรรยายการกระทำของจำเลยว่าเข้าข่ายเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อัยการบรรยายว่าการโพสต์ข้อความ “xxx” พร้อมติดแฮชแท็กเกี่ยวกับกษัตริย์ใต้พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่เก้าที่มีพระราชดำรัสของรัชกาลที่เก้าว่า “ไม่ต้องจำว่าฉันคือใคร แต่จำว่าฉันทำอะไรก็พอ” เป็นการละล่วงละเมิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ทำให้ประชาชนทั่วไปที่เข้าถึงข้อมูลได้เข้าใจว่า รัชกาลที่เก้าเป็นฆาตกร และกษัตริย์เป็นสิ่งที่เหลือทิ้ง เสื่อมสภาพจนใช้การไม่ได้ หรือไม่ต้องการใช้ ไม่ควรอยู่คู่กับสังคมไทย อันเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อรัชกาลที่เก้า และส่งผลถึงรัชกาลที่สิบผู้เป็นพระราชโอรสและเป็นกษัตริย์องค์ปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสืบพยานในชั้นศาลของคดีนี้ได้ที่ https://tlhr2014.com/archives/54307

ศาลตีความว่า การวิจารณ์ร. 9 ที่สวรรคตแล้วส่งผลต่อร. 10 ที่ครองราชย์อยู่

14 มีนาคม 2566 ศาลอาญาพิพากษาว่า ‘ใจ’ มีความผิดลงโทษจำคุกสามปีในฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามมาตรา 112 แต่เห็นว่าขณะ ‘ใจ’ กระทำความผิดมีอายุเพียง 19 ปีเศษ จึงลดโทษให้หนึ่งในสาม คือลดโทษหนึ่งปี เหลือโทษจำคุกสองปี โดยไม่รอลงอาญา และต่อมาศาลอาญาคำสั่งให้ประกันตัว ‘ใจ’ โดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 100,000 บาทจากกองทุนราษฎรประสงค์โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดไว้

คดีของ ‘ใจ’ เป็นอีกหนึ่งคดีที่ศาลตัดสินว่าการกระทำความผิดต่อพระมหากษัตริย์ที่ได้ครองราชย์แล้วยังคงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยในคำพิพากษาของศาลระบุว่า

“ที่พยานจำเลยนำสืบว่า มาตรา 112 ไม่ได้คุ้มครองอดีตกษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้ว เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บัญญัติไว้ว่า คุ้มครองกษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่เท่านั้น และแม้รัชกาลที่ 9 จะสวรรคตไปแล้ว การกระทำของจำเลยก็ยังเป็นความผิดตามมาตรา 112 เนื่องจากเป็นการกระทำที่กระทบต่อรัชกาลที่ 10ซึ่งเป็นพระราชโอรส และทรงครองราชย์อยู่ในปัจจุบัน ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน”

อุทธรณ์สู้ระบุไม่มีหลักฐานพิสูจน์เป็นผู้ทวีต-ขยายความคุ้มครองอดีตกษัตริย์ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 60

หลังได้ประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ ‘ใจ’ ยื่นอุทธรณ์โดยมีข้อต่อสู้เช่น

  • ไม่มีพยานปากใดของโจทก์สามารถยืนยันได้ว่า ‘ใจ’ เป็นผู้กระทำความผิดในคดีนี้ คดีนี้เป็นคดีอาญาจึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยบริสุทธิ์และศาลต้องใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงจนกว่าจะแน่ใจว่าได้กระทำความผิดจริง
  • ขาดองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายกล่าวคือ เป็นข้อความเกี่ยวกับอดีตกษัตริย์ โดยพยานโจทก์ให้การในลักษณะขยายขอบเขตการคุ้มครองมาตรา 112 มองว่า การดูหมิ่นอดีตกษัตริย์ก็ผิดตามมาตรา 112 ซึ่งข้อนี้จำเลยยืนยันว่า “พระมหากษัตริย์” ตามมาตรา 112 ต้องตีความอย่างเคร่งครัดว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่เท่านั้น
  • คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ระบุทำนองว่า มาตรา 112 ไม่ได้ระบุว่า พระมหากษัตริย์จะต้องเป็นองค์ที่ครองราชย์อยู่ในขณะที่กระทำความผิดแม้จะเป็นการกระทำต่ออดีตพระมหากษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้วก็เป็นความผิดตามมาตรา 112 จำเลยเห็นว่า  เป็นการให้เหตุผลที่แสดงถึงการตีความขยายองค์ประกอบความผิดและขอบเขตการบังคับใช้มาตรา 112 การตีความเช่นนี้ผิดต่อหลักวิชานิติศาสตร์อย่างชัดแจ้งและไม่สามารถหาขอบเขตการบังคับใช้มาตรา 112 ได้เลย 
  • จำเลยอุทธรณ์ว่าแม้ว่าจำเลยจะผิดจริงตามคำพิพากษาในศาลชั้นต้น จำเลยก็สมควรรอการลงโทษ ในคดีนี้จำเลยอายุเพียง 19 ปี เศษขณะเกิดเหตุและเป็นนักศึกษาที่มีผลการเรียนดี โพสต์ดังกล่าวจำเลยต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่จำเลยในคดีของรัชกาลที่แปดและรัชกาลที่แปดเอง ในขณะที่ได้รับการประกันตัวจำเลยก็ไม่เคยหนีคดีและไม่ได้กระทำความผิดซ้ำ จำเลยเป็นลูกคนเดียวที่มีภาระจะต้องเลี้ยงดูบิดามารดา จำเลยพร้อมจะกลับตัวเป็นคนดีได้ การให้จำเลยต้องเสียอิสรภาพในคดีนี้จะไม่เป็นประโยชน์อันใด 

ในท้ายคำอุทธรณ์ ‘ใจ’ ยกพระราชดำรัสรัชกาลที่เก้าเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548 ความว่า 

“เข้าคุกแล้ว ถ้าเป็นการละเมิดพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์เองเดือดร้อนหลายทาง อย่างน้อยที่สุดก็เป็นคนจั๊กจี้ ใครว่าไรซักนิดก็บอกให้เข้าคุกที่จริงพระมหากษัตริย์ไม่เคยบอกให้เข้าคุก อย่างคนที่ละเมิดพระมหากษัตริย์และถูกทำโทษ ไม่ใชคนนั้นเดือดร้อน พระมหากษัตริย์เดือดร้อน ก็สอนนายกฯ ว่าใครบอกให้ลงโทษ อย่าลงโทษเขา ลงโทษไม่ดี ลงท้ายไม่ใช่นายกฯ เดือดร้อนพระมหากษัตริย์เดือดร้อน แต่ถ้านายกฯ เกิดลงโทษ แย่เลย นักกฎหมายต้องรู้ว่าอะไรถูกผิด”

ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้นจำคุก ม.112 ‘ใจ’ 2 ปี ก่อนให้ประกันตัวสู้คดีชั้นฎีกา

21 มกราคม 2568 เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 609 ศาลอาญานัด ‘ใจ’ (นามสมมติ) ฟังคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์ในคดีดำที่ อ.2964/2564  กรณีถูกกล่าวหาว่าทวีตข้อความและรูปภาพเกี่ยวกับรัชกาลที่เก้า ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้จำคุกสามปีก่อนลดโทษเหลือสองปี คดีนี้เป็นคดีที่อารีย์ จิวรรักษ์ ข้าราชการเกษียณ สังกัดกระทรวงการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้ร้องทุกข์

เวลา 09.30 น. ผู้พิพากษาขึ้นบัลลังก์อ่านคำพิพากษา สรุปใจความได้ว่าคำอุทธรณ์ของฝ่ายจำเลยรับฟังไม่ได้ ให้จำคุก ‘ใจ’ สองปีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ต่อมา ‘ใจ’ ได้ยื่นประกันตัวเพื่อสู้คดีในชั้นฎีกา โดยศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวในชั้นฎีกา โดยวางหลักทรัพย์ 100,000 บาทจากกองทุนราษฎรประสงค์ 

ในวันนี้มีเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยของใจ ประชาชน และเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์คดีของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและทัมไรท์มาร่วมฟังคำพิพากษาในคดีนี้ 

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage