19 มกราคม 2568 ที่บริเวณประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ มีการจัดงานเปิดตัวร่างพระราชบัญญัติเชียงใหม่มหานคร “มีอนาคตเป็นของตัวเอง” โดยคณะขับเคลื่อนที่มาจากการรวมตัวขององค์กรภาคประชาชนสังคมช่วยกันจัดขึ้นเพื่อพูดถึงความฝันที่เชียงใหม่จะมีระบบการปกครองที่ประชาชนมีอนาคตเป็นของตัวเอง เลือกตั้งผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานครได้โดยตรง ตามหลักการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
ในงานวันนี้มีการเปิดตัวร่างพ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร ที่กำลังเปิดให้ประชาชนที่เห็นด้วยกันช่วยกันเข้าชื่อให้ครบ 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอร่างเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งสามารถลงชื่อได้ทั้งทางเว็บไซต์ด้วยระบบออนไลน์ และลงชื่อบนแบบฟอร์มแผ่นกระดาษที่หน้างาน
เสนอเลือกตั้งผู้ว่าฯโดยตรงกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านอบต.-เทศบาลยังเหมือนเดิม
สำหรับร่างพ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร นำเสนอระบบการปกครองในจังหวัดเชียงใหม่ขึ้นใหม่ และเปลี่ยนชื่อจาก “จังหวัดเชียงใหม่” เป็น “เชียงใหม่มหานคร” โดยมีผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานครมาจากการเลือกตั้งโดยตรง เป็นผู้มีอำนาจในการบริหาร และมีสภาเชียงใหม่มหานครที่มาจากการเลือกตั้ง โดยแบ่งเขตเลือกตั้งตามพื้นที่ อาศัยประชากรจำนวนประมาณ 30,000 คนเป็นหนึ่งเขตเลือกตั้ง มีอำนาจออกข้อบัญญัติและจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี
ภายใต้ภาพฝันนี้เชียงใหม่มหานครจะไม่มีองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ. แต่จะมีระบบสภาเชียงใหม่มหานครมาแทนซึ่งระบบที่มาคล้ายกับอบจ.เดิม เรียกว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับบน โดยให้ยกเลิกการแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอจากกระทรวงมหาดไทย หรือเรียกว่า ยกเลิกระบบการปกครองส่วนท้องที่ ยกเลิกอำนาจจากส่วนกลาง
ระบบเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. ให้ยังคงมีอยู่ เรียกว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่าง และมีหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะที่ไม่ยุ่งยากตามพื้นที่ ผู้บริหารเทศบาล สมาชิกสภาเทศบาล ผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีวาระดำรงตำแหน่งสี่ปี
ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทำหน้าที่หัวหน้าผู้รักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ ขึ้นตรงกับการบังคับบัญชาของผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานคร
รายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม 50% จากภาษีที่ดิน 100%
ตามร่างพ.ร.บ.ที่กำลังเปิดให้ประชาชนช่วยกันเข้าชื่อ เสนอให้รายได้ของเชียงใหม่มหานครมาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีนิติบุคคล ภาษีมรดก และค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเชียงใหม่มหานคร ให้เชียงใหม่มหานครมีหน้าที่จัดเก็บ และแบ่งร้อยละ 50 เป็นของเชียงใหม่มหานคร อีกร้อยละ 50 ส่งเข้ากระทรวงการคลัง หมายความว่า ส่งเป็นรายได้ของประเทศส่วนกลาง
ส่วนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีป้าย อากรการฆ่าสัตว์ ภาษีรถยนต์ ภาษีทะเบียนรถยนต์ เป็นรายได้ของเชียงใหม่มหานครทั้งหมด และยังให้เชียงใหม่มหานครมีอำนาจออกข้อบัญญัติเพื่อจัดเก็บภาษีมลพิษทางน้ำ ภาษีมลพิษทางอากาศ ภาษีคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์ด้วย
ตั้งสภาพลเมืองออกแบบให้ประชาชนมีส่วนร่วมหลากหลาย
ตามร่างพ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร เสนอให้มีสภาพลเมืองมีสมาชิก 200 คน มาจากสมาชิกสภาพลเมืองขององค์กรปกครองท้องถิ่นระดับล่าง องค์กรสาธารณะประโยชน์ กลุ่มวิชาชีพและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ผู้มาขึ้นทะเบียนและเลือกกันเอง สภาพลเมืองมีหน้าที่ให้ข้อเสนอและเป็นที่ปรึกษา เป็นฝ่ายตรวจสอบเปิดเวทีประชาพิจารณ์ เสนอปัญหาและแนวทางแก้ไข ก่อนการนำร่างข้อบัญญัติใดเข้าสู่การพิจารณาของสภาเชียงใหม่มหานคร ต้องจัดให้มีการรับฟังความเห็นก่อนอย่างน้อย 25 เทศบาล
นอกจากนี้ยังกำหนดช่องทางการมีส่วนร่วมในการปกครองตัวเองของประชาชน ให้เชียงใหม่มหานครจัดให้มีการสอบถามความเห็นของประชาชน ในเรื่องที่จะมีผลกระทบรุนแรงต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพลเมือง หรือในเรื่องใดที่ประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อกัน 5,000 คน เพื่อเสนอให้จัดการสอบถามความเห็น
หากจะมีการตัดสินใจในเรื่องที่กระทบพลเมืองอย่างกว้างขวางหรือมีข้อโต้แย้ง มีความเห็นขัดแย้งกันรุนแรงจะจัดให้มีการลงประชามติก็ได้
ประสานเสียงจากชาวเชียงใหม่หลายอาชีพ
ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานมูลนิธิสืบสานล้านนา กล่าวว่า เราถูกรวมศูนย์การจัดการและปกครองเชียงใหม่ว่า 130 ปีมาแล้ว เรามีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกรุงเทพมหานครครั้งแรกเมื่อปี 2518 เป็นเวลา 50 ปีที่แล้ว มีสส. ของเชียงใหม่ที่พยายามรณรงค์เรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ เกือบ 50 ปีมาแล้วเช่นกัน และเมื่อสิบปีที่แล้วเราก็รณรงค์รวบรวมรายชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร มาแล้วครั้งหนึ่ง และเสนอรายชื่อเมื่อ 25 ตุลาคม 2556 แต่เราถูกรัฐประหาร ทำให้ร่างกฎหมายไม่ได้ไปต่อ และกลับมาใหม่ในวันนี้ที่จะรวบรวมรายชื่อของประชาชนอีกครั้ง
ชาติชาย ธรรมโม ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ กล่าวว่า เราไม่ได้บอกว่าจะมาปกครองตัวเองโดยไร้เหตุผล เราอยากปกครองตัวเองโดยมีข้อตกลง เช่น จะสามารถใช้ลานท่าแพในการจัดกิจกรรมแสดงออกได้ มีพื้นที่ให้พี่น้องได้แสดงความคิดเห็นทางการเมือง มีดนตรี มีร้านค้า เชียงใหม่จะจัดการแบบพหุวัฒนธรรม เราจะสร้างข้อตกลงระดับหมู่บ้าน เมื่อมีภัยพิบัติมีฝุ่นควันพิษ เราจะคุยกันเองในหมู่พี่น้องว่าจะทำอย่างไร ไม่ใช่เพียงแค่รับรูปแบบการศึกษาจากภายนอกมาใช้
พลอย โพธิ์แก้ว ข้าราชการบำนาญ กล่าวว่า กรุงเทพฯ ตั้งมาได้สองร้อยกว่าปีแต่เมืองเชียงใหม่ตั้งมากว่า 700 ปี เมื่อกรุงเทพเป็น “มหานคร” ได้ เชียงใหม่ก็น่าจะเป็นมหานครได้ ตามร่างฉบับที่เสนอนี้เปิดให้พลเมืองในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหาร มีส่วนในการทำแผนการบริหารจัดการซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีเลย ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเราก็จะมีส่วนร่วมได้ ประชาชนไปแสดงความคิดได้ว่าใช้เงินอย่างไรจะคุ้มค่าหรือไม่ ประชาชนไปเข้าร่วมฟังการประชุมเชียงใหม่มหานครได้ ถ้ากฎหมายไม่ได้เขียนไว้ตอนนี้เราจะไปที่อบจ. อบต. ตอนประชุมสภากันเขาก็ไม่ให้เข้า
รุ้งนภา ชยุติมันต์กุล ผู้ประกอบการธุรกิจส่วนตัว กล่าวว่า คนจากทั่วโลกเดินทางมาเที่ยวที่เชียงใหม่ แต่เราก็เห็นว่ารถติดขนาดไหน ทำให้ต้องเผาผลาญน้ำมันสร้างฝุ่นควันและเปลืองค่าใช้จ่าย ถ้าเรามีรถไฟฟ้าได้จริงก็จะเกิดการสร้างโอกาสให้มีร้านค้าที่สถานีรถไฟฟ้า เราอยากมีบริการนั่งมอเตอร์ไซค์ไปหน้าปากซอยเหมือนที่กรุงเทพฯ สร้างงานสร้างอาชีพให้กับบริการวินมอเตอร์ไซค์ เชื่อมต่อการท่องเที่ยวถึงจุดต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ถ้าเรามีเชียงใหม่มหานครความต้องการของประชาชนจะถูกนำเสนอได้ ถูกพิจารณากลั่นกรองออกมาได้ง่าย เข้าใจได้ไม่ยากเลยที่จะคิดว่าชีวิตของพวกเราจะดีขึ้นได้อย่างไร
กรศิริ ธรรมาวุฒิกุล อดีตนักจัดการศึกษาชำนาญการพิเศษ กล่าวว่า เมื่อต้องอยู่ในระบบโรงเรียนไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนบนดอยหรือในเมืองล้วนต้องพบความยากลำบากของครูและข้อจำกัดที่จะส่งเสริมให้นักเรียนมีศักยภาพ ปัญหามาจากการเปลี่ยนโครงสร้างของระบบบริหารงานไปมา เปลี่ยนองค์กรจนจำชื่อยังไม่ได้ และกระทบต่อโรงเรียนที่ปรับตัวตามไม่ทัน งบประมาณที่ส่งลงมาให้โรงเรียนก็ไม่เพียงพอต่อการสร้างคน ครูต้องใช้เวลาไปต้อนรับคนที่มาประเมิน ความอึดอัดเหล่านี้มาจากการเป็นรัฐรวมศูนย์ แนวคิดเชียงใหม่มหานครจึงตอบโจทย์ที่เราจะบริหารจัดการด้วยคนของเรา ด้วยตัวของเราเอง การศึกษาจึงจะไปถึงฝั่งฝันได้
สราวุฒิ ภมรสุจริตกุล เกษตรกรรุ่นใหม่ กล่าวว่า เกษตรกรวันนี้ถูกรัฐสอนสนับสนุนให้แต่ปลูกๆๆ ทั้งที่ปลูกอะไรก็ไม่รู้ว่าจะขายได้เท่าไร จนมี PM2.5 คนปลูกอ้อยถูกกล่าวโทษว่าเป็นต้นเหตุ แต่สาเหตุที่เราต้องปลูกอ้อยเพราะปลูกอย่างอื่นแล้วไม่รู้ว่าจะขายอย่างไร ขายได้เท่าไร มีแต่อ้อยที่มีระบบการขายรองรับ ถ้าเรามีอำนาจจัดการตัวเองเราก็น่าจะมีออกแบบกันได้ว่า เราจะปลูกอะไร เชียงใหม่มีสภาพอากาศที่จะปลูกได้หลากหลายอย่าง เราต้องคิดกันเองว่าเชียงใหม่จะมีผลผลิตอะไรเป็นหลัก และจะขายอย่างไร
กระจายอำนาจยังไม่สำเร็จเพราะรัฐธรรมนูญ 60 ไม่เปิดทาง
ผศ.ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการสำรวจรัฐธรรมนูญของประเทศต่างๆ ทั้งโลกมา พบว่า รัฐธรรมนูญ 85% พูดถึงเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่น ประเทศที่ไม่ได้พูดถึงก็คือประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์ที่ส่วนกลางทำงานได้ครอบคลุม หรือประเทศตะวันออกกลาง ประเทศที่เป็นหมู่เกาะ บางประเทศที่เห็นความสำคัญของการกระจายอำนาจ เช่น ฝรั่งเศส ฟิลลิปปินส์ จะเขียนไว้ในมาตราแรกเลย แต่ของประเทศไทยกลับไม่ได้เขียน ไปเขียนในพ.ร.บ.การบริหารราชการต่างๆ หลายฉบับ โครงสร้างอย่างอบจ. อบต. ไม่ถูกเขียนในรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญบางประเทศจะเขียนอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรัฐบาลส่วนกลางให้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ อะไรที่อำนาจทับซ้อนกันก็เขียนไว้ แต่รัฐธรรมนูญไทยไม่เขียน ปล่อยให้เป็นเรื่องของกฎหมายจัดตั้งองค์กร กฎหมายเฉพาะ และในรัฐธรรมนูญ 2560 เองเอาคำว่า “กระจายอำนาจ” ออกไป เหมือนถอยหลังจากฉบับก่อนๆ จนกลายเป็นอุปสรรคที่ต้องรอเวลาให้มีการปลดล็อคอำนาจให้ท้องถิ่นต่อไป
สำหรับระบบการปกครองที่มีเขตการปกครองพิเศษหลายประเทศก็ถือเป็นเรื่องปกติ อย่างจีน ก็มีแคว้นสิบสองปันนาที่มีกฎหมายเฉพาะรับรองว่าข้าราชการต้องเป็นคนท้องถิ่นเท่านั้น อย่างอินโดนีเซียก็มีเขตปกครองตัวเอง เพื่อต้องการแก้ไขความขัดแย้งที่สั่งสมมาในทางประวัติศาสตร์ แต่ประเทศไทยกลับมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องอ่อนไหว
ศ.เกียรติคุณธเนศวร์เจริญเมืองนักวิชาการด้านการเมืองการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่นของไทยพัฒนาล่าช้าเพราะอำนาจอยู่ข้างบนหมดเลย รัฐธรรมนูญไม่ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจ นายกรัฐมนตรีคนนี้เคยบอกไว้ว่าจะให้มีเลือกตั้งผู้ว่าฯ พูดไว้ที่ภาคอีสาน แต่มาตอนนี้กลับหายไม่เห็นมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ สักทีนึง เราต้องช่วยกันทวงถามและติดตาม เจอที่ไหนต้องถามตลอด
“กรุงเทพฯ ตอนนี้มีรถไฟฟ้าตั้ง 8-9 สาย แล้วเชียงใหม่ยังไม่มีสักสายหนึ่ง รถก็ติดเหมือนกัน มันเป็นยังไงประเทศนี้ รถไฟฟ้าถึงมีได้แค่กรุงเทพ นายกฯ คนหนึ่งบอกจะสร้างรถไฟความเร็วสูงแล้วโดนรัฐประหาร ตอนนี้ก็หายเงียบ”
มีคนเคยถามว่า ถ้าให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ก็จะได้แต่คนนามสกุลใหญ่ๆ ของจังหวัดนั้นมาเป็นผู้ว่าฯ ขอท้าให้ลองมีสักทีหนึ่งก่อน กระแสการเลือกตั้งท้องถิ่นตอนนี้ไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว ครั้งนี้มีสีสันเพิ่มขึ้น ใครจะใหญ่มาจากไหนก็ตามพี่น้องจะติดตามการทำงานของพวกเขา การเลือกตั้งท้องถิ่นตอนนี้จะอยู่ในสายตาของประชาชน สมาชิกสภาจะติดตามตรวจสอบ