นายจ้างดูด่วน! ขัดขวาง ไม่ให้ความสะดวกลูกจ้างไปเลือกตั้ง อบจ. 1 กุมภาพันธ์ 2568 เสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้วันเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็นวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งตรงกับวันเสาร์ แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าลูกจ้างจำนวนมากยังต้องทำงานวันเสาร์ อาจไม่สะดวกหรือไม่มีเวลาเดินทางกลับไปยังภูมิลำเนาเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่น แต่กกต. ก็ยังคงยืนยันว่าจะไม่ขยับวันเลือกตั้ง อบจ. ออกไปเป็นวันอาทิตย์

การกำหนดวันเลือกตั้งท้องถิ่น พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ) มาตรา 11 กำหนดว่า กรณีที่สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นดำรงตำแหน่งครบวาระ ให้จัดการเลือกตั้ง “ภายใน” 45 วัน ซึ่ง 19 ธันวาคม 2567 เป็นวันที่นายก อบจ. และสมาชิกสภาองค์การบริการส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี เมื่อนับระยะเวลาจากวันที่ 19 ธันวาคม 2567 แล้ว วันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2568 ตรงวันที่ 45 พอดี ตามกฎหมายแล้ว กกต. สามารถเคาะวันเลือกตั้ง อบจ. เป็นวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2568 ได้ เพราะยังอยู่ “ภายใน” 45 วัน

เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2567 กกต. ชี้แจงกรณีการกำหนดวันเลือกตั้ง อบจ. เป็นวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ว่า ปกติแล้ว กกต. จะกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันอาทิตย์ของสัปดาห์สุดท้ายก่อนครบ 45 วัน แต่การเลือกตั้ง อบจ. ครั้งนี้ หากกำหนดวันเลือกเป็นวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2568 จะทำให้ไม่เหลือระยะเวลาที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และสุ่มเสี่ยงกับการจัดการเลือกตั้งเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด และเหตุผลที่ไม่กำหนดเป็นวันอาทิตย์ก่อนหน้า คือวันที่ 26 มกราคม 2568 เนื่องจากต้องประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.อบจ. 76 จังหวัดใหม่ และต้องมีระยะเวลาให้ผู้สมัครหาเสียง รวมถึงระยะเวลาดำเนินการต่างๆ ตามกฎหมาย

เมื่อเป็นที่ยุติแล้วว่าวันเลือกตั้ง อบจ. จะเป็นวันเสาร์ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ทำงานในกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดอื่นนอกภูมิลำเนาของตน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นลูกจ้างซึ่งมีอำนาจต่อรองน้อยกว่านายจ้างหรือผู้บังคับบังคับบัญชา อาจไม่มีโอกาสกลับบ้านไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้นายจ้างใช้อำนาจบังคับบัญชาสกัดกั้นสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมือง ในพ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ มาตรา 117 กำหนดบทลงโทษ ผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างหากขัดขวาง หน่วงเหนี่ยว หรือไม่ให้ความสะดวกผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกจ้างให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยไม่มีเหตุอันสมควร มีโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

บทบัญญัติดังกล่าว ไม่ได้ใช้เฉพาะการเลือกตั้ง อบจ. เท่านั้น แต่ใช้กับการเลือกตั้งท้องถิ่นในรูปแบบอื่นด้วย ได้แก่ การเลือกตั้งเทศบาล การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) การเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร และการเลือกตั้งเมืองพัทยา ดังนั้น หากนายจ้างหรือผู้บังคับบัญชาไม่ให้ความสะดวกให้ลูกจ้างไปใช้สิทธิในวันที่มีเลือกตั้งท้องถิ่นอื่นๆ โดยไม่มีเหตุจำเป็น ก็เสี่ยงผิดกฎหมายนี้เช่นกัน

บทลงโทษสำหรับนายจ้างที่ขัดขวางหรือไม่ให้ความสะดวกลูกจ้างไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่ได้มีเพียงแต่กรณีของการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่กฎหมายเลือกตั้งกฎหมายเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ก็กำหนดความผิดและบทลงโทษดังกล่าวไว้ในอัตราโทษเดียวกัน เพื่อเป็นหลักประกันอีกทางหนึ่งว่าพลเมืองในรัฐจะมีโอกาสไปมีส่วนร่วมทางการเมืองได้

นอกจากมาตรการทางกฎหมาย ทางฝ่ายบริหาร คือ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน ก็ได้ออกประกาศขอความร่วมมือนายจ้างให้ลูกจ้างไปใช้สิทธิเลือกตั้งวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 โดยไม่ถือเป็นวันลาหรือวันหยุด

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage