ในวาระการเลือกดั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ถือเป็นการเลือกตั้ง อบจ. ครั้งที่สองหลังจากการรัฐประหารในปี 2557 ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศแผนการเลือกตั้งและกำหนดแล้วว่าจะจัดการเลือกตั้ง อบจ. ในวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 โดยจะไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้าหรือการเลือกตั้งนอกเขต ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อบจ. จะต้องกลับไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ. ตามจังหวัดที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเท่านั้น
แต่ใครบ้างที่จะมีสิทธิเลือกตั้ง อบจ. พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ) มาตรา 38 ระบุว่าบุคคลดังต่อไปนี้เท่านั้นที่มีสิทธิเลือกตั้ง อบจ.
- มีสัญชาติไทย กรณีแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
- อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในวันเลือกตั้ง
- มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปี หมายความว่า ในการเลือกตั้ง อบจ. ทั่วประเทศที่จะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้ง อบจ. ในจังหวัดนั้นๆ ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 กรณีที่ย้ายทะเบียนบ้านข้ามจังหวัด และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของจังหวัดที่ย้ายไปติดต่อกันยังไม่ถึงหนึ่งปี จะไม่มีสิทธิเลือกตั้ง อบจ.
ในกรณีที่มีการย้ายทะเบียนบ้านออกจากเขตเลือกตั้งหนึ่งไปยังอีกเขตเลือกตั้งหนึ่งภายในจังหวัดเดียวกัน ไม่ถึงหนึ่งปีนับถึงวันเลือกตั้ง จะมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในเขตเลือกตั้งตามที่อยู่ในทะเบียนบ้านเดิม
สำหรับภิกษุ สามเณร นักพรต นักบวช ผู้ที่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ผู้ที่ถูกคุมขังอยู่โดยหมายศาล คนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ เป็นบุคคลต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ.
ย้ายทะเบียนบ้านข้ามจังหวัดไม่ถึง 1 ปี ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง อบจ.
เท่ากับว่าเมื่อพิจารณาจาก พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ แล้ว หากบุคคลใดย้ายทะเบียนบ้านข้ามจังหวัด โดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านติดต่อกันน้อยกว่าหนึ่งปี จะไม่มีสิทธิเลือกตั้ง อบจ. ในจังหวัดใหม่ที่ย้ายไป และจะไม่มีสิทธิเลือกตั้ง อบจ. ในจังหวัดเดิมก่อนที่จะย้าย เพราะในจังหวัดเดิมก็ไม่มีชื่อของตนอยู่ในทะเบียนบ้านแล้ว
ยกตัวอย่างเช่น เดิม สมพร มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดพัทลุงมาตั้งแต่เกิด แต่เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2567 สมพรได้ตัดสินใจย้ายทะเบียนบ้านข้ามจังหวัดไปอยู่ในจังหวัดสงขลา ซึ่งรวมระยะเวลาแล้วยังไม่ถึงหนึ่งปีที่สมพรได้ย้ายทะเบียนบ้านข้ามจังหวัด ในการเลือกตั้ง อบจ. ในวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 สมพรจะไม่มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่ใดๆเลย
โดยในจังหวัดใหม่ที่ย้ายทะเบียนบ้านมาสมพรจะไม่มีสิทธิเลือกตั้ง อบจ. ในจังหวัดสงขลา เนื่องจากมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดสงขลาติดต่อกันไม่ถึงหนึ่งปี และสมพรจะไม่มีสิทธิเลือกตั้งในจังหวัดเดิมคือจังหวัดพัทลุงด้วยเนื่องจากไม่มีชื่ออยูในทะเบียนบ้านในจังหวัดพัทลุงแล้ว
ย้ายทะเบียนบ้านในจังหวัดเดิมไม่ถึง 1 ปี ต้องกลับไปเลือกตั้ง ส.อบจ. ในทะเบียนบ้านเดิม
นอกจากในกรณีย้ายทะเบียนบ้านข้ามจังหวัดแล้ว สำหรับกรณีที่ย้ายทะเบียนบ้านภายในจังหวัด เช่นย้ายจาก อำเภอหนึ่งไปอีกอำเภอหนึ่งที่ยังอยู่ภายในจังหวัดเดียวกันโดยยังมีระยะเวลาที่อยู่ในทะเบียนบ้านใหม่ในจังหวัดเดียวกันไม่ถึง 1 ปี นับถึงวันที่กำหนดให้มีการเลือกตั้ง อบจ. พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ มาตรา 38 วรรคสองระบุให้กลับไปใช้สิทธิเลือกตั้งในทะเบียนบ้านเดิม
การเลือกตั้ง อบจ. ในวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 จะมีการเลือกตั้งทั้งสิ้นสองตำแหน่งภายในหนึ่งเขตการปกครองส่วนท้องถิ่น คือ 1) นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) และ 2) สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) แต่สำหรับการเลือกตั้ง อบจ. ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 นี้อาจไม่ใช่ทุกจังหวัดที่จะมีการเลือกตั้งครบทั้งสองตำแหน่ง เนื่องจากในบางจังหวัดมีนายก อบจ. ที่ชิงประกาศลาออกก่อนจึงทำให้ต้องมีการเลือกตั้งไปก่อนล่วงหน้าแล้ว อ่านเพิ่มเติมได้ที่
สำหรับกรณีที่บุคคลใดย้ายทะเบียนบ้านภายในจังหวัดยังไม่ถึงหนึ่งปีนับจากวันที่กำหนดให้มีการเลือกตั้ง อบจ. หรือย้ายทะเบียนบ้านภายในจังหวัดเดียวกันก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 บุคคลนั้นจะต้องกลับไปใช้สิทธิในเขตเดิมของตน
ซึ่งการเลือกนายก อบจ. จะใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ส่วนการเลือกตั้ง ส.อบจ. จะใช้อำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง ในกรณีที่บุคคลใดการย้ายทะเบียนบ้านในจังหวัดเดียวกัน โดยอาจย้ายอำเภออาจจะต้องกลับไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.อบจ. ในอำเภอเดิมของตนแทน
ยกตัวอย่างเช่น สมโภชน์ เดิมมีชื่อในทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา แต่เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2567 ซึ่งยังไม่ถึงหนึ่งปีนับจากวันเลือกตั้ง อบจ. ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 สมโภชน์ได้ย้ายทะเบียนบ้านจากอำเภอเมืองสงขลา ไปอยู่ในอำเภอหาดใหญ่ สมโภชน์จะยังมีสิทธิในการเลือกตั้ง นายก อบจ. ของจังหวัดสงขลา แต่สำหรับ ส.อบจ. สมโภชน์จะต้องกลับไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.อบจ. ในอำเภอเมืองสงขลาซึ่งเป็นอำเภอเดิมก่อนจะย้ายทะเบียนบ้าน
โดยสรุปแล้วหากย้ายทะเบียนบ้านข้ามอำเภอภายในจังหวัดเดียวกันและยังมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอใหม่นั้นไม่ถึงหนึ่งปี จะต้องกลับไปลงคะแนนเลือกตั้ง ส.อบจ.ในอำเภอเดิมเท่านั้น ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อบจ. จะต้องเช็คหมายเลขผู้สมัครให้ดี
ตรวจสอบรายชื่อตนเองก่อนวันเลือกตั้ง
สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วัน ที่ศาลากลางจังหวัดหรือที่ว่าการอำเภอ อบจ. ที่เลือกตั้งหรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง หรือสามารถตรวจรายชื่อจากเอกสารที่แจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ส่งมายังเจ้าบ้านได้ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 15 วัน หรือทางเว็บไซต์ตรวจสอบผู้มีสิทธิเลือกตั้งท้องถิ่น ของกระทรวงมหาดไทยได้ที่
https://stat.bora.dopa.go.th/Election/enqelectloc/#/
หากตรวจสอบแล้วพบว่าตนเองไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นเพื่อขอเพิ่มชื่อ ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน
โดยในกรณีการย้ายทะเบียนบ้านข้ามอำเภอภายในจังหวัดเดียวกันยังไม่ถึงหนึ่งปีแล้วพบว่าตนไม่มีชื่อเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็สามารถไปขอร้องขอให้เพิ่มชื่อได้เช่นเดียวกัน