นักกิจกรรมส่งจดหมายร้องเรียนถึงกลไกพิเศษ UN เหตุถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

ปี 2567 ไอลอว์จัดกิจกรรมอบรมนักกิจกรรมเรื่องการสื่อสารผ่านกลไกผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ ที่เปิดให้ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนสามารถส่งจดหมายร้องเรียนต่อผู้รายงานพิเศษในแต่ละอาณัติหรือประเด็นที่ผู้แทนคนนั้นๆรับผิดชอบอยู่ มีนักกิจกรรมเขียนจดหมายร้องเรียนผ่านกลไกนี้รวมเก้าฉบับ โดยการถูกละเมิดสิทธิของทั้งเก้าคนน่าจะเป็นผลสืบเนื่องจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ สำหรับรูปแบบการคุกคามที่ปรากฎในจดหมายที่ถูกส่งไปมีทั้งการคุกคามทางกายภาพและทางออนไลน์ การอายัดตัวซ้ำและการกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวที่มีลักษณะเป็นการจำกัดเสรีภาพและเข้าข่ายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

นักกิจกรรมที่ส่งจดหมายร้องเรียนต่อกลไกพิเศษสหประชาชาติมีดังนี้

  1. มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล : ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการปราศรัยเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์สามคดีและถูกศาลปฏิเสธการออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญเพื่อสู้คดีเช่น บันทึกการเดินทางเข้าออกประเทศของรัชกาลที่สิบ
  2. บี๋-นิราภร อ่อนขาว : ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 โดยถูกกล่าวหาว่า เป็นแอดมินเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม การสั่งฟ้องคดีมาตรา 112 ของนิราพรเพิ่งเกิดขึ้นหลังนิราภรไปร่วมพูดคุยในเวทีระหว่างประเทศโดยก่อนหน้านั้นสำนวนคดีค้างอยู่ในชั้นอัยการมาได้สองปี
  3. นิว-จตุพร แซ่อึง : ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการแต่งชุดไทยเดินแฟชั่นโดยถูกกล่าวหาว่า การกระทำของเธอเข้าข่ายเป็นการล้อเลียนพระราชินี นอกจากการถูกดำเนินคดีจตุพรยังถูกคุกคามทั้งทางกายภาพและทางออนไลน์
  4. รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล : ถูกคุกคามด้วยวิธีการอายัดตัวซ้ำ โดยหลังจากเธอถูกจับและคุมขังในคดีที่หนึ่ง เมื่อปล่อยก็ถูกแสดงหมายจับในคดีที่สองและขังอีกครั้งทั้งที่เจ้าหน้าที่สามารถแจ้งข้อกล่าวหาเธอเพิ่มเติมระหว่างที่เธอถูกควบคุมตัวได้ และเมื่อเธอได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวก็ถูกตั้งเงื่อนไขให้เธอต้องอยู่ในบ้านตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเข้าข่ายเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ
  5. โจเซฟ : ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และถูกตั้งเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวในลักษณะที่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพจนเกินสมควรและส่งผลกระทบต่อการทำงาน
  6. แหวน-ณัฐธิดา มีวังปลา : ถูกคุมขังโดยมิชอบในค่ายทหารระหว่างการรัฐประหาร 2557 โดยเธอถูกบีบบังคับให้รับสารภาพและให้การเท็จ หลังการถูกคุมขังเธอถูกดำเนินคดี ร่วมกันตระเตรียมการก่อการร้ายจากเหตุระเบิดลานจอดรถศาลอาญาเมื่อปี 2558 และคดีมาตรา 112 ซึ่งภายหลังศาลยกฟ้องเธอทั้งสองคดี
  7. ใบปอ-ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ : ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการทำโพลคำถามเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และการแชร์โพสต์จากเพจทะลุวัง และถูกตั้งเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวในลักษณะที่เป็นการจำกัดเสรีภาพเกินสมควร
  8. จิ๊บ-กัลยกร สุนทรพฤกษ์ : ถูกคุกคามหลังการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง
  9. อ๊อกฟอร์ด : ถูกตำรวจและเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ควบคุมตัว โดยอ้างว่า มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงจึงอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ ในการคุมตัว ขณะถูกควบคุมตัวอ๊อกฟอร์ดยังมีสถานะเป็นเยาวชน 

คุกคามทางกายภาพและบนโลกออนไลน์

นิว-จตุพร แซ่อึง นักกิจกรรมกลุ่ม We Volunteer และจำเลยคดีมาตรา 112 จากการสวมชุดไทยเดินแฟชั่นในการชุมนุมเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ถูกศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์สั่งลงโทษจำคุกสองปี การถูกดำเนินคดีเปลี่ยนชีวิตจตุพรในหลายด้าน คดีนี้ถูกรายงานต่อสาธารณะ ผู้คนรับรู้รวมถึงนายจ้างของจตุพรด้วย หลังเป็นข่าวเธอถูก ‘บีบ’ ทางอ้อมให้ต้องลาออกจากงาน เมื่อไปสมัครงานใหม่ก็ไม่ได้รับพิจารณาเข้าทำงานเหตุจากคดีชุดไทยของเธอ นอกจากนี้เมื่อเธอพยายามแสดงความเห็นต่อการดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรมบนเฟซบุ๊ก เธอก็ถูกคุกคาม มีการตัดต่อภาพพ่อแม่ของเธอใส่ไปในโลงศพและส่งมาให้เธอผ่านแชทเฟซบุ๊กพร้อมข้อความทำนองว่า อีกไม่นานจตุพรเองก็จะลงไปในโลงศพ

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ระหว่างที่จตุพรกับแฟนพาน้องสาวของแฟนไปรับทุนการศึกษาที่โรงเรียนในจังหวัดกาฬสินธุ์ เธอถูกกลุ่มตำรวจและผู้ใหญ่บ้านล้อมรถและบังคับให้จตุพรลงมาจากรถ พร้อมผลักเข้าไปในห้องมืดๆของโรงเรียนอ้างว่า มีเรื่องจะคุยด้วย จตุพรพยายามขัดขืนเพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย พร้อมต่อรองให้กลับไปคุยกันที่บ้านของแฟนเธอ สุดท้ายกลุ่มตำรวจและผู้ใหญ่บ้านยอมไป เมื่อไปถึงบ้านเจ้าหน้าที่แจ้งเธอว่าในวันนั้นจะมีการเสด็จของสมาชิกราชวงศ์และสั่งไม่ให้เธอไม่ยุ่งเกี่ยว จตุพรบอกว่า เธอไม่มีความตั้งใจที่จะกระทำการใดๆ แต่ตำรวจก็เฝ้าเธอที่บ้าน ในวันต่อมาตำรวจนำกระเช้ามาขอโทษเธอที่บ้านและขอเธอไม่ให้นำวิดีโอหรือข้อความเกี่ยวกับการ ‘เยี่ยมบ้าน’ ในวันก่อนหน้าไปเผยแพร่

จิ๊บ-กัลยกร สุนทรพฤกษ์ นักกิจกรรมกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ถูกคุกคามจากกรณีที่ระหว่างวันที่ 15-16 ธันวาคม 2564 เธอและเพื่อนนักกิจกรรมไปแขวนป้ายแสดงออกในพื้นที่กรุงเทพมหานครเช่น “ตุลาการเช่นนี้อย่ามีเลย” และ “ตุลาการ โจรถ่อย ปล่อยเพื่อนกู” ก่อนที่ศาลอาญาจะนัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วผู้ต้องขังทางการเมืองในวันที่ 17 ธันวาคม 2564 ต่อมาวันที่ 18 ธันวาคม 2564 มีจดหมายปริศนาส่งมาตามที่อยู่ที่บ้านของพ่อแม่เธอสามฉบับ มีข้อความเช่น “เป็นนักศึกษาก็ดีๆ ไม่ชอบ ชอบสร้างความเดือดร้อน” “พ่อแม่จะรู้ไหมว่า ส่งลูกมาเรียน แต่ลูกไปเป็นม็อบ” และ “ถ้ายังตัวเหมือนเดิมอย่าหวังว่าจะเรียนจบ” เธอคาดว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังจะต้องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเนื่องจากสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวชื่อและนามสกุล และที่อยู่ของพ่อแม่เธอได้ 

การคุกคามยกระดับขึ้นในวันที่ 6 มกราคม 2565 มีบุคคลที่อ้างตัวว่า เป็นตำรวจมาที่บ้านของพ่อแม่กัลยกร ให้เบอร์โทรศัพท์ของตำรวจสน.ปากคลองสานและบอกว่า ถ้าไม่อยากมีปัญหาให้โทรไปตามเบอร์นี้ แต่พ่อแม่ของเธอไม่ได้โทรเนื่องจากพฤติกรรมที่น่าสงสัยของบุคคลดังกล่าว

อายัดตัวซ้ำ จับกุม-คุมขังต่อเนื่อง

แหวน ณัฐธิดา มีวังปลา เป็นพยานปากสำคัญกรณีการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงและยิงประชาชนเสียชีวิตที่บริเวณวัดปทุมวนารามเมื่อปี 2553 วันที่ 11 มีนาคม 2558 ณัฐธิดาถูกจับกุมโดยไม่มีหมายจับและนำตัวไปคุมขังในค่ายทหาร ระหว่างนั้นเธอถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและคุกคามทางเพศ ขณะถูกคุมขังในค่ายทหาร เธอถูกสอบปากคำในกรณีที่เกี่ยวเนื่องกับการวางระเบิดลานจอดรถศาลอาญาเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2558 โดยไม่ให้เข้าถึงทนายความ สอบปากคำเป็นไปอย่างต่อเนื่องยาวนาน ไม่คำนึงถึงช่วงเวลาพักผ่อน เจ้าหน้าที่ยังข่มขู่ว่าหากเธอไม่ให้ความร่วมมือจะจับกุมลูกชายและครอบครัวของเธอ นอกจากนั้นยังมีการคุกคามทางเพศโดยการขยำที่หน้าอกและถามว่า “ทำหน้าอกมากี่ซีซี”

วันที่ 17 มีนาคม 2558 หลังได้รับการปล่อยตัวจากค่ายทหาร เธอถูกกล่าวหาว่า เกี่ยวข้องกับการวางระเบิดลานจอดรถศาลอาญาและศาลทหารกรุงเทพอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเป็นเวลากว่าสองปี จากนั้นวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 เธอได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว แต่ยังไม่ทันได้รับอิสรภาพตำรวจอายัดเธอตามหมายจับในคดีมาตรา 112 ที่ออกโดยศาลทหารกรุงเทพตั้งแต่ปี 2558 ต่อมาศาลอาญามีคำสั่งไม่ให้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ทำให้เธอต้องกลับไปอยู่ในเรือนจำอีกครั้งก่อนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในวันที่ 4 กันยายน 2561 รวมระยะเวลาคุมตัว 1,268 วัน

รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักกิจกรรมแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 รวมสิบคดี การใช้เทคนิคอายัดตัว จับกุมและขังวนซ้ำเกิดขึ้นในการชุมนุมของราษฎรที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปทำเนียบรัฐบาลระหว่างวันที่ 14-15 ตุลาคม 2563 ช่วงเย็นของวันที่ 14 ตุลาคม 2563 มีขบวนเสด็จของพระราชินีผ่านมายังบริเวณถนนพิษณุโลก ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นบริเวณที่ผู้ชุมนุมประกาศว่า จะจัดการชุมนุมมาก่อนหน้าแล้ว ระหว่างนั้นมีเหตุการณ์กระทบกระทั่งระหว่างผู้ชุมนุมปฏิรูปสถาบันกษัตริย์กับผู้ชุมนุมปกป้องสถาบันกษัตริย์แต่ขบวนเสด็จสามารถเคลื่อนผ่านไปได้ด้วยดี ต่อมาในเวลาประมาณ 01:00 น. ของวันที่ 15 ตุลาคม 2563 นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร และดำเนินการจับกุมบรรดาแกนนำการชุมนุม ปนัสยาถูกจับกุมด้วยโดยเจ้าหน้าที่แสดงหมายจับที่มีมูลเหตุจากการชุมนุมวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ซึ่งออกมาก่อนหน้าวันที่เธอถูกจับประมาณสองเดือน เมื่อถูกนำตัวไปฝากขังศาลจังหวัดธัญบุรีอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเป็นเหตุให้ปนัสยาถูกคุมขังเป็นเวลาหกวัน

ในวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ปนัสยาได้รับการปล่อยตัว แต่ก็มีตำรวจมาขออายัดตัวด้วยหมายจับในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ที่มีมูลเหตุจากการชุมนุมวันที่ 19-20 กันยายน 2563 ปนัสยาถูกคุมขังต่ออีกสิบวัน เมื่อเธอได้รับการปล่อยตัวอีกครั้งในวันที่ 30 ตุลาคม 2563 มีตำรวจนอกเครื่องแบบเข้าแสดงตัวเพื่ออายัดตัวเธอต่อ อายัดตัวต่อทันทีตามหมายจับของศาลจังหวัดนนทบุรีและศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทั้งที่หมายจับดังกล่าวสิ้นผลไปแล้วเนื่องจากตำรวจทั้งสองสถานีได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหากับเธอตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2563 ระหว่างที่เธอถูกคุมขัง ตำรวจสภ.เมืองนนทบุรีถอนหมายจับ แต่ตำรวจสภ.พระนครศรีอยุธยาไม่ถอนหมายจับและยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาต่อ ทนายความคัดค้านกระบวนการฝากขัง โดยโต้แย้งเรื่องหมายจับสิ้นผลตามกฎหมาย ท้ายที่สุดศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยายกคำร้องฝากขังของตำรวจ

วันเดียวกันตำรวจสน.ปทุมวันแจ้งข้อหาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯต่อปนัสยา เป็นคดีที่มีมูลเหตุจากการชุมนุมในเดือนมิถุนายน 2563 เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยไทยที่ถูกบังคับสูญหายระหว่างการลี้ภัยในกัมพูชา คดีนี้พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องฝากขังต่อศาลแขวงปทุมวัน แต่ศาลยกคำร้อง

การถูกอายัดตัวซ้ำ เป็นสถานการณ์ที่สร้างผลกระทบกับสภาพจิตใจของผู้ต้องหาได้ง่าย เพราะผู้ต้องหากำลังมีความยินดีที่จะได้รับอิสรภาพ แต่เมื่อได้เดินออกจากสถานที่คุมขังก็ต้องถูกจับให้กลับเข้าไปถูกคุมขังต่อ หลายคนมีโอกาสรู้ตัวล่วงหน้าว่าจะถูกอายัดตัวซ้ำ ขณะที่หลายคนก็ไม่อาจคาดหมายชะตากรรมของตัวเองได้ ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้อาจหลีกเลี่ยงได้ หากพนักงานสอบสวนปฏิบัติตามแนวปฏิบัติที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเคยวางเอาไว้ หลักการสำคัญคือ  หากผู้ต้องหาอยู่ระหว่างถูกคุมขังในคดีแรก พนักงานสอบสวนก็เริ่มการดำเนินคดี ทั้งการแจ้งข้อกล่าวหา การสอบสวน การสั่งฟ้อง ในคดีหลังไปเลย ระหว่างการถูกคุมขังผู้ต้องหาก็จะทราบว่า ตัวเองมีคดีอะไรติดตัวอยู่บ้าง จะต้องเตรียมตัวต่อสู้คดีอย่างไร จะต้องถูกคุมขังอีกนานเท่าไร แม้กระทั่งผู้ต้องหาถูกศาลพิพากษาลงโทษทั้งคดีแรกและคดีหลัง ผู้ต้องหาก็สามารถเตรียมใจและเตรียมการจัดการชีวิตให้สอดคล้องกับระยะเวลาการถูกคุมขังที่ต้องเผชิญได้

เงื่อนไขการประกันตัวที่ละเมิดเสรีภาพของนักกิจกรรม

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 29 ระบุว่า “…ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี…” ขณะที่กติกาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 9 (3) ระบุว่า การปล่อยตัวอาจกำหนดให้มีการประกันว่าจะมาปรากฏตัวในการพิจารณาคดี และข้อ 14(2) ประกันสิทธิในการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีการพิสูจน์ตามกฎหมายว่า มีความผิด

เงื่อนไขในการประกันตัวที่มีลักษณะร่วมกันของนักกิจกรรมทั้งเจ็ดคนที่ส่งจดหมายร้องเรียนมีดังนี้

  1. ห้ามทำกิจกรรมที่สร้างความเสื่อมเสียหรือกระทบกระเทือนต่อสถาบันกษัตริย์
  2. ห้ามเข้าร่วมการชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความไม่สงบ
  3. การจำกัดการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร
  4. การใส่กำไลอิเลกทรอนิกส์ติดตามตัว
  5. การคุมขังในบ้านตลอด 24 ชั่วโมงหรือการเคอร์ฟิว

เงื่อนไขการประกันตัวที่กำหนดเหล่านี้มีลักษณะเป็นการลงโทษล่วงหน้ามากกว่าการประกันว่าจะมาปรากฏตัวที่ศาล ซึ่งละเมิดข้อ 9(3) ของ ICCPR และละเมิดมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหลายประการ การห้ามเข้าร่วมการชุมนุมละเมิดข้อ 21 ของ ICCPR ว่าด้วยเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และข้อจำกัดในการเดินทางละเมิดข้อ 12 ของ ICCPR ว่าด้วยเสรีภาพในการเดินทาง

ในคดีมาตรา 112 ของปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล กรณีการปราศรัยของเธอในการชุมนุมเมื่อวันที่ 19-20กันยายน 2563 คำฟ้องระบุว่าการปราศรัยของเธอที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์และยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ 2560 และมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ศาลอาญากำหนดเงื่อนไขการประกันตัว หนึ่งในนั้นคือ ห้ามจำเลยทำกิจกรรมหรือก่อเหตุที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และการคุมขังในบ้านตลอด 24 ชั่วโมงเว้นแต่มีเหตุจำเป็นเพื่อการรักษาพยาบาล ไปเรียนไปสอบ ไปติดต่อราชการที่ศาลอื่น หรือมีเหตุอื่นโดยได้รับอนุญาตจากศาล แม้ว่าเธอจะยอมรับเงื่อนไขนี้โดยสมัครใจ แต่เงื่อนไขดังกล่าวทำหน้าที่เสมือนการลงโทษล่วงหน้าและสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวต่อผู้ใช้เสรีภาพ

ในทำนองเดียวกัน ในคดีของใบปอ-ณัฐณิช ดวงมุสิทธิ์จากการทำโพลเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565 ศาลอาญาได้กำหนดเงื่อนไขการประกันตัวระบุว่า ห้ามกระทำการในทำนองเดียวกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรือเกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เงื่อนไขเหล่านี้ไม่เพียงจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมของเธอเท่านั้น แต่ยังอาจละเมิดหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ตามข้อ 14(2) ของ ICCPR 

การไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญเพื่อใช้ต่อสู้คดีและการตัดพยานหลักฐานสำคัญในคดี

ในคดีมาตรา 112 จากการปราศรัยและอ่านแถลงการณ์ที่หน้าสถานทูตเยอรมนีเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ศาลอาญากรุงเทพใต้ยกคำร้องที่ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หนึ่งในจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกพยานเอกสารสำคัญ เช่น บันทึกการเดินทางเข้าออกประเทศของรัชกาลที่สิบจากสามหน่วยงานคือ การบินไทย สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสถานกงสุลไทยประจำมิวนิค รวมถึงงบประมาณของหน่วยราชการในพระองค์ โดยศาลให้เหตุผลว่าพยานเอกสารเหล่านั้นไม่เกี่ยวข้องกับคดี ศาลระบุชัดเจนว่า ศาลไม่ได้จะพิสูจน์ว่าคำพูดปราศรัยของจำเลยนั้นเป็นเรื่องจริงหรือเท็จ แต่จะพิสูจน์ว่าคำปราศรัยของจำเลยนั้นเข้าข่ายองค์ประกอบข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือไม่

เช่นเดียวกันกับคดีการปราศรัยที่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 ในนัดตรวจพยานหลักฐานทนายจำเลยแถลงมีพยานที่จะนำเข้าสืบรวม 28 ปาก แต่ศาลสั่งให้ตัดพยานออก 14 ปาก โดยระบุว่า ตามคําแถลงของทนายจำเลยที่ยื่นต่อศาลไม่ปรากฏว่าพยาน 14 ปากดังกล่าวมีความสำคัญและเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีนี้แต่อย่างใด รวมถึงตัดพยานเอกสาร 12 รายการ เช่น รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทปูนซีเมนต์ไทย รายละเอียดทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ฯ ระหว่างปี 2560-2564 ตารางเดินทางเข้าออกประเทศไทยของรัชกาลที่ 10 และไม่ออกหมายเรียกเอกสารดังกล่าวมาในคดีด้วยเหตุผลเดียวกัน

นอกจากคดีที่นักกิจกรรมส่งจดหมายร้องเรียนแล้วยังมีคดีอื่นๆ เช่น คดีการชุมนุมเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 และวันที่ 19-20 กันยายน 2563

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage