ตารางนัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 เดือนมกราคม 2568

สวัสดีปีใหม่ 2568 คดีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 ยังไม่หมดไปและยังมีแนวโน้มที่จะมีคดีใหม่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในเดือนมกราคม 2568 ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างน้อยเจ็ดคดี โดยมีสี่คดีที่เป็นคำพิพากษาอุทธรณ์และอีกสามคดีที่เป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้น สามในเจ็ดคดีเป็นกรณีที่ประชาชนผู้รักสถาบันกษัตริย์แจ้งความกล่าวโทษให้ตำรวจดำเนินคดี 

ตลอดปี 2567 ที่ผ่านมาหลายคดีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกฟ้อง เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลสูง ศาลกลับคำตัดสินของศาลชั้นต้น เป็นเหตุให้จำเลยคดีมาตรา 112 ต้องโทษและมีแนวโน้มที่เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลสูงแล้วศาลจะไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 มีผู้ต้องขังทางการเมืองอย่างน้อย 39 คน เป็นผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 รวม 24 คน 

ประสงค์ กรณีถูกประชาชนผู้รักสถาบันกษัตริย์แจ้งความจากการแชร์ 3 โพสต์วิจารณ์ ร.10

14 มกราคม 2568 เวลา 9.00 น. ศาลอาญาตลิ่งชันนัดประสงค์ โคตรสงคราม ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ หมายเลขคดีดำที่ อ.1220/2564 ในฐานความผิดหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ประสงค์เป็นชาวจังหวัดลพบุรีวัย 26 ปี ถูกกล่าวหาว่าโพสต์และแชร์เฟซบุ๊กในลักษณะ “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ซึ่งพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาตลิ่งชัน 1 ได้ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566  

คดีนี้ ประสงค์ถูกจับกุมตามหมายจับเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 จากบ้านในอำเภอเมืองลพบุรี ก่อนถูกนำตัวไปยัง สน.บางพลัด โดยมีฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ เป็นผู้กล่าวโทษ ฐิติวัฒน์อ้างว่าได้เปิดดูเฟซบุ๊กของกลุ่มบุคคลที่มักจะโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จนพบเห็นข้อความของผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง มีลักษณะหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จึงมาแจ้งความดำเนินคดี  

ภายหลังถูกจับกุม ศาลอาญาตลิ่งชันไม่อนุญาตให้ประกันตัวประสงค์ในระหว่างสอบสวน ทำให้เขาถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำชั่วคราวทุ่งน้อย จ.นครปฐม ซึ่งอยู่ภายในพื้นที่เรือนจำมณฑลทหารบกที่ 11 เป็นเวลา 21 วัน ก่อนจะถูกกักตัวต่อ เนื่องจากผู้ต้องขังในห้องเดียวกันติดโควิด-19 จนกระทั่งศาลอนุญาตให้ประกันตัว ในวันที่ 4 สิงหาคม 2564 ทำให้เขาต้องถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำชั่วคราวทุ่งน้อยรวมทั้งสิ้น 27 วัน 

ต่อมาวันที่ 12 มิถุนายน 2566 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมจำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี ไม่มีเหตุให้รอลงอาญา แต่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ 

จินนี่-จิรัชยา ไลฟ์บนเฟซบุ๊กขณะไป #ม็อบ25กรกฎา65 แห่เทียนไล่นายกฯ

15 มกราคม 2568 เวลา 9.30 น. ศาลอาญานัดจินนี่-จิรัชยา สกุลทอง นักกิจกรรมวัย 55 ปี ฟังคำพิพากษาหมายเลขคดีดำที่ อ.2951/2566 ในฐานความผิดหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

คดีนี้ เธอถูกแสดงหมายจับของศาลอาญา ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 และแจ้งว่า จะนำตัวไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ต่อมาหลังไปถึง บก.ปอท. จึงทราบสาเหตุที่ถูกกล่าวหาว่า มาจากการไลฟ์สดบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ในขณะที่กำลังเดินทางไปเข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ25กรกฎาคม แห่เทียนไล่นายกฯ ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มทะลุฟ้า บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 ที่สำคัญคดีนี้มีระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบันฯ (ศปปส.) เข้ากล่าวโทษกับพนักงานสอบสวนกองบังคับการ 3 บก.ปอท. เมื่อวันที่ 10 สิงฟาคม 2565 ให้ดำเนินคดี

สถาพร กรณีแสดงออกต่อขบวนเสด็จ ขณะผ่านอนุสาวรีย์ ปชต. เมื่อ พ.ค. 65 

15 มกราคม 2568 เวลา 9.30 น. ศาลอาญานัดสถาพร (สงวนนามสกุล) ฟังคำพิพากษาหมายเลขคดีดำที่ อ.1835/2566 ในฐานความผิดหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการแสดงออกระหว่างขบวนเสด็จของรัชกาลที่ 10 และพระราชินีสุทิดา ผ่านบริเวณหน้าแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 

คดีนี้มี พ.ต.ท.ศรายุทธ บุญธรรม รอง ผกก.สส.สน.ชนะสงคราม กับพวก เป็นผู้กล่าวหา โดยเห็นว่า การกระทำของสถาพรในวันดังกล่าว เป็นการกระทำที่มิบังควรอย่างแรง จาบจ้วง หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ เป็นการกระทำที่ทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์และรัชกาลที่ 10 และกระทบกระเทือนต่อจิตใจของคนไทยเป็นอย่างมาก 

สถาพรถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ 13 นาย เข้าจับกุมที่โรงแรมในตัวเมืองจังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2566 ก่อนจะถูกส่งตัวมายัง สน.ฉลองกรุง ซึ่งไม่ใช่ท้องที่เกิดเหตุ แต่ตำรวจแจ้งว่า ที่ สน.ชนะสงคราม ท้องที่เกิดเหตุ ไม่มีสถานที่ควบคุมตัวผู้ต้องหา ในชั้นจับกุมและสอบสวนสถาพรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนถูกตำรวจนำตัวไปฝากขังและศาลอาญาได้อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวด้วยหลักทรัพย์ 90,000 บาท 

‘ใจ’ นักศึกษาผู้ถูกกล่าวหาว่าใช้ทวิตเตอร์โพสต์ใส่ความรัชกาลที่ 9 

21 มกราคม 2568 เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัด ‘ใจ’ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ที่ขณะนั้นวัย 19 ปี ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หมายเลขคดีที่ อ.2964/2564 ในฐานความผิดหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) ‘ใจ’ ถูกอารีย์ จิวรรักษ์ ซึ่งรับมอบอำนาจจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แจ้งความดำเนินคดี 

คดีนี้ ‘ใจ’ ได้รับหมายเรียกจาก กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ระบุว่าให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาใน 2 ข้อหาดังกล่าว เมื่อเขาเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา พร้อมกับทนายความ พ.ต.ท.ภีมพศ เกตุเทศ รองผู้กำกับ (สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. และ ร.ต.อ.หญิงศศิพันธ์ คงเอียด รองสารวัตร (สอบสวน) ปรท.กก.3 บก.ปอท. ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหา โดยระบุพฤติการณ์คดีว่า ‘ใจ’ ใช้บัญชีทวิตเตอร์ทวิตข้อความ 1 ข้อความ ที่เป็นการกล่าวหา ใส่ความรัชกาลที่ 9 มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย และมีเจตนามุ่งหมายเพื่อให้ประชาชนที่เข้ามาอ่าน เกิดความรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชังพระมหากษัตริย์ และสถาบันพระมหากษัตริย์

พอร์ท-ไฟเย็น โพสต์ตุรกีรัฐประหารไม่สำเร็จ เพราะไม่มีกษัตริย์เซ็นรับรอง และอีก 2 ข้อความ

23 มกราคม 2568 เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดพอร์ท-ปริญญา ชีวินกุลปฐม หรือพอร์ท นักร้องนักดนตรีวงไฟเย็น ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หมายเลขคดีที่ อ.1245/2564 ในฐานความผิดหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีการโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว รวม 3 ข้อความ ได้แก่ ข้อความที่ 1 ที่โพสต์เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559 ข้อความที่ 2 ตามฟ้องที่โพสต์เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2559 และข้อความที่ 3 ที่โพสต์เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2559 โดยมีพ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม อายุ 58 ปี ขณะเกิดเหตุเป็นผู้กำกับการกองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เป็นผู้พบบัญชีเฟซบุ๊กลงข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 จำนวน 3 โพสต์ เมื่อพิจารณาจากรายงานที่ได้รับแล้วเห็นว่า โพสต์ดังกล่าวมีเนื้อหาในทำนองหมิ่นประมาทกษัตริย์จริง จึงได้ไปกล่าวโทษไว้กับพนักงานสอบสวนใต้บังคับบัญชาด้วยตัวเอง

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในวันที่ 15 สิงหาคม 2565 โดยมีใจความโดยสรุปว่า ทั้ง 3 ข้อความตามฟ้อง เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (2) (3) (5) ซึ่งเป็นกฎหมายเดิมขณะจำเลยกระทำความผิด ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีโทษบทหนักสุด ลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์อยู่บ้าง จึงลดโทษให้กระทงละ 1 ใน 3 เหลือโทษจำคุกรวม 6 ปี และให้ยกคำร้องขอริบของกลาง ซึ่งเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง และคอมพิวเตอร์แบบพกพา 1 เครื่อง ที่ตำรวจตรวจยึดมาได้ขณะเข้าจับกุมจำเลยที่บ้านพัก เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2564 เนื่องจากศาลเห็นว่า โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า จำเลยใช้อุปกรณ์ที่ตรวจมาได้ในการโพสต์ข้อความตามฟ้อง 

‘บังเอิญ’ ศิลปินขอนแก่น ถูกแกนนำ ศปปส. แจ้งความโพสต์ภาพพร้อมข้อความหมิ่นฯ ร.10 

29 มกราคม 2568 เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัด ‘บังเอิญ’ ศิลปินอิสระชาวขอนแก่น ฟังคำพิพากษาหมายเลขคดีที่ อ.1901/2566 ในฐานความผิดหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีที่เขาถูกกล่าวหาว่า โพสต์รูปภาพครอบครัวของรัชกาลที่ 10 พร้อมข้อความเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 ซึ่ง อานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้เข้ากล่าวโทษ เนื่องจากเห็นว่าข้อความดังกล่าวมีลักษณะดูหมิ่น หมิ่นพระเกียรติรัชกาลที่ 10 เขาถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 ทั้งสิ้นสองคดี โดยทั้งสองคดีมี อานนท์ กลิ่นแก้ว เป็นผู้กล่าวโทษเช่นเดียวกัน

พิมชนก กลุ่มมังกรปฏิวัติโพสต์ข้อความ “รัฐบาลส้นตีน นักก็ส้นตีน”  

29 มกราคม 2568 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดพิมชนก จิระไทยานนท์ หรือพิมชนก ใจหงษ์ นักกิจกรรมกลุ่มมังกรปฏิวัติ ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 หมายเลขคดีที่ อ.734/2565 ในฐานความผิดหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีโพสต์เฟซบุ๊กโดยพิมพ์ข้อความว่า “รัฐบาลส้นตีน สถาบันก็ส้นตีน” พิมชนกถูกจับกุมตามหมายจับของศาลจังหวัดเชียงใหม่จากหน้าที่พักย่านบางบอน ก่อนถูกนำตัวไปดำเนินคดีที่ยัง สภ.แม่โจ้ จ.เชียงใหม่ โดยตำรวจไม่มีการออกหมายเรียกมาก่อน พิมชนกถูกตำรวจสืบสวนกล่าวโทษจากการโพสต์วิจารณ์ตำรวจ 1 ข้อความในเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 โดยกล่าวหาว่า ข้อความดังกล่าวมีลักษณะดูหมิ่นกษัตริย์ หลังศาลให้ฝากขัง ได้ให้ประกันพิมชนก มีเงื่อนไขห้ามโพสต์ข้อความหรือกระทำการให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย และให้รายงานตัวต่อศาลทุก 12 วัน ซึ่งสร้างภาระให้กับพิมชนกซึ่งไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ที่เชียงใหม่เป็นอย่างมาก

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาในวันที่ 6 กันยายน 2566 โดยมีใจความว่าแม้ข้อความจะไม่ได้กล่าวถึงพระมหากษัตริย์พระองค์ใด แต่ศาลเห็นว่ามาตรา 112 คุ้มครองทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็เป็นองค์ประกอบของสถาบันพระมหากษัตริย์ ถ้อยคำของจำเลยเป็นการบริภาษ และมีเจตนาในการดูหมิ่น ให้ร้าย ลดทอนคุณค่าของพระมหากษัตริย์ จึงเห็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

พิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ก่อนให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage