คดี ม. 112 ของประสงค์ กรณีโพสต์-แชร์ข้อความวิจารณ์ ร.10 บนเฟซบุ๊ก

ชวนติดตาม คำพิพากษาอุทธรณ์ คดีม.112 ของประสงค์ศาลชั้นต้นให้จำคุกมาแล้ว รวมสามปี

14 มกราคม 2568 เวลา 09.00 น. ที่ห้อง 101 เวรชี้ ศาลอาญาตลิ่งชันนัดประสงค์ โคตรสงคราม หรือ โด่ง ชาวลพบุรี ฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ กรณีโพสต์ข้อความวิจารณ์รัชกาลที่สิบบนเฟซบุ๊ก โดยในคดีนี้ผู้แจ้งความคือ ฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ ประชาชนผู้ชูรูปรัชกาลที่เก้าในพื้นที่ชุมนุมของกลุ่มราษฎร

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับแจ้งว่าสน.บางพลัดและสภ.ท่าหิน จังหวัดลพบุรี รวม 16 คน ร่วมกันจับกุมตัวประสงค์จากบ้านพักในอำเภอเมืองลพบุรี โดยแจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดในฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามมาตรา 112 และยึดโทรศัพท์มือถือของประสงค์ไว้เป็นของกลาง

โดยสาเหตุที่นำมาสู่การจับกุมในครั้งนี้คือเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ พสกนิกรที่จงรักภักดีพบเห็นว่ามีข้อความในเฟซบุ๊กที่เชื่อว่าเข้าข่ายการหมิ่นประมาทกษัตริย์ จึงมาแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสืบสวนจึงรับแจ้งความและขออนุมัติศาลอาญาตลิ่งชันออกหมายจับและหมายค้น

ข้อกล่าวหาในคดีนี้ คือการโพสต์เฟซบุ๊กสามข้อความ โดยสองข้อความเป็นการโพสต์และแชร์เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 จากเฟซบุ๊กเพจ ‘เยาวชนปลดแอก-Free Youth’ ‘นักเรียนแฉยับ’ ‘Joe Gordon’ ในขณะที่อีกหนึ่งข้อความเป็นการแชร์ข้อความของเฟซบุ๊กที่ชื่อ ‘ชาติ ศาสนา ประชาชน’ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 

ในชั้นการสอบสวนประสงค์ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ตำรวจควบคุมตัวประสงค์ไว้ที่ สน. บางพลัด ก่อนจะนำตัวไปขออำนาจฝากขังที่ศาลอาญาตลิ่งชัน และศาลอาญาตลิ่งชันก็มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังและไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยระบุว่าเกรงผู้ต้องหาจะหลบหนีเนื่องจากเป็นคดีที่มีโทษสูง ก่อนจะให้ประกันตัวในภายหลังในวันที่ 4 สิงหาคม 2564 พร้อมเงื่อนไขต้องติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์และห้ามกระทำเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ ทำให้ประสงค์ต้องอยู่ในเรือนจำทั้งสิ้น 27 วัน

อัยการสั่งฟ้องในคดีนี้วันที่ 28 กันยายน 2564 โดยประสงค์ได้ให้การปฏิเสธและศาลอาญาตลิ่งชันก็ให้ประกันตัวประสงค์ด้วยหลักทรัพย์และสัญญาประกันเดิมในชั้นฝากขัง คือเงินสดมูลค่า 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร และห้ามกระทำการเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์

12 มิถุนายน 2566 ศาลอาญาตลิ่งชันอ่านพิพากษาในศาลชั้นต้น จำคุกประสงค์สองกระทง กระทงละสามปี รวมจำคุกหกปี แต่เนื่องจากประสงค์ให้การรับสารภาพ มีเหตุให้บรรเทาโทษจึงลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุกสามปี โดยไม่รอการลงโทษ ประสงค์ยื่นขอประกันตัวและศาลก็มีคำสั่งให้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างชั้นอุทธรณ์โดยให้วางหลักทรัพย์เพิ่มเติมรวมเป็นหลักทรัพย์ประกันทั้งสิ้น 200,000 บาทจากกองทุนราษฎรประสงค์

ส่วนในชั้นอุทธรณ์ ศาลอาญาตลิ่งชันนัดประสงค์ โคตรสงครามฟังคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ในวันที่ 14 มกราคม 2568 ในเวลา 09.00 น. ที่ห้อง 101 เวรชี้

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น แก้โทษจำคุกของประสงค์จาก 3 ปีเป็น 2 ปี 12 เดือน ก่อนมีคำสั่งให้ประกันตัวฎีกา

14 มกราคม 2568 เวลา 09:00 น. ศาลอาญาตลิ่งชันนัดประสงค์ โคตรสงคราม ชาวลพบุรี ฟังคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์กรณีโพสต์ข้อความวิจารณ์รัชกาลที่สิบบนเฟซบุ๊ก โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นแต่ให้แก้โทษจากโทษจำคุกรวมสามปี เป็นสองปี 12 เดือนแทน 

เวลาประมาณ 10:00 น. ผู้พิพากษาขึ้นบัลลังก์อ่านคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์สรุปใจความได้ว่าคดีนี้มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่ทั้งพนักงานอัยการและตัวจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ ในประเด็นการอุทธรณ์ของพนักงานอัยการคือปัญหาว่า ต้องริบโทรศัพท์มือถือของจำเลยเป็นของกลางหรือไม่ เนื่องจากพนักงานอัยการอุทธรณ์ว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้ใช้กระทำความผิดในฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ ศาลอุทธรณ์จึงวินิจฉัยริบทรัพย์ไว้เป็นของกลางตามคำอุทธรณ์ของพนักงานอัยการ

ส่วนประเด็นของจำเลยคือ จำเลยอุทธรณ์ว่ามีเหตุให้ลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษหรือไม่นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยถือเป็นเรื่องร้ายแรงและศาลชั้นต้นได้วางโทษขั้นต่ำและเบาที่สุดแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลอุทธรณ์จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงอีก แต่ในคดีนี้จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลชั้นต้นรวมโทษทุกกระทงแล้วจึงลดโทษให้จำเลยในภายหลังเนื่องจากจำเลยรับสารภาพ แทนที่จะลดโทษแต่ละกระทงก่อนแล้วค่อยรวมโทษ ถือว่าเป็นผลร้ายแก่จำเลย ศาลอุทธรณ์จึงแก้ไขโทษให้ถูกต้อง โดยเดิมในศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำคุกประสงค์ จากความผิดสองกระทง กระทงละสามปี รวมโทษจำคุกทั้งสิ้นหกปี ซึ่งประสงค์ให้การรับสารภาพจึงลดโทษเหลือสามปี ศาลแก้ไขโทษจากกระทงละสามปี เหลือกระทงละหนึ่งปีหกเดือน จึงรวมโทษใหม่สองกระทงของประสงค์ใหม่เป็นสองปี 12 เดือนแทน

ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 21 วรรคสอง ระบุว่า หากกำหนดโทษจำคุกเป็นเดือนให้นับ 30 วันเป็นหนึ่งเดือน แต่ถ้ากำหนดเป็นปีให้นับวันตามปีในปฏิทินนั้น ซึ่งในแต่ละปีอาจจะมีจำนวนวันที่ไม่เท่ากัน เช่นในปีทั่วไปจะมี 365 วัน แต่ในปีอธิกสุรทินจะมี 366 วัน ดังนั้นโทษจำคุก 12 เดือนหรือ 360 วัน กับโทษจำคุกหนึ่งปีจึงมีความแตกต่างกัน

ต่อมาประสงค์ได้ยื่นประกันตัว โดยในเวลา 14:30 น. ศาลอาญาตลิ่งชั้นมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวประสงค์ระหว่างฎีกาคำพิพากษา โดยให้วางหลักทรัพย์ 266,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขให้ต้องขออนุญาตก่อนเดินทางออกนอกประเทศ

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage