พรรคประชาชนเสนอเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ แก้ 256 ตัดเงื่อนไข สว. 2 ใน 3 – เลือกตั้ง สสร. 100%

การ “เขียนรัฐธรรมนูญใหม่” กลับมาอยู่บนวาระให้รัฐสภาต้องพิจารณาอีกครั้ง หลังประธานรัฐสภา วันมูหะมัดนอร์ มะทา บรรจุวาระในการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อเปิดกระบวนการให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนเมษายน 2567 รัฐสภาเคยมีข้อถกเถียงกันว่าจะสามารถบรรจุวาระแก้รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 เพื่อเดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้หรือไม่เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ระบุว่าการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่จะต้องทำประชามติ “ก่อน” และ “หลัง” ด้วย 

ประเด็นคำวินิจฉัยที่ 4/2564 นี้นำไปสู่ข้อถกเถียงว่าสำหรับการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่โดยการเพิ่มหมวด “การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” จะต้องทำประชามติทั้งสิ้นกี่รอบ ตามแนวทางของรัฐบาลเพื่อไทยระบุว่าจะต้องทำทั้งสิ้นสามครั้ง โดยทำครั้งที่หนึ่งก่อนที่รัฐสภาจะริเริ่มแก้ไขมาตรา 256 ครั้งที่สองเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ ตามเงื่อนไขของมาตรา 256 เดิม และทำครั้งที่สามภายหลังจากที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จสิ้นแล้วและให้ประชาชนลงมติว่าเห็นชอบหรือไม่

ในขณะที่พรรคประชาชนและภาคประชาชนต่างเห็นพ้องว่า การทำประชามติเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่นั้นทำแค่สองครั้งก็เพียงพอแล้ว โดยเห็นว่าสำหรับคำวินิจฉัยที่ 4/2564 นั้น เมื่อดูคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดแล้วก็จะพบว่ามีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก จำนวนหกคนจากเก้าคน ที่ระบุว่าการทำประชามติเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่นั้น ต้องทำ “สองครั้ง” โดยตัดการทำประชามติครั้งแรกก่อนการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 ออก

หลังพรรคประชาชนและเครือข่าย Conforall ยื่นหนังสือต่อประธานรัฐสภาเรียกร้องให้พิจารณาทบทวนการบรรจุวาระแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อเปิดทางไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ และมีการนัดหมายพูดคุยกันระหว่างพริษฐ์ วัชรสินธุ และประธานรัฐสภา กับทีมงานฝ่ายกฎหมายของรัฐสภา ล่าสุดประธานรัฐสภาตัดสินใจนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ บรรจุวาระเรียบร้อยแล้วซึ่งจะทำให้วาระการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่กลับมาถูกพิจารณาในรัฐสภาอีกครั้ง

ซึ่งร่างที่บรรจุวาระในเว็บไซต์ web.parliament.go.th เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2567 คือร่างที่ถูกเสนอโดยสส. พรรคประชาชน นำโดยพริษฐ์ วัชรสินธุ  โดยในร่างฉบับนี้มีสาระสำคัญสองส่วน ส่วนแรกคือการปรับแก้เนื้อหาของมาตรา 256 ว่าด้วยอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนที่สอง คือ การเพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อจัดตั้ง สสร. จากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงทั้งหมด 

ตัดเงื่อนไข สว. แก้รัฐธรรมนูญ เพิ่มเงื่อนไขเสียง 2 ใน 3 ของสส.

ในร่างแก้รัฐธรรมนูญ ที่ สส. พรรคประชาชน เสนอเพื่อแก้กลไก “วิธีการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ระบุเหตุผลว่า เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปตามฉันทามติในวงกว้างของประชาชนหรือความเห็นชอบของ สส. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จึงต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 ซึ่งใจความหลักของข้อเสนอของพรรคประชาชนในการแก้ไขมาตรา 256 คือตัดเงื่อนไขที่จะต้องได้เสียง สว. หนึ่งในสาม หรือต้องมี สว. เห็นชอบไม่น้อยกว่า 67 คน ในการลงมติเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่หนึ่งและวาระที่สาม เปลี่ยนเป็นต้องอาศัย “เสียงข้างมากเด็ดขาด” คือ ต้องได้เสียงสองในสามของสส.

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 กำหนดวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยวางกลไกตั้งแต่ขั้นการเสนอญัตติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญไปจนถึงขั้นสุดท้ายในการนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งเป็นกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยากและซับซ้อนที่สุดในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทย โดยเดิมพื้นฐานวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 แบ่งออกเป็นสามขั้นตอนหลัก คือ 

  1. การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ
  2. การพิจารณาของรัฐสภา
  3. การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

ข้อเสนอของพรรคประชาชนจะปรับปรุงทั้งในสามขั้นตอนดังกล่าว ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1: สส. – รัฐสภา เสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้น

สำหรับการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นอกจากคณะรัฐมนตรีและประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คนแล้ว สส. และสมาชิกรัฐสภา (สส. และ สว.) ยังมีสิทธิเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของ สส. (สส. ไม่น้อยกว่า 100 คน) หรือของสมาชิกรัฐสภา (สส.และสว. ไม่น้อยกว่า 140 คน) เพื่อเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ หลักเกณฑ์นี้ทำให้ที่ผ่านมาสส. ที่จะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้จะต้องมาจากพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่มีสส. เกิน 100 คน หรือต้องเกิดจากการเจรจาและ “ดีล” ทางการเมืองจึงจะทำให้ข้อเสนอถูกบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมได้

โดยข้อเสนอของพรรคประชาชนปรับเกณฑ์เงื่อนไขจำนวนขั้นต่ำในการเสนอญัตติ โดยปรับลดจากหนึ่งในห้าเป็น “หนึ่งในสิบ” ซึ่งจะทำให้การเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภาทำได้ง่ายขึ้น โดยเงื่อนไขใหม่นี้จะใช้เสียง สส. ไม่น้อยกว่า 50 คน และสมาชิกรัฐสภา ไม่น้อยกว่า 70 คน เท่านั้น

หรือกล่าวโดยง่ายว่าการปรับเกณฑ์ขั้นต่ำที่ สส. หรือสมาชิกรัฐสภาจะเสนอญัตติแก้รัฐธรรมนูญ ให้น้อยลง “สองเท่า”

ขั้นตอนที่ 2: ตัดเงื่อนไข สว. 1 ใน 3 ใช้เสียง 2 ใน 3 ของ สส. แทน

อุปสรรคหลักในการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือการจะต้องผ่านด่าน “รับหลักการ” ในวาระที่หนึ่ง และด่านลงมติในวาระที่สาม ซึ่งในทั้งสองด่านนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 (3) และ (6) ระบุให้ นอกจากที่สมาชิกรัฐสภาจะต้องเห็นด้วยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งหรือไม่น้อยกว่า 350 คนแล้ว ในจำนวนที่เห็นชอบนี้จะต้องประกอบไปด้วยเสียงเห็นชอบของ สว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม หรือต้องมี สว. เห็นชอบไม่น้อยกว่า 67 คนอีกด้วย

ด่านรับหลักการ 

ข้อเสนอของพรรคประชาชนปรับเปลี่ยนเกณฑ์เงื่อนไขที่รัฐสภาจะมีมติเห็นชอบเพื่อรับหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยแก้ไขเงื่อนไขในการรับหลักการจากเดิมที่ในจำนวนเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา หรือไม่น้อยกว่า 350 คนของรัฐสภานั้นจะต้องประกอบไปด้วยเสียงของ สว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม หรือ สว. เห็นชอบไม่น้อยกว่า 67 คน 

แก้ไขเป็นในจำนวนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา หรือ ไม่น้อยกว่า 350 คน จะต้องประกอบไปด้วยเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่าสองในสามของ สส. หรือ สส. เห็นชอบด้วยอีกไม่น้อยกว่า 334 คนแทน ซึ่งจะทำให้การลงมติของรัฐสภาในการพิจารณารับหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องใช้เสียง สว. อีกต่อไป หาก สว. ทั้งหมดยืนกรานไม่เห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เสียงเห็นชอบจากสส. รวมกันได้ไม่น้อยกว่า 350 โดยเป็นเสียง สส. อย่างน้อย 334 คนเห็นชอบ ก็ผ่านด่านขั้นแรกไปได้

ด่านวาระที่สาม

เมื่อผ่านด่านรับหลักการและด่านการพิจารณารายมาตราในวาระที่สองแล้ว ในเงื่อนไขการพิจารณาในด่านวาระที่สามนี้ เดิมจะต้องมีเสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภามากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ หรือไม่น้อยกว่า 351 คน และมีเกณฑ์เสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งนี้จะต้องประกอบไปด้วย

  • สส. จากพรรคที่ไม่มี สมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานสภา หรือรองประธานสภา (พรรคฝ่ายค้าน) ร้อยละ 20
  • สว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม หรือไม่น้อยกว่า 67 คน

ซึ่งพรรคประชาชนเสนอแก้ไขหลักเกณฑ์ในวาระสามนี้ โดยให้จำนวนเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งหรือไม่น้อยกว่า 351 เสียงนั้นต้องประกอบไปด้วยเสียงเห็นชอบของ สส. ไม่น้อยกว่าสองในสามหรือ สส. เห็นชอบไม่น้อยกว่า 334 เสียงแทน

โดยสรุปสำหรับในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภา พรรคประชาชนเสนอตัดเงื่อนไขการลงมติเห็นชอบของ สว. ออกทั้งหมด ซึ่ง สว. จะลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยจำนวนเท่าไหร่ก็ได้ แต่ญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้จะผ่านอุปสรรคทั้งสองด่านไปได้ ภายใต้หลักเกณฑ์เช่นนี้ รัฐสภาสามารถใช้เพียงเสียง สส. 351 เสียงก็เพียงพอต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเกินเกณฑ์ทั้งเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา และไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวน สส. อีกด้วย โดย สว. จะลงมติอย่างไรก็ได้ 

ขั้นตอนที่ 3: ทำประชามติแค่การแก้หมวด 15 – เขียนรัฐธรรมนูญใหม่เท่านั้น

ตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆ ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาทุกเงื่อนไขทุกวาระแล้ว ก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ หากว่าในร่างแก้ไขนั้นมีการแก้ไขในประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้ จะต้องจัดให้มีการทำประชามติเสียก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ

  • หมวด 1 บททั่วไป
  • หมวด 2 พระมหากษัตริย์ 
  • หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 
  • เรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ
  • เรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาล หรือองค์กรอิสระ 
  • เรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้

พรรคประชาชนเสนอแก้ไขให้จำเป็นต้องทำประชามติเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องที่เกี่ยวกับหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เท่านั้น เท่ากับว่า ตามข้อเสนอชุดนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมายตราในประเด็นคุณสมบัติของรัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือการแก้ไขอำนาจของศาลและองค์กรอิสระ ไม่จำเป็นต้องทำประชามติอีกต่อไป หากผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้วสามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญต่อไปได้

ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนขึ้นทูลเกล้าเพิ่มเป็นเกณฑ์ 1 ใน 5

ในกรณีที่สส. หรือสว. บางส่วนเห็นว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภามาแล้ว อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองหรือรูปแบบของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 255 หรือเป็นร่างที่ต้องจัดทำประชามติเสียก่อน ให้ สส. สว. หรือสมาชิกรัฐสภา ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบ หรือจำนวนดังนี้

  • สส. ไม่น้อยกว่า 50 คน 
  • สว.ไม่น้อยกว่า 20 คน 
  • หรือสมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่า 70 คน

มีสิทธิเข้าชื่อเสนอเรื่องไปยังประธานสภาของตน หรือประธานรัฐสภาให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้ โดยในระหว่างที่ศาลยังไม่มีคำวินิจฉัยยังไม่สามารถนำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบนี้ขึ้นทูลเกล้าฯได้ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่ที่ได้รับเรื่อง ซึ่งขั้นตอนนี้ยังไม่เคยมีกรณีเกิดขึ้นจริงแต่ก็อาจจะถูกใช้เพื่อ “ถ่วงเวลา” การแก้ไขรัฐธรรมนูญจากฝ่ายที่ต้องการรักษาฐานอำนาจเดิมเอาไว้ให้ยาวนานที่สุดได้

พรรคประชาชนเสนอแก้ไขให้ขั้นตอนนี้ทำได้ยากขึ้น โดยแก้ไขสัดส่วนจากเดิมที่ สส. สว. หรือสมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบมีสิทธิเสนอเรื่องให้เป็นหนึ่งในห้าแทน หรือจำนวนดังนี้ 

  • สส. ไม่น้อยกว่า 100 คน 
  • สว.ไม่น้อยกว่า 40 คน
  • หรือสมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่า 140 คน

กล่าวโดยง่ายว่าจะต้องใช้เสียงมากขึ้น “สองเท่า” ในการที่จะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย

เลือกตั้ง สสร. วางแนวทางเขียนรัฐธรรมนูญใหม่

ข้อเสนอของพรรคประชาชนระบุให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยจะมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง ซึ่งการเสนอนี้ทำโดยการเพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งจะมีเพิ่มมาทั้งสิ้น 29 มาตรา ตั้งแต่ มาตรา 256/1 – 256/29

มาตรา 256/1 – 256/29 ระบุตั้งแต่วิธีการได้มาซึ่ง สสร. อำนาจหน้าที่และการกำหนดกรอบระยะเวลาในการทำงานเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ของ สสร. วิธีการดำเนินงานของ สสร. ไปจนถึงว่า กระบวนการหาก สสร. ไม่สามารถดำเนินภารกิจเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทันภายในเงื่อนไขเวลาจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป

ตามข้อเสนอของพรรคประชาชน สสร. มีที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนทั้งสิ้น 200 คน โดยแบ่งเป็น

  • แบบแบ่งเขตตามจังหวัด 100 คน 
  • แบบบัญชีรายชื่อโดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง 100 คน 

คุณสมบัติ สสร. อายุ 18 ก็สมัครได้

ข้อเสนอพรรคประชาชนกำหนดคุณสมบัติของ สสร. ไว้อย่าง “ผ่อนคลาย” ต่างจากคุณสมบัติของ สส. ที่จะต้องอายุ 25 ปี ในวันเลือกตั้ง หรือต่างจาก สว. 2567 ที่จะต้องมีอายุมากถึง 40 ปี รวมถึงไม่ได้กำหนดการศึกษาขั้นพื้นฐานไว้อีกด้วย เป็นการเปิดกว้างให้ประชาชนทุกภาคส่วนสามารถสมัครเพื่อเข้ามาเป็นคนเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้

โดยผู้ที่จะสามารถสมัครเป็น สสร. ให้ประชาชนเลือกได้นั้น ตามมาตรา 256/4 จะต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้ 

  • มีสัญชาติไทย
  • อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง สสร.
  • ผู้สมัครในแบบแบ่งเขตตามจังหวัดจะต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
    • มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครติดต่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปีจนถึงวันสมัคร
    • อาศัย ทำงาน หรือเรียน ในเขตเลือกตั้งนั้นติดต่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับถึงวันเลือกตั้ง สสร.
    • เกิดในจังหวัดที่สมัคร
    • เคยเรียนอยู่ในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามปีการศึกษา
    • เคยรับราชการหรือปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามปี
    • เคยมีชื่ออยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามปี

และตามมาตรา 256/6 ผู้ที่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ ห้ามไม่ให้ลงสมัคร สสร.

  • เป็นภิกษุ สามเณร หรือนักบวช
  • อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะสิ้นสุดแล้วหรือไม่
  • วิกลจริต จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
  • ติดยาเสพติดให้โทษ
  • ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายศาล
  • เคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
  • ให้ถูกสั่งได้พ้นราชการหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือทุจริตหรือประพฤติมิชอบในราชการ
  • เคยต้องทำพิพากษาของศาลให้ถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือต้องคำพิพากษาอันเป็นที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
  • เคยต้องคำพิพากษาให้ถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายเกี่ยวข้องกับยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิ ตนำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
  • เคยต้องทำพิพากษาถึงที่สุดว่าทุจริตในการเลือกตั้ง
  • พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากหาประโยชน์จากการพิจารณางบประมาณ หรือถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินให้มีความผิดตาม รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 144 หรือมาตรา 235
  • เป็น สส. สว. หรือรัฐมนตรี
  • เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
  • เป็นข้าราชการการเมือง
  • เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ 

ผู้ที่มีคุณสมบัติครบตามมาตรา 256/4  และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 256/6 สามารถสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้สมัคร สสร. ได้ โดยจะต้องสมัครในรูปแบบอย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างแบบแบ่งเขตตามจังหวัดและแบบบัญชีรายชื่อ จะสมัครทั้งสองรูปแบบพร้อมกันไม่ได้

สสร. แบ่งเขต ประชาชนเลือกเป็นคน ตามจังหวัด 100 คน

โดยในการเลือก สสร. แบบแบ่งเขตตามจังหวัดจะมี สสร. ทั้งสิ้น 100 คน ผู้สมัครจะต้องสมัครเป็นรายบุคคล (ไม่สังกัดทีมหรือพรรค) ซึ่งจะชี้วัดกันที่ผลการเลือกตั้งในจังหวัดโดยให้เรียงคะแนนตามลำดับจนครบจำนวน สสร. พึงมีในแต่ละจังหวัด และให้ผู้สมัครที่ได้คะแนนมากที่สุดซึ่งอยู่ในจำนวน สสร. พึงมีของจังหวัดนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกเป็น สสร. แบบแบ่งเขตตามจังหวัด

แต่ละจังหวัดจะมี สสร. ได้จำนวนไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร ซึ่งมาตรา 256/2 ได้กำหนดวิธีคำนวณ สสร. ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีไว้ดังนี้ 

  1. ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง สสร. เฉลี่ยด้วยจำนวน สสร. แบบแบ่งเขต คือ 100 คน 

เช่น หากประเทศไทยมีราษฎรทั้งประเทศ 60 ล้านคนเมื่อเฉลี่ยด้วยจำนวน สสร. 100 คน ก็จะได้ราษฎร 600,000 คน ต่อ สสร.หนึ่งคน หากจังหวัดใดมีประชากร 600,000 คนพอดี ก็ถือว่ามี สสร หนึ่งคน

  1. จังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงเกณฑ์ สสร.หนึ่งคน ให้จังหวัดนั้นมี สสร. ได้หนึ่งคนเท่านั้น 

เช่น เมื่อมีการเฉลี่ยจำนวนราษฎรต่อสสร.แบบจังหวัดหนึ่งคนแล้ว หากจังหวัด ข. มีจำนวนราษฎรเพียง 300,000 คนให้ถือว่าจะมี สสร. พึงมี ได้ หนึ่งคน

  1. ส่วนจังหวัดใดมีราษฎรเกินจำนวนราษฎรต่อจำนวน สสร. หนึ่งคน ให้จังหวัดนั้นเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนทุกจำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์ราษฎรต่อ สสร. หนึ่งคน แต่จะเพิ่มให้จังหวัดใดมี สสร. เกินห้าคนไม่ได้

เช่น เมื่อมีการเฉลี่ยจำนวนราษฎร 600,000 คน ต่อสสร.แบบจังหวัดหนึ่งคน หากจังหวัด ค. มี ประชากร 3,600,000 คน เมื่อคำนวณแล้ว จังหวัด ค. จะต้องมี สสร. พึงมีหกคน แต่ในข้อที่ 3 นี้ระบุให้มีเพียงห้าคนเท่านั้น จึงทำให้ จังหวัด ค. จะมี สสร. ได้แค่เพียงห้าคน แม้ว่าจะมีจำนวนราษฎรเกินเกณฑ์ก็ตาม 

  1. เมื่อคำนวณหา สสร. พึงมีของแต่ละจังหวัดแล้วพบว่ามีจำนวน สสร. แบ่งเขตตามจังหวัดทั้งหมดไม่ครบ 100 คน ให้จังหวัดที่มีเศษเหลือจากการคำนวณมากที่สุด ให้จังหวัดนั้นมี สสร. เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน และให้เพิ่ม สสร. ตามวิธีการเดียวกันแก่จังหวัดที่มีเศษรองลงมาตามลำดับ จนกว่าจะมีจำนวน สสร. ครบ 100 คน

เช่น เมื่อมีการเฉลี่ยจำนวนราษฎร 600,000 คน ต่อสสร.แบบจังหวัดหนึ่งคน หากจังหวัด ง มีราษฎรทั้งสิ้น 1,799,900 คน เมื่อนำจำนวนราษฎรมาคำนวณแล้วจะต้องมี สสร. พึงมีเพียง 2 คน แต่เนื่องด้วยมีเศษส่วนต่างสูงถึง 599,900 คน จังหวัด ง. จะมีจำนวน สสร. พึงมีเพิ่มอีกหนึ่งคน และให้ใช้วิธีการดังกล่าวนี้กับจังหวัดที่มีเศษส่วนต่างน้อยกว่าจังหวัด ง. ไปตามลำดับ

  1. เมื่อคำนวณหา สสร. พึงมีของแต่ละจังหวัดแล้วพบว่ามีจำนวน สสร. แบ่งเขตตามจังหวัดทั้งหมดเกิน 100 คน ให้จังหวัดที่มีการคำนวณว่ามี สสร. พึงมีตั้งแต่สองคนขึ้นไป และมีเศษที่เหลือจากการคำนวณน้อยที่สุด ให้จังหวัดนั้นลดจำนวน สสร. ลงหนึ่งคน และให้ลดจำนวน สสร. ตามวิธีการเดียวกันแก่จังหวัดที่มีเศษที่เหลือในลำดับรองลงมาตามลำดับจนมีจำนวน สสร. ครบ 100 คน

เช่น เมื่อมีการเฉลี่ยจำนวนราษฎร 600,000 คน ต่อสสร.แบบจังหวัดหนึ่งคน และในขณะนี้มี สสร.ที่คำนวนมาแล้ว 102 คน  ซึ่งจังหวัด จ. มีราษฎรทั้งสิ้น 1,200,200 คน ซึ่งถือว่ามีเศษส่วนต่างน้อยที่สุดในบรรดาทุกจังหวัดและถูกคำนวณให้มี สสร. สามคน จังหวัด จ. จะต้องลดจำนวน สสร. พึงมีในจังหวัดนี้ลงหนึ่งคน และหากจังหวัด ฉ. มีราษฎรทั้งสิ้น 1,200,205, คน ซึ่งเป็นลำดับถัดไปที่มีเศษส่วนต่างน้อยที่สุดจากจังหวัด จ. และถูกคำนวณให้ต้องมี สสร. พึงมี 3 คนเช่นเดียวกัน ก็จะต้องลดจำนวน สสร. ลงหนึ่งคนด้วย ให้ สสร. มีจำนวนเท่ากับ 100 คน

วิธีการดังกล่าวนี้จะถูกทำซ้ำไปจนกว่าที่จะมี สสร. แบบแบ่งเขตตามจังหวัดครบ 100 คนพอดี

สมัครเป็นทีม ประชาชนเลือกเป็นทีม ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง 100 คน

ส่วนการสมัครแบบบัญชีรายชื่อ มาตรา 256/9 ผู้สมัครจะต้องสมัครเป็นทีม โดยแต่ในละทีมจะต้องมีผู้สมัครรวมกันทีมละไม่น้อยกว่า 20 คน แต่ต้องไม่เกิน 100 คน โดยแต่ละทีมจะต้องจัดทำบัญชีรายชื่อที่มีการเรียงลำดับผู้สมัครในทีมด้วย โดยในแต่ละทีมต่างๆจะต้องมีผู้สมัครที่ไม่ซ้ำกัน 

ซึ่งประชาชนจะต้องลงคะแนนเลือกผู้สมัครในแบบบัญชีนี้เป็นทีมและจะเลือกได้เพียงหนึ่งทีมเท่านั้น 

ส่วนวิธีการคำนวณคะแนนว่าทีมใดจะมี สสร. แบบบัญชีรายชื่อเท่าไหร่ ให้ดำเนินการคล้ายการคำนวนสส. ระบบบัญชีรายชื่อ ดังนี้ 

  1. ให้รวมผลคะแนนทั้งหมดที่ทุกทีมได้รับจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อทั้งประเทศ 
  1. ให้คำนวณคะแนนรวมตามข้อที่ 1 นำมาหารด้วย 100 ร้อย ซึ่งเป็นจำนวน สสร. แบบบัญชีรายชื่อ ผลลัพธ์ที่ได้ให้ถือว่าเป็นคะแนนเฉลี่ยต่อ สสร. หนึ่งคน 

เช่น มีจำนวนบัตรดีที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง สสร. ในแบบบัญชีรายชื่อรวมกัน 30,000,000 คะแนน เมื่อนำมาหารด้วยจำนวน สสร. คือ 100 คน จะเท่ากับ ราษฎร 300,000 คน ต่อ สสร. แบบบัญชีรายชื่อหนึ่งคน

  1. ในการคำนวณหาจำนวน สสร. ที่แต่ละทีมจะพึงมี ให้นำคะแนนรวมจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละทีมได้รับ หารด้วยคะแนนเฉลี่ยต่อ สสร. หนึ่งคน ผลลัพธ์ที่ได้เฉพาะส่วนที่เป็นจำนวนเต็มคือจำนวน สสร. ที่ทีมนั้นพึงมี

เช่น เมื่อมีการเฉลี่ยจำนวนราษฎร 300,000 คน ต่อสสร.แบบบัญชีรายชื่อหนึ่งคนหากทีม ก. ซึ่งมีผู้สมัครในทีม 20 คน ได้รับคะแนนเลือกประชาชน 300,001 คน ในทีมนั้นก็ผู้ที่อยู่ในลำดับบัญชีรายชื่อแรกสุดก็จะได้รับเลือกให้เป็น สสร. เพียงหนึ่งคนในทีมนั้น

  1. ในกรณีที่มีการคำนวณ สสร. ที่แต่ละทีมได้รับมีจำนวนไม่ครบ 100 คน ให้ทีมที่มีผลลัพธ์เป็นเศษโดยไม่มีจำนวนเต็ม และทีมที่มีเศษหลังจากการคำนวณจำนวนเต็มทีมใดเป็นเศษที่มีจำนวนมากที่สุด ให้ได้รับจำนวน สสร. ที่คำนวณในข้อที่ 2 อีกหนึ่งคนตามลำดับ จนกว่าจะมี สสร. ที่ทีมทั้งหมดจะพึงมีจนครบจำนวน 100 คน

เช่น เมื่อมีการเฉลี่ยจำนวนราษฎร 300,000 คน ต่อสสร.แบบบัญชีรายชื่อหนึ่งคน ทีม ข. ได้รับคะแนนจากประชาชน 599,999 คน ตามข้อที่ 3 จะมี สสร. แบบบัญชีรายชื่อได้เพียงหนึ่งคน แต่หากจำนวน สสร. ยังไม่ครบ 100 คน ให้ถือว่าทีม ข. ซึ่งเป็นทีมที่มีเศษเป็นจำนวนมากที่สุดแล้วมี สสร. แบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคน

  1. ในกรณีที่มีการดำเนินการตามข้อที่ 4 จนทำให้มีจำนวน สสร. เกินจำนวน 100 คน ถ้าในลำดับใดมีเศษเท่ากันให้ตัวแทนของทีมที่มีเศษเท่ากันจับสลากตามวันและเวลาที่ กกต. กำหนด เพื่อให้ได้ สสร. ครบตามจำนวน

ให้ถือว่าผู้สมัครตามบัญชีรายชื่อตามจำนวนที่ทีมนั้นได้รับการคำนวณเมื่อเฉลี่ยคะแนนแล้ว ได้รับเลือกตั้งเรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของทีมนั้นให้ครบจำนวน แต่ต้องไม่เกินจำนวนเท่าที่มีอยู่ในบัญชีรายชื่อในทีมนั้นได้ส่งสมัคร ในกรณีที่ยังขาดอยู่ ให้ สสร. แบบบัญชีรายชื่อ ประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่

เลือก สสร. ประชาชนกาบัตรสองใบ เลือกคนหนึ่งใบ เลือกทีมหนึ่งใบ

การเลือกตั้ง สสร. ให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับเหมือนกับการเลือกตั้ง สส. โดยให้ใช้บัตรเลือกตั้งแบบละหนึ่งใบ คือ เลือก สสร. แบบเบ่งเขตจังหวัดหนึ่งใบ และเลือกสสร.แบบบัญชีรายชื่อที่จะเลือกเป็นทีมอีกหนึ่งใบ เท่ากับว่าประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหนึ่งคนจะต้องใช้สิทธิลงคะแนนเลือก สสร. ในบัตรทั้งสิ้นสองใบ 

ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นจะต้องมีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในวันเลือกตั้ง สสร.และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง สสร. โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่ได้อยู่บ้าน สามารถลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขต หรือเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรได้ 

คิ๊กออฟรับสมัคร สสร. ภายใน 30 วัน ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีก 360 วัน

ข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ ตั้ง สสร. ของพรรคประชาชน มาตรา 5 ระบุให้ต้องตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการรับสมัคร สสร. ภายใน 30 วันนับแต่ที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ และมาตรา 256/11 กำหนดให้ กกต. จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง สสร. ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ซึ่งจะต้องกำหนดให้วันเลือกตั้งเป็นวันเดียวกันทั้งประเทศ เมื่อได้มีการเลือกตั้ง สสร. แล้ว กกต. จะต้องประกาศรับรองผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน 

เมื่อ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้ง สสร. แล้วจะต้องมีการจัดให้มีการประชุม สสร. ไม่ช้ากว่า 15 วันนับแต่ที่มีประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง สสร. ซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญสามารถมีประธานสภา สสร.หนึ่งคน และรองประธานสภา สสร. หนึ่งหรือสองคนก็ได้

สสร.ภายใต้หมวด 15/1 จะมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้

  1. จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 360 วันนับแต่ที่มีการประชุม สสร. ครั้งแรก ซึ่งหาก สสร. ไม่สามารถจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนดไว้ได้อำนาจหน้าที่ของ สสร. ชุดนั้นจะสิ้นสุดลงทันที ซึ่งจะต้องมีการเลือกตั้ง สสร. ใหม่ขึ้นอีกครั้ง และ สสร. ชุดเดิมจะไม่สามารถเป็น สสร. ได้อีก
  2. จัดทำ พ.ร.ป. ที่ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับแต่ที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้แล้ว ซึ่งจะต้องดำเนินการทันทีที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 

การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของ สสร. ให้ สสร. จัดให้มีการรับฟังความเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง โดยให้ สสร. คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมีการเผยแพร่เนื้อหาสาระและความคืบหน้าในร่างรัฐธรรมนูญผ่านสื่อมวลชนและเวทีแสดงความคิดเห็นต่างๆ 

การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ อยู่ภายใต้กรอบว่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ

ตั้ง กรธ. เป็นทีมยกร่าง ตั้งคนนอก สสร. ได้ 1 ใน 3 

ในร่างของพรรคประชาชนมาตรา 256/20 ระบุว่าให้ สสร. แต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญตามแนวทางที่ สสร. กำหนด เพื่อเสนอต่อ สสร. ซึ่งจะต้องประกอบไปด้วยกรรมาธิการจำนวนอย่างน้อย 45 คน โดยต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งเป็น สสร. อย่างน้อย 2 ใน 3  ส่วนที่เหลืออาจตั้งคนนอกผู้มีความรู้หรือความเชี่ยวชาญในประเด็นต่างๆ เข้ามาเป็นทีมยกร่างก็ได้ ซึ่งกลไกนี้จะทำให้สามารถมีตัวแทนของนักกฎหมายมหาชน หรือผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคเข้ามาร่วมยกร่างรัฐธรรมนูญโดยที่ไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจเหนือไปกว่าสสร. จากการเลือกตั้ง

เมื่อ สสร. จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วให้นำเสนอต่อรัฐสภา ซึ่งรัฐสภาจะต้องพิจารณาเพื่ออภิปรายแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่ที่ได้รับร่างโดยไม่มีการลงมติ เมื่ออภิปรายเสร็จสิ้นแล้วให้ประธานรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญส่งให้ กกต. ภายใน 7 วัน เพื่อจัดให้มีการลงประชามติว่าประชาชนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ สสร. นี้หรือไม่ 

กกต. จะต้องประกาศกำหนดวันออกเสียงประชามติซึ่งต้องไม่เร็วกว่า 90 วันและไม่ช้ากว่า 120 วันนับแต่ที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญจากรัฐสภา โดยคำถามที่ใช้ถามประชาชนในการออกเสียงประชามติจะต้องชัดเจน เข้าใจง่าย ไม่ชี้นำ และเป็นกลางต่อทุกฝ่าย เมื่อมีการออกเสียงประชามติแล้ว กกต. จะต้องประกาศผลการออกเสียงประชามติให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน

หากผลการออกเสียงประชามติ “เห็นชอบ” ด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญของ สสร. ให้ประธาน สสร. นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่หากผลประชามติมีข้อยุติว่า “ไม่เห็นชอบ” กับร่างรัฐธรรมนูญของ สสร.ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้น “ตกไป” 

รวมทั้งสิ้นในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามข้อเสนอของพรรคประชาชนจะมีไทม์ไลน์ดังนี้

  • กกต.จะต้องประกาศรับสมัครและจัดการเลือกตั้ง สสร. ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่ที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับแก้ไขตามข้อเสนอพรรคประชาชน
  • เมื่อเลือกตั้ง สสร. แล้ว กกต.จะต้องประกาศรับรองผลให้เสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง สสร.
  • การประชุม สสร. นัดแรกจะต้องจัดขึ้นไม่ช้ากว่า 15 วันนับตั้งแต่ที่ กกต. ประกาศรับรองผลแล้ว
  • นับแต่การประชุม สสร. นัดแรก สสร. จะต้องรับฟังความเห็นและจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จภายใน 360 วัน
  • เมื่อ สสร. จัดทำร่างเสร็จสิ้นแล้วจะต้องส่งให้รัฐสภาเพื่ออภิปรายแสดงความคิดเห็นร่างฉบับ สสร. โดยไม่ลงมติให้เสร็จภายใน 30 วัน นับแต่ที่ สสร. นำเสนอร่างต่อรัฐสภา 
  • และเมื่อรัฐสภาอภิปรายเสร็จสิ้นแล้วต้องส่งให้ กกต. ภายใน 7 วันเพื่อจัดทำประชามติ
  • กกต. จะต้องจัดทำประชามติเพื่อให้ประชาชนเห็นชอบกับร่างฉบับ สสร. ไม่เร็วกว่า 90 วัน แต่ต้องไม่ช้ากว่า 120 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญจากรัฐสภา
  • และ กกต. จะต้องประกาศผลการออกเสียงประชามติให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันลงประชามติ
  • หากว่าผลประชามติเห็นชอบกับร่างฉบับ สสร. สามารถนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญใหม่ได้

หากว่าทุกตัวแสดงในกระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ว่าจะ กกต. สสร. หรือรัฐสภาใช้เวลาเต็มตามที่ข้อเสนอของพรรคประชาชนระบุว่าต้องไม่เกินกี่วันแล้ว ไทม์ไลน์การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ของพรรคประชาชนจะใช้กรอบเวลา 622 วัน นับตั้งแต่ข้อเสนอตามร่างฉบับนี้ประกาศใช้จริง

หากไม่ผ่านประชามติ กระบวนการจะต้องเริ่มใหม่ตั้งแต่เลือกตั้ง สสร.

ในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ สสร. จัดทำขึ้นถูกประชาชนส่วนใหญ่ลงมติไม่เห็นชอบ บุคคลดังต่อไปนี้  มีสิทธิเสนอญัตติต่อรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภามีมติให้การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ได้ 

  • คณะรัฐมนตรี หรือ 
  • สส. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ สส. หรือ
  • สมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของรัฐสภาของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของรัฐสภา 

การลงมติเพื่อให้ความเห็นชอบในญัตตินี้ จะต้องมีเสียงเห็นชอบด้วยมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งรัฐสภา หรืออย่างน้อย 351 เสียง ซึ่งในจำนวนนี้จะต้องมี สส. เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ สส. ทั้งนี้ หากรัฐสภาลงมติไม่เห็นชอบกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ญัตตินี้จะเสนออีกไม่ได้จนกว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป

เท่ากับว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ก็ยังไม่ได้หมายความว่าจะต้องอยู่กับรัฐธรรมนูญ 2560 ตลอดไป รัฐสภาแต่ละชุดสามารถลงมติเห็นชอบ เพื่อจะให้มีการดำเนินกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นอีกครั้งได้ โดยเริ่มใหม่ตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกตั้ง สสร. ซึ่ง สสร. ที่จะถูกเลือกเข้ามาใหม่นี้บุคคลเดิมจะเป็นซ้ำอีกไม่ได้ 

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage