16 ธันวาคม 2567 Doc Club & Pub โรงภาพยนตร์ขนาดเล็กย่านลุมพินี ใจกลางกรุงเทพ ประกาศปิดตัวหลังจากไม่สามารถยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงภาพยนตร์ได้ และถูกกรมส่งเสริมวัฒนธรรมแจ้งคำสั่งปรับเป็นพินัย จำนวน 200,000 บาท จากการประกอบกิจการโรงภาพยนตร์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน และหากไม่ชำระค่าปรับจะส่งฟ้องคดีต่อศาล
พ.ร.บ.ภาพยนตร์ สั่งโรงหนังทุกแห่ง “ต้องมีใบอนุญาต”
เหตุการณ์นี้เริ่มจากเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม โดยผู้อำนวยการสำนักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ส่งหนังสือถึงเจ้าของ Doc Club & Pub สรุปใจความได้ว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อนตรวจสอบสถานประกอบการโรงภาพยนตร์ ในวันที่ 26 มิถุนายน 2567 พบว่ามีการมีการเปิดบริการโรงภาพยนตร์ขนาด 50 ที่นั่ง จำหน่ายบัตรเข้าชมภาพยนตร์แก่บุคคลทั่วไป มีการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มภายในบริเวณสถานประกอบกิจการ โดยผู้ดูแลไม่สามารถนำใบอนุญาตประกอบกิจการภาพยนตร์มาแสดงได้ จึงมีความผิดตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 37 วรรคหนึ่ง และขอให้ชี้แจงข้อกล่าวหาส่งกลับมา
คำสั่งนี้มีเหตุที่มาจาก พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 37 และมาตรา 79 ที่กำหนดไว้ ดังนี้
มาตรา 37 ห้ามผู้ใดประกอบกิจการโรงภาพยนตร์โดยทําเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน ใบอนุญาตนั้น ให้ออกสําหรับโรงภาพยนตร์แต่ละโรง ยกเว้นใบอนุญาตประกอบ กิจการโรงภาพยนตร์ตาม (2) ของบทนิยามคําว่า “โรงภาพยนตร์” ในมาตรา 4 ให้ใช้ได้ทั่ว ราชอาณาจักร การขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการ และ เงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง มาตรา 79 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 37 วรรคหนึ่ง มาตรา 38 วรรคหนึ่ง หรือประกอบ กิจการดังกล่าวในระหว่างถูกพักใช้หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาท ถึงหนึ่งล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนอยู่ |
Doc Club ชี้แจง พยายามขอใบอนุญาตแล้ว แต่ไม่เจ้าของตึกไม่รวมมือ
หลังจากนั้นวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 กฤตวิทย์ หริมเทพาธิป ได้ส่งหนังสือชี้แจงไปโดยยอมรับว่า ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการจริง ซึ่งโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กแห่งนี้ ได้รับช่วงต่อมาจากบางกอก สกรีนนิ่งรูม เมื่อปี 2564 ที่เลิกกิจการไป ในขณะนั้นผู้ขายกิจการอ้างว่าโรงภาพยนตร์ บางกอก สกรีนนิ่ง รูม ได้มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาตรวจสอบแล้วไม่มีปัญหาใดๆ แต่ต่อมาก็ได้รับทราบจึงเคยยื่นคำขอประกอบกิจการแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ซึ่งเจ้าหน้าที่แจ้งว่าต้องมีเอกสารสําเนาใบอนุญาตให้ใช้อาคารเพื่อประกอบกิจการโรงมหรสพ จากสํานักการโยธา กรุงเทพมหานคร
ทาง Doc Club & Pub จึงทวงถามต่อเจ้าของอาคารวูฟแพคเกี่ยวกับการขออนุญาตและการแก้ไขบันไดทางหนีไฟของอาคาร แต่ได้รับการบ่ายเบี่ยงมาโดยตลอด ผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่สามารถยื่นคําขอประกอบกิจการโรงภาพยนตร์ได้ จึงประสงค์จะยกเลิกสัญญาเช่าที่กําลังจะหมดสัญญาในเดือนมีนาคม 2568 ซึ่งผู้ถูกกล่าวมีเจตนาที่จะยื่นคําขอประกอบกิจการโรงภาพยนตร์มาโดยตลอด แต่ติดปัญหาทางกายภาพของโรงภาพยนตร์ และเจ้าของอาคารไม่ให้ความร่วมมือ
ตลอดระยะเวลาสามปีที่ผ่านมา Doc Club & Pub ประสบปัญหาขาดทุนมาโดยตลอด ต้องนํารายได้จาก การจําหน่ายอาหารและเครื่องดื่มมาชดเชยรายจ่ายของโรงภาพยนตร์ เนื่องจากภาพยนตร์ที่จัดฉายเป็นภาพยนตร์เฉพาะทางมีกลุ่มเป้าหมายในวงแคบ ภาพยนตร์บางเรื่องจัดฉายเพียงรอบเดียวซึ่งเป็นลักษณะของการเช่ามาฉายโดยการจัดแบ่งรายได้กับเจ้าของสิทธิ์ โดยภาพยนตร์ต่างประเทศที่เช่ามาฉาย นั้นเป็นภาพยนตร์ที่มีราคาอัตราเช่าถูกซึ่งเป็นเงื่อนไขของการนําเอาไปฉายเฉพาะกลุ่ม เช่น พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด อาร์ตแกลเลอรี มูลนิธิ หรือโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กที่ไม่มุ่งเน้นเชิงธุรกิจ
จึงเรียนมาเพื่อขอความเมตตา ลดหน่อยผ่อนโทษปรับทางพินัยจากคณะกรรมการพินัย และเจ้าหน้าที่รัฐผู้ได้รับมอบหมาย
ทั้งนี้ตาม กฎกระทรวงว่าด้วยการขอและการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงภาพยนตร์ พ.ศ.2552 นั้น ข้อ 1. (1) (ค) กำหนดเอกสารหลักฐานที่ใช้เพื่อประกอบการยื่นคำขออนุญาตประกอบกิจการโรงภาพยนตร์ไว้ว่า ต้องใช้สําเนาใบอนุญาตให้ใช้อาคารเพื่อประกอบกิจการโรงมหรสพตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร
และตามกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้อาคารเพื่อประกอบกิจการโรงมหรสพ ประเภทและระบบความปลอดภัยของโรงมหรสพ และอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับการอนุญาตให้ใช้อาคารเพื่อประกอบกิจการโรงมหรสพ พ.ศ.2550 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ของตัวอาคาร การประกันภัย และเงื่อนไขต่างๆ ในการขออนุญาตให้อีกมาก เช่น
- ต้องมีสำเนากรมธรรม์ประกันภัย ที่ประกันความรับผิดตามกฎหมายต่ออชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก โดยมีจํานวนเงินคุ้มครองกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรไม่ต่ํากว่า 100,000 บาท ต่อคน ค่ารักษาพยาบาลไม่ต่ํากว่า 100,000 บาทต่อคน รวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 5,000,000 บาทต่อครั้ง และมีระยะเวลาคุ้มครองไม่น้อยกว่าสามปี
- แผนผังบริเวณ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน และรายการคํานวณของโรงมรสพต้องเป็นสิ่งพิมพ์ สำเนา ภาพถ่าย หรือเขียนด้วยหมึก ที่ระบุมาตราส่วน ขนาด ระยะ น้ําหนัก แสดงขอบนอกของโรงมหรสพและอาคารที่โรงมหรสพนั้นตั้งอยู่ ทางเดินไปบันไดหนีไฟ รายการประกอบแบบแปลน ให้แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับคุณภาพและชนิดของวัสดุ ฯลฯ
- ต้องจัดให้มีผู้ดูแลระบบความปลอดภัยและการป้องกันอันตรายของโรงมหรสพอย่างน้อยหนึ่งคนซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพแผนกช่างไฟฟ้า หรือแผนกช่างยนต์ หรือมีประสบการณ์ควบคุมดูแลโรงมหรสพไม่น้ยกว่าห้าปี เพื่อควบคุม ดูแล และปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎกระทรวงนี้ตลอดเวลาที่เปิดการแสดงมหรสพ
- อาคารใดที่มีโรงมหรสพตั้งอยู่ตั้งแต่ชั้นที่สองขึ้นไป ต้องจัดให้มีบันไดหนีไฟ ทางหนีไฟจะต้องมีส่วนปิดล้อมที่ไม่มีช่องให้ไฟหรือควันจากภายนอกผ่านเข้ามาได้ และส่วนปิดล้อมนี้ต้องมีอัตราการทนไฟได้ไม่น้อยกว่าสองชั่วโมง
- ฯลฯ
โดนสั่งปรับ 200,000 ถ้าไม่จ่ายจะฟ้องศาล
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 กรมส่งเสริมวัฒนธรรมทำหนังสือฉบับที่สองส่งมา เรื่อง “คำสั่งปรับเป็นพินัย”
ระบุว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐพิจารณาแล้วกำหนดให้ต้องชำระค่าปรับตามาตรา 37 แห่งพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์พ.ศ.2551 อัตราค่าปรับ 200,000 บาทต้องชำระภายใน 30 วันนับตั้งแต่ได้รับคำสั่งนี้ กรณีที่ปฏิเสธข้อกล่าวหาหรือไม่ชำระค่าปรับเป็นพินัยภายในระยะเวลาที่กำหนดจะมีการฟ้องคดีต่อศาลต่อไป
ในกรณีที่ไม่สามารถชำระค่าปรับในคราวเดียวได้ มีสิทธิร้องขอต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือศาลเพื่อผ่อนชำระค่าปรับโดยให้แจ้งเหตุผลในการขอผ่อนชำระ และระบุจำนวนเงินที่จะขอผ่อนชำระ กรณีไม่มีเงินชำระค่าปรับอาจยื่นคำร้องต่อศาลโดยแสดงเหตุผลอันสมควรทำงานบริการสังคมหรือมทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับเป็นพินัยได้
ซึ่งกฤตวิทย์ หริมเทพาธิปได้ยื่นคำร้องขอผ่อนชำระค่าปรับเป็นพินัยในวันที่ 16 ธันวาคม 2567
กฎหมายมุ่งควบคุมธุรกิจขนาดใหญ่ กระทบเสรีภาพ
ข้อสังเกตต่อพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551 คือ กฎหมายนี้พิจารณาและประกาศใช้โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ผู้ร่างกฎหมายมีเจตนามุ่งที่จะควบคุมการทำธุรกิจของผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยเห็นได้จากการกำหนดให้สื่อภาพเคลื่อนไหวทุกประเภทจัดเป็น “ภาพยนตร์” ทั้งหมด ซึ่งทั้งการนำออกฉาย ให้เช่า จำหน่าย ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ต้องผ่านการขออนุญาตก่อน ในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทุกคนมีโทรศัพท์มือถือที่ถ่ายคลิปวิดีโอและนำเสนอต่อสาธารณะได้ง่าย หากกฎหมายนี้ถูกบังคับใช้อย่างจริงจังก็ไม่มีทางที่รัฐจะสามารถพิจารณาอนุญาต “ภาพยนตร์” ที่นำออกฉายทุกชิ้นได้อยู่แล้ว
รวมทั้งการประกอบกิจการโรงภาพยนตร์ การจำหน่าย ให้เช่า แลกเปลี่ยนภาพยนตร์ ตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ.2551 ก็ต้องได้รับอนุญาตก่อนทุกราย และกำหนดค่าปรับไว้สูงสำหรับการประกอบกิจการโรงภาพยนตร์โดยไม่ได้รับอนุญาต การกำหนดกฎหมายเช่นนี้ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในสังคมที่มีผู้ผลิตภาพยนตร์อิสระและการจัดฉายในพื้นที่ขนาดเล็กจำนวนมาก หรือที่เรียกว่า Micro Cinema ซึ่งการผลิตภาพยนตร์สั้นๆ ง่ายๆ และนำออกฉายในพื้นที่เล็กๆ เพื่อสื่อสารประเด็นบางอย่างนั้นเป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้เสรีภาพการแสดงออกในสังคม
การที่กฎหมายวางกรอบให้ทุกขั้นตอนที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ต้องมีขั้นตอนการขออนุญาต อาจมีผลทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์กลายเป็นพื้นที่ของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐแล้วเท่านั้นแต่สำหรับผู้ประกอบการรายเล็กที่ไม่มีกำลังหรือความรู้ที่จะดำเนินการขออนุญาตทุกขั้นตอนก็ไม่อาจเข้าสู่ตลาดภาพยนตร์ได้ และไม่สามารถใช้ภาพยนตร์เป็นเครื่องมือสื่อสารหรือสื่อความหมายตามที่ต้องการแสดงออกได้เพราะตกอยู่ภายใต้การกำกับโดยกฎหมายที่เข้มงวด