วันที่ 20 ตุลาคม 2564 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่ข่าวศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญ หนึ่งในนั้นคือ คดีที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ) มาตรา 1448 ที่กำหนดเรื่องการสมรสของชาย-หญิงนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาคหรือไม่
โดยศาลรัฐธรรมนูญมีกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติว่าป.พ.พ. ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564
ที่มาของคดีนี้ เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ้ง และพวงเพชร เหมคำ คู่รักซึ่งมีเพศตามทะเบียนราษฎร์เป็นเพศหญิง ได้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2563 แต่ถูกนายทะเบียนปฏิเสธ ทั้งคู่จึงแต่งทนายความให้ยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อให้ศาลสั่งให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนสมรส หากนายทะเบียนปฏิเสธก็ขอให้ศาลส่งคำร้องโต้แย้งประเด็นข้อกฎหมายไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่รับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิง ขัดกับรัฐธรรมนูญ
อาจจะกล่าวได้อีกอย่างว่า คดีนี้ผู้ร้องทั้งสองใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบว่า กฎหมายที่ใช้บังคับในคดีนั้นๆ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ทั้งนี้วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญจะลงมติโดยยังไม่มีคำวินิจฉัยฉบับเต็มที่จะแสดงเหตุผลและรายละเอียดของคำวินิจฉัยออกมา ตามธรรมเนียมปฏิบัติของศาลรัฐธรรมนูญไทยที่ “มีมติก่อน ทำคำวินิจฉัยเต็มทีหลัง” ดังจะสังเกตได้จากหลายๆ คดีที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะเผยแพร่ข่าวมติศาลรัฐธรรมนูญก่อน และเผยแพร่คำวินิจฉัยเต็มทีหลัง
ตัวอย่างเช่น คดีวินิจฉัยเรื่องอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาในการ #แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ, คดีวินิจฉัยสมาชิกภาพของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยเมื่อ 5 พฤษภาคม 2564 จากนั้นจึงมีคำวินิจฉัยตัวเต็มซึ่งเป็นเอกสารเผยแพร่ออกมาทีหลัง หรือคดีที่ณัฐชนน ไพโรจน์ และเบนจา อะปัญ ให้ศาลอาญาส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งกำหนดความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทางสำนักงานข่าวศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่ข่าวว่าวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายดังกล่าวไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่วนคำวินิจฉัยฉบับเต็ม เผยแพร่ผ่านเว็บศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 20 ตุลาคม 2564
คดีที่ศาลต้องวินิจฉัยว่าป.พ.พ. ที่ให้สมรสเฉพาะชาย-หญิง ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็จะเป็นไปในทำนองเดียวกันกับคดีอื่นๆ โดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะมีข่าวเผยแพร่ว่า ท้ายที่สุดแล้วศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่าป.พ.พ. ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญลงมติเรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้นประชาชนจึงจะสามารถทราบผลของคดีนี้ได้ในวันดังกล่าว แต่ในเชิงรายละเอียดและการให้เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญในแต่ละประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัย จะทราบต่อเมื่อมีการเผยแพร่คำวินิจฉัยเต็มบนเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ หรือเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ คำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการแต่ละรายก็จะตามมาภายหลังเช่นกัน
อย่างไรก็ดี เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่คู่ความร้องผ่านศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ทางศาลเยาวชนฯ ก็จะมีนัดอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้คู่ความฟังอีกครั้งในวันที่ 14 ธันวาคม 2564 ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ป.พ.พ. ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็จะมีผลต่อคดีในศาลเยาวชนฯ ด้วย
การลงมติของศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 นี้ จะเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายที่สำคัญเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวประเด็น #สมรสเท่าเทียม หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าป.พ.พ. ขัดต่อรัฐธรรมนูญ องค์กรที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานภาครัฐจะต้องขยับมาผลักดันเสนอแก้ไขกฎหมายที่รับรองสิทธิในการจดทะเบียนสมรสสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมไปถึงระเบียบและประกาศที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ต่อไป เช่น ระเบียบที่กำหนดสิทธิประโยชน์หรือสวัสดิการสำหรับคู่สมรส
แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าป.พ.พ. ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ประชาชนก็ไม่อาจร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าป.พ.พ. ขัดต่อรัฐธรรมนูญได้อีก เว้นเสียแต่ว่า จะมีการ #แก้รัฐธรรมนูญ หรือมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำหนดเนื้อหาบทบัญญัติในเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือเรื่องความเสมอภาคแตกต่างไปจากเดิม ประชาชนจึงจะร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ว่าป.พ.พ. ขัดต่อรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเนื้อหาแล้วหรือรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
อย่างไรก็ดี ในทางกฎหมาย คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการแก้ไขป.พ.พ. เพื่อให้มี #สมรสเท่าเทียม หากฝ่ายนิติบัญญัติประสงค์จะแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับสังคมและความต้องการของประชาชน ฝ่ายนิติบัญญัติก็สามารถทำได้ตามอำนาจหน้าที่ของตนเอง แต่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ อาจส่งผลในทางปฏิบัติให้การแก้ไขป.พ.พ. ทำได้ยากขึ้น เพราะสมาชิกรัฐสภาบางส่วนอาจอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเพื่อไม่แก้ไขกฎหมาย ทำนองเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในศึก #แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อตั้งสสร. มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่สุดท้ายก็ล่มไปเพราะเสียงเห็นชอบในวาระสามไม่ถึงครึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา
ทางด้านฝ่ายนิติบัญญัติ เมื่อ 18 มิถุนายน 2563 ส.ส.พรรคก้าวไกล เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมป.พ.พ. ต่อสภาผู้แทนราษฎร ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกบรรจุในระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรมาเกินหนึ่งปีแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระหนึ่ง กระบวนการนี้ก็เป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่ประชาชนต้องจับตาไปพร้อมๆ กับมติศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 และหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าป.พ.พ. ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็จะเหลือเพียงกระบวนการแก้ไขกฎหมายโดยรัฐสภาเท่านั้นที่จะทำให้ #สมรสเท่าเทียม เกิดขึ้นได้จริงในสังคมไทย
RELATED POSTS
No related posts