10 ธันวาคม 2567 เวลา 08.30 – 16.30 น. สถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรม “Pridi Talk #28: ยุตินิติรัฐประหาร รื้อรัฐธรรมนูญเผด็จการ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” เนื่องในโอกาสวันรัฐธรรมนูญ ณ ห้อง 205 วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีวิทยากรผู้เข้าร่วมเสวนาจำนวนห้าคน ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนมองไปถึงการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ในอนาคตข้างหน้า ได้แก่ จีรนุช เปรมชัยพร ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) นิกร จำนง ประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา รศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง สมาชิกวุฒิสภา (สว.) รศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคประชาชน ดำเนินรายการโดยยิ่งชีพ อัชฌานนท์ iLaw
ปาฐกถา “ยุตินิติรัฐประหาร สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ทางรอดรัฐล้มเหลว”
ช่วงแรกก่อนเข้าสู่วงเสวนา จะเป็นการกล่าวปาฐกถาเปิดงาน โดย รศ. อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ในหัวข้อ “ยุตินิติรัฐประหาร สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ทางรอดรัฐล้มเหลว”
“ประเทศไทยของเรามีรัฐประหารมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และไม่มีหลักประกันใดๆ ในอนาคต ว่าจะไม่มีรัฐประหารอีก สังคมไทยมีความเคยชินกับรัฐประหาร จึงทำให้คนจำนวนไม่น้อยยอมรับรัฐประหารในฐานะเป็นเครื่องมือในการแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมือง ซึ่งในหลายกรณี วิกฤตการณ์การเมืองทั้งหลายก็เป็นการสร้างสถานการณ์ สร้างเงื่อนไขโดยคณะรัฐประหารเอง เช่นเดียวกับในตอนนี้ที่กำลังมีความเคลื่อนไหวในการสร้างเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหาร”
“รัฐประหารจึงมีสภาพเป็นสถาบันและวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของสังคมและการเมืองไทย ผมคาดการณ์ว่ารัฐประหารในอนาคตของสังคมไทยจะมีนวัตกรรมใหม่ ไม่เอารถถัง หรือเอากองทัพมายึดอำนาจรัฐที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่จะใช้กฎหมาย ใช้รัฐธรรมนูญ ที่คณะรัฐประหารร่างขึ้นยึดอำนาจโดยวิธีการนิติรัฐประหาร หากใช้วิธีเดิม รัฐประหารโดยกองทัพหรือรถถังเหมือน 13 ครั้งในประเทศไทยหลังการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์เป็นสมองนั้น การรัฐประหารในอนาคตอาจทำไม่สำเร็จ อาจมีแรงต่อต้านมาก หากทำสำเร็จ ก็อาจมีการนองเลือด มีความรุนแรง และแย่ที่สุดก็นำไปสู่สงครามกลางเมืองเหมือนประเทศเมียนมาร์ได้”
“การทำนิติรัฐประหารก็ไม่ใช่ว่าจะสามารถทำได้ทันที แต่ต้องสร้างเงื่อนไขให้สุกงอมก่อน โดยเฉพาะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีปัญหาที่มาจากการทุจริตคอร์รัปชัน มีความผิดพลาดในการดำเนินนโยบาย สร้างความเสียหายให้ประเทศ หากรัฐบาลไม่มีปัญหานี้ การทำนิติรัฐประหารก็จะไม่มีความชอบธรรม และไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม แต่หากรัฐบาลสร้างเงื่อนไขเสียเอง ก็จะทำให้นิติรัฐประหารมีความชอบธรรมขึ้นมาทันที และอาจเป็นการยึดอำนาจที่อาจดูดีกว่าการยึดอำนาจโดยกองทัพ เมื่อเปรียบเทียบ”
“อย่างไรก็ตาม ความจริงที่ว่านิติรัฐประหารก็เป็นภัยคุกคามต่อประชาธิปไตยอยู่ดี นิติรัฐประหารเป็นส่วนหนึ่งของนิติสงครามในประเทศไทย เครือข่ายของฝ่ายอำนาจนิยม ปรปักษ์ของฝั่งประชาธิปไตย ก็รอจังหวะในการทำรัฐประหารอยู่ องค์กรภาคประชาสังคม สื่อมวลชน พรรคการเมือง ประชาชน จึงไม่ควรตกเป็นเหยื่อของขบวนการเคลื่อนไหวเหล่านี้ สภาวะแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศที่กติกาสูงสุดไม่ได้ยึดหลักประชาธิปไตย ไม่ได้เป็นไปตามหลักนิติรัฐอย่างแท้จริง”
“แม้ประเทศที่จะสามารถสถาปนาประชาธิปไตยให้เข้มแข้งได้อย่างเกาหลีใต้ ก็ยังเกิดผู้นำที่ลุแก่อำนาจประกาศกฎอัยการศึกอย่างไม่ชอบธรรม เสมือนเป็นการทำรัฐประหารอำนาจของประชาชน โชคดีที่การผนึกกำลังของพรรคการเมืองและองค์กรประชาธิปไตยสามารถสกัดกั้นการฟื้นคืนชีพของอำนาจนิยมในเกาหลีใต้ได้ ความสำเร็จนี้น่าจะส่งพลังมายังขบวนการประชาธิปไตยในอาเซียนด้วย การเร่งรัดการสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชนและการทำให้ค่านิยมประชาธิปไตยหยั่งรากลึกในสังคมไทย เป็นวิธีการที่จะป้องกันรัฐประหารทุกรูปแบบ โดยเฉพาะนิติรัฐประหาร“
“รัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนจะมีส่วนในการลดบทบาทรัฐพันลึก ลดการบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน และทำให้การเลือกตั้งโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม ประชาชนมีสิทธิในการเลือกเลือกผู้บริหารประเทศและสามารถเลือกตัวแทนตามเจตนารมณ์ของตนเองอย่างแท้จริง รัฐบาลจะถูกจำกัดอำนาจโดยรัฐธรรมนูญของประชาชน และรัฐธรรมนูญจะมีกลไกในการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของรัฐไม่ให้ละเมิดสิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรมแก่ประชาชน”
“เราคาดหวังว่า เราจะมีรัฐธรรมนูญที่จะทำให้เกิดสังคมประชาธิปไตยพันลึก คือสังคมประชาธิปไตยที่มีการผนึกกำลังของเครือข่ายประชาธิปไตย เครือข่ายประชาชน เครือข่ายวิชาการ และเครือข่ายสื่อมวลชน สามารถตอบโต้การท้าทายของฝ่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยได้ทุกรูปแบบ รวมถึงระบอบอำนาจนิยมที่มาจากการเลือกตั้งที่ไม่เสรี สังคมประชาธิปไตยพันลึกจะทำให้ศักดิ์ศรีและคุณภาพชีวิตของประชาชนดีกว่าเดิม เศรษฐกิจที่เป็นธรรมกว่าเดิม สังคมที่สงบสุขและสันติยิ่งกว่าเดิม”
“การรัฐประหารครั้งล่าสุดผ่านคูหาการเลือกตั้ง 2566 เป็นเพียงเบื้องแรกของการล่มสลายของสถาบันการรัฐประหารในประเทศไทย ขั้นต่อไปต้องสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้ได้ และต้องทำให้สิทธิเสรีภาพหยั่งรากลึกในสังคมไทย ทำให้วัฒนธรรมประชาธิปไตย การเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นวิถีชีวิตของผู้คน ทำให้การแก้ปัญหาความขัดแย้ง ยึดหลักของเหตุผลและสันติวิธี ผ่านการโหวต ผ่านการแสดงประชามติ โดยเคารพเสียงข้างมาก แต่เสียงข้างน้อยต้องมีพื้นที่ในสังคมที่สามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้ด้วยความแตกต่าง ทำได้เช่นนี้ เราถึงจะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงการเป็นรัฐล้มเหลวในอนาคต”
“รัฐธรรมนูญของประชาชนและประชาธิปไตย มีความสัมพันธ์ในทางบวกต่อกัน ส่งเสริมพัฒนาการของเสรีประชาธิปไตยและสามารถปรับเปลี่ยนให้ประชาธิปไตยไม่เสรีให้ดีขึ้นได้ รัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยจะผนึกรวมพลังของประชาชนผู้ด้อยโอกาสและประชาชนฐานรากชายขอบ เข้าสู่ระบบการช่วยเหลือและสวัสดิการโดยรัฐ ทำให้เสียงของกลุ่มคนที่ชนชั้นนำไม่ได้ใส่ใจให้ได้รับการดูแลมากขึ้น รัฐธรรมนูญที่ดีจะบูรณาการและกลุ่มคนภาคส่วนต่างๆ ที่ถูกทอดทิ้งให้เข้ามาอยู่ในระบบการเมือง และนำเสนอนโยบายที่กลุ่มคนเหล่านี้พึงพอใจและได้ประโยชน์”
“รัฐธรรมนูญประชาชนสามารถสร้างเงื่อนไขทางด้านแนวคิดและอุดมการณ์ สร้างพันธมิตรและแนวร่วมทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญต่อพลวัตของระบบการเมืองและการเป็นตัวแทนทางการเมือง รัฐธรรมนูญประชาชนสร้างความรับผิดชอบทางการเมือง รัฐธรรมนูญที่ดีสามารถนำมิติความขัดแย้งทางการเมืองสู่การถกเถียงในที่สาธารณะด้วยเหตุด้วยผล สามารถแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผย โดยไม่ต้องหวั่นเกรงต่อความปลอดภัยหรือการถูกยัดคดี ทำให้สังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย”
“การเลือกตั้งไม่เพียงพอที่จะบอกว่า ประชาธิปไตยมีความมั่นคงแล้ว ในกรณีของประเทศไทย มีการเลือกตั้งของรัฐบาลที่มาจากเสียงของประชาชนยังมีอำนาจไม่ชัดเจน และถูกให้ออกจากตำแหน่ง โดยอำนาจขององค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ในรอบ 18 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญถึงสองฉบับ และมีการรัฐประหารถึงสองครั้ง และยังมีกลุ่มการเมืองที่พยายามโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลายครั้ง จากความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายบริหารประเทศหรืออาจจะมาจากปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน”
“ประเทศไทยไม่ได้สร้างวัฒนธรรมหรือธรรมเนียมปฏิบัติทางการเมือง ให้ประชาธิปไตยคือคำตอบเดียวของทางออก ซึ่งจะทำให้ประเทศมีสันติธรรม การแก้ปัญหาด้วยยึดวิถีประชาธิปไตยและการเมืองที่ยึดหลักนิติรัฐนิติธรรมจะคือทางออกของปัญหา รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจะเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้และทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นรัฐล้มเหลวในอนาคต”
ต่อมาเป็นส่วนของการเสวนา ยิ่งชีพ ผู้ดำเนินรายการ เริ่มจากเกริ่นถึงบริบทของการขับเคลื่อนเรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ ทำการรัฐประหารยึดอำนาจ เข้าสู่ช่วงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีการเลือกนายกรัฐมนตรีโดย สว. ที่มาจากการแต่งตั้ง 250 คน มีการเลือกตั้งที่พรรคเพื่อไทยได้ขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาล และจนกระทั่งการมาถึงจุดสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญบทเฉพาะกาลที่ทำให้อำนาจของ สว. แต่งตั้ง 250 คนสิ้นสุดลงไป และในวันนี้ เราสามารถเชิญ สว. มาพูดแลกเปลี่ยนเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้ นับว่าเราเดินทางมาไกลมาก
ด้วยความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น ยิ่งชีพ ในฐานะผู้ดำเนินรายการ จึงชวนวิทยากรทุกคนในวงเสวนาไม่หวนกลับไปหาอดีต แต่มุ่งเน้นแลกเปลี่ยนบนฐานของสถานการณ์ปัจจุบัน ถึงทิศทางและสิ่งที่อาจจะหรือกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ตอนนี้เรายังเหลืออะไรบ้างที่ต้องทำ และยังต้องทำสิ่งไหนถึงจะขับเคลื่อนรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เกิดขึ้นจริงได้
จีรนุช: รัฐธรรมนูญ คือ พื้นที่ต่อรอง-ประนีประนอมอำนาจ ต้องเขียนใหม่ให้เป็นของประชาชน
จีรนุช เปรมชัยพร ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) กล่าวว่า ในเวลาที่ผู้คนพูดถึงรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หลายคนจะนึกถึงผู้เชี่ยวชาญหรือนักกฎหมายที่จะเข้ามาทำหน้าที่ร่างและเขียนรัฐธรรมนูญให้เกิดขึ้น แต่ถ้ามองย้อนกลับไปในอดีต จากบทเรียนการต่อสู้จนได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอย่างน้อยสองฉบับ คือ รัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2517 ล้วนไม่ได้มาจากนักกฎหมายหรือนักวิชาการที่มีความคิดสำนึกได้เองว่าต้องริเริ่มรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยได้แล้ว หากแต่มาจากการต่อสู้ในการขับไล่เผด็จการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น จอมพลถนอม กิตติขจร ในปี พ.ศ. 2517 และ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ใน พ.ศ. 2535
“ในช่วงปีก่อน 2517 และ 2540 สังคมไทยมีโอกาสที่จะได้มีพัฒนาการของประชาธิปไตยจนก่อร่างก่อรูปเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่เราภาคภูมิใจได้ ฉบับที่เราบอกได้อย่างเต็มปากว่าเราเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ ไม่ใช่ครึ่งใบ เสี้ยวใบ หรือไฮบริดใดๆ ทั้งสิ้น เราคิดว่า สิ่งนี้เป็นคุณูปการของการต่อสู้เรื่องรัฐธรรมนูญโดยประชาชนมีส่วนร่วม และสิ่งนี้เป็นหัวใจสำคัญ”
จีรนุชชวนผู้เข้าร่วมเสวนาทุกคนย้อนกลับไปทบทวนรัฐธรรมนูญทั้ง 20 ฉบับที่ผ่านมาแบบรวดเร็วว่า ตนเองได้พบเห็นถึงความพยายามในการต่อรองและประนีประนอมอำนาจ ดึงกันไปกันมาระหว่างฝ่ายที่เป็นประชาธิปไตยและฝ่ายที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือแม้กระทั่งความพยายามในการกินรวบอำนาจ
“ย้อนดูรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2475 ‘มาตรา 1 อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย’ เป็นครั้งแรกและครั้งเดียว และฉบับเดียวที่มีการใช้คำแบบนี้ คือการยืนยันว่าอำนาจสูงสุดคือของราษฎร จากนั้นเราจะใช้คำทางเทคนิค เช่น อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย มาจากปวงชนชาวสยาม อะไรทำนองนั้น เพิ่มขึ้นมา”
“ดิฉันสงสัยว่า คำว่า ‘อำนาจสูงสุด’ ไม่ดีตรงไหน นักกฎหมายเขาถึงต้องไปเปลี่ยนเป็น ‘อำนาจอธิปไตย’ หรือในทางการตีความอาจจะอธิบายความได้มากกว่า แต่ถ้าตีความง่ายๆ แบบนักสื่อสาร อาจเป็นเพราะคำว่า อำนาจสูงสุดมันเข้าใจง่ายเกินไปหรือไม่ ประชาชนอาจจะเหลิง และอาจจะคิดว่าตนเองเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดจนเกินไป ซึ่งเรื่องนี้มันเป็นเรื่องของการบัญญัติคำศัพท์ที่ประชาชนจะสามารถเข้าใจความหมายได้ในทันที ‘อำนาจสูงสุด’ คำนี้ง่าย เข้าใจได้ทันที และสามารถสามารถปักลงไปในใจของประชาชนว่าอำนาจเป็นของฉัน”
ภายหลังรัฐธรรมนูญฉบับแรก พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา มีการย้ายเนื้อหามาตรา 1 ดังกล่าวจากฉบับ พ.ศ. 2475 ไปอยู่ในมาตรา 2 และ 3 ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มา จีรนุชอธิบายว่า ภายหลังจะเริ่มมีองค์ประกอบอื่นๆ เข้ามาเบียดขับอำนาจของประชาชน เมื่อมีการสถาปนาอำนาจของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสภาเดี่ยวหรือสภาคู่ เมื่อถูกรัฐประหารก็จะเกิดการยึดอำนาจกลับคืนไป เป็นวนเวียนของการยึด-ดึงอำนาจของประชาชนที่กินระยะเวลายาวนานกว่า 80 ปี นับถึงปัจจุบัน
ส่วนรัฐธรรมนูญ 2560 จีรนุชเห็นว่า เป็นฉบับที่เบียดขับประชาชนไปเป็นนิ้วก้อย กล่าวคือ นิ้วก้อยเป็นนิ้วที่แรงน้อยที่สุด และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้ประชาชนแทบไม่มีอำนาจใดเหลืออยู่ภายในรัฐธรรมนูญเลย และหากหยิบมุมมองสี่มุมมองมาพิจารณารัฐธรรมนูญ ได้แก่ อำนาจอธิปไตยเป็นของใคร สถานะของพระมหากษัตริย์ หลักนิติธรรมความเสมอภาค และระบบเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ว่าจะในมุมมองใด อำนาจของประชาชนก็ไม่เคยมากกว่าฝ่ายตรงข้ามประชาชน
“นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 ใหม่ ทำไมเราถึงต้องรื้อทิ้งรัฐธรรมนูญ ในทางการทำงานของภาคประชาชน เราเคารพกฎกติกา เคารพการดำเนินนโยบายและคำสัญญาของรัฐบาลมาโดยตลอด รัฐบาลบอกว่าจะทำประชามติสามครั้ง เราก็เสนอคำถามประชามติที่คิดว่าเข้าท่ากว่าและไม่สร้างปมขัดแย้ง ก็เสนอไปสองแสนชื่อ จนตอนนี้ผ่านไปปีกว่าแล้ว ประชามติครั้งที่หนึ่งก็ยังไม่เกิดขึ้น จนตอนนี้มาถึงคำถามว่ารัฐธรรมนูญเราจะได้ก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่ในปี 2570 ไหม ซึ่งคุณนิกรส่ายหัวว่าไม่ได้แน่ๆ”
“อย่างไรก็ตาม ดิฉันมาด้วยความหวัง และดิฉันเชื่อว่าประชาชนยังมีความหวัง และดิฉันเชื่อว่าถ้าเรายังเดินทางไปด้วยการทำประชามติสองครั้ง เรายังไปได้ และเรายังสามารถมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อให้เป็นกติกาใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยทันรอบที่ประชาชนจะตัดสินอนาคตในการเลือกตั้งปี 2570 ครั้งต่อไป ยืนยันว่าเรื่องนี้สามารถเป็นไปได้ ไม่ใช่เพราะความเชื่อ แต่เป็นไปด้วยการศึกษาข้อมูลต่างๆ มาแล้ว การดูตัวกฎหมาย คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยส่วนตัว”
พริษฐ์: รัฐธรรมนูญใหม่ทันเลือกตั้ง 70 เป็นไปได้ ถ้าทำประชามติสองครั้ง
พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. พรรคประชาชน กล่าวว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน วัดความคืบหน้าในการร่างหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ นับจาก 10 ธันวาคม ปีที่แล้วจนถึงตอนนี้ พบว่ามีความคืบหน้าอยู่ส่วนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เกิดจากความสำเร็จของฝ่ายการเมือง หากแต่เป็นกาลเวลาที่ทำให้บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 สิ้นผลไป จนทำให้ สว. 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งและทำการแทรกแซงการเลือกตั้งสิ้นสภาพไปด้วย แต่นอกจากเรื่องดังกล่าวแล้ว ยังไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 แม้แต่มาตราใดมาตราหนึ่ง ประกอบกับทั้งความหวังที่ว่าประเทศไทยจะได้รัฐธรรมนูญใหม่ก่อนการเลือกตั้งก็ริบหรา ขณะที่เส้นทางในการทำประชามติก็ยังคงไม่มีความชัดเจน
ในข้อเสนอทางนโยบายเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พริษฐ์นำเสนอว่ามีสองโจทย์ใหญ่ โจทย์แรกคือ Why ว่าทำไมต้องเสนอโจทย์นี้ อีกโจทย์หนึ่งคือ How ว่าจะทำอย่างไร ซึ่งพริษฐ์ขอเริ่มจากโจทย์แรก เนื่องจากโจทย์หลังเป็นโจทย์ที่มีการพูดถึงถกเถียงกันมากในช่วงนี้ จนตนกังวลว่าผู้คนอาจจะหลงลืมโจทย์แรกได้ว่าหากเราไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 สิ่งใดจะเกิดขึ้น
“สรุปให้เห็นปัญหาสั้นๆ ถ้าเราไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญหรือจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราจะอยู่ภายใต้สภาวะที่ประชาชนนั้นมีความอ่อนแอ ความอ่อนแอในสองด้าน ด้านหนึ่งคืออำนาจของประชาชน ด้านที่สองคือสิทธิเสรีภาพของประชาชน”
ด้านที่หนึ่ง อำนาจของประชาชนอ่อนแอ พริษฐ์อธิบายว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ออกแบบโครงสร้างรัฐที่อำนาจการเลือกตั้งของประชาชนถูกบั่นทอนหรือขัดขวางจากอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งได้มากกว่าที่เคยมีมาในอดีต โดยเฉพาะอำนาจของวุฒิสภา ซึ่งทั้งมาจากการแต่งตั้งหรือเลือกกันเอง ก็มีขอบเขตอำนาจในการลงมติคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้ว่า สส. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้ง 500 คนจะเห็นพ้องในเรื่องเดียวกัน ทั้งยังมีอำนาจชี้ขาดในการคัดเลือกและให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ ซึ่งจะมีอำนาจหลักในการนิยาม วินิจฉัย และไต่สวนผู้ดำรงตำแหน่งทั้งการเมือง และอาจส่งผลให้ผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต ยังไม่นับรวมถึงศาลรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจยุบพรรคการเมืองด้วยขอบเขตที่กว้างขวางและคลุมเครือ กกต. ที่สามารถแจกใบส้มแก่ผู้สมัครได้ และยุทธศาสตร์ 20 ปีที่ครอบงำรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
ด้านที่สอง สิทธิเสรีภาพของประชาชนจะมีความอ่อนแอ รัฐธรรมนูญ 2560 เขียนให้สิทธิเสรีภาพสามารถถูกจำกัดด้วยเหตุผลด้านความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของรัฐได้ สิทธิในการแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์หรือการชุมนุมก็ไม่ได้รับการคุ้มครอง ขณะที่ความเสมอภาคทางเพศก็ไม่ได้รับการประกัน เพราะว่ายังใช้คำว่าชายและหญิงแทนที่จะใช้คำว่าบุคคลทุกคน สวัสดิการหลายอย่างยังมีช่องว่างเพื่อให้รัฐบาลในอนาคตสามารถลดการประกันได้ เช่น สิทธิในการรักษาพยาบาล สิทธิในการเรียนฟรี รวมถึงมาตราที่ทำให้คำสั่งของ คสช. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญโดยอัตโนมัติ ถ้าจะยกเลิกประกาศคำสั่งใดก็ต้องผ่านอำนาจของรัฐสภา
ประการสุดท้ายคือเรื่องของความชอบธรรมของที่มาของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งไม่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน หากแต่มาจากการร่างโดยคณะรัฐประหารและการยึดอำนาจ สิ่งนี้ทำให้เกิดความรู้สึกในใจของผู้คนหลายคนว่ารัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ควรจะต้องผ่านกระบวนการที่ชอบธรรมจากการมีส่วนร่วมของประชาชน
ในส่วนของบทสนทนาจากนิด้าโพลที่มีการกล่าวคำถามถึงว่าควรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราหรือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พริษฐ์ กล่าวว่า จากจุดยืนของพรรคประชาชนหรือพรรคก้าวไกลในอดีต ยืนยันว่าจุดหมายปลายทางของพรรคคือการจัดทำรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน เพราะปัญหาข้างต้นไม่ได้มาจากมาตราใดหรือส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่เกี่ยวพันหลายส่วน การแก้ไขจึงจำเป็นต้องมีการร่างฉบับใหม่ทั้งหมด และต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ จึงต้องให้มีการเลือกตั้ง สสร. เพื่อเพิ่มบทสนทนาเรื่องเหล่านี้ในสังคมมากกว่าเพียงแค่การใช้ สส. หรือ สว. แก้ไขรายมาตรา
ในส่วนของโจทย์ที่สอง คือ How ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร พริษฐ์ยอมรับว่ากระบวนการกว่าจะไปถึงจุดที่ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แม้จะเร่งเวลาให้รวดเร็วที่สุด ก็ยังต้องใช้เวลากว่าสองปี แต่สิ่งที่พรรคประชาชนเสนอมาตลอดในการเดินไปข้างหน้า คือการเดินเส้นทางสองเส้นพร้อมกัน เส้นทางแรกคือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ส่วนอีกเส้นทางหนึ่งคือการแก้ไขรายมาตรา สิ่งใดที่แก้ไขได้ ก็แก้ไขไปก่อน ดังนั้นจะพบว่าพรรคประชาชนมีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งแบบฉบับใหม่ทั้งหมดและแบบแก้ไขรายมาตรา ซึ่งไม่ได้ยื่นเพื่อทดแทนกันแต่อย่างใด
“ความแตกต่างในเรื่องประชาติว่าจะต้องทำสองครั้ง หรือสามครั้งนั้น เกิดขึ้นจากการที่แต่ละฝ่ายตีความคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ไม่เหมือนกัน ทบทวนกันเล็กน้อย คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 เขียนไว้ว่า ‘ให้มีการทำประชามติหนึ่งครั้งก่อนและหนึ่งครั้งหลัง’ มีการพูดถึงแค่สอง คง แต่มีการตีความว่าหนึ่งครั้งก่อนเนี่ย เป็นครั้งก่อนของอะไร”
“พอพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลเมื่อปี 2567 เราตีความตรงกันว่า ‘ก่อน’ คือ ‘ก่อนทำฉบับใหม่’ เราก็เลยยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นการเพิ่มหมวด 15/1 ให้มี สสร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าสู่รัฐสภา แต่ปรากฎว่า ร่างดังกล่าว ประธานรัฐสภาในตอนนั้นสั่งไม่บรรจุเข้าระเบียบวาระ เพราะประธานรัฐสภาและคณะกรรมการที่ให้ความเห็นประธานรัฐสภา ไปตีความอีกแบบหนึ่ง ตีความคำว่า ‘ก่อน’ ไม่ใช่ ‘ก่อนจัดทำฉบับใหม่’ แต่หมายถึง ‘ก่อนเสนอเข้ามาในวาระหนึ่ง’ เลย ก็เลยพูดง่ายๆ ไล่ให้ไปทำประชามติก่อนเลยอีกรอบหนึ่ง จึงจะยอมบรรจุเข้าระเบียบวาระ จึงงอกประชามติเพิ่มขึ้นมาจากสองครั้งเป็นสามครั้ง”
ส่วนเหตุผลว่าทำไมพรรคประชาชนจึงเสนอแผนที่จะทำประชามติสองครั้งแทนสามครั้ง หลังจากที่มีการขับเคลื่อนไปในช่วงที่ผ่านมา พริษฐ์ อธิบายว่า เมื่อคำนวณจากระยะเวลาของแผนงานที่รัฐบาลได้วางเอาไว้แล้วนั้น คือการทำประชามติสาม ครั้ง โดยไม่เริ่มครั้งแรกจนกว่าจะแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติฯ เสร็จ ไม่ว่าจะอย่างไร ก็ไม่มีทางที่จะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อนมีการเลือกตั้งในสมัยถัดไป เหมือนที่รัฐบาลเคยให้สัญญาไว้
ดังนั้น พริษฐ์จึงเสนอว่า หนทางเดียวที่พอจะมีความเป็นไปได้ที่จะทัน คือการลดการทำประชามติจากสามครั้งเหลือสองครั้ง และแทนที่จะไม่กระทำสิ่งใดเลย ควรต้องลงมือทำบางสิ่งบางอย่าง ส่วนถามว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรนั้น ส่วนประกอบที่สำคัญมีทั้งหมดสามส่วน ส่วนแรก คือ ต้องโน้มน้าวประธานรัฐสภาและคณะกรรมการที่ปรึกษาด้วยข้อมูลใหม่ คือ คำวินิจฉัยรายบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และคำหารืออย่างไม่เป็นทางการกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จากนั้นเมื่อบรรจุเข้าวาระการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว ก็ต้องให้ สส. และ สว. ซึ่งเป็นส่วนที่สองและสามเห็นชอบ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง สสร. และจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก่อนจะลงประชามติครั้งที่สองเพื่อรับรองรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
“ความท้าทายคือเหมือนที่ท่านนิกรเคยเจอในปี 2563 ตอนนั้นท่านนิกรกับรัฐบาลก่อนเคยพยายามยื่นร่างแก้ไข ตอนนั้นยังไม่มีคำวินิจฉัย 4/2564 ออกมา ผ่านวาระหนึ่งกับวาระสองไป ซึ่งร่างคณะกรรมาธิการฯ เสนอ สสร.เลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ ก่อนเข้าวาระที่สาม มีท่านไพบูลย์ นิติตะวันและท่านสมชาย แสวงการ ยื่นเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและออกมาเป็นคำวินิจฉัยที่ 4/2564”
“แต่การตกในวาระที่สาม ไม่ใช่เพราะว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญห้ามไม่ให้รัฐสภาพิจารณาวารสาม แต่เป็นเพราะ สส. และ สว. บางส่วน ไม่ลงมติเห็นชอบในวาระสาม เพราะไปกังวลเรื่องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 เอาคำวินิจฉัยมาเป็นเหตุผลในการบอกว่ากังวล เลยไม่ลงมติ แต่จะเป็นข้อกังวลจริงหรือข้ออ้าง ก็แล้วแต่ประชาชนจะพิจารณา ดังนั้นก็ต้องเป็นความพยายามของเราในการคลายความกังวลตรงนี้”
นิกร: เลิกหวังประชามติสองครั้ง ได้ สสร. อาจทัน เลือกตั้ง 70
นิกร จำนง ประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา อธิบายว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเป็นประเพณี (Tradition) ค่อนข้างมาก เนื่องด้วยมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนาน ประเทศไทยจึงควรจะเลือกใช้รัฐธรรมนูญแบบระบบประเพณี แต่ภายหลังการอภิวัฒน์สยาม ประเทศไทยกลับเลือกใช้ระบบแบบรัฐสภา ซึ่งไปรับมาจากสหรัฐอเมริกาอีกทอดหนึ่ง ซึ่งสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่แทบจะไม่มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ หากแต่เกิดจากคนขาวจากทวีปยุโรปเข้าไปตั้งอาณานิคม ยึดดินแดนมาจากคนอินเดียนแดง หลักคิดทางการปกครองจึงแตกต่างกัน และสิ่งนี้เป็นเหตุให้รัฐธรรมนูญของประเทศไทยมีความเหลื่อม จนทำให้ถูกฉีกหรือยึดอำนาจในเวลาต่อมา และเมื่อถูกฉีกหรือยึดอำนาจ ประชาชนก็ไม่อยากจะลุกขึ้นสู้
รัฐธรรมนูญ 2540 ก็มีข้อบกพร่องร้ายแรงอย่างนึง คือ การเขียนให้ฝ่ายการเมืองเข้มแข็งมากจนเกินไปจนทำให้ฝ่ายค้านไม่สามารถอภิปรายได้ เพราะว่าข้อกำหนดจำนวน สส. ขั้นต่ำที่สามารถยื่นอภิปรายได้สูงเกินไป จนส่งผลให้เกิดเงื่อนไขทางการมืองและนำไปสู่การยึดอำนาจของคณะรัฐประหาร นิกรยืนยันว่า หากรัฐธรรมนูญเขียนไว้ให้ฝ่ายค้านในตอนนั้นสามารถอภิปรายได้ การรัฐประหารยึดอำนาจ พ.ศ. 2549 ก็คงไม่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการรัฐประหาร ทุกภาคส่วนก็มีความพยายามอย่างยิ่งในการกลับไปสู่จุดเดิม คือ “รัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน” แต่นิกรตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่ยากที่สุดในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน คือ การทำให้รัฐบาลประกาศให้การร่างรัฐธรรมนูญใหม่เป็นนโยบาย ซึ่งจะกลายเป็นเป็นข้อผูกมัดทางการเมือง และก็โชคดีที่ในปัจจุบัน รัฐบาลไม่ว่าจะสมัยของเศรษฐาหรือแพทองธารก็ล้วนประกาศให้การร่างรัฐธรรมนูญใหม่เป็นนโยบายที่จะลงมือทำโดยเร็วที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนกับในยุคของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีในตอนนั้นประกาศให้เป็น
แต่นิกรกล่าวว่าตนเองอาจไม่เห็นด้วยกับจีรนุช นิกรไม่เชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเกิดขึ้นได้ทันการเลือกตั้งครั้งหน้า หากแต่หวังเพียงสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) อาจจะพอเป็นไปได้
“แผนตามการทำประชามติสามครั้งเนี่ย เราพลาดตรงที่คุณยิ่งชีพไปขู่ว่า ‘มันมีโอกาสที่ประชามติจะไม่ผ่าน ถ้าตั้งคำถามแบบนี้’ ผมจึงต้องไปเสนอให้มีการแก้ไขพ.ร.บ.ประชามติฯ ก่อน ให้แก้เป็นชั้นครึ่ง เสียเวลาไปปีหนึ่ง”
“สถานการณ์ต่อจากนี้มันจะถูกขยายไปเวลา 180 วัน (เพราะ สส. อาจโหวตไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขนี้จนต้องยับยั้งร่างพระราชบัญญัติไว้) บวกกับถ้าเราใช้กฎหมายเก่า กฎหมายเก่าบอก 90 วันไม่เกิน 120 วัน (ระยะเวลานับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีสั่งให้มีการทำประชามติ ไปจนถึงวันที่มีการจัดทำประชามติจริง) และผสมกับที่ต้องรอ กกต. ออกอนุบัญญัติอีกประมาณเดือนหนึ่ง (ระเบียบว่าด้วยวิธีการจัดทำประชามติ) รวมไปก็ประมาณปีหนึ่ง ปีหนึ่งก็ประมาณปลายปี 2568 หรือต้นปี 2569 ทำประชามติครั้งแรก
“รัฐธรรมนูญนี้ทำประชามติครั้งแรกปลายปี 68 หรือต้นปี 69 แล้ว คราวนี้ข้ามไปหายไปปีนึงแล้ว ปีหน้าจะหายไปปีนึง โอกาสของรัฐบาลชุดนี้มีครั้งเดียว คือตอนยื่นแก้ไข มาตรา 256 ในเดือนมกราคม ปี 2569 ถ้าเกิดไม่ผ่าน ก็ยื่นซ้ำไม่ได้ ก็ต้องไปยื่นในช่วงสมัยถัดไป คือประมาณเดือนกรกฎาคม 2569”
“ดังนั้นแล้ว ดีที่สุดก็คือ สสร. ยังพอเป็นไปได้ ด้วยการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ให้ผ่าน ผมจึงเสนอให้รัฐบาลทำร่างแก้ไขมาตรา 256 ของตนเอง เพื่อเป็นการผูกมัดคำสัญญาของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด และจะได้มีตัวแทนไปคุยกับวุฒิสภา อย่าให้แต่ละพรรคยื่นกันเอง”
ส่วนร่างแก้ไขมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญที่ยังค้างอยู่ในปัจจุบัน นิกรยอมรับว่าตนกังวลว่าจะมีปัญหา เนื่องด้วยว่าร่าง ดังกล่าว มีการนำข้อห้ามที่ไม่ให้แก้ไขหมวด 1 หมวด 2 ออกไป และอาจก่อให้เกิดแรงต้านจากการพิจารณาของ สว. ซึ่งล้วนลงคะแนนไม่เห็นชอบในชั้นพิจารณารับหลักของการของที่ประชุมร่วมรัฐสภาที่ผ่านมา
ประภาส: นวัตกรรมทางกฎหมาย รธน. 60 แต่ใช้งานไม่ได้จริง
รศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง สมาชิกวุฒิสภา ชวนย้อนอดีตไปถึงการก่อตั้งสมัชชาคนจนที่จัดตั้งขึ้นในวันเดียวกับวันรัฐธรรมนูญ เมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว ในตอนนั้นสมัชชาคนจนมีเป้าหมายเรียกร้องถึงรัฐธรรมนูญที่กินได้และเห็นหัวคนจน อันเกิดจากการเคลื่อนไหวผลักดันเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งชุมชนหรือคนจนไม่เคยมีโอกาสได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจของรัฐ จนก่อเกิดเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเพิ่มอำนาจประชาชนและลดอำนาจรัฐ หรือที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ในที่สุด
“รัฐธรรมนูญ 2560 หลังการรัฐประหาร 2557 เป็นยุคตกต่ำถดถอยอย่างที่สุดของการเมืองภาคประชาชน ถ้าพูดกันแบบรูปธรรม ในส่วนของภาคประชาชน เราได้มีการจัดเวทีหลายครั้งและสรุปบทเรียนกันได้ว่า ส่วนที่เป็นปัญหามากที่สุด คือ หมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิชุมชน สิทธิในการมีส่วนร่วมในการกำหนดหรือตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการพัฒนาหรือนโยบายของรัฐ”
“เราอาจเคยได้ยินท่านมีชัยพูดว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เป็นนวัตกรรมที่ไม่มีที่ไหนเหมือน โดยการเขียนเรื่องสิทธิให้อยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พอไปกำหนดเป็นหน้าที่รัฐ มันไม่มีกลไกในการบังคับใช้ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ก็พยายามบอกว่ามีผู้ตรวจการแผ่นดินหรือศาลรัฐธรรมนูญ แต่ไม่กี่วันที่ผ่านมา เราสรุปกันว่าไม่มีสักคดีที่ชาวบ้านสามารถฟ้องร้องได้ องค์กรอิสระอื่นๆ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ผุ้ตรวจการแผ่นดิน หรือศาลปกครอง ก็รับฟ้องหรือฟ้องร้องแทนชาวบ้านไม่ได้”
สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของการสร้างกลไกในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะมาตรา 25 ของรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติให้สิทธิเสรีภาพต่างๆ ถูกจำกัดได้ หากกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งอาจหมายความรวมถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติในมุมมองของรัฐ สิ่งที่ตามมา คือ การออกกฎหมายต่างๆ ที่ขยายขอบเขตอำนาจของหน่วยงานความมั่นคงภายใน จนเข้าไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในเขตป่า ทำให้สิทธิชุมชนถูกระงับไว้ด้วยเหตุของมาตรานี้
ประภาส เสนอว่า เราจำเป็นต้องกลับไปใช้บทเรียนของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 ถอดสิทธิเสรีภาพออกจากหมวดหน้าที่ของรัฐกลับไปอยู่ในหมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเหมือนเดิม และต้องมีการบัญญัติถึงรายละเอียดของกลไกและกฎหมายที่จะทำให้การปกป้องและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเหล่านั้นเป็นจริง ไม่ใช่แค่การเข้าสู่อำนาจและตรวจสอบอำนาจรัฐเท่านั้น
ส่วนคำถามว่าสถานการณ์ของ สว. ในส่วนของการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ เป็นอย่างไร ประภาสคาดการณ์ว่าคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงมติที่เป็นอยู่ ในช่วงแรกของการพิจารณาขณะเป็นกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ นั้น ในชั้นการพิจารณารายมาตราไม่มีผู้ใดคัดค้าน เห็นด้วยเป็นเอกฉันท์ มีคนแปรญัตติเข้ามาหนึ่งคน แต่ก็ถกเถียงและลงมติก็ผ่าน แต่อยู่ๆ ในวันต่อมาก็มีการเสนอโดยท่านประธานว่าควรทบทวนการพิจารณา ก็เลยนำไปสู่การลงมติแก้ไขและพิจารณาร่วมของสองสภา
พวงทอง: เราไม่ได้สู้กับแค่กฎหมาย แต่เรากำลังสู้อยู่กับทัศนคติของสังคมไทย
ศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนตั้งข้อสังเกตถึงความน่าเบื่อหน่ายในการผลักดันเรื่องการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าเหตุใดจึงยากเหลือเกิน โดยพวงทองระบุว่าบรรยากาศเหล่านี้คือระเบียบทางการเมืองที่ฝ่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยต้องการให้เป็น เป็นแผนการและเครื่องมือที่ผ่านการออกแบบและคิดคำนวณมาเป็นอย่างดี โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือสร้างระบอบการเมืองที่สภาไม่ได้สะท้อนอำนาจของประชาชนที่มาจากการแสดงออกโดยพรรคการเมือง ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ทำงานไม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปิดกั้นพรรคการเมืองจนทำให้พรรคการเมืองสูญเสียศรัทธาและความชอบธรรมจากประชาชน ขณะเดียวกัน ก็ทำให้กลไกและอำนาจของฝ่ายเดิมนั้นเข้มแข็ง
พวงทองอธิบายต่อไปว่า ถ้าย้อนกลับไปสังเกตรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่มาจากรัฐประหาร จะเห็นว่าผู้ร่างของคณะรัฐประหารมีเป้าหมายคล้ายคลึงกัน คือ ทำให้อำนาจทางการเมืองของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งอ่อนแอลงและขาดประสิทธิภาพ ทำให้กองทัพเป็นอิสระจากควบคุมของรัฐบาล มีพันธกิจภายในเป็นของตนเองมากขึ้น ทำให้องค์กรอิสระตกอยู่ภายใต้กลไกอำนาจแทน และทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่มีอำนาจในการควบคุมกลไกรัฐต่างๆ ทั้งระบบราชการและกองทัพ ทำให้ผลักดันนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพไม่ได้
“เขาไม่ได้มุ่งที่จะเปลี่ยนแค่ตัวผู้นำรัฐบาล แต่เขาต้องการจะเปลี่ยนเกมในสภา สร้างระเบียบทางการเมืองใหม่ รวมถึงทำให้ระบบราชการรับใช้เขามากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน เขาก็ต้องออกกฎหมายที่จะจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วย เช่น พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ฯ ในอดีต ในปัจจุบันก็มีการควบคุมเอ็นจีโอ การแก้ไขสิทธิชุมชนให้การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนมีข้อจำกัดมากยิ่งขึ้น หรือในช่วงรัฐบาลคุณประยุทธ์ก็มีความพยายามในการแก้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ให้ปกปิดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง”
“นี่คือกฎหมายที่ทำให้ประชาชนอ่อนแอ ขณะเดียวกันก็ทำให้รัฐบาลและกลไกทางการเมืองทั้งหลายแหล่อ่อนแอลง และทำให้ระบบราชการเป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐบาล ยกตัวอย่างหนึ่งคือ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมฯ ซึ่งส่วนหนึ่งคือสภากลาโหม เป็นความพยายามที่พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนพยายามจะแก้อยู่”
พวงทองอธิบายว่า สภากลาโหม มีส่วนประกอบเสมือนเป็นซูเปอร์บอร์ดจำนวนหกคน ที่มีอำนาจในการตัดสินใจแต่งตั้งโยกย้ายทหารระดับนายพล ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างกลไกป้องกันการรัฐประหาร เดิมทีสภากลาโหมไม่ได้มีอำนาจมากขนาดนี้ เป็นเพียงคณะที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับกิจการทหาร แต่ภายหลังการรัฐประหาร 2520 ก็มีการยกระดับเพื่อดึงอำนาจการแต่งตั้งจัดแต่งข้าราชการทหารออกจากรัฐบาลพลเรือน
“รัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้องค์กรอิสระเป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง แทนที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐให้มีความยุติธรรมและเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้น เหมือนจุดประสงค์ตอนก่อตั้ง แต่ปัจจุบัน ไม่ใช่แล้ว ภายใต้ระบอบที่เป็นอยู่ องค์กรอิสระเป็นเครื่องมือในการลงโทษ จำกัดอำนาจและทำลายกลุ่มการเมืองที่ไม่พึงประสงค์”
“แนวความคิดเรื่อง Civilian Control คือความคิดที่ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งควรจะมีอำนาจในการควบคุมกลไกระบบราชการทั้งพลเรือน กองทัพ และองค์กรอิสระ ไม่ได้อยู่ในสารบบวิธีคิดของคนเหล่านี้ที่ยึดอำนาจจากประชาชน ไล่มาตั้งแต่ 2490 ไม่เคยอยู่ในวิธีคิด กระบวนการคิด หรือแม้แต่คำศัพท์ที่พวกเขาเห็นว่าเป็นความจำเป็นที่ต้องทำให้เกิดขึ้น ในทางตรงกันข้าม พวกเขายิ่งต้องทำให้อำนาจฝ่ายพลเรือนอ่อนแอลง”
พวงทองยกตัวอย่างประกอบคำอธิบายข้างต้น คือ กรณีของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีรักษาการ จากการโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญในการปกป้องรัฐบาลจากเหตุด้านความมั่นคงต่างๆ เช่น ข่าวกรอง เอกสาร ความลับ รวมถึงการรัฐประหาร และเคยมีการโยกย้ายมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา
หรืออีกกรณีหนึ่ง คือกรณีการเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหมฯ ของพรรคประชาชน ซึ่งเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. และถูกตีกลับ โดยมีหน่วยงานที่ไม่เห็นด้วยกับร่างนี้ นอกจากกองทัพและกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงแล้ว ยังมีหน่วยงานอื่นๆ เช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงบประมาณ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงต่างประเทศ
“กรณีนี้กลายเป็นว่า หน่วยงานราชการช่วยกันปกป้องอำนาจของหน่วยราชการด้วยกันเอง ดิฉันคิดว่า เขาทำด้วยภายใต้ความคิดว่า ‘อันนี้เป็นเรื่องของหน่วยงานราชการ พรรคการเมืองไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้อง’ เราจึงไม่ได้สู้กับแค่ตัวกฎหมายอย่างเดียว แต่เราต้องสู้กับทัศนคติและความคิดของคนที่อยู่ในระบบราชการและสื่อมวลชนด้วย”
“ดิฉันไม่เคยเจอการตั้งคำถามแบบนี้จากสื่อมวลชนด้วยกันเอง จากคนทั่วไป อย่างกรณีคุณยิ่งลักษณ์ เข้าใจได้ว่าตอนนั้นกระแสต่อต้านคุณยิ่งลักษณ์มันมาแรงมาก แต่คำถามคือมันผิดตรงไหน หรือคำถามที่ว่าตอนที่มีการโยกย้ายข้าราชการ คำพูดที่ว่า นักการเมืองกลั่นแกล้งข้าราชการ กลายเป็นกระแสหลักที่ถูกส่งต่อกันไปในสื่อมวลชน แต่เวลาข้าราชการแต่งตั้งโยกย้ายกันเอง เราจะได้ยินว่าคนนั้นเป็นของกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่การเล่นพรรคเล่นพวกเหรอ ทำไมเราจึงไม่ตั้งคำถามกันบ้าง เพราะทัศนคติของคนไทยนั้นต่อต้านนักการเมืองอยู่ตลอดเวลา”
พวงทอง สรุปว่าว่า หากเราไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับอำนาจ ต่อไปเราก็จะแก้ไขอีกหลายๆ เรื่องไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น สิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิชุมชน การจำกัดอำนาจกองทัพและเปลี่ยนแปลงกองทัพไปให้มีขนาดเล็ก มีความเป็นมืออาชีพและมีประสิทธิภาพ รวมถึงเข้าใจยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงของของภูมิรัฐศาสตร์และรัฐเพื่อนบ้าน การจัดซื้อจัดจ้างอาวุธที่มีประสิทธิภาพ
“ถ้าเราไม่เริ่มมองเห็นปัญหาเหล่านี้ว่า อะไรคือระเบียบทางการเมืองอันใหญ่ที่เขาค่อยสร้างขึ้นมาและส่งผลกระทบทุกคน คุณไม่ต้องหวังว่าจะปฏิรูปธุรกิจของกองทัพได้เลย เพราะธุรกิจกองทัพจำนวนมากกระทำในนามความมั่นคงภายในของชาติ ถ้าคุณไม่แก้นิยามเรื่องนี้ที่ระบุภารกิจของกองทัพในรัฐธรรมนูญ คุณก็จะไม่สามารถแก้กิจกรรมทั้งหลายแหล่ที่กองทัพได้ทำลงไปในนามของความมั่นคง”
“อำนาจของกองทัพโยงกับรัฐธรรมนูญเสมอ เวลาที่ดิชั้นไปอ่านงานเขียนของกองทัพที่เขาจะอธิบายว่าทำไมเขามีโครงการพัฒนาชนบท โครงการโคกหนองนา หรือแม้กระทั่งขจัดความยากจน มันเกี่ยวข้องกับความมั่นคงภายใน แล้วเขาก็จะอ้างเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญว่าได้มอบหมายภารกิจเหล่านี้ให้กับกองทัพ ซึ่งมันเริ่มมาจากรัฐธรรมนูญ 2517 ได้ขยายภารกิจของกองทัพออกไปไกลกว่ารัฐธรรมนูญปี 2475 ที่กำหนดภารกิจไว้เพียงการปกป้องประเทศจากภัยคุกคามภายนอก”
“รัฐธรรมนูญปี 2517 ขยายภารกิจกองทัพออกไปปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ปราบปรามกบฏและจราจล ซึ่งเป็นเรื่องกิจการภายใน และรักษาความมั่นคงของรัฐ ซึ่งกว้างมหาศาล อาจจะเกิดปรากฏการณ์เหลืองแดง ปรากฏการณ์เยาวชนลุกฮือ และเพื่อการพัฒนาประเทศ อย่างเช่นการทำอุตสาหกรรมยา เขาก็อ้างเรื่องความมั่นคงทางยาที่ประเทศต้องมี หรือไปทำเรื่องโควิด เรื่องอีอีซี (เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) ที่กองทัพเรือตั้งงบประมาณจำนวนมากก็อ้างเรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ดังนั้นต้องไปแก้ที่ตัวรัฐธรรมนูญด้วย”