9 ธันวาคม 2567 เวลา 08.30 – 16.30 น. สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดกิจกรรม “วันนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและวันสิทธิมนุษยชนสากล” เนื่องในโอกาสวันสิทธิมนุษยชนสากล ณ ห้องประชุมชั้น 5 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายในงานมีการกล่าวปาฐกถาพิเศษโดยนายกสภาทนายความ การมอบรางวัลโล่เชิดชูเกียรติทนายความคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การบรรยายจากนักวิชาการ และวงเสวนาเกี่ยวกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
กิจกรรมหนึ่งภายในงานคือการอบรมทนายความในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญไทยกับการคุ้มครองสิทธิประชาชนและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” บรรยายโดย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการ ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างเวลา 10.45 – 12.00 น.
สิทธิมนุษยชน vs สิทธิพลเมือง แตกต่างแต่เหมือนกัน
ผศ.ดร.ปริญญา เริ่มต้นการบรรยายด้วยการตั้งคำถามแก่ผู้เข้าร่วมการอบรมว่า “สิทธิมนุษยชน” กับ “สิทธิพลเมือง” แตกต่างกันอย่างไร ก่อนจะถามต่อไปว่า “หากมีชาวต่างชาติเข้ามาขอคำปรึกษาว่าถูกละเมิดสิทธิฯ ท่านจะใช้รัฐธรรมนูญมาตราใดในการให้คำปรึกษา”
สาเหตุที่ต้องมีการหยิบยกรัฐธรรมนูญขึ้นมากล่าวถึงนั้น ผศ.ดร.ปริญญา ให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญเป็นข้อต่อสู้สำคัญสำหรับทนายความทุกคน เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด กฎหมายใดจะขัดหรือแย้งมิได้ ดังที่มีการบัญญัติไว้ในมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้” อีกทั้งหลายปัญหาที่เกิดขึ้น ก็ไม่สามารถแก้ไขได้โดยใช้เพียงกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ
ผศ.ดร.ปริญญา อธิบายต่อไปว่า การจะแยกสิทธิพลเมืองหรือสิทธิมนุษยชนออกจากกันในเรื่องนี้ จำเป็นต้องพิจารณาถึงการตราเนื้อหาดังกล่าวในรัฐธรรมนูญ หากท่านเป็นทนายความของคนต่างชาติและถูกละเมิดสิทธิ ท่านย่อมไม่สามารถยกอ้างถึงเสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพในการเดินทาง เสรีภาพในการประกอบอาชีพ หรือสิทธิที่มีการกล่าวถึงอื่นๆ เป็นการเฉพาะได้ เพราะเรื่องนี้ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 หมวด 3 สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้ว ว่าเป็นของคนชนชาวไทย เป็นสิทธิเสรีภาพของคนสัญชาติไทยเท่านั้น
คำถามต่อมา แล้วเราจะช่วยเหลือชาวต่างชาติได้อย่างไร ประเด็นนี้ ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า จำเป็นต้องย้อนกลับไปที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 4 ซึ่งเป็นบทบัญญัติทั่วไป ใช้บังคับครอบคลุมกับทุกกรณี ครอบคลุมคนทุกคน โดยรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 4 บัญญัติว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง” แตกต่างจากลักษณะของรัฐธรรมนูญหมวด 3 ซึ่งรับรองและคุ้มครองไว้ให้เฉพาะกับบุคคลสัญชาติไทยเท่านั้น สิ่งนี้จึงเป็นความแตกต่างระหว่างสิทธิมนุษยชนที่คุ้มครองคนทุกคนและสิทธิพลเมืองที่มีไว้คุ้มครองบุคคลที่มีสัญชาติเป็นพลเมืองของประเทศนั้น ๆ เท่านั้น
แต่หากย้อนกลับไปพิจารณาที่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เราจะเห็นว่าสิทธิมนุษยชนกับสิทธิพลเมืองมีความปะปนกันอยู่ เพราะสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่สหประชาชาติสร้างและออกแบบขึ้นเพื่อใช้กับคนทุกคนและประเทศทุกประเทศบนโลก แต่ในทางปฏิบัติ เมื่อแต่ละประเทศนำไปใช้ก็ต้องมาคิดกันต่อว่าสิทธิใดจะเป็นสิทธิมนุษยชน หรือสิทธิใดจะเป็นสิทธิพลเมือง และสำหรับประเทศไทย คนไทยใช้หมวด 3 ส่วนคนต่างชาติใช้มาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฯ
“แต่ถ้าจะให้ผมรวบ สิทธิมนุษยชนก็คือเรื่องของการคุ้มครองความเสมอภาค ความเท่าเทียม และความยุติธรรม โดยส่วนตัวผมจะมุ่งเน้นย้ำเรื่องความยุติธรรม ซึ่งสามารถดูประกอบได้จาก ปฏิญญาสากลฯ มาตรา 9, 10 และ 11 โดยเฉพาะมาตรา 11 ซึ่งบัญญัติถึงหลักการของการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ก่อนจะมาเป็นรากฐานที่ปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2492” ผศ.ดร.ปริญญาสรุปท้ายการเกริ่นนำ
กฎหมายไทย ใช้หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่ากระทำความผิดมาโดยตลอด
ผศ.ดร.ปริญญา เน้นย้ำว่า หลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 29 ซึ่งเป็นมาตราที่นำหลักการดังกล่าวมาบัญญัติไว้ เป็นหัวใจของการให้ความช่วยเหลือของทนายความแก่ประชาชนในทางอาญา กล่าวคือ ก่อนจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด รัฐหรือบุคคลใดจะปฏิบัติต่อบุคคลเสมือนบุคคลนั้นเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้ เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลกและนานาชาติให้การยอมรับร่วมกัน และในประเทศไทยก็มีการขยายความเพิ่มเติมในมาตรา 29 วรรคสามของรัฐธรรมนูญฯ “การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี”
แต่ในทางกฎหมายหลายฉบับและการปฏิบัติใช้งานจริง ผศ.ดร.ปริญญา กลับพบว่าบทบัญญัติและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐหลายส่วนที่ไม่เป็นไปตามหลักการที่มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตัวอย่างเช่น
- การออกหมายจับได้ทันที เพียงมีโทษจำคุกเกิน 3 ปี ปรากฎอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66 แตกต่างจากต่างประเทศที่จะออกหมายจับได้ก็ต่อเมื่อมีหมายเรียกแล้ว แต่ผู้ต้องหาไม่มา กล่าวคือต้องมีเหตุอันควรให้ออกหมายจับ แต่ของประเทศไทย ถ้าข้อหาที่มีการกระทำความผิดดังกล่าวมีอัตราโทษชั้นสูงตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ออกหมายจับได้ทันที ไม่ต้องสนใจว่ามีเหตุอันสมควรหรือไม่ ซึ่งลำพังเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ได้มีอำนาจออกหมายจับด้วยตนเอง แต่ต้องไปร้องขอต่อศาล ตามข้อกำหนดที่ถูกบัญญัติไว้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 แต่เมื่อสำนวนตำรวจมาถึง ศาลก็ดูเพียงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66 แล้วก็ออกหมายจับให้ ปัจจุบันจึงเกิดปัญหาออกหมายจับพร่ำเพรื่อ ถ้าจับกุมถูกตัวก็ดี แต่หลายครั้งไม่สามารถทราบได้ว่าถูกตัวหรือไม่ และข้อสำคัญคือต่อสู้ยาก เพราะประชาชนถูกจับไปโดยที่ยังไม่ได้จะติดต่อกับใครแม้แต่กับทนายความ
- การเรียก “การปล่อยชั่วคราว” แทน “การขังชั่วคราว” ปรากฎอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหมวด 3 “ปล่อยชั่วคราว” ผศ.ดร.ปริญญา ตั้งคำถามว่า ทำไมประมวลกฎหมายของประเทศเราจึงเรียกว่า “ปล่อยชั่วคราว” ทั้งที่ต่างประเทศทั่วโลกเขาใช้คำว่า “ขังชั่วคราว” เพราะเขาถือว่าการปล่อยตัวผู้ต้องหาเป็นบททั่วไปและการคุมขังเป็นบทยกเว้น เมื่อบุคคลใดถูกตั้งข้อหาและรับทราบแล้ว บุคคลนั้นก็สามารถกลับบ้านและจะเรียกมาสืบสวนสอบสวนเมื่อไรก็แจ้งให้ทราบ ยกเว้นว่าหลบหนี แต่ประเทศเราเลือกจะขังไว้ก่อน แล้วต้องไปร้องขอต่อศาลว่าให้ปล่อยตัวผู้ต้องหากลับบ้าน
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ ผศ.ดร.ปริญญา อธิบายว่า จากการสืบค้นของตน พบว่าเดิมทีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นกฎหมายที่มีการร่างและตราขึ้นก่อน ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ จะมีการประกาศใช้ ซึ่งเป็นประกาศที่มีการกำหนดถึงหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ขึ้น และต่อมาหลักการดังกล่าวได้รับการยอมรับและบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญของประเทศไทยฉบับปี พ.ศ. 2492 และก็มีแนวความคิดที่พยายามจะแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้มีเนื้อหาสอดคล้องต้องตรงกันกับรัฐธรรมนูญฯ แต่จากการรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญหลายต่อหลายครั้ง แนวคิดและความพยายามในการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจึงถูกลืมเลือนหายไป ประเทศไทยจึงตกอยู่ภายใต้สภาวะสันนิษฐานไว้ก่อนว่ากระทำความผิดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
จากสถิติของผู้ต้องขังในเรือนจำปัจจุบันกว่า 280,000 คน ผศ.ดร.ปริญญา ชี้ว่าประมาณกว่าร้อยละ 25 หรือกว่า 80,000 คน เป็นผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี หรือที่เรียกว่าคดียังไม่สิ้นสุด สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าการสันนิษฐานไว้ก่อนว่ากระทำความผิดส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาคนล้นคุก จนเรือนจำต้องเลือกใช้มาตรการชั้นนักโทษ ลดโทษ พักโทษ เพื่อระบายคนออกจากเรือนจำ แต่วิธีการนี้ก็ทำให้บุคคลที่ได้รับคำพิพากษาลงโทษไม่ได้รับโทษอย่างที่สมควรจะเป็นและส่งผลกระทบเป็นปัญหาการกระทำความผิดซ้ำตามมา
- การถูกขังแทนค่าปรับ ปรากฎอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และ 30/1 ผศ.ดร.ปริญญา ยอมรับว่าในฐานะอาจารย์กฎหมาย ตนเองก็ไม่ทราบว่าเรายังปล่อยให้กฎหมายแบบนี้อยู่ในบ้านเมืองได้อย่างไร เพราะสิ่งนี้เป็นการแทนความหมายอย่างแท้จริงถึงการติดคุกเพราะว่าจน โดยปัจจุบันมีการกำหนดอัตราอยู่ที่วันละ 500 บาท ต้องชำระภายใน 30 วัน และมีทางเลือกคือการบริการสังคมทดแทน อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ จากการทำงานวิจัย ผศ.ดร.ปริญญา พบว่า มีการใช้งานจริงน้อยมากจนถึงอาจจะไม่มีเลย ทั้งการขอหรือศาลมีคำสั่งให้ไปบริการทำงานสังคม หรือแม้แต่การให้เวลาไปหาค่าปรับมาชำระ ศาลส่วนใหญ่เองก็ไม่ได้ให้เวลาดังกล่าว แต่เลือกจะจำคุกผู้ต้องหาหรือจำเลยทันที ทั้งที่เป็นเงื่อนไขขั้นต่ำที่มีการกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ขณะที่ประชาชนก็เข้าไม่ถึง เพราะไม่มีเงินจ้างค่าทนาย ลำพังแค่ค่าปรับยังไม่มีเงินชำระ
- การจัดพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นอาชญากรทั้งที่คดียังไม่สิ้นสุด ปรากฎอยู่ในระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการพิมพ์ลายนิ้วมือ เรื่องนี้มีการแก้ไขแล้วด้วยความพยายามของ ผศ.ดร.ปริญญาเอง แต่เดิมระเบียบดังกล่าวกำหนดให้เจ้าพนักงานตำรวจพิมพ์ลายนิ้วมือพร้อมชื่อนามสกุลของผู้ต้องหาลงในบันทึกทะเบียนประวัติอาชญากร ซึ่งทางเจ้าพนักงานจะไม่ลบออกให้โดยอัตโนมัติแม้ว่าคดีจะยกฟ้องหรือพนักงานอัยการมีคำสั่งสั่งไม่ฟ้องก็ตาม หากต้องการลบ ผู้ต้องหาจะต้องไปขอลบเอง ซึ่งเขาก็ไม่ยอมลบให้ เพียงแต่คัดแยกไปอยู่บันทึกอีกแฟ้มหนึ่งเท่านั้น หรือถ้าผู้ต้องหาคนใดถูกโทษปรับหรือรอลงอาญา ก็ถือว่ามีความผิดแล้ว ไม่สามารถคัดแยกได้ ปัจจุบันประเทศไทยมีทะเบียนประวัติอาชญากรในบันทึกประมาณ 13 ล้านคน ซึ่งเป็นเรื่องแปลกอย่างมากที่คนกว่า 1 ใน 5 ของทั้งประเทศเป็นอาชญากร
- การถูกกักขังในเรือนจำ ปรากฎอยู่ในแนวทางปฏิบัติของศาลและกรมราชทัณฑ์เกี่ยวกับการกักขังผู้ต้องหาระหว่างพิจารณาคดี ซึ่งการกักขังตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 29 กำหนดหลักไว้ว่า ถ้าต้องกักขัง ต้องกักขังในสถานที่อื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ แต่ในทางปฏิบัติจริง ผู้ต้องหาจำนวนมากกลับถูกนำไปกักขังที่เรือนจำ เรื่องนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ อย่างชัดเจน และไม่มีทางที่ศาลจะไม่ทราบ เพราะศาลเป็นผู้ออกหมายขัง และในหมายขังเองก็มีถ้อยคำปรากฎอยู่ว่าสถานที่คุมขังคือที่ใด ปัจจุบันมีความพยายามในการแก้ไขเรื่องดังกล่าว โดยกรมราชทัณฑ์ได้ออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการคุมขังในสถานที่คุมขังฯ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการกักขังคุมขังในสถานที่อื่นนอกเรือนจำมาใช้แทน
- คำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยอ้างโทษร้ายแรง ปรากฎอยู่ในคำสั่งยกคำร้องของคดีผู้ต้องหาทางการเมืองตลอดจนคดีที่มีอัตราโทษสูงร้ายแรงหลายคดี ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า เหตุผลดังกล่าวไม่มีการระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับข้อพิจารณาในการสั่งยกคำร้องคำขอปล่อยตัวชั่วคราวของศาลแต่อย่างใด ลำพังเพียงแค่การตั้งข้อหาที่มีความรุนแรงของตำรวจก็อาจส่งผลให้ประชาชนได้รับการถูกคุมขังได้ แม้ว่ายังไม่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดก็ตาม การกระทำของศาลเช่นนี้ไม่เป็นไปตามหลักการและบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ
รธน. มาตรา 25: โฆษณาชวนเชื่อ-ขยายอำนาจศาล รธน.
ผศ.ดร.ปริญญา พาผู้เข้าร่วมการอบรมย้อนกลับมาที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 อีกครั้ง โดยยกบทบัญญัติมาตรา 25 “สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บทบัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะกระทำการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น” พร้อมกล่าวว่า “ผมคิดว่ามันเป็นมาตราโฆษณาชวนเชื่อ”
เนื้อหาในมาตราดังกล่าวไม่เคยปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับอื่นใดมาก่อน ซึ่งอ่านผ่านๆ แล้วอาจจะมองว่าดี แต่หากจะเข้าใจมาตรานี้ได้ จำเป็นต้องเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างสิทธิกับเสรีภาพได้ก่อน ก่อนจะตั้งคำถามต่อผู้เข้าร่วมว่า “ทำไมประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย สิทธิจึงเป็นเรื่องหลักในกฎหมาย”
ผศ.ดร.ปริญญา เปรียบเทียบตัวอย่างเรื่องสิทธิเสรีภาพว่าเหมือนกับไปนอนบ้านเพื่อน แต่ละคนจะมีสิทธิเสรีภาพเท่าใดก็แล้วแต่ที่เจ้าของบ้านนั้นจะให้ แต่ถ้าเป็นบ้านของตนเองก็ย่อมใช้สิทธิเสรีภาพได้อย่างเต็มที่ ในกรณีนี้ ประเทศไทยก็เปรียบเสมือนประเทศของประชาชนคนไทย ประชาชนชาวไทยเป็นเจ้าของ ย่อมสามารถใช้สิทธิเสรีภาพได้อย่างเต็มที่อยู่แล้ว แม้กฎหมายจะไม่นำมาบัญญัติไว้ แต่ในมาตรานี้กลับมีการสอดแทรกกลไกบางอย่าง โดยการนำถ้อยคำ “อันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ” หรือ “ศีลธรรมอันดีของประชาชน” ที่มักปรากฎอยู่ในกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงมาพ่วงอยู่ในส่วนท้ายของมาตรา ซึ่งอาจถูกนำไปใช้จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนว่าเสรีภาพของประชาชนจะไม่สามารถเกินขอบเขตดังกล่าวได้
แต่คำถามต่อมา คือเมื่อเป็นการตีความ สิ่งสำคัญคือใครเป็นผู้ตีความว่าอันตรายต่อรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คำตอบก็คือศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้ปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 212 ที่เปิดช่องให้คู่ความหรือศาลสามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และมาตรา 213 ที่เปิดช่องให้บุคคลต่างๆ สามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองหรือยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินถึงการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ สองมาตราเหล่านี้เป็นกลไกของรัฐธรรมนูญที่จะทำให้รัฐธรรมนูญและหลักการทั้งหลายที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองเป็นจริง แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ค่อยเป็นจริง
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า ระบบการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญเป็นปัญหาของเรื่องนี้ การพิจารณาตามมาตรา 212 กำหนดให้ใช้คะแนนเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ใช้การปรึกษาหารือจนกว่าจะได้ข้อยุติ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เพียงกรณีเดียว คือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเหลือเพียง 8 คน และยังหาคนใหม่มาแทนไม่ได้ จะเหลือน้อยกว่านั้นก็ไม่ได้ เพราะพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญฯ ระบุว่าต้องมีตุลาการอย่างน้อย 7 คน ในการปฏิบัติหน้าที่
อาจมีบางคนถกเถียงว่า ป.ป.ช. ก็มีคณะกรรมการ 9 คนเหมือนกัน ใช้ระบบโหวตเหมือนกัน แต่ในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มีมาตราที่กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องทำความเห็นของตนต่อคดีและแถลงต่อที่ประชุม แปลว่า ตุลาการต้องมีมติมาตั้งแต่ที่บ้าน เมื่อมาถึงแล้วลงคะแนนทันที เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ไม่ใช่การปรึกษาหรือด้วยใจที่เปิดกว้างและจึงค่อยลงคะแนน ดังนั้นแล้ว ทิศทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับว่าเสียงลงคะแนนของ 5 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นไปในทิศทางใด
หรือข้อโต้แย้งว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นระบบไต่สวน แต่หากพิจารณาตามระบบกล่าวหาที่ใช้ในศาลแพ่งหรือศาลอาญา กฎหมายก็เขียนไว้ชัดเจนว่า โจทก์จำเลยจะต่อสู้ด้วยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใด ศาลไม่สามารถห้ามไม่ให้โจทก์จำเลยต่อสู้ได้ เว้นแต่จะเป็นข้อที่ไม่ใช่สาระสำคัญอันควรค่าแก่การพิจารณา แต่ พ.ร.ป.วิธีพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 58 กลับกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตัดสิทธิของโจทก์จำเลยไม่ให้นำข้อต่อสู้ขึ้นต่อสู้ได้ โดยการมีมติสั่งไม่ไต่สวนข้อเท็จจริงดังกล่าว ลักษณะเช่นนี้ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญของประเทศไทยมีความแตกต่างออกไปและมีความเป็นศาลน้อยลง
“ระบบไต่สวนมีขึ้นเพื่อให้ศาลมีอำนาจในการเข้าไปค้นคว้าข้อเท็จจริงเพิ่มเติม แต่ระบบไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญกลับทำให้ศาลสามารถตัดอำนาจการค้นหาข้อเท็จจริงของคู่ความ” ผศ.ดร.ปริญญา สรุปทิ้งท้าย