5 สาเหตุที่ทำให้ต้องเลือกตั้งนายกอบจ. ก่อนครบวาระ

การเลือกนายก อบจ. ครั้งแรกหลังจากการรัฐประหารคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 โดยเป็นการเลือกตั้ง อบจ.พร้อมกันทั้งหมด 76 จังหวัดทั่วประเทศไทย ซึ่งนับจากวันเลือกตั้งดังกล่าวนายก อบจ. ทั้งหมดจะต้องหมดวาระลงในวันที่ 19 ธันวาคม 2567 อย่างไรก็ตาม มีเหตุให้อย่างน้อย 27 จังหวัดต้องเลือกตั้งนายกอบจ. คนใหม่ก่อนครบวาระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2567 ปีสุดท้ายก่อนครบวาระมีถึง 23 จังหวัดที่มีการเลือกตั้งใหม่ โดยสามารถสรุปสาเหตุของการเลือกตั้งใหม่ได้ดังนี้

1. ศาลสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่

การเลือกตั้งนายก อบจ. กาฬสินธุ์ ในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ผู้ชนะเลือกตั้งคือ ชานุวัฒน์ วรามิตร โดยเอาชนะผู้สมัครตัวเต็งจากพรรคเพื่อไทย อย่างไรก็ตามหลังจากนั้น ชานุวัฒน์ ถูกศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ จากกรณีที่มีทีมงานผู้ช่วยหาเสียงโพสต์เฟซบุ๊กประกาศเชิญชวนผู้คนให้มาเอาป้ายหาเสียงไปใช้ประโยชน์ก่อนวันเลือกตั้ง เป็นผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม โดยมีการจัดการเลือกตั้งนายก อบจ.กาฬสินธุ์ ใหม่เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 โดยผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ชานุวัฒน์ แพ้ เฉลิมขวัญ หล่อตระกูล จากพรรคเพื่อไทย

2. ศาลเพิกถอนสิทธิทางการเมือง 

การเลือกตั้งนายก อบจ. ร้อยเอ็ด ในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ผู้ชนะเลือกตั้งคือ เอกภาพ พลซื่อ อย่างไรก็ตามหลังจากนั้น เอกภาพ ถูกศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี จากการปราศรัยใส่ร้ายผู้สมัครคู่แข่ง (มังกร ยนต์ตระกูล) ด้วยความเท็จ ส่งผลให้ตำแหน่งนายกอบจ. ของเอกภาพเป็นอันสิ้นสุดลง หลังจากนั้นมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567 ผลคือเศกสิทธิ์ ไวนิยมพงศ์ จากพรรคเพื่อไทย เอาชนะ รัชนี พลซื่อ อดีตนายก อบจ. และภรรยาของเอกภาพ

3. ลาออกเพื่อเปลี่ยนตำแหน่งทางการเมือง

สำหรับการเพื่อเปลี่ยนตำแหน่งทางการเมืองมีอย่างน้อยสามครั้ง คือ การเลือกตั้งนายก อบจ. สระแก้ว เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2566 ที่ขวัญเรือน เทียนทอง ตัดสินออกจากตำแหน่งเพื่อเตรียมไปลงสมัคร สส. ในนามพรรคพลังประชารัฐ และในลูกชาย ฐานิสร์ เทียนทอง อดีตสส.พรรคพลังประชารัฐ มาลงสมัครนายกอบจ. ผลการเลือกตั้งทั้งสองคนได้รับเลือกตั้งตามความคาดหมาย

การเลือกตั้งนายก อบจ.กาญจนบุรี เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งสส. ในเดือนพฤษภาคม 2566 เมื่อสุรพงษ์ ปิยะโชติ ตัดสินใจลาออกเพื่อไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในโควตาพรรคเพื่อไทย ทำให้มีการเลือกตั้งใหม่เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2566 โดยผู้ชนะเลือกตั้งคือ ประวัติ กิจธรรมกูลกิจ จากกลุ่มพลังกาญจ์ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย

เลือกตั้งนายก อบจ. พะเยา ครั้งใหม่เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2567 เกิดขึ้นจากการตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายก อบจ.พะเยาของอัครา พรหมเผ่า น้องชาย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พรรคพลังประชารัฐ เดิมทีอัคราถูกวางตัวว่าจะลงนายกอบจ.อีกสมัยภายใต้สังกัดพรรคเพื่อไทย แต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระดับชาติเมื่อพรรคพลังประชารัฐถูกถอดจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล และตั้งรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของแพทองธาร ชินวัตร ทำให้อัคราได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะเดียวกันสนามเลือกตั้ง อบจ.พะเยา ครั้งนี้ยังต่ออยู่ภายใต้คนของพรรคเพื่อไทย คือ ธวัช สุทธวงศ์ ที่สามารถชนะเลือกตั้งได้

4. ลาออกเพื่อหลีกเลี่ยงข้อกฎหมายที่ทำให้การทำงานมีข้อจำกัด

ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มีเงื่อนไขด้านเวลาสองประการที่ทำให้นายก อบจ. หลายคนตัดสินใจลาออกก่อนครบวาระการดำรงตำแหน่ง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการตีความกฎหมายที่อาจสุ่มเสี่ยงที่จะโดนจับผิดจากคู่แข่ง และโดนลงโทษจาก กกต. และศาล

เงื่อนไขแรก ตามมาตรา 64 กำหนดให้ระยะเวลา 180 วัน หรือประมาณหกเดือนก่อนครบวาระ ให้นับเป็นช่วงเวลาหาเสียง ซึ่งหมายความว่า ถ้านายก อบจ. ที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ต้องการลงสมัครเลือกตั้งอีกสมัย การกระทำต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้จะเข้าข่ายเป็นการกระทำตามกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น เช่น ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้จะต้องถูกตีความเพื่อนำไปคิดเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ซึ่งแตกต่างจากการลาออกจากตำแหน่งที่มาตรการดังกล่าวจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ประกาศให้มีการเลือกตั้ง

เงื่อนไขที่สอง ตามมาตรา 65 กำหนดให้ 90 วัน หรือ สามเดือนก่อนครบวาระหรือก่อนลาออก ห้ามผู้บริหารท้องถิ่นกระทำการดังต่อไปนี้

(1) จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด

(2) ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรง หรือโดยอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัดหรือศาสนสถานอื่น สถานศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใด

(3) ทำการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ

(4) เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด

(5) หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครใด

ถ้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อนุมัติโครงการหรือกิจกรรมใหม่ที่มีลักษณะดังกล่าวภายใน 90 วันก่อนวันครบวาระหรือก่อนการลาออกจากตำแหน่งของผู้บริหารท้องถิ่น ให้ถือว่าเป็นกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย รวมทั้งการช่วยเหลืองานบุญ งานทางสังคมต่างๆ ก็อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นด้วย

พล.ต.อ.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายก อบจ. นครสวรรค์ ซึ่งได้ลาออกก่อนครบวาระตำแหน่งเป็นเวลาหกเดือน กล่าวถึงเงื่อนไขทางกฎหมายที่ทำให้ต้องลาออกก่อนครบวาระว่า “ไม่ต้องการให้การบริหารงานของ อบจ. จะเกิดอุปสรรคและติดขัด … โดยเฉพาะการใช้งบประมาณในช่วง 180 วันก่อนการเลือกตั้ง และค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ซึ่งห้ามเกิน 7.5 ล้านบาท … ซึ่งจะถูกนำไปนับรวมในการเลือกตั้งได้ … ผู้บริหารท้องถิ่นไม่มีอำนาจอนุมัติโครงการใหม่ 90 วันก่อนครบวาระและต้องรายงานการใช้งบประมาณทั้งหมดต่อ กกต. … ถ้าอยู่จนครบวาระก็จะไม่มีอำนาจนานถึง 3 เดือน

5. ลาออกเพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมือง

ในแง่มุมทางการเมืองการลาออกก่อนครบวาระเท่ากับเป็นการชิงความได้เปรียบทางการเมืองจากคู่แข่ง ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายประเด็นนี้ไว้ในเว็บไซต์ the101.world ว่า การลาออกก่อนครบวาระเป็นกลยุทธ์ทางการเมือง เพื่อสร้างความได้เปรียบดังนี้ ให้คู่แข่งรายสำคัญที่ยังมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนลงสมัครไม่ได้ เช่น มีชื่อในทะเบียนบ้านไม่ถึงหนึ่งปีนับถึงวันสมัคร พรรค/กลุ่มการเมืองที่มีแผนจะส่งคนลงไม่สามารถหาตัวผู้สมัครได้ทันจึงถอนตัว การเลือกตั้งเฉพาะตำแหน่งฝ่ายบริหารทำให้คนเดิมที่มีเครือข่ายสมาชิกสภารองรับอยู่ก่อนสามารถยึดกุมฐานเสียงในพื้นที่ต่างๆ ได้ง่ายกว่าคนใหม่ อีกทั้งยังช่วยประหยัดงบประมาณกว่าการส่งลงแบบเป็นทีมเพราะไม่ต้องเลือกพร้อม ส.อบจ. นอกจากนี้ยังเป็นการหลีกเลี่ยงกระแสการเมืองระดับชาติ

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage