นัดฟังคำพิพากษา คดีม.112 เดือนธันวาคม 2567

เข้าสู่ปลายปี 2567 คดีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 ทยอยพิจารณาเสร็จในชั้นศาลและมีผลคำพิพากษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในเดือนธันวาคม 2567 ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างน้อยแปดคดี โดยมีสี่คดีที่เป็นคำพิพากษาอุทธรณ์ ที่ผ่านมาแนวคำพิพากษาคดีมาตรา 112 ยังมีความไม่แน่นอน หลายคดีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกฟ้อง เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลสูง ศาลกลับคำตัดสินของศาลชั้นต้น เป็นเหตุให้จำเลยคดีมาตรา 112 ต้องโทษและมีแนวโน้มที่เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลสูงแล้วศาลจะไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 มีผู้ต้องขังทางการเมืองอย่างน้อย 40 คน เป็นผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 รวม 26 คน 

112_Dec conflict

‘สมพล’ กรณีปาสีแดงใส่รูปราชินีและรูป ร. 10 รวมสามคดี

3 ธันวาคม 2567 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดปทุมธานีนัด ‘สมพล’ พนักงานบริษัทวัย 28 ปี ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หมายเลขคดีดำที่ อ.477/2565 กรณีปาสีน้ำสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบ ริมถนนติวานนท์ จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 13 กุภาพันธ์ 2565 

หลัง  ‘สมพล’ถูกจับตามหมายจับในคดีของ สภ.ปากเกร็ด และ สภ.เมืองปทุมธานี จากเหตุป้ายพระบรมฉายาลักษณ์บริเวณทางขึ้นทางด่วนศรีสมาน และหน้าตลาดอเวค อ.เมืองปทุมธานี ถูกปาสีในคืนเดียวกัน โดย ‘สมพล’รับกับตำรวจว่าได้ปาสีใส่รูปในจุดอื่นๆ อีก ทำให้เขาถูกดำเนินคดีถึงหกคดี โดยทั้งหมดเป็นคดีมาตรา 112 

อย่างไรก็ดี 28 มีนาคม 2566 ศาลจังหวัดปทุมธานีพิพากษายกฟ้องในคดีมาตรา 112 แต่ลงโทษในความผิดตาม มาตรา 360 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 35 เนื่องจากเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักที่สุดคือ มาตรา 360 ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน ไม่รอการลงโทษ

ในเวลาเดียวกันนี้ศาลจังหวัดปทุมธานีนัด ‘สมพล’ ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 อีกหนึ่งคดี คือ คดีหมายเลขดำที่ อ.478/2565 กรณีปาสีน้ำสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบรวมสามจุด ในเมืองปทุมธานี 

และเช่นเดียวกับคดีก่อนหน้า ในวันที่ 28 มีนาคม 2566 ศาลจังหวัดปทุมธานีพิพากษายกฟ้องในคดีมาตรา 112 แต่พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดในข้อหาตามมาตรา 360 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 35 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 360 ซึ่งเป็นบทหนักสุด จำนวน 3 กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 6 เดือน รวมจำคุกทั้งสิ้น 18 เดือน และนับโทษจำคุกในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในอีกคดีของศาลนี้

วันเดียวกันนั้นหลังยื่นขอประกันตัวจำเลยระหว่างอุทธรณ์คดี ในเวลา 17.10 น. ทนายความแจ้งว่า ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวสมพลในทั้งสองคดี โดยให้วางเงินหลักประกันในคดีนี้จำนวน 150,000 บาท โดยศาลไม่ได้กำหนดเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติม

คดีที่สามคือ คดีที่ศาลอาญา ศาลนัดฟังคำพิพากษา หมายเลขคดีดำที่ อ.1744/2566 กรณีใช้ถุงพลาสติกบรรจุสีแดงปาใส่ป้ายเฉลิมพระเกียรติพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบ และพระราชินี รวมทั้งหมดสี่ป้าย บริเวณหน้าหมู่บ้านแกรนคาเนล เขตดอนเมือง เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565 โดยตำรวจได้แจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ข้อหา “ทำให้เสียทรัพย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และข้อหา “ทำให้โคมไฟ ป้าย หรือสิ่งใดๆ ที่ราชการได้จัดทำไว้เพื่อสาธารณชนเกิดความเสียหายหรือใช้ประโยชน์ไม่ได้” ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 35

อานนท์ นำภา กรณีโพสต์ #ราษฎรสาส์น

3 ธันวาคม 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนฟังคำพิพากษา หมายเลขคดีดำที่ อ.1395/2565 กรณีเขียนและโพสต์จดหมาย #ราษฎรสาส์น ถึงกษัตริย์รัชกาลที่สิบ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 วิจารณ์การขยายพระราชอำนาจ หลังว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม “ไทยภักดี” เข้าแจ้งความให้ ปอท.ดำเนินคดี ถูกดำเนินคดีในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) 

ทั้งนี้กิจกรรม #ราษฎรสาส์น จัดขึ้นโดยกลุ่มประชาชนปลดแอก ได้เชิญชวนประชาชนให้ร่วมกันเขียนจดหมายถึงกษัตริย์ อัยการสั่งฟ้องโดยมี เมขลา อัจฉราวงศ์ชัย พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 จําเลยนําเข้าซึ่งข้อมูล รูปภาพ ข้อความและตัวอักษร ด้วยการโพสต์รูปภาพพร้อมด้วยตัวหนังสือ เป็นข้อความภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยมีข้อความภาษาไทยตอนหนึ่งว่า

“…นับแต่ท่านได้ขึ้นครองราชย์ ท่านได้ก้าวล่วงและละเมิดต่อหลักการประชาธิปไตยที่อนุญาตให้มีกษัตริย์เป็นประมุขในหลายประการ เช่น การสั่งให้แก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้ว การแก้ไขกฎหมายเพื่อประโยชน์ส่วนตนของท่าน การรับเอาเงินภาษีของพวกเราไปใช้อย่างเกินความจําเป็น รวมทั้งความเคลือบแคลงต่อการละเมิดสิทธิของราษฎรในหลายกรณี ซึ่งการกระทำเช่นนี้นับว่าร้ายแรงอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นการขยายอำนาจจนเกินกว่าที่ระบอบอนุญาตให้ท่านทำได้

พวกเราเหล่าราษฎรเฝ้ามองปรากฏการณ์นี้มานานจนกระทั่งความไม่พอใจ ความคับแค้นใจได้ประทุขึ้นในห้วงเวลานี้ ดังที่ท่านคงทราบดี พวกเราเหล่าราษฎรได้ร่วมกันชุมนุมหลายคราว เพื่อสื่อสารและส่งสาส์นไปยังท่าน ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อหวังให้ท่านปรับปรุงตน และกลับมาเป็นกษัตริย์ของพวกเราทุกคนตามที่ระบอบกำหนดไว้ แต่ท่านก็ไม่มีท่าทีที่จะปรับตนแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามกลับพยายามแสดงออกถึงความไม่พอใจในความเคลื่อนไหวครั้งนี้ รวมทั้งพยายามแสดงออกให้พวกเรากลายเป็น “ราษฎรอื่น” ในสายตาท่านไปเสีย”

ผ่านทางบัญชีเฟซบุ๊ก “อานนท์ นําภา” ซึ่งเป็นบัญชีเฟซบุ๊กของจําเลย ที่มีการกำหนดเป็นค่าการโพสต์ข้อความดังกล่าวเป็นสาธารณะ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ เพื่อให้ประชาชนหรือบุคคลทั่วไปที่พบเห็นโพสต์ดังกล่าวเข้าใจว่า รัชกาลที่สิบทรงสั่งให้แก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ และสั่งให้แก้ไขกฎหมายเพื่อประโยชน์ส่วนตน อันเป็นการล่วงละเมิดต่อหลักการประชาธิปไตย และเอาเงินภาษีของประชาชนไปใช้อย่างเกินความจําเป็น และกระทำการละเมิดสิทธิของราษฎร

อันเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ซึ่งไม่เป็นความจริง และเป็นการใส่ร้าย จาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่สิบ

แอมป์-ณวรรษ กรณีปราศรัยในการชุมนุมนับ1ถึงล้านคืนอำนาจให้ประชาชน 

9 ธันวาคม 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดณวรรษ เลี้ยงวัฒนา นักกิจกรรมทางการเมืองฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.3081/2564 คดีนี้สืบเนื่องจากการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ13กุมภา64 #นับ1ถึงล้านคืนอำนาจให้ประชาชน บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564

ศาลชั้นต้นพิพากษาในวันที่ 26 เมษายน 2566 ว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 358, มาตรา 385, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป โดยข้อหาตามมาตรา 112 ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี ส่วนในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, มาตรา 358, มาตรา 385 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักที่สุด คือ ฐานทำให้เสียทรัพย์ ลงโทษจำคุก 2 เดือน และปรับ 2,000 บาท 

ส่วนข้อหาตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ ให้ลงโทษปรับ 1,000 บาท (อย่างไรก็ตามศูนย์ทนายฯ มีข้อสังเกตว่าในข้อหานี้ กฎหมายได้ระวางโทษปรับไว้เพียงไม่เกิน 200 บาทเท่านั้น) จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงเหลือโทษจำคุก 1 ปี 7 เดือน และปรับ 1,500 บาท เนื่องจากจำเลยกระทำการในลักษณะเดียวกันหลายคดี จึงไม่รอการลงโทษ

หลังอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้นเวลา 16.57 น. ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์คดี โดยให้วางหลักประกันตัว 100,000 บาท 

ศิระพัทธ์ กรณีปลดรูป ร.10 หน้าหมู่บ้านที่นนทบุรี

11 ธันวาคม 2567 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดนนทบุรีนัดศิระพัทธ์ ดีสวัสดิ์ ชาวจังหวัดนนทบุรี อายุ 35 ปี ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 คดีหมายเลขดำที่ อ.1204/2564 คดีนี้สืบเนื่องจาก ศิระพัทธ์ถูกกล่าวหาว่าลักพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบพร้อมกรอบรูปไปจากหน้าหมู่บ้านประชาชื่น จากนั้นนำกรอบรูปไปทิ้งลงคลอง เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2564 ทำให้เขาถูกกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ออกนอกเคหสถานในเวลาเคอร์ฟิว ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และลักทรัพย์ในเวลากลางคืน และคดีรับของโจรของกนกวรรณ (สงวนนามสกุล) ชาวจังหวัดนครราชสีมา อายุ 24 ปี กรณีถูกกล่าวหาว่า รับมอบและเก็บรักษาพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่สิบ ที่ศิระพัทธ์ลักมาเอาไว้ อีกทั้งคดีนี้ศาลสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ ตามคำร้องของอัยการ 

ศาลชั้นต้นพิพากษาในวันที่ 1 มิถุนายน 2566 โดยพิพากษาแยกเป็นสองส่วน มีใจความสำคัญระบุว่าความผิดของจำเลยที่หนึ่ง เห็นว่าศิระพัทธ์ ได้กระทำผิดในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จริง ในส่วนข้อหาลักทรัพย์ในเวลากลางคืน จากพฤติการณ์ที่จำเลยได้โยนกรอบรูปลงคูน้ำ จนทำให้กรอบรูปลายกนกเสียหาย จำเลยได้วางเงินบรรเทาความเสียหายแก่เจ้าของทรัพย์ซึ่งเป็นประธานชุมชนไปแล้ว เป็นจำนวนเงิน 3,000 บาท

ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ศาลเห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 เป็นเพียงเจตนาที่ต้องการลักขโมยของยามวิกาลเท่านั้น เนื่องจากภาพในกล้องวงจรปิด จำเลยได้กระทำการเพียงลำพัง และกรอบรูปดังกล่าวมีความหนัก คงไม่สามารถจะเดินถือด้วยวิธีการปกติได้ การที่จำเลยต้องลากรูปไปกับพื้นจึงเป็นวิธีการหนึ่งที่จงใจลักทรัพย์ และฟังมิได้ว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษที่ดูหมิ่นกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างไร

สุดท้ายนี้ ศาลเห็นว่าจำเลยไม่เคยมีประวัติการกระทำผิดมาก่อน สมควรให้ปรับปรุงตัว มีเหตุให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี คุมประพฤติเป็นเวลา 2 ปี และทำงานบริการสังคม 36 ชั่วโมง ส่วนในข้อหามาตรา 112 ให้ยกฟ้อง

ส่วนจำเลยที่สองหรือ กนกวรรณ คำเบิกความของพยานโจทก์มีเพียงบันทึกการจับกุม ซึ่งเป็นพยานบอกเล่าที่น้ำหนักเบา ประกอบกับไม่พบของกลางอยู่กับจำเลยที่ 2 จึงเห็นควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง

วัยรุ่น 3 รายถูกกล่าวหาวางเพลิงเผาพระบรมฉายาลักษณ์หน้ากระทรวงแรงงาน ปี 64

18 ธันวาคม 2567 เวลา 09.30 น. ศาลอาญานัดณรงค์ศักดิ์ สมาชิกกลุ่ม Demo, ณัฐพล เหล็กแย้มและอธิคุณฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.1080/2566 คดีนี้สืบเนื่องจากทั้งสามถูกกล่าวหาว่าเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ หน้ากระทรวงแรงงาน เมื่อคืนวันที่ 14 กันยายน 2564 ระหว่างชุมนุม #ม็อบ14กันยา64 ทำให้พวกเขาถูกกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น 

ทั้งสามถูกออกหมายจับและได้ประกันในชั้นฝากขัง แต่ต้องติด EM และมีเงื่อนไข ห้ามกระทำซ้ำการกระทำที่ถูกกล่าวหาอันเป็นการเสื่อมเสียแก่พระมหากษัตริย์ ห้ามเข้าร่วมการชุมนุม และห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 15.00 – 06.00 น.

อานนท์ นำภา กรณี #ม็อบแฮรี่ พอตเตอร์ 1

19 ธันวาคม 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.1629/2564  คดีนี้สืบเนื่องจากการปราศรัยข้อเสนอแนะปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในม็อบแฮรี่ พอตเตอร์ 1 ทำให้เขาถูกกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ยุยงปลุกปั่น มาตรา 116, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14, พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ 2558, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 และพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ (ใช้เครื่องขยายเสียง)

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 กลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย และมอกะเสด จัดกิจกรรม “เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย” เรียกร้องยกเลิก และแก้ไขกฎหมายที่มีผลเป็นการขยายพระราชอำนาจที่อาจกระทบกับระบอบประชาธิปไตย แก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย และรับฟังเสียงของนักศึกษา ประชาชน ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยอานนท์ นำภา ขึ้นปราศรัยในชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ กล่าวถึงบทบาทและปัญหาของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทยอย่างตรงไปตรงมาเป็นครั้งแรก พร้อมทั้งข้อเสนอแนะในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

คดีนี้เมื่อวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2567 ศาลอาญา นัดสืบพยานฝ่ายโจทก์ซึ่งก่อนหน้านี้มีการสืบพยานฝ่ายโจทก์มาแล้วหลายนัดระหว่างที่อานนท์ยังถูกคุมขังอยู่เรือนจำ อานนท์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาออกหมายเรียกเอกสารหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ เพื่อพิสูจน์ว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นเป็นความจริง ไม่ใช่การใส่ร้าย และไม่ใช่การหมิ่นประมาท แต่ศาลยังไม่ออกหมายเรียกให้ การสืบพยานฝ่ายโจทก์จึงดำเนินไปโดยที่ฝ่ายจำเลยยังไม่ได้ถามค้าน เพราะรอการออกหมายเรียกเอกสารก่อน จนมาถึงวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2567 เป็นนัดที่พยานโจทก์ซึ่งเบิกความไปแล้วจะต้องกลับมาศาล เพื่อให้ฝ่ายจำเลยได้ถามค้านประกอบหลักฐานที่ออกหมายเรียกมา

แต่ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 ศาลอาญาแจ้งว่าไม่ออกหมายเรียกให้ เพราะการออกหมายเรียกอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่ระบุว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” ทำให้ฝ่ายจำเลยไม่มีเอกสารมาใช้ในการถามค้าน และจำเลยเห็นว่าคำสั่งเช่นนี้จะทำให้จำเลยเสียเปรียบ ไม่สามารถต่อสู้คดีได้ จึงได้ยื่นคำร้องตั้งข้อรังเกียจและขอให้เปลี่ยนผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะในคดีนี้

๐ อ่านการสืบพยานได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/48354

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage