ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีวาระดำรงตำแหน่งเจ็ดปี เมื่อพ้นกำหนดเจ็ดปีแล้วจะต้องพ้นจากตำแหน่ง แต่หากว่าสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ยังไม่สามารถให้ความเห็นชอบบุคคลผู้สมควรมาดำรงตำแหน่งแทนที่ตำแหน่งว่างลงได้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่หมดวาระก็จะต้องดำรงตำแหน่งไปจนกว่าจะมีคนใหม่มาแทนที่
อย่างไรก็ดีแม้ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีวาระดำรงตำแหน่งเพียงเจ็ดปี แต่ก็มีตุลาการสองคนที่ “พิเศษ” กว่าคนอื่น คือ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และ ปัญญา อุดชาชน มีวาระการดำรงตำแหน่งยาวกว่าคนอื่น เพราะ “บทเฉพาะกาล” ของรัฐธรรมนูญ 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 กำหนดไว้ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งก่อนที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ และมีวาระเท่าที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งคือเก้าปี
นครินทร์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 และหมดวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2567 ส่วนปัญญาได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2558 และหมดวาระเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 แม้ตุลาการทั้งสองคนนี้จะหมดวาระการดำรงตำแหน่งแล้วแต่จะต้องดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่า สว. จากระบบเลือกกันเอง จะเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่สองคนมาแทนที่
วิธีการสรรหาตาม รธน. 60 ผู้สมัครต้องผ่านด่านคะแนนเสียง 2 ใน 3
การบริหารจัดการให้มีการรับสมัครตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่และตรวจสอบประวัติเบื้องต้น เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 203 ซึ่งประกอบไปด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้าน ประธานศาลปกครองสูงสุด และบุคคลซึ่งองค์กรอิสระอื่นแต่งตั้งองค์กรละหนึ่งคน
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 12 ระบุว่า ในการสรรหาตุลาการ ให้คณะกรรมการปรึกษาหารือเพื่อสรรหาให้ได้ซึ่งบุคคลผู้มีความรับผิดชอบสูง มีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ และมีพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม มีทัศนคติที่เหมาะสม โดยอาจใช้วิธีการสัมภาษณ์หรือให้แสดงความคิดเห็นในเรื่องอำนาจและหน้าที่ของศาล ซึ่งในการสรรหาหรือคัดเลือกผู้ที่ได้รับการสรรหาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการสรรหาจะต้องลงคะแนนโดยเปิดเผยและต้องบันทึกเหตุผลในการเลือกไว้ด้วย ผู้ที่จะผ่านด่านการสรรหาเพื่อเข้าสู่การพิจารณาในวุฒิสภาต่อไป จะต้องได้รับคะแนน “สองในสาม” ของจำนวนกรรมการสรรหาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
หากไม่มีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงเกินสองในสาม หรือมีแต่ยังไม่ครบตามจำนวนที่ต้องสรรหา จะต้องมีการลงคะแนนใหม่สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้คะแนนสองในสาม ถ้ายังไม่ได้ครบตามจำนวนก็ให้ลงคะแนนใหม่อีกครั้ง ในครั้งนี้หากยังไม่ได้ครบตามจำนวนที่ต้องสรรหา ให้ดำเนินการสรรหาใหม่ตามจำนวนที่ขาดอยู่
รัฐธรรมนูญ มาตรา 200 กำหนดโครงสร้างตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเก้าคนไว้ให้มีสัดส่วนดังนี้
- สามคน จากผู้พิพากษาในศาลฎีกาโดยมีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาไม่น้อยกว่าห้าปี ซึ่งได้รับการคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
- สองคน จากตุลาการศาลปกครองสูงสุดซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าตุลาการศาลปกครองสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี ซึ่งได้รับการคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
- หนึ่งคน ในผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์จากผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยลัยในประเทศไทยไม่น้อยกว่าห้าปี และมีผลงานเชิงวิชาการเป็นที่ประจักษ์
- หนึ่งคน ในผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์จากผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยลัยในประเทศไทยไม่น้อยกว่าห้าปี และมีผลงานเชิงวิชาการเป็นที่ประจักษ์
- สองคน จากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งสรรหาจากผู้รับหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
สำหรับกระบวนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ หนึ่งรายมาแทนที่ นครินทร์ ในสัดส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์ อีกรายมาแทนที่ปัญญา ในสัดส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิด้านราชการ ซึ่งการ “สรรหา” จัดเป็นกระบวนการสำหรับการได้มาซึ่งตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในสัดส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และราชการเท่านั้น ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากสัดส่วนผู้พิพากษาศาลฎีกาและตุลาการศาลปกครองสูงสุดให้ใช้วิธีการ “คัดเลือก” โดยที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาหรือที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองในศาลปกครองสูงสุด แล้วแต่กรณี ผู้ที่จะได้รับการ “คัดเลือก” จะต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมนั้น ก่อนจะส่งชื่อต่อไปยังวุฒิสภา
การได้มาซึ่งตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในสัดส่วนของผู้พิพากษา และผู้ทรงคุณวุฒิแตกต่างกันที่ระบบ “สรรหา” และ “คัดเลือก” ว่าใครเป็นผู้คัดกรองในเบื้องต้น แต่ในท้ายที่สุดก็จะต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาเหมือนกัน
กระบวนการลับๆ กับการพิจารณาของ สว.
เมื่อมีรายชื่อผู้ที่ได้รับการสรรหาแล้ว กระบวนการถัดมาคือการส่งรายชื่อไปยังวุฒิสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ในการพิจารณาชั้นวุฒิสภา จะมีขั้นตอน “ตรวจสอบประวัติ” เพิ่มอีกหนึ่งขั้นตอน โดยในข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 ข้อ 105 กำหนดว่าเมื่อวุฒิสภาจะต้องพิจารณาบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ ให้วุฒิสภาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวนไม่เกิน 15 คน เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนั้น (กมธ.สอบประวัติฯ) รวมถึงรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานอันจำเป็นสำหรับตำแหน่งนั้น
ภารกิจของกมธ.สอบประวัติฯ จะต้องทำให้เสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่มีการตั้งกมธ. หากไม่ทันอาจขยายเพิ่มได้อีก 30 วัน โดยข้อ 108 กำหนดให้กมธ.สอบประวัติฯ มีอำนาจในการเรียกเอกสารหลักฐานต่างๆ หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นได้ กระบวนการในกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ให้กระทำเป็นการลับ ผู้อื่นผู้ใดจะเข้าร่วมต้องได้รับอนุญาตจากกมธ. ก่อน
เมื่อกมธ.สอบประวัติฯ ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วให้เสนอรายงานต่อประธานวุฒิสภา โดยรายงานดังกล่าวจะแยกจัดทำบางส่วนเป็นรายงานลับก็ได้ เมื่อประธานวุฒิสภาได้รับรายงานแล้วให้จัดส่งรายงานให้สมาชิกได้รับโดยไม่ต้องส่งส่วนที่เป็นความลับให้ สว. ทราบ ส่วนในการนำเสนอรายงานของกมธ.สอบประวัติฯ ต่อที่ประชุมวุฒิสภาหากจำเป็นต้องเป็นการประชุมลับ กมธ.สอบประวัติฯ อาจร้องขอให้ประชุมลับได้ และอาจแจกเอกสารส่วนที่เป็นความลับให้ สว. ได้พิจารณา แต่จะเอาออกจากนอกห้องประชุมไม่ได้ และจะต้องส่งคืนต่อเลขาธิการวุฒิสภาเพื่อไปทำลายทิ้ง
ผู้ที่จะได้รับการเห็นชอบโดยวุฒิสภาจะต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของ สว. เท่าที่มีอยู่ หมายความว่า หากมี สว. ครบจำนวน 200 คน ไม่มีผู้ที่ถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ จะต้องได้เสียงเห็นชอบตั้งแต่ 101 เสียงขึ้นไป
หากวุฒิสภาไม่เห็นชอบผู้ใดไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วน ต้องส่งรายชื่อนั้นกลับไปยังคณะกรรมการสรรหาพร้อมด้วยเหตุผลเพื่อให้มีการสรรหาใหม่อีกครั้งแล้วเสนอกลับมายังวุฒิสภาใหม่ โดยผู้ที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาจะไม่สามารถเข้ารับการสรรหาใหม่ได้อีก
เนื่องจากนครินทร์ เป็นประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วย หากพ้นจากตำแหน่งไปจะต้องดำเนินการเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อมีผู้ได้รับการสรรหาและเห็นชอบตุลาการคนใหม่แทนแล้ว ให้ผู้ที่ได้รับความเห็นชอบให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่นั้นประชุมกับตุลาการอีกเจ็ดคนที่ยังไม่พ้นตำแหน่งเพื่อเลือกประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ แต่หากว่าวุฒิสภายังไม่ได้เห็นชอบตุลาการให้ครบตามจำนวนเก้าคน ถ้ามีตุลาการอย่างน้อยเจ็ดคนก็สามารถดำเนินการเลือกประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้
เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการการเห็นชอบโดยวุฒิสภา หรือกระบวนการเลือกประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ให้ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นการต่อไป
มีข้อมูล-ข้อคิดเห็นต่อผู้สมัครตุลาการศาลรธน. ส่งไปยังกรรมการสรรหาได้
คณะกรรมการสรรหาได้เปิดรับสมัครผู้ดำรงตำแหน่งแทนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสองคนตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 ถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 และได้ประกาศรายชื่อผู้สมัครทั้งหมด เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 โดยมีผู้สมัครทั้งสิ้น 11 คน ประกอบไปด้วย ผู้สมัครในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์สองคน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านข้าราชการอีกเก้าคน ดังนี้
ผู้สมัครในผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์ สองคน ได้แก่
- ศ.ธงพล พรหมสาขา ณ สกลนคร : อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- ศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี : อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้สมัครในผู้ทรงคุณวุฒิด้านข้าราชการ เก้าคน ได้แก่
- 1.ต.ท. อุทัย อาทิเวช : อดีตรองอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการสูงสุด
- ธัญญา เนติธรรมกุล : อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุพืชและอดีตอธิบดีกรมทรัพยากรนํ้าบาดาล
- ชาตรี อรรจนานันท์ : อดีตอธิบดีกรมการกงสุลและอดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก
- สราวุธ ทรงศิวิไล : อดีตอธิบดีกรมการขนส่งทางรางและอดีตอธิบดีกรมทางหลวง
- สุรชัย ชันอาสา : อดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนและอดีตผู้ว่าฯ ลำพูน จันทบุรี พิจิตร ปทุมธานี
- บุญเขตร์ พุ่มทิพย์ : อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลางและผู้พิพากษาศาลฎีกา
- ประยูร อินสกุล : ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- วิรุฬห์ ฉันท์ธนนันท์ : อดีตอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ
- เชาวนะ ไตรมาศ : อดีตเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมกับกระบวนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ ผ่านการสะท้อนข้อมูล ข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น เกี่ยวกับผู้สมัครข้างต้น
หากผู้ใดมีข้อมูล ข้อเท็จจริง หรือข้อคิดเห็นเกี่ยวกับผู้สมัครตามรายชื่อดังกล่าว สามารถส่งข้อมูลไปยังคณะกรรมการสรรหาได้ที่ ตู้ ปณ. 9 ปณฝ. รัฐสภา กรุงเทพมหานคร 10305 หรือสำนักกำกับและตรวจสอบสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา 1111 ถนนสามเสน แขวางถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเพทมหานคร 10300 และสามาถแจ้งข้อมูลได้ที่ www.senate.go.th ภายในวันพุธที่ 11 ธันวาคม 2567
กระบวนการถัดไปหลังจากนี้ คณะกรรมการสรรหาจะต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบกับผู้สมัครทั้งหมด ด้วยคะแนนเสียงสองในสาม ก่อนจะส่งรายชื่อผู้ที่ผ่านการสรรหาด้วยคะแนนเสียงสองในสามในด่านแรกต่อไปยังวุฒิสภา เพื่อตั้งกมธ.สอบประวัติฯ และผ่านด่านสว. ที่จะต้องให้ความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของ สว. เท่าที่มีอยู่