ศาลยกฟ้องเก็ทและใบปอ เป็นผู้จัดชุมนุม ปี 65 ที่แยกอโศก เหตุหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ

12 พฤศจิกายน 2567 เวลา 9.00 น. ห้องพิจารณาคดีที่ 407  ศาลแขวงพระนครใต้นัด  เก็ท-โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง และใบปอ-ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ ฟังคำพิพากษาในข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้อนุญาตจากการร่วมกิจกรรม “WHAT HAPPENED IN THAILAND” ที่แยกอโศก ระหว่างการประชุม APEC2022 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน  2565 

คดีนี้เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 พนักงานสอบสวน สน.ลุมพินีแจ้งข้อกล่าวหากับเก็ท-โสภณที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยแจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมดสามข้อหา ได้แก่ หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112, ร่วมกันจัดชุมนุมสาธารณะ โดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

ส่วนใบปอ-ณัฐนิชเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน. ลุมพินี เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2566 หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนได้แยกสำนวนการสอบสวนเป็นสองสำนวนคือ คดีมาตรา 112 ที่ศาลอาญา และคดีพ.ร.บ.ชุมนุมฯและใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งฐานความผิดดังกล่าวมีโทษปรับเป็นคดีค่าปรับพินัยตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2566  ในคดีหลังอัยการยื่นฟ้องทั้งสองต่อศาลแขวงพระนครใต้เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 

สำหรับบรรยากาศภายในห้องพิจารณาคดีวันนี้ เต็มไปด้วยมวลชนที่มาร่วมรับฟังการพิพากษาคดีและเข้ามาให้กำลังใจทั้งสองคนเนื่องจากวันนัดฟังคำพิพากษาคดีตรงกับวันคล้ายวันเกิดของใบปอ-ณัฐนิชและเก็ท-โสภณ

เวลา 10.22 น. ศาลอ่านคำพิพากษาโดยมีใจความว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 4 ได้บัญญัติไว้ว่า “ผู้จัดการชุมนุม” หมายความว่า ผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ และให้หมายความรวมถึงผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ และผู้ซึ่งเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมการชุมนุมสาธารณะโดยแสดงออกหรือมีพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้น โดยโจทก์มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสองนายเป็นประจักษ์พยานเบิกความว่าพยานทั้งสองพบจำเลยที่หนึ่ง(เก็ท-โสภณ) และฉัตรรพีกับพวกชักชวนให้บุคคลทั่วไปร่วมชุมนุมกันในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 ที่แยกอโศก แต่จากการเบิกความของฝ่ายพยานจำเลยได้บอกว่าจำเลยที่หนึ่ง ไม่ได้กระทำการใดหรือเอ่ยถ้อยคำใดอันเป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมชุมนุม รวมทั้งรายงานการสอบสวนกรณีมีกลุ่มบุคคลเห็นต่างทางการเมืองเมื่อเดือนพฤศจิกายนระบุว่า เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เก็ท-โสภณ ฉัตรรพีและธนพรพร้อมพวกได้ทำหนังสือยื่นแก่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาเพื่อขอให้จับตาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและภายหลังจากการยื่นหนังสือ ฉัตรรพีได้สัมภาษณ์สื่อให้นัดหมายทำกิจกรรมยื่นหนังสือให้กับผู้นำจากต่างประเทศที่มาร่วมการประชุม APEC2022 โดยนัดหมายชุมนุมกันที่แยกอโศกและมีจุดมุ่งหมายเดินขบวนไปยังศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 

ดังนั้นผู้ที่แจ้งนัดหมายการชุมนุมคือฉัตรรพี ซึ่งไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองกับฉัตรรพีได้มีการติดต่อหรือมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน การที่เก็ท-โสภณอยู่ในที่เดียวกันไม่อาจยืนยันได้ว่าจำเลยมีเจตนาเป็นผู้จัดการชุมนุม แม้ได้ความจากพยานโจทก์ทั้งสองอีกว่าระหว่างการชุมนุมจำเลยทั้งสองได้อ่านคำแถลงการณ์โดยใช้เครื่องขยายเสียงแต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อความอันใดเป็นการชักชวนประชาชนหรือบุคคลอื่นๆ ให้มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมเพิ่มเติม การอ่านแถลงการณ์ต่อผู้ชุมนุมยังไม่เพียงพอที่จะยืนยันได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการชุมนุมและที่โจทก์นำสืบว่ามีการใช้สื่อโซเชียลทวิตเตอร์ (Twitter ปัจจุบันใช้ชื่อ X) ชื่อบัญชี “ทะลุวัง” โพสต์เชิญชวนให้บุคคลเข้าร่วมการชุมนุมนั้น ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับบัญชีดังกล่าวและทั้งสองให้การปฏิเสธมาโดยตลอดทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณา หลักฐานที่โจทก์ได้นำสืบมายังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้เชื่อได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการชุมนุมตามฟ้อง เห็นควรยกประโยชน์แห่งการสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง

กรณีความผิดฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้อนุญาต ตามพ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ พยานโจทก์เบิกความว่าไม่ทราบว่าผู้ใดนำเครื่องขยายเสียงมายังที่เกิดเหตุ โดยผู้ชุมนุมใช้ลำโพงหลายตัวติดต่อกัน มีล้อเลื่อนพ่วงผ่านไมโครโฟน พยานโจทก์เบิกความว่าเชื่อเองว่าจำเลยทั้งสองเป็นแกนนำกับพวกโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาเสริมหรือสนับสนุน โดยพิจารณาจากการที่บุคคลดังกล่าวใช้เครื่องขยายเสียงต่อผ่านไมโครโฟน ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 มาตรา 4 ระบุว่าผู้ที่จะทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า จะต้องขอรับอนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงทำการโฆษณาได้ กรณีนี้ผู้มีหน้าที่ขออนุญาตคือผู้จัดการชุมนุม เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เพียงว่าจำเลยทั้งสองร่วมการชุมนุมและอ่านแถลงการณ์โดยไม่ได้เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุม การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิด ศาลพิพากษายกฟ้อง 

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage