เมื่อประชาชนหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เสนอร่างกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ต่อสภา หากร่างพ.ร.บ. นั้นเกี่ยวด้วยการเงิน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสถานะการเงินการคลังของประเทศ จะต้องผ่านด่านได้รับ “คำรับรอง” จากนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ที่รู้สถานะการเงินการคลังของประเทศก่อน ร่างกฎหมายนั้นจึงจะเข้าสู่สภาต่อไปได้ แต่ถ้านายกฯ ไม่รับรอง ร่างกฎหมายนั้นก็จะ “ตกไป” ไม่มีโอกาสเข้าสู่สภา แตกต่างจากร่างกฎหมายที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอ ไม่ต้องผ่านเงื่อนไขดังกล่าว
ในสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ หัวหน้า คสช. ปัดตกไม่รับรองร่างกฎหมายอย่างน้อย 38 ฉบับ การกำหนดให้นายกฯ มีอำนาจดังกล่าว ไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกตั้งคำถามถึงขอบเขตการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร ว่าอาจเปิดให้นายกฯ ตีความ “ร่างการเงิน” อย่างกว้างได้ และอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสกัดกั้นทางการเมืองและทำให้เสียงของ สส. ฝ่ายค้านหรือประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายไร้ความหมายหรือไม่ ทั้ง สส. และตัวแทนประชาชนผู้เสนอร่าง ต่างระบุว่าตนไม่เคยได้รับการชี้แจงเหตุผลในการปัดตกร่างกฎหมาย มีเพียงแค่ข้อความอธิบายว่าหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาแล้ว มีความเห็นไม่รับรองเท่านั้น ซึ่งเป็นเหตุให้ไม่สามารถปรับปรุงร่างกฎหมายให้สอดคล้องกับสภาวะทางการเงินและการคลังของรัฐบาลเพื่อยื่นเข้าไปใหม่ได้
หลังผลัดเปลี่ยนรัฐบาล โดยได้เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยเป็นนายกฯ ตลอดระยะเวลาเกือบหนึ่งปีของเศรษฐา อดีตนายกฯ ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยพ้นตำแหน่งไป “ปัดตก” ร่างกฎหมายไป 17 ฉบับ เก้าฉบับเสนอโดย สส. และอีกแปดฉบับ มาจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายต่อสภา
นายกฯ เศรษฐา ปัดตกร่างกฎหมาย 17 ฉบับ สส. เสนอ 9 ฉบับอีก 8 เสนอโดยประชาชน
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 133 วรรคท้าย กำหนดว่า กรณีร่างพ.ร.บ. ที่ สส. เสนอ และร่างพ.ร.บ. ที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอ จะมี “ขั้นตอน” ที่ซับซ้อนขึ้นมากว่าร่างพ.ร.บ. ที่ ครม. เสนอ คือ หากเป็นร่างพ.ร.บ. ที่เกี่ยวเนื่องด้วยการเงิน จะต้องได้รับคำรับรองของนายกฯ ก่อน จึงจะสามารถเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาได้ เนื่องด้วยเหตุผลว่าการตรากฎหมายดังกล่าว มีผลโดยตรงต่อการจัดสรร-ใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นขอบข่ายที่อยู่ในอำนาจของฝ่ายบริหาร และอาจกระทบต่อประสิทธิภาพและความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน
ตลอดอายุงานเกือบหนึ่งปีของเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ จากพรรคเพื่อไทย นับแต่วันที่เข้ารับตำแหน่งในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 จนถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้เศรษฐาพ้นจากตำแหน่ง มีร่างการเงิน ที่ผ่านมือต้องให้นายกฯ คำรับรอง อย่างน้อย 59 ฉบับ แบ่งเป็น ร่างกฎหมายที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) อย่างน้อย 42 ฉบับ และเสนอโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 17 ฉบับ โดยในจำนวนดังกล่าว มีร่างกฎหมายที่เศรษฐา ทวีสิน ในฐานะนายกฯ ไม่ให้คำรับรอง หรือ ปัดตก อย่างน้อย 17 ฉบับ
ในจำนวนร่างกฎหมาย 17 ฉบับที่อดีตนายกฯ ใช้อำนาจ “ปัดตก” ไม่รับรอง แปดฉบับเป็นร่างกฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชนใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ขณะที่อีกเก้าฉบับเป็นร่างกฎหมายที่เสนอโดย สส. แบ่งออกได้เป็น
สามฉบับจากพรรคร่วมรัฐบาล ได้แก่
1) ร่างพ.ร.บ.การใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก พ.ศ. …. เสนอโดย สส. พรรคประชาชาติ
2) ร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลจังหวัดที่อำเภอปัว จังหวัดน่าน พ.ศ. …. เสนอโดย สส.พรรคเพื่อไทย
3) ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ไทย พ.ศ. …. เสนอโดย สส.พรรคภูมิใจไทย
หกฉบับจากพรรคฝ่ายค้าน ได้แก่
1) ร่างพ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. …. เสนอโดย สส. พรรคก้าวไกล
2) ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เสนอโดย สส.พรรคก้าวไกล
3) ร่างพ.ร.บ.ถนน พ.ศ. …. เสนอโดย สส. พรรคก้าวไกล
4) ร่างพ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อประชาชน พ.ศ. …. เสนอโดย สส. พรรคก้าวไกล
5) ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เสนอโดย สส. พรรคก้าวไกล
6) ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….. เสนอโดย สส. พรรคประชาธิปัตย์
โดยในจำนวนร่างกฎหมาย 17 ฉบับที่นายกฯ ปัดตก มีเนื้อหาหลากหลาย มีร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ถูกปัดตกไป เช่น ร่างพ.ร.บ.รับราชการทหาร ซึ่งเสนอเพื่อ “ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร” เปลี่ยนเป็นระบบ “สมัครใจ” ร่างกฎหมายเกี่ยวกับสังคมและเศรษฐกิจ เช่น ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ไทย เสนอโดย สส. พรรคภูมิใจไทย ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….. เสนอโดย สส. พรรคประชาธิปัตย์
ปัดตกร่างกฎหมายที่ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อเสนอ 8 ฉบับ
ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 133 (3) และพ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเข้าชื่อกัน 10,000 ชื่อ เพื่อเสนอร่างพ.ร.บ. เข้าสู่การพิจารณาของสภาได้ โดยเศรษฐา ทวีสิน ไม่รับรองร่างกฎหมายที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอ เพราะเหตุเป็นร่างการเงินจำนวนแปดฉบับ ได้แก่
1) ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. …. เสนอโดยสุนี ไชยรส และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 11,799 คน
ย้อนกลับไปเมื่อสมัยรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ รัฐบาลเคยพยายามเสนอร่างพ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร พ.ศ. …. หรือ NPO Bill (ร่าง พ.ร.บ.เอ็นพีโอ) เพื่อเปิดช่องให้รัฐเข้ามาสอดส่อง-ล้วงลูก การทำงานขององค์กรภาคประชาชน-ประชาสังคม และใช้เป็นเครื่องมือในการสกัดขัดขวางการทำงานของภาคประชาชน-ประชาสังคม แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับเสียงคัดค้านจากภาคประชาชน-ภาคประชาสังคม เนื่องจากร่างกฎหมาย มีเนื้อหาจำกัดสิทธิเสรีภาพในการสมาคมและการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ ท้ายที่สุดแล้วรัฐบาลก็ถอยไม่ได้เสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสภา
ขณะที่ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. …. ที่เสนอโดยภาคประชาชนนั้น มีเนื้อหาแตกต่างจากร่างพ.ร.บ.เอ็นพีโอของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ สาระสำคัญคือ ยกระดับคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรประชาสังคม ซึ่งเดิมถูกจัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. 2558 ขึ้นเป็นองค์กรระดับพระราชบัญญัติที่มีหน่วยงานและกองทุนเป็นของตนเอง มีฐานะเป็นหน่วยงานอิสระภายใต้การกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี
โดยคณะกรรมการฯ ชุดใหม่ ประกอบขึ้นจากปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรี และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก มีอำนาจหน้าที่จัดทำร่างนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนงานในการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม สนับสนุนและส่งเสริมการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคม รับจดแจ้งองค์กรภาคประชาสังคม จัดทำทะเบียนและฐานข้อมูลองค์กรภาคประชาสังคม ฯลฯ
2) ร่างพ.ร.บ.ปกป้องและคุ้มครองช้างไทย พ.ศ. …. เสนอโดยปัญจเดช สิงห์โท กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 15,938 คน
ร่างกฎหมายนี้มีสาระสำคัญ คือ ยกเลิกพ.ร.บ.สำหรับรักษาช้างป่า พระพุทธศักราช 2464 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมีเนื้อหาเก่า บังคับใช้มาเป็นเวลานาน และไม่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมปัจจุบันที่ช้างกำลังเข้าใกล้การสูญพันธุ์ เพื่อใช้ร่างกฎหมายฉบับนี้แทนที่ โดยกำหนดตั้งคณะกรรมการช้างไทยแห่งชาติ ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นรองประธาน อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อธิบดีกรมปศุสัตว์ ผู้อำนวยการสวนสัตว์เป็นกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรภาคประชาสังคม และผู้ทรงคุณวุฒิจากภาควิชาการเป็นกรรมการ ทำหน้าที่รับรองแผน ยุทธศาสตร์ มาตรการและแนวทางในการคุ้มครองสวัสดิภาพและอนุรักษ์ช้างและดำเนินแผนการปฏิบัติงานต่างๆ และให้มีสมัชชาช้างไทยแห่งชาติ เป็นแหล่งรวมตัวของผู้เลี้ยงช้าง เจ้าของช้าง องค์กรภาคประชาสังคมที่เกี่ยวกับการปกป้องและจัดสภาพความเป็นอยู่ช้าง และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง สมัชชาช้างไทยแห่งชาติมีหน้าที่จัดทำรายงานสถานการณ์ช้างประจำปี ตรวจสอบข้อเท็จจริง และเสนอนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการทารุณกรรมช้าง และให้มีการจัดตั้งกองทุนช้างไทยเพื่อเป็นงบประมาณสนับสนุนในการดำเนินการ
ร่างกฎหมายฉบับนี้ ยังกำหนดมาตรการป้องกันการทารุณกรรมช้าง เช่น ยกเลิกให้ช้างเป็นสัตว์พาหนะ ตาม พ.ร.บ.สัตว์พาหนะ พุทธศักราช 2482 กำหนดให้การทารุณกรรมช้าง เช่น ทุบตี ใช้ตะขอสับ แยกลูกช้างก่อนอายุ 10 ปีมาทำการฝึก การบังคับผสมพันธุ์ที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ เป็นความผิดตามพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557
3) ร่างพ.ร.บ.สภาศิลปะศิลปินและวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. …. เสนอโดยคฑาวุธ ทองไทย กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 10,632 คน
ศิลปินเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรองรับสถานะ มีเพียงแต่การรับรองเสรีภาพในการประกอบอาชีพไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 และคุ้มครอง “ผลงาน” อันเกิดจากการสร้างสรรค์ของศิลปิน ผ่านกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา เช่น พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
โดยในหลักการและเหตุผลของร่างพ.ร.บ.สภาศิลปะศิลปินและวัฒนธรรมแห่งชาติ ระบุถึงปัญหาของการเยียวยาช่วยเหลือศิลปินแขนงต่างๆ ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่รัฐบาลกลับให้ศิลปินลงทะเบียนขอความช่วยเหลือภาครัฐในกลุ่มเกษตรกรหรืออาชีพรับจ้างทั่วไปแทน โดยไม่ได้พิจารณาถึงความแตกต่างของผลกระทบที่ได้รับ รวมทั้งยังขาดแคลนนโยบายสาธารณะและการสนับสนุนอย่างเป็นระบบต่อการสนับสนุนศิลปินในประเทศไทย
สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ ตั้งสภาศิลปะศิลปินและวัฒนธรรมแห่งชาติ ประกอบด้วยผู้ประกอบอาชีพศิลปินและศิลปะ ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น ขนบธรรมเนียมประเพณี ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมพื้นบ้าน ผู้แทนจากสถาบันอุดมศึกษา ผู้แทนองค์กรเอกชน และปลัดกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำแผนแม่บทและนโยบายที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนศิลปิน ศิลปะ และวัฒนธรรม และตั้งกองทุนทางวัฒนธรรมแห่งชาติเพื่อดำเนินการตามแผนแม่บทและนโยบายที่ออกโดยคณะกรรมการฯ และเพื่อใช้จ่ายในการประชุมสภาในทุกระดับ
4) ร่างพ.ร.บ.อนุรักษ์และพัฒนาไก่พื้นเมือง พ.ศ. …. เสนอโดยจินดา แสงโสภา กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 12,823 คน เพื่อเป็นกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการอนุรักษ์และพัฒนาไก่พื้นเมืองโดยเฉพาะ มีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องจัดตั้งศูนย์พัฒนาสายพันธุ์ไก่พื้นเมือง เพื่อใช้ในการพิจารณารับขึ้นทะเบียนไก่พื้นเมืองของเกษตรกร การป้องกันโรคติดต่อในไก่พื้นเมือง และการอนุรักษ์พัฒนาปรับปรุงไก่พื้นเมืองให้มีความหลากหลายสอดคล้องกับความต้องการของตลาด และให้ประชาชนผู้มีความประสงค์สามารถขอขึ้นทะเบียนไก่พื้นเมืองได้
5) ร่างพ.ร.บ.สวัสดิการการรักษาพยาบาลลูกจ้างผู้รับบำเหน็จรายเดือนและผู้ได้รับบำเหน็จพิเศษรายเดือน พ.ศ. …. เสนอโดยวิชาญ ชัยภมภู กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 26,471 คน
ในองค์กรของรัฐ มีการจัดประเภทบุคลากรไว้สองประเภท คือ ข้าราชการและลูกจ้าง โดยมีอำนาจหน้าที่และสิทธิสวัสดิการที่ได้รับแตกต่างกัน โดยพ.ร.ฏ.เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2553 กำหนดให้ข้าราชการและลูกจ้างประจำต่างได้รับสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลสำหรับตนเองและครอบครัว แต่เมื่อเกษียณอายุหรือออกจากราชการแล้ว จะมีเพียงข้าราชการเกษียณที่ได้รับบำนาญปกติหรือพิเศษเท่านั้น จึงจะมีสิทธิได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลต่อไป แต่ลูกจ้างประจำ ซึ่งจะเป็นกรณีที่ได้รับบำเหน็จรายเดือนและบำเหน็จพิเศษแทน จะไม่มีสิทธิในการเข้าถึงสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลได้อีก
ร่างกฎหมายนี้มีขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญ คือการขยายความครอบคลุมของสวัสดิการรักษาพยาบาลของรัฐ จากเพียงเดิมมีแค่ข้าราชการเกษียณให้รวมไปถึงลูกจ้างประจำที่ได้เกษียณหรือลาออกจากราชการและได้รับบำเหน็จรายเดือนด้วย ส่วนเนื้อหารายละเอียดต่างๆ นั้น ล้อไปตาม พ.ร.ฏ.เงินสวัสดิการฯ ของข้าราชการข้างต้น
6) ร่างพ.ร.บ.องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เสนอโดยอนุลักษณ์ ชอบสะอาด กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 11,444 คน เพื่อแก้ไข พ.ร.บ.องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ. 2510 ขยายสิทธิในการรับเงินเลี้ยงชีพรายเดือน เงินช่วยเหลือเป็นค่าครองชีพพิเศษ เงินช่วยเหลือค่าครองชีพเพื่อผดุงเกียรติเป็นรายเดือน รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่นๆ จากองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ให้ครอบคุลมไปถึงทหารผ่านศึกนอกประจำการ บัตรชั้นที่ 2 บัตรชั้นที่ 3 และบัตรชั้นที่ 4 ด้วย
7) ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างพ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เสนอโดยสุรสีห์ ลานนท์ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 10,286 คน
ร่างกฎหมายสองร่างนี้ถูกเสนอขึ้นมาพร้อมกัน เพื่อแก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 และพ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 สาระสำคัญ คือ ยกฐานะกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข เป็นกระทรวงใหม่ต่างหาก ภายใต้ชื่อกระทรวงแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก มีส่วนราชการในสังกัด 17 หน่วยงาน โดยที่วัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ยังคงคล้ายเดิม
8) ร่างพ.ร.บ.คณะกรรมการธรรมาภิบาลแห่งชาติ พ.ศ. …. เสนอโดย พล.อ.กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 10,327 คน มีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้มีคณะกรรมการธรรมาภิบาลแห่งชาติ ซึ่งครม. แต่งตั้งจากผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และมีประสบการณ์หรือความรู้ด้านกฎหมาย บัญชี เศรษฐศาสตร์ การบริหารราชการแผ่นดิน หรืออื่นใดอันเป็นประโยชน์ต่อการธรรมาภิบาล โดยมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบและสอดส่องการปฏิบัติภารกิจของหน่วยงานรัฐ จัดตั้งสภาธรรมาภิบาลแห่งชาติและท้องถิ่น จัดตั้งสถาบันพัฒนาธรรมาภิบาลแห่งชาติเพื่อให้ความรู้และส่งเสริมนวัตกรรมธรรมาภิบาล จัดสร้างเกณฑ์การประเมินองค์กรและโครงการต่างๆ ประเมินและให้ข้อเสนอแนะในเรื่องธรรมาภิบาลแก่องค์กรหน่วยงานต่างๆ โดยมีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการธรรมาภิบาลแห่งชาติ เป็นหน่วยงานของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของประธานคณะกรรมการธรรมาภิบาลเป็นหน่วยงานดำเนินการ
ร่างกฎหมายที่สส. พรรคร่วมรัฐบาล เสนอก็ไม่รอด! นายกฯ ปัดตกไป 3 ฉบับ
ในจำนวนร่างกฎหมายที่ สส. เสนอและนายกฯ ไม่ให้คำรับรองเก้าฉบับ จำนวนสามฉบับเป็นร่างกฎหมายที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาลเอง จาก สส. พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาชาติ ได้แก่
1) ร่างพ.ร.บ.การใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก พ.ศ. …. เสนอโดย สส. พรรคประชาชาติ
ศาสนาอิสลามเป็นหนึ่งในศาสนาที่มีวัฒนธรรมและกฎหมายในการชี้ขาดข้อพิพาทด้านครอบครัวและมรดกเป็นของตนเอง ผ่านพ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตต์จังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489 ซึ่งกำหนดให้นำกฎหมายอิสลามมาใช้บังคับกับคดีครอบครัวและมรดกแทนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในบทบัญญัติครอบครัวและมรดก โดยใช้กับกรณีที่มีคู่พิพาทเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามด้วยกันทั้งสองฝ่าย หรือในคดีไม่มีข้อพิพาท ซึ่งผู้นับถือศาสนาอิสลามเป็นผู้ร้องขอ ตามกฎหมายนี้ “ดะโต๊ะยุติธรรม” ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและเป็นที่นับถือในศาสนาอิสลาม จะเป็นผู้พิพากษาตามกฎหมายอิสลาม อย่างไรก็ดี กฎหมายดังกล่าวบังคับใช้เฉพาะในพื้นที่สี่จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล ซึ่งมีประชากรกว่าร้อยละ 80 เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามเท่านั้น ไม่ได้ใช้ทั้งประเทศ หมายความว่า กรณีที่มีคดีครอบครัวและมรดกที่ขึ้นศาลอื่นนอกจากสี่จังหวัดดังกล่าว แม้คู่พิพาททั้งสองฝ่ายจะเป็นชาวมุสลิมก็ตาม แต่การวินิจฉัยข้อพิพาทดังกล่าว ศาลจะใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในบรรพ 5 ครอบครัว และบรรพ 6 มรดก
ร่างพ.ร.บ.การใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก เสนอยกเลิกกฎหมายดังกล่าว และเปลี่ยนระบบให้ใช้กฎหมายอิสลามในคดีครอบครัวและมรดกครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ สำหรับคดีที่คู่ความเป็นมุสลิมหรือคดีไม่มีข้อพิพาทที่มุสลิมร้องขอ โดยไม่จำกัดเพียงสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดตั้งองค์คณะคดีครอบครัวและมรดกอิสลามในศาลแพ่ง ศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลจังหวัด และศาลฎีกา เพื่อทำหน้าที่พิจารณาคดีประเภทนี้โดยเฉพาะ และกำหนดให้เจ้าพนักงานคดีอิสลามในศาลยุติธรรม ซึ่งสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีด้านกฎหมายอิสลามหรืออิสลามศึกษา ทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษา แนะนำ และช่วยเหลือการฟ้องและการดำเนินคดีของคู่ความโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึงช่วยเหลือดะโต๊ะยุติธรรมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานคดี
2) ร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลจังหวัดที่อำเภอปัว จังหวัดน่าน พ.ศ. …. เสนอโดย สส.พรรคเพื่อไทย
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 189 กำหนดว่า บรรดาศาลทั้งหลายจะตั้งขึ้นได้แต่โดยพ.ร.บ. ดังนั้นแล้วการจะจัดตั้งศาลขึ้นในท้องที่ใด จะต้องทำเป็นกฎหมายผ่านการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติก่อน โดยในร่างกฎหมายฉบับนี้ เสนอจัดตั้งศาลจังหวัดขึ้นที่อำเภอปัว จังหวัดน่าน ให้มีเขตอำนาจครอบคลุมตลอดท้องที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเชียงกลาง อำเภอท่าวังผา อำเภอทุ่งช้าง อำเภอบ่อเกลือ อำเภอปัว และอำเภอสองแคว
โดยผู้เสนอระบุเหตุผลว่า พื้นที่ข้างต้นเป็นพื้นที่ห่างไกลจากตัวจังหวัด ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลจังหวัดน่าน ประชาชนผู้เดินทางมาขึ้นศาลต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายและเวลาเป็นจำนวนมาก จึงควรให้มีการจัดตั้งศาลในพื้นที่ดังกล่าว เพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดังกล่าว
3) ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ไทย พ.ศ. …. เสนอโดย สส.พรรคภูมิใจไทย
ร่างกฎหมายดังกล่าว มีสาระสำคัญ คือ ผลักดันและส่งเสริมการพัฒนาและการบริหารจัดการผลไม้ไทย โดยให้ตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ไทย มีนายกฯ เป็นประธาน ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย แผน และยุทธศาสตร์สำหรับการส่งเสริมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ไทยทั้งระบบ และจัดให้มีกองทุนส่งเสริมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ไทย ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับใช้จ่ายในการดำเนินงานของคณะกรรมการ การพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ไทย และการช่วยเหลือหรือเยียวยาสถาบันเกษตรกร เป็นต้น
ปัดตกกฎหมายสส. พรรคฝ่ายค้าน 6 ฉบับ เสนอโดยก้าวไกล 5 ฉบับ ประชาธิปัตย์ 1 ฉบับ
ในจำนวนร่างกฎหมายที่ สส. เสนอและนายกฯ ไม่ให้คำรับรองเก้าฉบับ ส่วนใหญ่หกฉบับเป็นร่างกฎหมายที่เสนอโดย สส. พรรคฝ่ายค้าน ในจำนวนนี้ ห้าฉบับเสนอโดย สส. พรรคก้าวไกล ก่อนถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค และอีกหนึ่งฉบับเสนอโดย สส. พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งขณะที่เสนอและขณะที่นายกฯ ไม่ให้คำรับรอง มีสถานะเป็นพรรคฝ่ายค้าน แม้ภายหลังจากเศรษฐาพ้นตำแหน่งแล้ว พรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมรัฐบาลภายใต้การนำของแพทองธาร ชินวัตร
ร่างกฎหมายทั้งหกฉบับที่ สส. พรรคฝ่ายค้านเสนอและนายกฯ ไม่รับรอง ได้แก่
1) ร่างพ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. …. เสนอโดย สส. พรรคก้าวไกล
“ยกเลิกเกณฑ์ทหาร” เป็นหนึ่งในนโยบายที่พรรคการเมืองยักษ์ใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย รวมถึงพรรคขนาดกลาง-เล็ก อื่นๆ เช่น พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย ใช้หาเสียงมาโดยตลอดก่อนช่วงการเลือกตั้งปี 2566 โดยให้คำมั่นสัญญาว่าจะเปลี่ยนเป็นระบบแบบสมัครใจ หรือแม้แต่พรรคขั้วอนุรักษ์นิยมอย่าง พรรครวมไทยสร้างชาติที่เสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกฯ ก็ออกนโยบายว่าจะลดสัดส่วนจำนวนทหารเกณฑ์ลง
จนในช่วงจัดตั้งรัฐบาลแล้ว พรรคก้าวไกล (ก่อนถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค) ได้เสนอร่างพ.ร.บ.รับราชการทหาร เพื่อยกเลิกพ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ที่บังคับใช้มานานกว่า 70 ปีรวมถึงประกาศของคณะปฏิวัติที่เกี่ยวข้อง และใช้เป็น “กฎหมายใหม่” ไปเลย ซึ่งแตกต่างจากร่างพ.ร.บ.รับราชการทหาร ที่พรรคก้าวไกลเคยเสนอในสมัยสภาชุดเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งมีลักษณะแก้ไขกฎหมายเดิม ไม่ได้ยกเลิกกฎหมายเดิมไปเลย โดยร่างพ.ร.บ.รับราชการทหาร ฉบับที่พรรคก้าวไกลเสนอในสภาชุดก่อน ก็ถูกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ปัดตกไปเช่นเดียวกัน
สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.รับราชการทหาร ฉบับที่เศรษฐา ทวีสิน ปัดตกไป มีสาระสำคัญคล้ายคลึงกับก่อนที่ถูกประยุทธ์ปัดตก คือ ยกเลิกระบบ “บังคับเกณฑ์ทหาร” จากเดิมพ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 กำหนดให้ชายไทยที่อายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไปต้องเข้ารับการคัดเลือกเป็นทหารกองประจำการหรือทหารเกณฑ์ ก็เปลี่ยนเป็น “ระบบสมัครใจ” เพื่อให้คนที่มีความพร้อมสามารถเข้ารับราชการเป็นทหารเกณฑ์
นอกจากนี้ ผู้ที่เข้ามาเป็นทหารจะได้รับการคุ้มครองจากการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เช่น การนำพลทหารไปใช้กิจส่วนตัว หรือการฝึกที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
หลังจากร่างพ.ร.บ.รับราชการทหาร ถูกปัดตกไป สส. พรรคก้าวไกลได้เสนอร่างอีกฉบับอีกครั้ง โดยแก้ไขเนื้อหา ไม่แตะเรื่องแนวทางการกำหนดเงินเดือน สวัสดิการ สิทธิประโยชน์ของทหารกองประจำการ เพื่อไม่ให้ถูกตีความว่าเป็นร่างการเงิน
2) ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เสนอโดย สส.พรรคก้าวไกล
อีกหนึ่งสาเหตุของปัญหามลพิษหรือฝุ่น PM2.5 นอกจากจะมาจากการเผาไร่ ไฟป่าและการเผาไหม้เชื้อเพลิงในรถยนต์แล้ว ฝุ่นละอองจากการก่อสร้างเองก็เป็นหนึ่งในสาเหตุเหล่านั้น โดยเฉพาะในโครงการก่อสร้างของรัฐขนาดใหญ่ ที่มักสร้างผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง และประชาชนเองก็ขาดอำนาจต่อรองและโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ส่งผลให้ไม่ได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะข้อจำกัดด้านกฎหมายที่ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับการเยียวยา
ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เสนอขึ้นแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ขยายขอบเขตวัตถุประสงค์ของกองทุนสิ่งแวดล้อม ให้สามารถนำมาเงินกองทุนมาจ่ายชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ประชาชนอันสาเหตุจากโครงการขนาดใหญ่ที่ดำเนินโดยส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจและผ่านเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ รวมทั้งกำหนดให้โครงการหรือกิจการขนาดใหญ่ที่ต้องจัดให้มีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ต้องจัดทำประกันภัยความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้นควบคู่ด้วย
3) ร่างพ.ร.บ.ถนน พ.ศ. …. เสนอโดย สส. พรรคก้าวไกล
สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ คือการยุบรวมกฎหมายที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการกำหนดประเภททางหลวง การเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวง การจัดทำและดูแลป้าย เครื่องหมาย และสัญญาณจราจร การกำหนดอัตราความเร็ว การก่อสร้างและดูแลทางหลวงสัมปทาน ได้แก่ พ.ร.บ.การกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงและสะพานและฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ทางหลวงและฉบับแก้ไขเพิ่มเติม และ พ.ร.บ.ทางหลวงสัมปทาน ให้รวมอยู่ในกฎหมายฉบับเดียว
ร่างพ.ร.บ.ถนน เสนอโอนอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเรื่องเหล่านี้ ซึ่งเดิมอยู่ภายใต้รัฐมนตรีว่ากระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทำงานควบคู่กัน ยกเว้นทางหลวงสัมปทาน ซี่งจะอยู่ภายใต้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพียงแค่คนเดียว มาอยู่ภายใต้คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นใหม่ เรียกว่า คณะกรรมการนโยบายถนน ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน และมีปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกเป็นกรรมการ
คณะกรรมการนโยบายถนน มีอำนาจหน้าที่ เช่น กำหนดนโยบายและแผนพัฒนาโครงข่ายถนนทั่วประเทศเพื่อเสนอต่อครม. ให้ความเห็นชอบ โดยต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับผังเมืองและแนวทางการพัฒนาเมือง กำหนดมาตรการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนสำหรับถนนแต่ละประเภทหรือแต่ละสายให้เหมาะสมกับบริบทของถนนในประเทศไทย
โดยเหตุผลของร่างกฎหมายนี้ ผู้เสนอระบุว่า กฎหมายที่มีอยู่เดิมนั้นเก่าเกินไปและขาดหลักวิชาการในการแบ่งลำดับชั้นของถนน รวมทั้งไม่สอดคล้องกับแนวทางพัฒนาเมืองและก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนในอัตราที่สูง รวมถึงมีความทับซ้อนระหว่างอำนาจหน้าที่ของหลายหน่วยงาน
4) ร่างพ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อประชาชน พ.ศ. …. เสนอโดย สส. พรรคก้าวไกล
สาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว คือ ปรับปรุงเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน โดยการนำที่ดินของรัฐในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) มาจัดให้เป็นกรรมสิทธิ์ของประชาชน ไม่ว่าพื้นที่นั้นจะเคยออกหนังสือสิทธิ์ให้ประชาชนเข้าใช้ประโยชน์หรือไม่
โดยร่างกฎหมายนี้จะตัดอำนาจทั้งของครม. ในการตราพ.ร.ฏ.เพื่อกำหนดเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพิ่มเติม และของสำนักงาน สปก. ในการออกเอกสารสิทธิเพื่อเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดิน โดยให้ครม. มีอำนาจในการตรา พ.ร.ฏ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินขึ้นแทน และเมื่อประกาศแล้ว ให้สำนักงาน สปก. เป็นผู้ดำเนินการตามหน้าที่ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อประชาชน
สำหรับวิธีในการปฏิรูปนั้น ขั้นแรกให้สำนักงาน สปก. แจ้งแก่ผู้มีชื่อตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งได้รับอนุญาตก่อน พ.ร.ฏ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินฯ มีผลบังคับใช้ ให้รายงานจำนวนแปลงที่ดิน ขนาดที่ดินแต่ละแปลง ที่ตั้งของที่ดิน และประเภทการทำประโยชน์ที่ดินที่ได้รับอนุญาตต่อสำนักงาน สปก. ภายใน 90 วัน
ขั้นที่สอง เมื่อครบกำหนดแล้ว ให้สำนักงาน สปก. เข้าตรวจสอบ หากพบว่าเป็นจริง ให้ สปก. ออกหนังสือรับรองแก่บุคคลเหล่านั้นภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงาน เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการขออกโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน
หากการรายงานของผู้มีสิทธิไม่ถูกต้อง โดยไม่มีเจตนาทุจริต ให้สำนักงาน สปก. แก้ไขรายงานนั้นให้ตรงกับความเป็นจริง แต่หากมีเจตนาทุจริตให้มีการรับโทษทางอาญา และหากผู้ใดไม่เห็นด้วยกับผลการพิจารณาของสำนักงาน สปก. สามารถอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติได้ การวินิจฉัยชี้ขาดให้ถือเป็นที่สิ้นสุด
ะเมื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อประชาชนเสร็จสิ้นทั่วประเทศแล้ว ให้นายกฯ เสนอครม. ตรา พ.ร.ฏ.ยุติการปฏิรูปที่ดินเพื่อประชาชน ซึ่งมีผลให้ยกเลิก พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ และยุบเลิกสำนักงาน สปก. และโอนย้ายที่ดินของรัฐที่เหลือในเขตปฏิรูปที่ดินไปอยู่ในความดูแลของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติแทน
5) ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เสนอโดย สส. พรรคก้าวไกล
สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ คือการกระจายอำนาจในการเวนคืนและการได้คืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอันจำเป็นในกิจการสาธารณูปโภค การป้องกันประเทศ ทรัพยากรธรรมชาติ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไปสู่องค์การปกครองส่วนจังหวัดและกรุงเทพมหานคร จากเดิมที่อยู่ภายใต้อำนาจของครม. หรือส่วนกลางเท่านั้น โดยให้อำนาจองค์การบริหารส่วนจังหวัด และกรุงเทพมหานคร ในการตราข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในเขตพื้นที่ขององค์กรนั้น ๆ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนฯ
6) ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….. เสนอโดย สส. พรรคประชาธิปัตย์
ร่างกฎหมายฉบับนี้ เสนอเพื่อแก้ไขพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 สาระสำคัญ คือ ขยายคำนิยาม “สัตว์” ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายนี้ ให้มีขอบเขตที่ชัดเจนมากขึ้นกว่าเดืม โดยให้รวมความหมายถึงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ “โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการเลี้ยงดูจากมนุษย์ และไม่ต้องมีบัญชีหรือขึ้นทะเบียนไว้” และให้มีการเพิ่มตำแหน่ง ผู้ช่วยพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นผู้ได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้ช่วยงานปฏิบัติตามการตามกฎหมายนี้ เปิดช่องให้สามารถรับอาสาสมัครเข้ามาปฏิบัติงานเกี่ยวกับการป้องกันการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ได้
รวมถึงยังมีการแก้ไขสัดส่วนของคณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ โดยตัดตำแหน่งผู้อำนวยการสวนสัตว์และผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยออก เปิดพื้นที่องค์กรภาคประชาสังคมที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์สามารถขึ้นทะเบียนองค์กรได้ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน และกำหนดมาตรการปกป้องและคุ้มครองสัตว์อื่นๆ เพิ่มเติม