วงเสวนา ถกอนาคตนิรโทษกรรมคดีการเมือง โทษร้ายแรงกว่า 112 ก็ทำมาแล้ว 

สถานการณ์การนิรโทษกรรมให้กับคดีความที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืงริเริ่มขึ้นเมื่อมีผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองในช่วงการชุมนุมเมื่อปี 2563 เป็นจำนวนมาก โดยหนึ่งในมาตราที่ส่งผลกระทบต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงออกคือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในช่วงปลายปี 2566 ถึงต้นปี 2567 มีผู้เสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองรวมสี่ฉบับ จากผู้เสนอหลายฝ่ายไม่ว่าจะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) หรือภาคประชาชน แต่ร่างกฎหมายทั้งสี่ฉบับยังไม่เข้าสู่การพิจารณา ขณะที่ฟากฝ่ายพรรคแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทย ก็เสนอตั้งกรรมาธิการศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม (กมธ. นิรโทษกรรม) ขึ้นมาเพื่อ “ศึกษา” แนวทางในการตรากฎหมาย จนได้รายงานของกมธ.​ นิรโทษกรรมออกมาชุดหนึ่ง

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีมติ “ไม่เห็นด้วย” กับข้อสังเกตรายงาน กมธ.​ ดังกล่าว แม้ว่าในข้อสังเกตนั้นจะไม่ได้ระบุชัดว่าการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ควรรวมความผิดที่เป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างความผิดหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่

วันที่ 26 ตุลาคม 2567 เวลา 15.00-17.00 น. iLaw จัดเสวนาในหัวข้อ “เส้นทางนิรโทษกรรมทางการเมืองและคดีมาตรา 112” ที่ Kinjai Contemporary ร่วมเสวนาโดย พูนสุข พูนสุขเจริญ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และชูวัส ฤกษ์ศิริสุข กรรมาธิการศึกษานิรโทษกรรม ร่วมพูดคุยถึงสถานการณ์ความเคลื่อนไหวการนิรโทษกรรมคดีการเมือง และความหวังในการรวมคดี มาตรา 112

ภาคประชาชนเสนอนิรโทษกรรมรวม ม.112 หลังคดีพุ่งในปี 63

พูนสุข พูนสุขเจริญ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เล่าถึงสถานการณ์คดีมาตรา 112 ว่า จากข้อมูลในฐานข้อมูลของศูนย์ทนายที่ตั้งขึ้นหลังรัฐประหารในปี 2557 มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยเหตุทางการเมืองราว 1,900 คน เพราะรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) จึงทำให้คดีจากพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำนวนกว่า 1,400 คน รองลงมาคือคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  ซึ่งมาตรา 112 มีการบังคับใช้โดยสอดคล้องกับสถานการณ์ทางการเมืองมาโดยตลอด ในอดีต ปี 2555 ภาคประชาชนจะเคยเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่ประธานสภาก็ปัดตกไปโดยอ้างเหตุผลว่าไม่เข้าข่ายเป็นกฎหมายในหมวดสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนจะสามารถเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้

ช่วงรัฐบาลพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีประกาศ คสช. ให้คดีบางประเภทต้องขึ้นศาลทหาร ซึ่งความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ รวมอยู่ในนั้นด้วย ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการประกันตัว เช่น คดีของอัญชัญ สิรภพ หรือบรรพต รวมแล้วมีจำนวน 169 คน ซึ่งรวมคนที่ถูกดำเนินคดีฉ้อโกงแล้วถูกฟ้องในมาตรา 112 ด้วย

ในช่วงปี 2561 – 2562 ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายในมาตรา 112 แต่อย่างใด ใช้วิธีการนอกกฎหมาย การทำข้อตกลงแทน หรือใช้กฎหมายอาญามาตราอื่นแทน แม้ว่าจะไม่มีการดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 แต่ก็สถานการณ์ก็เลวร้ายเช่นกัน ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ไม่ได้รับการปล่อยตัวเลย เป็นสถานการณ์ที่อันตรายโดยที่ไม่รู้ว่าจะมีอันตรายถึงชีวิตหรือไม่

ช่วงปี 2563 มีการปราศรัยในเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีนโยบายไม่ใช้มาตรา 112 จนทำให้มีผู้ถูกฟ้องกว่า 300 คน เป็นเหตุที่ต้องมีนิรโทษกรรมประชาชนขึ้นมาโดยรวมคดีในมาตรา 112 เข้าไปด้วย ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ภาคประชาชนได้รวบรวมรายชื่อและเสนอต่อสภาไปแล้ว ตอนนี้มีอยู่ร่างอยู่สี่ฉบับ สองฉบับไม่รวมคดีมาตรา 112

พูนสุขแสดงความเห็นว่า ในรายงาน กมธ​. นิรโทษกรรม ไม่ได้มีการศึกษาเรื่องที่ควรศึกษา กมธ. บางคนบอกว่าคดี 112 เป็นส่วนน้อย แต่คดีเหล่านื้คือใจความหลักของความขัดแย้งจริงๆ กระบวนการนี้เสียเวลาไปเปล่าประโยชน์ โดยที่ไม่ได้เนื้อหาของความขัดแย้งทางการเมือง มีแต่หลักคิดที่ว่าถ้าปล่อยคนที่ถูกดำเนินคดีออกไปก็จะกลับมาทำความผิดซ้ำอีก พูนสุขเห็นว่าสามารถใช้เวลาเพื่อให้เกิดประโยชน์ได้มากกว่านี้ ควรจะนำไปสู่การพูดคุยให้มีเนื้อหาสาระได้มากกว่านี้ 

อย่างไรก็ดี รายงาน กมธ. นิรโทษกรรม ไม่ได้มีผลอะไรในทางกฎหมาย หากรัฐบาลอยากทำตามแนวทางนั้น ก็สามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องรอ การพิจารณาร่างกฎหมายก็ไม่ได้จำเป็นต้องสอดคล้องกับรายงานฉบับนี้

ปัจจุบันสถิติคดีในมาตรา 112 คนที่มีคดีมากที่สุดและยังอยู่ในประเทศคือ อานนท์ นำภา มี 14 คดี และมีโทษตุนไว้ 14 ปีกว่า เหลืออีก 10 คดีที่ยังไม่มีคำพิพากษา พูนสุขได้พูดคุยกับอานนท์ว่าคิดเห็นอย่างไรกับการนิรโทษกรรมให้คดีมาตรา 112 แต่มีเงื่อนไข อานนท์อธิบายว่าหากนิรโทษกรรม มาตรา 112 แบบมีเงื่อนไข แต่มีพื้นที่ให้พูดคุยว่าทำไมถึงปราศรัยเช่นนั้น มีกระบวนการเปิดพื้นที่ทำความเข้าใจกัน ก็พอรับได้ แต่อานนท์ยังยืนยันว่าการแสดงความเห็นเพื่อส่วนรวม ไม่ควรนิรโทษกรรมแบบพ่วงเงื่อนไข

กมธ. นิรโทษกรรมหลายคนเห็นควรปล่อยตัวนักโทษการเมือง แต่ไม่ฟันชัดว่ารวม ม.112

ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข หนึ่งในกมธ. นิรโทษกรรม เล่าว่า ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนรู้ว่าปัญหาเป็นอย่างไร ในการประชุมทั้ง 19 ครั้ง มีบทสนทนาเรื่องมาตรา 112 แค่สามครั้งเท่านั้น เรื่องคดี 112 เป็นคดีการเมืองตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว กฎหมายถูกใช้แบบไม่แน่นอน มีการระงับไม่ใช้จริงในบางช่วงเวลา หากจะใช้เสมอหน้าตามหลักนิติรัฐแล้วอาจจะพบเจอปัญหา เพราะในบางประเทศที่มีกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์แต่ไม่บังคับใช้จะมีความย้อนแย้งกัน มันต้องมีคำอธิบายในส่วนนี้ด้วย

ชูวัสอธิบายเพิ่มว่า การพูดคุยเรื่องคดีความในปี 2563 เป็นต้นมาเป็นเรื่องที่ลำบาก และมักจะถูกเก็บไว้พูดทีหลัง หากเร่งกฎหมายนิรโทษกรรม อาจจะไม่ผ่าน และจะไม่มีวันผ่านโดยรวมมาตรา 112 อีก ตนไม่ได้มองว่า กมธ. ศึกษาถ่วงเวลาหรือยื้อเวลา แต่เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาให้ความขัดแย้งในคดี 20 ปีที่ผ่านมาคลี่คลายลง

ในรายงาน กมธ. นิรโทษกรรม มีข้อสรุปว่า ไม่ต้องมีข้อสรุปในประเด็นคดีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และมาตรา  112 แต่เปิดพื้นที่บันทึกความเห็นของกมธ. แต่ละคนอย่างอิสระโดยไม่มีข้อสรุป กมธ. หลายคนเห็นว่าต้องปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองออกมา เขาไม่ได้อำมหิตถึงขนาดที่ยังอยากให้คนยังติดอยู่ในคุก แต่การพูดว่านิรโทษกรรมให้กับมาตรา 112 เขาไม่สามารถพูดแบบนี้ได้

ชูวัสอธิบายว่าที่ตนเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมมาตรา 112 แบบมีเงื่อนไขนั้น เพราะว่า กลัวว่าหากนิรโทษกรรมมาตรา 112 แบบไม่มีเงื่อนไขแล้วจะไม่ผ่าน ถึงที่สุดแล้วสำหรับความเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ถ้าต้องอภัยโทษก็ต้องขอพระราชทานอภัยโทษ การต่อสู้ยาวนานไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะประกาศว่าเราอยู่กับความถูกต้องเท่านั้น ชีวิตมนุษย์ยังมีวิธีการต่อสู้อีกเยอะ ชูวัสเห็นว่าการนิรโทษกรรมเพื่อยกโทษให้กันเป็นเรื่องปกติ 

“ผมเห็นด้วยว่าต้องสร้างบทสนทนาต่อไปไม่ว่าจะกี่ปีก็ตาม ผมเชื่อว่าไม่มีมนุษย์คนไหนจะถูกขังตลอดไปโดยทุกคนจะยืนเฉยได้ ในประวัติศาสตร์ของสถาบันกษัตริย์ที่ผ่านมามีพระเดชและพระคุณ ประเด็นอาจอยู่ที่เงื่อนไขของเวลา” ชูวัสทิ้งท้าย 

ย้อนดู 6 ตุลา นิรโทษกรรมแบบ “เหมาเข่ง” ก็ทำมาแล้ว

กฤษฎางค์ นุตจรัส หรือทนายด่าง ทนายความสิทธิมนุษยชน อธิบายว่า ปี 2519 ตนเป็นนักศึกษา ปีสอง ศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผหลังการรัฐประหาร 2519 ผ่านไปสองปีสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ออก “พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึง วันที่ 6 ตุลาคม 2519 พ.ศ. 2521” เพื่อให้เยาวชนมีอนาคตจึงนิรโทษกรรมให้ ในกฎหมายนิรโทษกรรมดังกล่าว กำหนดขอบเขตไว้กว้างขวางมาก ครอบคลุมถึงผู้ที่ฆ่านักศึกษาในวันนั้นด้วย เดิมสภานิติบัญญัติแห่งชาติในเวลานั้นเห็นว่าถ้าไม่เขียนให้กว้าง ผู้มีอำนาจจะเสียหาย ผู้นำทางการเมืองทั้งหลายอาจติดคุก กฤษฎางค์อธิบายติดตลกว่าถ้าในวันนั้นมีการลักทรัพย์เกิดขึ้นก็อาจได้รับการนิรโทษกรรมด้วย

สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ถ้าให้ไปเรียกร้อง คงไม่เหมาะสมเท่าไหร่เพราะตนเป็นทนายให้กับจำเลยในคดีต่างๆ แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาตั้งแต่เหตุกาณ์ 6 ตุลาคม 2519 กฤษฎางค์คิดว่าคนในสภาไม่เข้าใจและมีอคติ ส่วนข้อโต้แย้งที่ว่าถ้านิรโทษกรรมแล้วผู้กระทำความผิดจะกลับไปทำผิดฐานเดิมซ้ำอีกอีก ตนมองว่าไม่มีเหตุผล การนิรโทษกรรมเป็นการยกโทษให้กัน เพื่อให้สังคมสามัคคีมากขึ้น ในอดีตนักศึกษาในธรรมศาสตร์ถูกกล่าวหาว่าดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายมกุฎราชกุมาร ซึ่งถ้าเป็นจริงก็หนักหนาสาหัสกว่าคดีในปัจจุบัน แล้วทำไมถึงยังนิรโทษกรรมให้กันได้โดยที่ไม่กลัวว่าเขาจะกลับไปทำความผิดอีก แล้วคนที่ได้รับนิรโทษกรรมก็อยู่ในสภา หรือในคณะรัฐมนตรี 

กฤษฎางค์ทิ้งท้ายว่า “การนิรโทษกรรมมาตรา 112 ไม่ใช่การแก้ไขมาตรา 112 มันเป็นคนละส่วนกัน ผมคิดว่าสถาบันกษัตริย์มีเมตตาอยู่แล้ว ผมเชื่อว่าการแย่งกันแสดงความจงรักภักดีโดยไม่ให้รวมคดีในมาตรา 112 เป็นการทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย”

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage