ในวันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม เวลา 13.30 น. ประชาไทร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดวงเสวนา 20 Years Thailand ประเทศไทยในรอบ 20 ปี ครั้งที่ 3 ภายใต้หัวข้อ “เจรจาสันติภาพ 20 ปีชายแดนใต้ หรือจะเป็นได้แค่คนคุย” ณ ห้อง 211 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยผู้เข้าร่วมพูดคุยในวงเสวนาครั้งนี้ประกอบไปด้วย
– อดีต สส.ภูมิใจไทยและหลานของ “หะยีสุหลง” ผู้ออกมาเรียกร้องสิทธิของคนปาตานี – เพชรดาว โต๊ะมีนา
– ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ สภาความมั่นคงแห่งชาติ และเป็นอดีตทีมเทคนิคในการพูดคุยสันติสุข – ดร.พลเทพ ธนโกเศศ
– ผู้สื่อข่าวเกาะติดประเด็นสันติภาพชายแดนใต้ – มูฮำหมัด ดือราแม
ซึ่งทั้งสามท่านได้มาแลกเปลี่ยนพูดคุยในประเด็นสันติภาพชายแดนใต้ ผ่านการดำเนินรายการโดย สรวุฒิ วงศ์ศรานนท์ ผู้สื่อข่าวประชาไท
ชาวบ้านเสียใจนำคนผิดคดีตากใบมาดำเนินคดีไม่ได้
เพชรดาวเริ่มต้นด้วยการอธิบายความสำคัญของเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งกำลังจะหมดอายุความในคืนวันที่ 25 ตุลาคมนี้ โดยหากฟังเสียงชาวบ้านในช่วงที่ผ่านมา ชาวบ้านต่างเสียใจที่ไม่สามารถนำตัวคนผิดมาดำเนินคดีได้ ดังนั้นชาวบ้านยังคงรอจนถึงวินาทีสุดท้ายของค่ำคืนนี้ เพื่อหาคำตอบว่า ใครเป็นต้นเหตุให้เกิดความสูญเสีย ใครเป็นผู้สั่งการ ใครเป็นคนทำให้พี่น้องของพวกเขาเสียชีวิต และหากผ่านพ้นคืนนี้ไปโดยไม่มีความยุติธรรมเกิดขึ้น หลังจากนี้ก็จะส่งผลกระทบต่อความไว้เนื้อเชื่อใจ ความหวังในกระบวนยุติธรรมของคนในพื้นที่ ดังนั้นการถอดบทเรียนจากเหตุการณืตากใบเป็นเรื่องที่สำคัญมาก รวมถึงเหตุการณ์อื่น ๆ เช่น กรือเซะ การซ้อมทรมานในค่ายทหาร การเสียชีวิตในค่ายทหาร คงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องจัดการต่อไปอีกนาน
สภาความมั่นคงประเมินคดีตากใบจะมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ไม่พอใจกระบวนการยุติธรรม
ดร.พลเทพ กล่าวว่า เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่กระทบถึงจิตใจ กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ได้รับผลกระทบต่าง ๆ ต่อภาครัฐอย่างแน่นอน แต่แม้ว่ากระบวนการทางกฎหมายจะสิ้นสุดลงในเที่ยงคืนของวันนี้ แต่กระบวนการจัดการกับอดีต (dealing with the past) ยังคงมีกลไกอีกหลายวิธีที่สามารถจะทำได้ เช่น การเยียวยาวในรูปแบบอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินทองหรือวัตถุเสมอไป แต่เป็นการเยียวยาทางจิตใจ ความรู้สึก การสร้างหลักประกันว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกในอนาคต
ส่วนการตอบสนองของประชาชน คาดการณ์ว่าจะมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของพี่น้องประชาชนที่ไม่พอใจต่อกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้น หน่วยงานก็พร้อมให้พื้นที่ในการแสดงออกต่าง ๆ ให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย ส่วนการคาดการณ์เกี่ยวกับการก่อเหตุรุนแรงหลังจากนี้ ทางหน่วยงานภาครัฐเองเชื่อในกระบวนการสันติวิธี และมองว่าการใช้ความรุนแรงไม่ใช่ทางออก ฝ่ายความมั่นคงก็เตรียมความพร้อมให้ความปลอดภัยกับพื้นที่อย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญต่อจากนี้คือ การหารือเกี่ยวกับมาตรการ ออกแบบกระบวนการอย่างไร ให้เน้นไปที่การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
คนพื้นที่ต้องการเห็นผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
มูฮำหมัดให้ข้อมูลว่า ในช่วง 20 ปี ปัญหาไฟใต้ที่ผ่านมา มีข้อร้องเรียนการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ประมาณ 6,200 เรื่อง สะท้อนให้เห็นถึงความเดือดร้อนจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รวมไปถึงการใช้กฎหมายพิเศษ กฎหมายควบคุมตัว กฎหมายซ้อมทรมาน ซึ่งหลาย ๆ ครั้งก็อาจจะถึงแก่ชีวิต ดังนั้นปัญหาเหล่านี้ก็จะกลายเป็นปมปัญหาเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ สำหรับคนในพื้นที่เอง ไม่ต้องการเห็นการลงโทษอะไรที่รุนแรง แต่ขอเพียงเห็นผู้ต้องหามาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเท่านั้น ซึ่งหากกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถช่วยเหลือเยียวยาประชาชนได้ ตัวกระบวนการยุติธรรมนี้เอง ก็จะกลายเป็นเรื่องเล่า (Narrative) ที่พูดถึงความไม่มั่นใจในความยุติธรรมต่อไป
สี่ห้วงเวลาของความพยายามเจรจาพูดคุยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
ดร.พลเทพ อธิบายถึงความพยายามจะเจรจาพูดคุยในประเด็นปัญหาความขัดแย้งนี้มาอย่างยาวนาน โดยแบ่งเป็นสี่ห้วงเวลาใหญ่ ๆ ดังนี้
1. การพูดคุยตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2547 โดยเป็นไปในลักษณะของการเก็บข้อมูล และดูแนวโน้มการพูดคุยว่าจะพูดคุยกันได้มากน้อยเพียงใด
2. การพูดคุยระหว่างปี พ.ศ. 2549-2555 เริ่มพูดคุยกันเป็นกิจลักษณะมากขึ้น มีการตั้งคณะพูดคุยสันติภาพ มีการใช้ พ.ร.บ.การบริหารราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2553 มีนโยบายบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ยังเป็นการประชุมลับ ที่ไม่ได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณชน
3. การพูดคุยในห้วงปี พ.ศ. 2556 – 2561 การพูดคุยแบบเปิดเผยอย่างเป็นทางการในครั้งแรก มีการนำมาเลเซียเข้ามาเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้เรา หลาย ๆ คนก็เริ่มให้ความสนใจ และถือว่าการพูดคุยสันติภาพ มีจุดเริ่มต้นมาจากช่วงเวลานี้ ในห้วงเวลานี้เน้นไปที่การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ กฎกติกา ว่าจะคุยกันแบบไหน
4. การพูดคุยอย่างเปิดเผยที่มีความต่อเนื่องตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2561 – ปัจจุบัน ในห้วงเวลานี้เป็นช่วงที่มีการกำหนดหัวข้อของการพูดคุยเป็นครั้งแรก ว่าประเด็นที่ต้องการมีอะไรบ้างที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของชายแดนภาคใต้ ในห้วงนี้มีความพยายามจะลดความรุนแรงในพื้นที่ เช่น “ข้อริเริ่มรอมฎอนเพื่อสันติสุข” ในการสร้างบรรยากาศในพื้นที่ให้เอื้ออำนวยต่อการถือศีลอด ซึ่งก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ความร่วมมือเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่ มันสามารถเกิดขึ้นได้
ในปัจจุบันการเจรจาพูดคุยมีโอกาสพูดคุยกันในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น เพื่อร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (JCPP) ซึ่งเป็นแนวทางในการร่วมกันทำงาน ขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ให้นำไปสู่การเกิดสันติภาพอย่างยั่งยืนในพื้นที่ รวมไปถึงเริ่มมีการแตะประเด็นอื่น ๆ เช่น รูปแบบการบริหารพื้นที่ อัตลักษณ์ วัฒนธรรม การศึกษาต่าง ๆ แม้จะยังไม่ได้ลงรายละเอียดมากนัก แต่ก็ถือเป็นการริเริ่มที่ดี
การพูดคุยเป็นกระบวนการที่ต้องการให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วม แสดงความเห็น แสดงความต้องการว่า เขาอยากจะวาดภาพอนาคตของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างไร ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญไทย แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนรัฐบาลจากรัฐบาลทหารเป็นรัฐบาลพลเรือนในช่วงปี พ.ศ. 2566 ก็ตาม แต่การดำเนินการเจรจาเพื่อสันติภาพยังมีการสานต่อ แสดงให้เห็นว่า เรื่องของการพูดคุยถูกยอมรับแล้วว่าไม่ใช่เรื่องของพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของประชาชนทุกคน ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล ก็จำเป็นต้องมีหน้าที่ผลักดันให้การพูดคุยเกิดผลสำเร็จในพื้นที่ได้จริง
รัฐเน้นมิติความมั่นคงแก้ปัญหาชายแดนใต้ หวังสภาผู้แทนฯ มีส่วนร่วมมากขึ้น
เพชรดาวอธิบายว่า การแก้ไขโดยฝ่ายบริหารและราชการส่วนใหญ่แล้ว มักเน้นไปที่มิติความมั่นคงเป็นหลัก ขาดการถ่วงดุล และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างปลอดภัย ในการพูดคุยที่เราเห็นมักจะมีเพียงฝ่ายรัฐบาล และผู้เห็นต่างจากฝ่ายรัฐ แต่ในภาคประชาสังคม และภาคประชาชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ กลับไม่ได้มีส่วนร่วมอะไรเลย ฝ่ายความมั่นคงมีการตั้งเวทีแลกเปลี่ยนพูดคุยกว่า 200 – 300 เวที แต่ปรากฎว่า เวทีดังกล่าวเป็นเวทีที่ให้ประชาชนไปนั่งฟังภาครัฐบรรยาย ไม่ได้มีการขอความคิดเห็น หรือนำความคิดเห็นใด ๆ ไปปฏิบัติ
ในฐานะอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพชรดาวมองว่า ที่ผ่านมา รัฐสภายังไม่ได้ให้ความสำคัญกับภาคใต้มากเท่าที่ควร “เบื้องต้นต้องบอกว่า เราว่างเว้นจากคณะกรรมาธิการวิสามัญเรื่องพิจารณาภาคใต้มากว่า 8 ปี ตั้งแต่ปฏิวัติรัฐประหาร ดังนั้นปัญหาชายแดนภาคใต้จึงไม่เคยอยู่ในสารบบของรัฐสภาเลย กระบวนการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในชายแดนใต้ จำเป็นต้องผ่านกระบวนการของรัฐสภา อย่างน้อย ๆ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 500 คน ก็ควรต้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาเรื่องนี้ ” เพชรดาวหวังว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชุดใหม่นี้จะเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการศึกษา และจัดทำรายงานเพื่อเป็นข้อมูลให้แก่รัฐสภาและส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติต่อไป
ดร.พลเทพแนะ สามดุลอำนาจในการแก้ไขปัญหาภาคใต้อย่างยั่งยืน
ดร.พลเทพได้อธิบายถึงดุลอำนาจที่สำคัญสามประการ ได้แก่
1. ดุลอำนาจจากคนในพื้นที่ มีความต้องการอะไรแบบไหน วิถีชีวิต วัฒนธรรมอย่างไร รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับคนในพื้นที่ ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องวัฒนธรรม แต่รวมไปถึงปัญหาปากท้อง ชีวิตความเป็นอยู่ ความต้องการของคนในพื้นที่
2. รัฐบาล ต้องมีเจตจำนงทางการเมือง (Political view) ซึ่ง ดร.พลเทพถือว่าส่วนนี้เป็นปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญที่สุดในการที่แก้ไขปัญหาภาคใต้ เมื่อเราต้องการจะแก้ไขปัญหาภาคใต้ แต่กลับติดกฎระเบียบ ข้อกฎหมาย หรือปัจจัยทางเทคนิคต่าง ๆ ที่ไม่เอื้ออำนวย หากรัฐบาลมีเจตจำนงค์ที่เข้มแข็ง ทุกอย่างทำได้ กฎกติกา ต่าง ๆ มนุษย์เป็นผู้เขียนขึ้นมา ดังนั้นหากจะมีการปรับ มีการแก้กฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหา ทำไมจะทำไม่ได้ การแก้ไขปัญหาภาคใต้จึงขึ้นอยู่กับเจตจำนงที่เข้มแข็ง และความตั้งใจจริง
3. ฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) การที่เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ จำเป็นต้องอาศัยอำนาจกฎหมาย โดยการออกกฎหมาย การแก้ไขกฎหมาย ต้องอาศัยฝ่ายนิติบัญญัติในการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ฝ่ายนิติบัญญัติ ยังถือเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญระหว่างรัฐบาลกับคนในพื้นที่ เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ดังนั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงถือเป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชนในการออกกฎหมาย เปลี่ยนแปลงกฎหมายให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน
ยุติบาดแผลความขัดแย้งด้วยความยุติธรรม
มูฮำหมัดกล่าวถึงประเด็นต่าง ๆ บนโต๊ะเจรจาที่ผ่านมาว่า ประเด็นบนโต๊ะเจรจาจะเน้นไปที่การปกครองมากกว่าความยุติธรรม ซึ่งการพูดคุยเรื่องการปกครองบนโต๊ะเจรจาไม่สามารถลดความขัดแย้งได้ครอบคลุม หากเราต้องการจะหยุดต้นตอความขัดแย้งจากเรื่องเล่า (Narrative) ที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อไปในอนาคต ก็จำเป็นต้องมีการจัดการกับความรู้สึกของผู้คน ผ่านการพูดคุยกันให้ชัดเจน ไม่ให้เกิดความคาใจในสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต มุมมองอดีตของแต่ละฝ่ายเป็นอย่างไรไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่ประเด็นสำคัญคือจะกลับมาอยู่ร่วมกันอย่างไร ไม่ให้เรื่องในอดีตกลายเป็นชนวนความขัดแย้ง เหมือนกรณีตากใบที่กำลังจะหมดอายุความ หากปล่อยให้คดีหมดอายุความลง คดีตากใบก็จะกลายเป็นอีกหนึ่งเรื่องเล่าบาดแผลในการสร้างความขัดแย้งต่อไปยังรุ่นหลัง ดังนั้นเครื่องมือในการจัดการความรู้สึกและแก้ไขความขัดแย้งที่ดีที่สุด คือ “ความยุติธรรม และแนวทางทางการเมือง”
สุดท้ายแล้วปัญหาชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นไม่สามารถจะอาศัยความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาได้ แต่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า การเจรจาด้วยสันติวิธีเป็นทางออกที่ดีที่สุด 20 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นถึงความสำคัญของการเจรจา นั่นคือการแสดงออกถึงความเข้าใจ ความเห็นอก เห็นใจ และรับผิดชอบต่อความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการทำงานของรัฐ รวมไปถึงความจริงจังและความกระตือรือร้นในการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน หากรัฐไม่สามารถมอบความเป็นธรรม และไม่ยอมรับฟังความต้องการของคนในพื้นที่ด้วยความเห็นอกเห็นใจ การเจรจาสันติภาพชายแดนใต้ก็จะยังคงต้องถูกเฝ้าติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด