สภา “ไม่เห็นชอบ” ข้อสังเกตรายงาน กมธ.นิรโทษกรรม แม้ไม่ได้สรุปชัดว่าต้องรวม ม.112

24 ตุลาคม 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติไม่เห็นชอบกับข้อสังเกตในรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม (กมธ. นิรโทษกรรม) ด้วยคะแนนเสียงไม่เห็นชอบ 270 เสียง เห็นชอบ 152 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง ขั้นตอนถัดไปคือการส่งรายงานไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเป็นการต่อไป

ความเคลื่อนไหวก่อนลงที่สภาจะลงมติไม่เห็นชอบข้อสังเกตของกมธ. นิรโทษกรรมในวันนี้ ความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ในพรรคร่วมรัฐบาลไร้เอกภาพ พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำร่วมรัฐบาลยืนยันว่าจะลงมติเห็นชอบกับข้อสังเกตรายงาน วิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส. เพื่อไทยและประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ยืนยันว่าต่อให้ข้อสังเกตไม่ผ่านรัฐบาลก็ไม่เสียหน้า ขณะที่ อดิศร เพียงเกษ สส. เพื่อไทย เห็นต่างว่าหากไม่ผ่านพรรคเพื่อไทยจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน ด้านพรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศจุดยืนชัดว่าจะไม่นิรโทษกรรมให้แก่คดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และไม่เห็นชอบกับข้อสังเกตในรายงานฉบับนี้  ขณะที่ฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาชนยืนยันว่าจะลงมติเห็นชอบ

การลงมติ สส. ในวาระนี้ เป็นการพิจารณารายงานผลการศึกษาว่าจะดำเนินการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม (พ.ร.บ.) อย่างไรและจะมีกระบวนการในระหว่างที่ยังไม่ได้มีการตรา พ.ร.บ. นิรโทษกรรมให้แก่คดีความที่มีแรงจูงใจทางการเมืองอย่างไร 

เมื่อมีการลงมติไม่เห็นชอบกับข้อสังเกตในรายงานของ กมธ. นิรโทษกรรมแล้ว ในทางกฎหมาย เท่ากับว่าที่ประชุมเพียงแค่รับทราบรายงานของ กมธ.  เพราะตามข้อบังคับประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 105 กำหนดว่า กรณีที่กมธ. มีข้อสังเกตที่หน่วยงานรัฐควรทราบหรือควรปฏิบัติ ก็ให้บันทึกไว้ในรายงานของกมธ. เพื่อให้สภาพิจารณา โดยสภาจะต้องลงมติว่า “เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วย” กับข้อสังเกตของ กมธ. 

หากสภาลงมติ “เห็นด้วย” กับข้อสังเกตของ กมธ. ประธานสภาก็จะส่งรายงานและข้อสังเกตไปยังคณะรัฐมนตรี ศาล หรือหน่วยงานรัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ และหน่วยงานงานเหล่านั้นปฏิบัติตามข้อสังเกตหรือไม่ ประการใด ประธานสภาก็จะมาแจ้งในที่ประชุมหลังจากพ้น 60 วันนับแต่วันที่ประธานส่งข้อสังเกตของกมธ. ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่เมื่อสภามีมติ “ไม่เห็นด้วย” เท่ากับว่า หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่มีข้อผูกมัดต่อหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องชี้แจงว่าได้ปฏิบัติตามข้อสังเกตหรือไม่เพื่อที่จะให้ประธานสภานำไปแจ้งในที่ประชุม 

หากดูข้อสังเกตของ กมธ. นิรโทษกรรมจะพบว่ามีหลายหน่วยงานที่ กมธ. มีข้อสังเกตให้ เช่น คณะรัฐมนตรี สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งเนื้อหาข้อสังเกตของกมธ. นิรโทษกรรม พอสรุปได้ ดังนี้

  1. สังคมไทยอยู่ในความขัดแย้งมานาน การนิรโทษกรรมจึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะนำมาซึ่งความปรองดองและทำให้สังคมคืนสู่สภาพปกติ กมธ. นิรโทษเห็นว่า คณะรัฐมนตรีควรเร่งพิจารณารายงานเพื่อนำไปเป็นแนวทางการตรา พ.ร.บ. นิรโทษกรรมโดยเร็ว
  2. ตัวเลขของคดีความของแต่ละหน่วยงานไม่สอดคล้องกัน ควรใช้ข้อมูลสถิติคดีจากสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นหลักและต้องสืบค้นจำนวนผู้กระทำความผิดในแต่ละฐานมาประกอบการพิจารณาว่าคดีในเป็นคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมืองบ้าง
  3. ฐานความผิดเกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 (ความผิดฐานประทุษร้ายต่อพระราชินีหรือรัชทายาท) และมาตรา 112 (ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ) ยังเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวและเป็นเรื่องของความมั่นคงแห่งรัฐ
  4. ความผิดต่อชีวิตในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 (ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น) และมาตรา 289 (ฆ่าผู้อื่นโดยมีเหตุฉกรรจ์) ไม่ถือว่าเป็นคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง ควรให้ผู้กระทำผิดรับผิดชอบต่อการกระทำ 
  5. คณะรัฐมนตรีควรดำเนินการดังต่อไปนี้ 
  • กรณีคดีใดอยู่ในชั้นสืบสวนสอบสวน ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือกรมสอบสวนคดีพิเศษเร่งรัดคดีดังกล่าวเพื่อให้ได้ข้อสรุปสำนวน โดยให้จำแนกว่าเป็นคดีดังกล่าวเป็นการกระทำที่มีแรงจูงใจทางการเมือง เป็นความผิดอาญาโดยเนื้อแท้ หรือ เป็นการกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองแต่มีฐานความผิดอื่นประกอบ 
  • กรณีที่คดีอยู่ในชั้นสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้องของอัยการ ให้อัยการพิจารณาว่าคดีนั้นจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ หรือประเทศหรือไม่ เฉพาะในคดีที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองเท่านั้น การกระทำความผิดในความผิดอาญาในฐานอื่น เช่น ทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย ก่อการร้าย ยาเสพติดให้โทษ หรือความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้ดำเนินตามกระบวนการยุติธรรมปกติ โดยคำนึงถึงเกณฑ์การประกันตัว ปล่อยตัวชั่วคราว และจัดหาทนายให้แก้ผู้ต้องหา
  • ในกรณีที่คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาล ศาลอาจใช้ดุลพินิจในการเลื่อนคดีหรือจำหน่ายคดีชั่วคราว เมื่อคู่ความยื่นคำร้องว่า ฐานความผิดของจำเลยอาจได้รับการนิรโทษกรรมตามรายงานฉบับนี้ และศาลอาจใช้ดุลพินิจพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในะระหว่างนี้

ผลการลงมติรายบุคคล ลงมติไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตรายงาน กมธ. นิรโทษกรรม

สส. พรรคร่วมรัฐบาล-พรรคฝ่ายค้านส่วนใหญ่พร้อมใจโหวต “ไม่เห็นด้วย” ยกเว้น สส. พรรคเพื่อไทย 11 คน ที่โหวต ” เห็นด้วย“ โดยเสียงเห็นด้วยที่เหลือ มาจาก สส. พรรคประชาชน 138 เสียง พรรคเป็นธรรม 1 เสียง และพรรคไทยก้าวหน้าอีก 1 เสียง รวม 151 เสียง

ไฟล์แนบ

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage