คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม เป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่จะส่งผลต่อการดำรงตำแหน่งของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) หาก สว. ไม่มีคุณสมบัติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เช่น รัฐธรรมนูญกำหนดว่า สว. ต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี แต่ สว. รายนั้นไม่มีประสบการณ์ทำงานในกลุ่มดังกล่าว ก็อาจถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สิ้นสมาชิกภาพและพ้นจากตำแหน่งได้
รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดคุณสมบัติที่ สว. ควรมี และลักษณะต้องห้ามที่ผู้เป็น สว. ต้องไม่มีไว้หลายประการ หนึ่งในนั้นคือ ผู้ที่เป็น สว. ต้องไม่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 108 ข. (1) ประกอบมาตรา 98 (5) อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2567 ศาลฎีกามีคำพิพากษา คดีหมายเลขแดงที่ ลต สส 338/2567 เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของสมชาย เล่งหลัก หนึ่งใน สว. จากระบบเลือกกันเอง เป็นเวลา 10 ปี
สมชาย เล่งหลัก สว. กลุ่มที่ 19 กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ประกอบกิจการค้าขาย มีประสบการณ์ลงสนามการเมืองระดับประเทศอยู่บ้าง ปี 2562 ลงสมัคร สส. แบบแบ่งเขต จังหวัดสงขลา พรรคพลังประชารัฐ ต่อมา ปี 2566 ลงสมัคร สส. แบบแบ่งเขต จังหวัดสงขลา พรรคภูมิใจไทย โดยมูลเหตุที่ทำให้สมชายต้องคำพิพากษาของศาลฎีกาให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี สืบเนื่องมาจากปมการ “ซื้อเสียง” การเลือกตั้งทั่วไปปี 2566
จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษา สรุปได้ว่า หนึ่งวันก่อนวันเลือกตั้ง 13 พฤษภาคม 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธร (สภ.) หาดใหญ่ ร่วมกันจับกุมวินัย บัวทอง พบของกลาง ได้แก่ 1) บัญชีรายชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ของบุคคลในหลายตำบลของพื้นที่อำเภอหาดใหญ่และอำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา 2) เงินสด 100,000 บาท และ 3) แผ่นพับหาเสียงของ สมชาย เล่งหลัก สองแผ่น อยู่ในรถยนต์ของพันตำรวจเอกถวัลย์ นคราวงศ์ ซึ่งมีหลักฐานว่าพันตำรวจเอกถวัลย์ติดต่อกับสมชาย เล่งหลัก หลายครั้ง ทำให้เชื่อได้ว่าสมชาย เป็นผู้ก่อ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้วินัย บัวทอง และพันตำรวจเอกถวัลย์ นคราวงศ์ จัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สินให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้จูงใจให้ลงคะแนน หรือพูดง่ายๆ ว่า “ซื้อเสียง” ซึ่งการกระทำดังกล่าว เป็นการทุจริตเลือกตั้ง มีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 73 (1) ประกอบมาตรา 138 วรรคหนึ่ง
เมื่อ สว. ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 82 วางกลไกให้ สว. สามารถรวมตัวกันให้ได้จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งใน 10 ของจำนวน สว. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ (กรณีมี สว. ครบ 200 คน ก็ต้องมี สว. 20 คนขึ้นไป) เข้าชื่อต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยสมาชิกภาพของ สว. รายนั้นได้ หรือหากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เห็นว่าสมาชิกภาพของสว. รายนั้นมีเหตุสิ้นสุดตามกรณีข้างต้น ก็ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้เช่นกัน หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สว. รายนั้นสิ้นสมาชิกภาพเพราะมีลักษณะต้องห้าม สว. รายนั้นก็จะพ้นตำแหน่งไป ไม่สามารถกลับมาเป็น สว. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้อีก และให้เลื่อนผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อสำรอง ขึ้นมาเป็น สว. แทน
จนถึงวันที่ 24 ตุลาคม 2567 เป็นเวลาหนึ่งเดือนแล้วนับแต่ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีของสมชาย เล่งหลัก จากการสืบค้นข้อมูลบนเว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญ “ยังไม่พบ” ว่า กกต. ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมชายมีลักษณะต้องห้าม ทั้งๆ ที่ กกต. เองก็เป็นผู้ร้องในคดีของสมชาย เล่งหลักเอง
เมื่อไม่มีผู้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ แม้สมชายจะมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 2560 แล้ว แต่ก็ยังคงดำรงตำแหน่ง สว. อยู่ในระหว่างนี้ เพราะองค์กรที่จะชี้ขาดว่าได้ว่า สว. จะสิ้นสมาชิกภาพเพราะมีลักษณะต้องห้ามหรือไม่ คือ ศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาออกมาหนึ่งเดือนแล้ว จากข้อกฎหมาย “ชัดเจน” ว่าสมชาย เล่งหลัก มีลักษณะต้องห้าม กกต. จึงควร “เร่ง” ดำเนินการส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะยิ่ง กกต. ส่งเรื่องไปช้า ก็จะยิ่งทำให้ สว. ที่มีลักษณะต้องห้าม ยังอยู่ในตำแหน่ง สว. ต่อไปอีก