เปิดข้อเท็จจริงตากใบ 2547 ปราบผู้ชุมนุมมือเปล่าด้วย “กระสุนจริง” ขนคนซ้อนจนขาดใจตาย

เหตุการณ์ตากใบเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เป็นเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมด้วย “กระสุนจริง” และขนย้ายผู้ชุมนุมซ้อนทับหลายชั้นจนนำไปสู่การเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชนเป็นจำนวนมาก ปี 2548 วุฒิสภาจัดทำรายงานเบื้องต้น เรื่อง กรณีความรุนแรงที่ตากใบกับปัญหาความมั่นคงของมนุษย์ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงว่าเกิดอะไรขึ้นในเหตุการณ์ตากใบ 2547 รายงานดังกล่าวจัดทำขึ้นร่วมกันโดยกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กมธ.การต่างประเทศ และ กมธ. วิสามัญศึกษาปัญหาความมั่นคงในจังหวัดภาคใต้ ในวุฒิสภาชุดที่แปด ซึ่งเป็นชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน 

เนื้อหาในรายงานฉบับนี้เป็นการสรุปข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ตากใบ 2547 และยืนยันว่าการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ (สภ.ตากใบ) เป็นสิทธิการชุมนุมโดยชอบที่ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้ารัฐในการสลายการชุมนุมนั้นเลือกใช้กำลังทหารที่ติดอาวุธสงคราม มีการใช้กระสุนจริงยิงผู้ชุมนุมจนเสียชีวิตรวมเจ็ดราย ขนย้ายผู้ถูกจับกุมจนทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 78 คน รวมทั้งสองกรณี 85 คน รายงานยังระบุไว้อย่างชัดเจนว่าการเยียวยาหรือชดเชยด้วยการมอบเงินอาจไม่เพียงพอต่อการเยียวยาบาดแผลทางรายกายและจิตใจ 

ในปี 2555 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีการมอบเงินเยียวยาช่วยเหลือให้แก่ญาติผู้เสียชีวิต ผู้ทุพพลภาพ บาดเจ็บ และผู้ที่ถูกจับกุมในเหตุการณ์ตากใบ 2547 ต่อมาในปี 2567 ญาติผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตร่วมกันฟ้องเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐผู้สั่งการในเหตุการณ์ตากใบ 2547 เพื่อคืนความยุติธรรมให้แก่ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว เมื่อการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐโดยประชาชนเกิดขึ้นแล้ว ทางอัยการสูงสุดก็ร่วมฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐด้วยเช่นกัน แต่เจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกฟ้องในคดีของอัยการสูงสุดมีแต่เพียงผู้ที่ควบคุมขบวนรถลำเลียงผู้ชุมนุมเท่านั้น 

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับคดีตากใบในปี 2567 ได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/45135

ชนวนเหตุจับ ชรบ. สู่การเรียกร้องให้ปล่อยตัวและการใช้กระสุนจริงปราบ

รายงานชุดนี้จัดทำขึ้นด้วยวิธีการประชุมรับฟังการชี้แจงจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ตากใบ2547 ไม่ว่าจะเป็นผู้สั่งการสูงสุดในเหตุการณ์นี้อย่าง พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี แม่ทัพภาคสี่ พล.ต. สินชัย นุตสถิตย์ รองแม่ทัพภาคสี่ พล.ต.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ห้า ทหาร ตำรวจ แพทย์ ประชาชนผู้ได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์ ผู้นำทางศาสนา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) นักวิชาการและญาติผู้เสียชีวิต  โดยมีข้อเท็จจริงแบ่งเป็นช่วงการชุมนุมที่หน้าสภ.ตากใบ การสลายการชุมนุมและการขนย้ายผู้ชุมนุมจากสภ.ตากใบไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี

  • การชุมนุมหน้าสภ.ตากใบ

วันที่ 19 ตุลาคม 2547 ตำรวจสภ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส จับกุมชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) จำนวนหกคนข้อหาแจ้งความเท็จและยักยอกทรัพย์ โดยทั่วไปแล้วชรบ.จะมีอาวุธปืนลูกซองที่ทางการมอบให้แต่ทั้งหกนำไปให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ จากการสอบสวนพบว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบขู่ฆ่าครอบครัวของชรบ.ทำให้ต้องยอมมอบอาวุธปืนไป แต่ไปแจ้งทางการว่า ถูกปล้นปืน ต่อมาวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เวลา 7.30 น. มีประชาชนมารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้ชรบ.ทั้งหกคนที่หน้าสภ.ตากใบและเวลา 11.00 น. มีจำนวนเพิ่มขึ้นประมาณ 700-900 คน 

ด้านการรับมือของฝ่ายรัฐ มีการข่าวว่า จะมีการก่อความวุ่นวายในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส แต่ไม่มีการระบุสถานที่และวิธีการ เมื่อมีการชุมนุมที่หน้าสภ.ตากใบ จึง “ปักใจ” เชื่อว่า เป็นการสร้างสถานการณ์ เจ้าหน้าที่มีการตั้งด่านสกัดตามเส้นทางก่อนเข้ามาถึงสภ.ตากใบ แต่ยังมีประชาชนบางส่วนผ่านมาได้  หลังเกิดเหตุพล.ท.พิศาล วัฒนวงศ์คีรี แม่ทัพภาคสี่ ในเวลานั้นเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ มีการขอกำลังจากฝ่ายทหารคือ หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน จังหวัดนราธิวาส และหน่วยปฏิบัติการพิเศษ กองทัพภาคสี่ โดยมีกำลังประมาณ 600 คนที่สภ.ตากใบ และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบปะปนกับผู้ชุมนุมอีกประมาณ 200 คน ทั้งนี้ฝ่ายทหารมีการติดอาวุธสงครามครบมือ และจัดกำลังล้อมผู้ชุมนุมไว้

ระหว่างนี้พล.อ.พิศาลมีการเจรจาแต่ไม่บรรลุผล มีการพาญาติของชรบ.มาพูด ญาติบางคนพูดทำนองไม่แน่ใจว่า ทั้งหกคนจะได้รับการประกันตัวหรือไม่ และขอให้อยู่รวมกันจนกว่าจะประกันตัวได้ ต่อมาเจ้าหน้าที่ประกาศว่า ทั้งหกคนรอคำสั่งประกันอยู่ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส แต่ผู้ชุมนุมยังคงรวมตัวอยู่เช่นเดิม

  • การสลายการชุมนุม

การวางกำลังของทหารและตำรวจปิดล้อมพื้นที่สภ.ตากใบทั้งหมด โดยมีการเตรียมการจับกุมแกนนำที่ระบุตัวประมาณ 100 คนแต่ทั้งหมดกระจัดกระจายในหมู่ผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่จึงใช้วิธีการกวาดจับและแยกทีหลัง ทางตำรวจอ้างการข่าวของทหารว่า ผู้ชุมนุมมีอาวุธร้ายแรงหากฟ้ามืดลงอาจก่อเหตุร้ายแรง เวลาประมาณ 15.00 น. เจ้าหน้าที่จึงสลายการชุมนุม ใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำใส่พร้อมกับตำรวจเดินหน้าผลักดันผู้ชุมนุมให้ถอยออกไป ผู้ชุมนุมใช้ก้อนหินและเศษไม้ปาใส่ เจ้าหน้าที่ปาแก๊สน้ำตาตอบโต้แต่ผู้ชุมนุมขว้างแก๊สน้ำตากลับ ระหว่างนี้มีการยิงปืนลักษณะขึ้นฟ้าและระดับต่ำใส่ผู้ชุมนุม เป็นเหตุให้มีผู้ชุมนุมถูกยิงที่ศีรษะเสียชีวิตในที่เกิดเหตุหกคนและที่โรงพยาบาลอีกหนึ่งคน

นอกจากนี้ยังมีประชาชนหลายคนถูกยิงบาดเจ็บสาหัส บางคนถูกยิงหลังจากที่นอนหมอบราบกับพื้นแล้ว บางคนถูกยิงขณะวิ่งเพื่อแยกออกจากการชุมนุม พล.อ.พิศาล ยอมรับต่อ กมธ. ว่า ทหารมีการยิงอาวุธใส่ประชาชนจริง อย่างไรก็ตามกมธ. ตั้งข้อสังเกตว่า หากผู้ชุมนุมมีอาวุธที่พร้อมใช้งานไว้จริงก็น่าจะนำมาตอบโต้เจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสูญเสียมากกว่านี้ แต่ไม่พบว่ามีร่องรอยกระสุนตามตัวอาคารสภ.ตากใบ มีแต่เพียงกระจกที่แตกจากการถูกหินปาใส่เท่านั้น แต่ภายหลังเจ้าหน้าที่ได้รายงานว่ามีการค้นพบอาวุธปืนระเบิดสังหารและมีดในแม่น้ำตากใบ

  • การขนย้ายผู้ชุมนุมจากสภ.ตากใบไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร

เมื่อเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมพื้นที่ได้แล้วจึงทำการจับกุมผู้ชุมนุม มีการบังคับให้ประชาชนถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง นอนคว่ำหน้า และบังคับให้เคลื่อนตัวไปข้างหน้าโดยวิธีคลานด้วยท้อง ใช้ไหล่หน้าอกและท้องดันลำตัวคืบไปกับพื้น  ประกอบกับหลักฐานภาพถ่ายและวิดีโอพบว่า มีการฉุดกระชากลากจูงผู้ชุมนุม ชกต่อย เตะ กระทืบด้วยรองเท้าทหาร ใช้ไม้ตี บังคับให้ผู้ชุมนุมถอดเสื้อนอนคว่ำหน้า ใช้สายเข็มขัดฟาดใส่ร่างท่อนบนของผู้ชุมนุม 

รายงานของ กมธ. ระบุว่าในเหตุการณ์นี้มีการจับกุมควบคุมตัวประชาชนทั้งสิ้น 1,224 คนซึ่งผู้ชุมนุมจำนวนมากชี้แจงต่อกมธ. ว่าไม่ได้มาร่วมชุมนุมแต่ก็ถูกจับกุมในบริเวณด่านตรวจซึ่งอยู่ห่างจากสภ.ตากใบหลายกิโลเมตร อย่างไรก็ดีในประเด็นของจำนวนผู้ถูกจับกุมทั้งหมดในปัจจุบันมีการรายงานว่ามีผู้ถูกจับกุมมากถึง 1,370 คน 

จากคำให้การของตำรวจระบุว่า การขนย้ายผู้ชุมนุมเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของทหารโดยจะควบคุมตัวผู้ชุมนุมและประชาชนทั้งหมดจาก สภ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งมีระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร เที่ยวแรกๆบรรทุกผู้ชุมนุมคันละ 30 คนด้านประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์ให้การสอดคล้องกับหลักฐานภาพถ่ายและวีดีโอปรากฏว่าผู้ถูกจับกุมอยู่ในสภาพถูกถอดเสื้อมัดมือไพล่หลัง ร่างกายอ่อนเพลียจากการปะทะและอยู่ระหว่างถือศีลอด บ้างก็ให้เดินขึ้นบันได บ้างก็ถูกดึงตัวหรือกระชากตัวขึ้นรถบรรทุก ผลักให้นอนคว่ำหน้าบนพื้นรถ ประชาชนผู้อยู่ในเหตุการณ์ให้ข้อมูลว่ารถทหารบางคันที่ไม่มีบันได เจ้าหน้าที่ทหารก็จะจับประชาชนโยนขึ้นรถบังคับให้นอนคว่ำหน้าบนพื้นรถในขณะที่มือถูกมัดไพล่หลัง

มีการวางร่างของผู้ชุมนุมนอนคว่ำหน้าซ้อนกันเป็นชั้นประมาณสี่ถึงห้าชั้นและบรรทุกผู้ชุมนุมคันละประมาณ50-60 คน โดยมีเจ้าหน้าที่ควบคุมไปกับรถคันละห้าหกคน การเดินทางจาก สภ.ตากใบ ไปค่ายอิงคยุทธบริหารมีการใช้เวลาทั้งสิ้นราวหกชั่วโมงต่อหนึ่งคันรถ โดยเจ้าหน้าที่ชี้แจงว่ามีการโรยตะปูเรือใบดักไว้ตามถนน ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องหยุดรถเพื่อเคลียร์ถนนให้ปลอดภัย โดยที่ประชาชนผู้ถูกจับกุมยังคงถูกมัดมือไพล่หลังนอนคว่ำหน้าซ้อนทับกันไปอย่างนั้นตลอดการเดินทาง

รถบรรทุกที่ลำเลียงผู้ถูกควบคุมตัวคันแรกไปถึงค่ายอิงคยุทธบริหารในเวลาประมาณ 17.00 – 18.00 น. ของวันที่ 25 ตุลาคม 2547 รถเที่ยวสุดท้ายออกจาก สภ.ตากใบ เวลาประมาณ 19.00 น และไปถึงค่ายอิงคยุทธบริหารในเวลา 01.00 น ของวันที่ 26 ตุลาคม 2547 ในปัจจุบันมีรายงานว่ารถลำเลียงผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวคันสุดท้ายได้เดินทางมาถึงค่ายอิงคยุทธบริหารในเวลา 03.00 น.

ขาดอากาศหายใจจนตาย บางรายเจียนตายทหารเมินบอก “จะได้รู้ว่านรกมีจริง”

น.พ.จิรศักดิ์ อินทะสอน ผู้ปฏิบัติงานที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ชี้แจงว่าได้พบ ประชาชนที่เสียชีวิตศพแรกในเวลาประมาณ 18.00 – 19.00 น. ของวันที่ 25 ตุลาคม 2547 และทยอยมากขึ้นตามลำดับแต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ทหารผู้มีหน้าที่ตรวจรับและควบคุมตัวผู้ชุมนุมไม่ได้แจ้งเตือนไปยังรถคันอื่นที่กำลังขนย้ายผู้ชุมนุมรวมถึงคันที่อยู่ระหว่างเดินทางหรือสั่งการให้แก้ไขวิธีการขนย้ายควบคุมตัวผู้ชุมนุมอันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต เป็นเหตุให้ในรถคันหลังๆ ซึ่งทยอยเดินทางมาถึงค่ายอิงคายุทธบริหารมียอดผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก คันที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดคือประมาณ 20 คน โดยคนที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ถูกจับนอนคว่ำอยู่ชั้นล่างสุด 

ผู้รอดตายหลายคนบอกว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้ที่นอนคว่ำอยู่แถวล่างสุด บางรายเมื่อใกล้ตายได้ร้องขอความช่วยเหลือแต่ก็ถูกทหารที่ควบคุมตัวอยู่บนรถขึ้นไปเหยียบด้านบนและะใช้พานท้ายปืนตีและพูดว่า “จะได้รู้ว่านรกมีจริง” การขนย้ายประชาชนผู้ถูกจับกุมในครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการขนย้ายจำนวน 78 คน บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก บางรายมีอาการชัก กล้ามเนื้อเกร็ง บางรายมีบาดแผลที่หน้าอก เลือดไหลออกและมีเสียงลมสอดที่หน้าอกเมื่อหายใจ ในขณะที่แพทย์ปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ชุมนุมมีอยู่เพียงหนึ่งคนกับพยาบาลอีกสิบคนทำให้ไม่สามารถตรวจอาการและให้ความช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึง 


สรุปแล้วมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 85 คนโดยเป็นเหตุจากการใช้กระสุนจริงที่หน้าสภ.ตากใบเจ็ดคนและถูกทับจากการขนย้ายอีก 78 คน นอกจากนี้ กมธ. ยังได้รับรายงานว่ามีประชาชนผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์แต่ไม่พบศพเพราะมีการลำเลียงศพขึ้นรถทหารออกไปจากที่เกิดเหตุ ประชาชนจำนวนมากได้ร้องเรียนว่ามีญาติพี่น้องสูญหายไปในเหตุการณ์นี้ แต่ไม่สามารถแจ้งความกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ บางรายบอกว่าเจ้าหน้าที่ไม่รับแจ้งความ บางรายบอกว่าเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าแจ้งความเท็จ บางรายถูกเจ้าหน้าที่สอบสวนจนรู้สึกเหมือนเป็นผู้ต้องหาเสียเอง เบื้องต้นพบว่ามีผู้สูญหายในเหตุการณ์ดังกล่าวสี่รายในขณะที่ฝ่ายผู้นำศาสนาในพื้นที่ประเมินว่าอาจมีผู้สูญหายมากกว่านี้ 

เตรียมปราบไว้แต่แรกเพราะปักใจเชื่อว่าผู้ชุมนุมจะก่อความไม่สงบ-มีอาวุธ

รายงานฉบับดังกล่าวมีข้อสังเกตว่า ผู้ชุมนุมใช้สิทธิและเสรีภาพโดยสงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ แต่การสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐเกิดจากการ “ปักใจ” เชื่อว่า จะเกิดความสงบขึ้นเตรียมการคุมตัว แม้ไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่า ผู้ชุมนุมมีอาวุธ มีการเตรียมการจับกุมผู้ชุมนุม 100 คน จึงทำให้การปฏิบัติไม่ได้มุ่งไปที่การเจรจาและให้ประชาชนออกจากพื้นที่ แต่กลับใช้วิธีการปิดล้อม ใช้กำลังกดดัน ปราบปราม ขาดการแยกแยะระหว่างผู้ต้องสงสัย ผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไปที่เพียงเข้ามาดูเหตุการณ์ นอกจากนี้ยังขาดการเตรียมการเผชิญเหตุด้วยสันติวิธี มีการใช้ตำรวจควบคุมฝูงชนไม่ถึง 60 คน ใช้กำลังทหารที่เชี่ยวชาญการสงคราม 

การใช้กำลังอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี แม่ทัพภาคสี่ ยอมรับตามหลักฐานภาพถ่ายว่า ทหารมีการยิงแนวระนาบใส่ผู้ชุมนุม “อยู่บ้าง” เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตรวมเจ็ดคน จากการชันสูตรผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ถูกยิงบริเวณศีรษะ นอกจากนี้หลังยึดคืนพื้นที่ได้แล้วกลับไม่พบอาวุธในครอบครองของประชาชนบริเวณที่ชุมนุมเลยและการสลายการชุมนุมไม่ปรากฏว่า มีการใช้อาวุธต่อเจ้าหน้าที่ราชการ ทำให้น่าสงสัยว่า เจ้าหน้าที่รัฐอาจอ้างหลักฐานเท็จหรือได้รับรายงานเท็จ และอาศัยรายงานดังกล่าวใช้กำลังต่อประชาชน  

ในประเด็นเรื่องการควบคุมตัวผู้ชุมนุม โดยการมัดมือไพล่หลัง ให้นอนซ้อนกันสี่ถึงห้าชั้นบนรถ เดินทางยาวนานห้าถึงหกชั่วโมงในระยะทางเพียง 160 กิโลเมตร ทำให้ผู้ชุมนุมที่ถูกทับอยู่ที่ชั้นล่างต้องตายอย่างทรมาน “การกระทำดังกล่าวไม่ใช่เหตุสุดวิสัย เพราะคนทั่วไปย่อมคาดหมายได้ว่าเป็นการกระทำอันก่อให้เกิดความเจ็บปวดทรมานจนอาจถึงตายได้” และเมื่อเจ้าหน้าที่ทราบว่า มีผู้เสียชีวิตจากการขนส่งแล้วก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงวิธีการ การกระทำของเจ้าหน้าที่ถือว่า การกระทำโดยเจตนาโดยเล็งเห็นผลของการกระทำแล้วตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59

ผู้มีอำนาจขอโทษและเสียใจกับเหตุการณ์ตากใบ 2547

เหตุการณ์ตากใบ 2547 เกิดขึ้นในระหว่างที่ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีก่อนที่จะถูกรัฐประหารโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ในวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งในภายหลังจากการยึดอำนาจแล้วได้มีการแต่งตั้งให้พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี หลังการรัฐประหารเพียงสองเดือน ในวันที่ 2 พฤษจิกายน 2549 พล.อ.สุรยุทธ์ ได้เดินทางไปพบปะข้าราชการ ประชาชนและผู้นำทางศาสนา ที่จังหวัดปัตตานี โดยได้กล่าวว่า 

“เรียนให้ท่านทั้งหลายได้เข้าใจว่า ผมไม่ได้มองปัญหาด้านเดียว

ผมมองปัญหาโดยรอบ แล้วที่ท่านขอให้รัฐบาลขอโทษ

ผมมาในวันนี้ ผมขอโทษแทนรัฐบาลที่แล้ว

ผมขอโทษแทนรัฐบาลนี้ ว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาในอดีต

เป็นความผิดส่วนใหญ่ของรัฐ ซึ่งเราจะต้องช่วยกันแก้ไขต่อไป

ซึ่งถือว่าการขอโทษของพล.อ.สุรยุทธ์เป็นการขอโทษครั้งแรกของผู้มีอำนาจต่อเหตุการณ์ตากใบ โดยในรัฐบาลของพล.อ.สุรยุทธ์ ได้มีการถอนฟ้องประชาชนทั้ง 59 คนที่ถูกควบคุมตัวและดำเนินคดี พล.อ.สุรยุทธ์ระบุว่าการฟ้องคดีและการดำเนินคดีนี้ต่อไปจึงไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะและอาจกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ รวมทั้งผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ

ในขณะที่ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในเหตุการณ์ตากใบ กล่าวในรายการ Caretalk เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ว่าในฐานะที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น “ผมต้องขอโทษ ขออภัยต่อบรรดาญาติพี่น้องของผู้ที่สูญเสียและผู้ที่ได้รับความเสียหายในครั้งนั้น” ทักษิณยังกล่าวเพิ่มอีกว่า กรณีการขนย้ายผู้ถูกควบคุมตัวซึ่งอ่อนล้าจากการอดอาหารมาทั้งวันเพราะเขาถือศีลอด และแทนที่จะเอาไปไว้บนรถบรรทุกดีๆ กลับเอาคนไปซ้อนกัน ซึ่งตนคิดว่ามนุษย์ทั่วไปไม่น่าจะคิดได้อย่างนั้น

นอกจากนายกรัฐมนตรีทั้งสองแล้ว พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ตากใบ 2547 เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2555 ว่าเหตุการณ์ตากใบเป็น“แผลในใจ” และเป็นเหตุการณ์ที่รู้สึกติดค้างและอยากอธิบายความในใจ และกล่าวว่า 

“ผมเสียใจในสิ่งที่เกิดขึ้นนะ แต่ยืนยันว่าไม่ได้สั่งให้ทหารฆ่าประชาชน เพราะเราทำแบบนั้นไม่ได้อยู่แล้ว แล้วในวันนั้น ทั้งโต๊ะครู โต๊ะอิหม่าม กรรมการอิสลามจังหวัด ฯลฯ ก็อยู่กับผมทั้งหมด ผมจำได้ หลังผมไปออกรายการ ผมยกมือไว้ขอโทษพี่น้องมุสลิม เพราะเราไม่อยากให้เกิดแบบนั้น”

รัฐเยียวยากว่า 700 ล้าน แต่เจ้าหน้าที่รัฐยังไม่เคยรับผิดทางกฎหมาย

ตามที่รายงานของ กมธ. ได้มีการแนะนำให้ประชาชนผู้สูญเสียและบาดเจ็บในเหตุการณ์สมควรที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐ กลุ่มญาติของผู้เสียชีวิตได้ร่วมกันฟ้องคดีแพ่งต่อเจ้าหน้าที่รัฐในปี 2549 ก่อนที่กองทัพบกจะตกลงไกล่เกลี่ยจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวน 42.2 ล้านบาท  ต่อมาในปี 2555 ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีการมอบเงินเยียวยาให้แก่ประชาชาทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบกับเหตุการณ์ตากใบ 2547 เป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 651,451,200 บาท ดังนี้

  • กรณีผู้เสียชีวิต 85 คน มอบเงินเยียวยาคนละ 7,500,000 บาท
  • กรณีผู้ทุพพลภาพ 1 คน มอบเงินเยียวยา 7,500,000 บาท
  • กรณีผู้พิการ 8 คน มอบเงินเยียวยาคนละ 4,500,000 บาท
  • กรณีผู้บาดเจ็บสาหัส 11 บาท มอบเงินเยียวยาคนละ 1,125,000 บาท
  • กรณีผู้บาดเจ็บปานกลาง 22 คน มอบเงินเยียวยาคนละ 675,000 บาท
  • กรณีผู้บาดเจ็บเล็กน้อย 8 คน มอบเงินเยียวยาคนละ 225,000 บาท
  • กรณีผู้ถูกดำเนินคดี 58 คน (เสียชีวิตหนึ่งคน) มอบเงินเยียวยาคนละ 30,000 บาท
  • กรณีผู้ถูกควบคุมตัวแต่ไม่ถูกดำเนินคดี 766 คน มอบเงินเยียวยาคนละ 15,000 บาท

แม้ว่าจะมีจะได้รับเงินเยียวยาและผู้เสียหายบางรายก็ยอมรับว่าดีใจที่ภาครัฐให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ตากใบ แต่กระบวนการเยียวยาในครั้งนี้ไม่ใช่การมอบความเป็นธรรม มะรีกะห์ บินอูมา กล่าวว่า

“อยากให้เข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเราคือต้องเดินทางขึ้นโรงขึ้นศาลเป็นเวลานานถึงสองปี การที่ภาครัฐมาช่วยเหลือเยียวยาวันนี้ยังไม่เท่ากับสิ่งที่พวกเราต้องเสียในขณะนั้น ที่สำคัญพวกเราต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างหวาดผวา ไม่กล้าไปไหนมาไหน ต้องคอยระวังตัวตลอด เพราะถูกเจ้าหน้าที่รัฐเพ่งเล็ง ประกอบกับเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ สับสนอลหม่านไปหมด ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร และไม่รู้ว่าความรุนแรงเกิดจากเหตุผลอะไรแน่”

ในขณะที่ญาติเหยื่อตากใบอีกรายหนึ่งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศราว่า “อยากให้แยกให้ออกว่าเรื่องเยียวยากับความเป็นธรรมทางคดีเป็นคนละเรื่อง คิดว่าทุกคนน่าจะรู้ รัฐเองก็รู้”

สอดคล้องกับรายงานของ กมธ. ที่ระบุว่าการเยียวยาด้วย “เงิน” อาจไม่ใช่หนทางสมบูรณ์ที่จะเยียวยาบาดแผลทั้งที่เกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ การแสวงหาข้อเท็จจริงและการแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์เป็นสิ่งสำคัญที่สุด

จึงนำไปสู่คดีความในปี 2567 ทั้งสองคดี ได้แก่ การฟ้องเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐทั้งโดยญาติของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในเหตุการณ์การสลายการชุมนุมและการขนย้ายลำเลียงผู้ถูกควบคุมตัว และการฟ้องเอาผิดโดยอัยการสูงสุดต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการขนย้ายลำเลียงผู้ถูกควบคุมตัว ทั้งสองคดีนี้มีการออกหมายจับให้ผู้ถูกฟ้องทั้งหมดมารายงานตัวต่อศาลเนื่องจากผู้ถูกฟ้องทั้งหมดทั้ง 14 คน ยังไม่เคยมาปรากฎตัวต่อศาลหรืออัยการ แต่หากเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมดไม่มาปรากฎตัวต่อศาลภายในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 คดีตากใบจะหมดอายุความ ช่องทางในการเยียวยาคืนความยุติธรรม แสวงหาข้อเท็จจริงกับเหตุการณ์ตากใบ 2547 ก็จะถูกปิดลงไปทันที 

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับคดีตากใบในปี 2567 ได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/45135

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage