#ตากใบต้องไม่เงียบ เมื่อญาติผู้เสียชีวิตลุกขึ้นฟ้องนายทหารระดับสูง โดยแรงผลักจากคนรุ่นลูก

21 ตุลาคม 2567 เวลา 13.00 – 16.00 น. องค์กรภาคประชาสังคม ประกอบไปด้วย The Patani, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, ActLab, และ หน่วยวิจัยสันติภาพและความขัดแย้ง สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันจัดกิจกรรม #ตากใบต้องไม่เงียบ ณโรงแรมเดอะสุโกศล ร่วมเสวนาโดย รศ.ดร.โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล, อังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา, สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษา Human Rights Watch ประจำประเทศไทย, อาเต็ฟ โซ๊ะโก The Patani, ฐปนีย์ เอียดศรีไชย The Reporters, ชูเวช เดชดิษฐรักษ์ ActLab, นารี เจริญผลพิริยะ อดีตกรรมาการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ดำเนินรายการโดย เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช นักวิชาการด้านสันติภาพ

กิจกรรมนี้ชวนคนมาช่วยกันฉายภาพเหตุการณ์การสลายการชุมนุมตากใบ 25 ตุลาคม 2547 ในหลากหลายแง่มุม จาสถานการณ์ที่ผ่านมาเกือบ 20 ปีจนการดำเนินคดีเพื่อหาผู้รับผิดนั้นใกล้หมดอายุความ ซึ่งสิ่งที่พบจากการพูดคุยในครั้งนี้ คือ แรงผลักดันที่ทำให้คดีเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและมีความคืบหน้าได้ในปีนี้ เบื้องหลังคือคนรุ่นใหม่ในครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ การสลายการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อเกือบ 20 ปีก่อนหน้านี้

เหตุการณ์จริงผู้ชุมนุมที่โกรธเกรี้ยวเพียงขว้างปาสิ่งของเท่านั้น

สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษา Human Rights Watch ประจำประเทศไทย เล่าบริบทที่นำไปสู่เหตุการณ์ความขัดแย้งเมื่อปี 2547 เริ่มจากการที่ตั้งข้อกล่าวหากับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ว่าเป็นผู้ขโมยอาวุธปืนไปทำให้ ชรบ.ถูกคุมตัวอยู่ที่ไหนซักแห่งหนึ่ง แต่เชื่อว่าเป็นที่ สภ.ตากใบ แต่ปรากฏว่าเขาถูกคุมตัวอยู่ที่อื่น ชาวบ้านมาเรียกร้องให้ปล่อยตัวที่ สภ.ตากใบ เหตุการณ์ที่เกิดต่อมาก็คือเหตุการณ์ตากใบที่ทุกคนรู้กัน

ในขณะนั้นตนทำงานอยู่ที่กรรมาธิการต่างประเทศของวุฒิสภา เหตุการณ์ตากใบในบริบทที่สากลมองเข้ามาเป็นเหตุการณ์ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน ผู้ชุมนุมบางส่วนใช้ความรุนแรงขว้างปาสิ่งของ แต่ไม่ใช่ทุกคน ผู้ชนุมหลายคนไม่ได้ตั้งใจมาชุมนุม แค่ติดอยู่ในพื้นที่โดยบังอิญ บางคนมาซื้อเสื้อผ้า หลายคนจะไปตลาด บางคนก็มามุงดูว่าเกิดอะไรขึ้น บางกลุ่มที่ตั้งใจมาก็มี มาเรียกร้องความเป็นธรรม โดยพวกเขาระบุว่ามาร้องขอให้ปล่อยตัว บางคนมีอารมณ์ขว้างปาสิ่งของ อันนี้คือการกระทำจากฝั่งประชาชน

เจ้าหน้าที่รัฐมีธงในใจ มีทัศนคติหวาดกลัวว่าเหตุการณ์ตากใบเป็นการจุดชนวนชุมนุมจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดง ในทางสากลการตอบโต้ของเจ้าหน้าที่รุนแรงและไม่ได้สัดส่วน มีการยิงกระสุนจริงขึ้นฟ้า มีการออกคำสั่งให้สลายการชุมนุมโดยรถฉีดน้ำ, แก๊สน้ำตา และกระสุนจริง

สุณัย เล่าต่อว่า เคยสัมภาษณ์ผู้ที่รอดชีวิต เขาไปซื้อกับข้าวกับภรรยา โดนกระสุนจริงที่มาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่จะจับผู้ชาย ปล่อยผู้หญิงและเด็กกลับบ้าน ตามหลักการสลายการชุมนุมสากล การใช้กระสุนจริงเล็งยิงไปที่ผู้ชุมนุมนั้นทำไม่ถูกต้องเพราะจะทำได้ต่อเมื่อผู้ชุมนุมใช้อาวุธที่อันตรายถึงชีวิต แต่ในเหตุการณ์จริงผู้ชุมนุมที่โกรธเกรี้ยวเพียงขว้างปาสิ่งของเท่านั้น

เจ้าหน้าที่ให้ผู้ชุมนุมถอดเสื้อทำให้แยกไม่ออกว่า ใครเป็นใคร ใครเป็นแกนนำที่อาจจะมีแค่หลักสิบ แต่ดันจับไปพันกว่าคน ทั้งที่รถไม่พอ แล้วไม่เพิ่มจำนวนรถ หลังจากรถไปถึงที่หมายเจ้าหน้าที่กลัวการเตรียมการซุ่มโจมตีจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทำให้เจ้าหน้าที่ค่อยๆ ขับรถไป เมื่อพบว่า มีคนตายเจ้าหน้าที่ไม่ได้จัดการอะไรหลังจากทราบว่ามีคนตายบนรถ

อย่างไรก็ตามผู้เสียหายก็รู้สึกว่า “แค่ศาลรับฟ้องก็หายใจเฮือกใหญ่ๆ แล้ว” อีกทั้งยังได้คำตอบมาอีกอย่างหนึ่งว่าใครน่าจะเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบ จากการที่ศาลประทับรับฟ้อง สุณัยชี้ว่า สิ่งนี้น่าสนใจว่าเป็นการทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ได้อยู่เหนือกฎหมาย เจ้าหน้าที่ถูกออกหมายจับได้ และไม่ใช่เจ้าหน้าที่ธรรมดาแต่เป็นแม่ทัพภาคสี่ คือ อำนาจรัฐที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ ในที่สุดคนๆ นี้ก็ถูกออกหมายจับและต้องหนีหัวซุกหัวซุน ชาวบ้านที่หนีมาตลอด แต่กลับมาเป็นฝ่ายฟ้องเจ้าหน้าที่ได้ ไม่ใช้ความกลัวที่รัฐทำต่อประชาชนอีกต่อไปแล้ว มันกลับตาลปัด

แนวทางที่ละเมิดหลักสากลของเจ้าหน้าที่รัฐในการจัดการการชุมนุม ทั้งการชุมุนมพันธมิตร, นปช., กปปส., ชุมนุมม็อบสามนิ้ว การใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ยังคงเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก และรัฐไม่เคยรับผิด การลอยนวลพ้นผิดไม่ใช่วาทะกรรมแต่เป็นข้อเท็จจริงของการสลายการชุมนุมทุกครั้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่เจ้าหน้าที่ก่อความรุนแรงแล้วไม่ต้องรับผิด

รัฐบาลปัจจุบันสามารถทำสิ่งที่ผิดก่อนหน้านี้เป็นสิ่งที่ถูกได้ ต้องออกมาขอโทษในนามของรัฐต่อการกระทำที่เกิดขึ้นและจะแสวงหาความเป็นธรรม ไม่ใช่การออกมาบอกว่า พล.อ.พิศาลลาออกจากสส. แล้ว อีกทั้งยังจัดให้เป็นปาร์ตี้ลิสท์อันดับต้นๆ พรรคเพื่อไทยต้องตอบคำถามนี้ เพราะเป็นคดีร้ายแรงที่ฆ่าคนตายในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ แต่คนนี้กลับถูกจัดให้อยู่ในลำดับต้นๆ ของบัญชีรายชื่อของพรรคได้

คนรุ่นลูกของผู้เสียชีวิตกำลังขับเคลื่อนหาความยุติธรรม

สุณัย ผาสุข เล่าด้วยว่า หลังเกิดเหตุการณ์ตอนที่ได้ลงไปพื้นที่ค่ายอิงคยุทธ พบสภาพศพฟกช้ำเป็นรอยไปทั้งตัว คนที่พิการถูกทับจนกล้ามเนื้อตาย คนที่ควรจะได้รับการรักษาก็ไม่ได้รักษา หลายคนต้องตัดแขนตัดขาเพื่อรักษาชีวิต หลายคนเป็นเสาหลักของครอบครัว เหตุการณ์นั้นกลายเป็นปมต่อมาในจิตใจว่าไม่สามารถดูแลเป็นเสาหลักครอบครัวได้

คนที่เป็นคู่ชีวิตของผู้เสียชีวิตโดยตรงถูกทหารมาคุกคาม มาเยี่ยมบ้านทุกวัน เขากลัว แต่รุ่นลูกไม่ยอม รุ่นลูกอยากได้คำตอบว่าเกิดอะไรขึ้น ที่ผ่านมาเราไม่เห็นเจ้าภาพที่จะลุกขึ้นมาเป็นเกราะกำบังให้ชาวบ้าน ถ้ามีใครมาเป็นเจ้าภาพคุ้มกันให้ชาวบ้านอาจจะกล้าฟ้องตั้งแต่ตอนนั้น จนกระทั่งรุ่นลูกลุกขึ้นมา

อาเต็ฟ โซ๊ะโก จาก The Patani กล่าวว่าขณะที่เป็นนักกิจกรรมในพื้นที่ เวลามีโอกาสได้จัดเสวนา เวลามีการก่อตั้งขบวนการนักศึกษา ตั้งขึ้นได้ไม่นานเท่าไหร่ก็จะถูกคุกคามจนต้องปิดตัวลง ความพยายามที่จะดึงให้ผู้คนต่อสู้อย่างสันติวิธีโดยไม่ใช้ความรุนแรงต้องใช้ความพยายามมาก จากเหตุการณ์ตากใบทำให้เราถูกปรามาสพอสมควร ผู้ใหญ่ที่เคารพก็มักจะบอกว่าให้ชาวบ้านออกมาสู้ ออกมาพร้อมดำเนินคดี สมัยที่เป็นนักศึกษาได้ไปหาญาติที่เป็นผู้สูญเสียเกือบทุกบ้าน ก็ถูกไล่ว่าอย่ามายุ่งกับเขา ตอนนี้คนที่ขับเคลื่อนให้แม่ๆทั้งหลายออกมาสู้ คือ ลูกๆ คนรุ่นใหม่ ชาวบ้านไม่ใช่ว่าไม่อยากสู้ เขาอยากสู้มาตลอด จนสุดท้ายเขายอมออกมา รัฐนี้ไม่เคยเห็นด้วยกับการกระทำที่ผิดพลาดในอดีต โอกาสนี้เป็นโอกาสที่ดีที่จะสู้ ในการทำให้กระบวนการสันติภาพได้ไปต่ออย่างยั่งยืน

ชูเวช เดชดิษฐรักษ์ จากห้องทดลองนักกิจกรรม หรือ ActLab Thailand กล่าวว่า มีเรื่องเล่ายาวนานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ปาตานีที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงโดยรัฐ เรื่องเล่าที่เกิดขึ้นในคดีตากใบไม่ใช่เรื่องใหม่เป็นเรื่องที่เกิดซ้ำในพื้นที่ ในปี 2551 เป็นปีแรกที่ อาเต็ฟ โซ๊ะโก นักศึกษาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เป็นประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และเริ่มเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องตากใบในกรุงเทพ  กลุ่มนักกิจกรรมจากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความแอคทีฟทางการเมืองสูงมาก ซึ่งนักกิจกรรมเหล่านี้เป็นลูกเป็นหลานของผู้ชุมนุมที่ถูกคุมตัว 1,300 คนนั้น พวกเขาเป็นนักสู้

ขอเห็นหน้าความยุติธรรม ถึงแม้ไม่เคยเห็นหน้าพ่อ

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าว The Reporter เริ่มต้นเล่าว่า บริบทในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นเต็มไปด้วยบรรยากาศความกลัว การที่ญาติกล้าลุกขึ้นมายื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก จากการเป็นสื่อมวลชนมายี่สิบปี เป็นนักข่าวร่วมสมัยในเหตุการนั้นและได้รายงานข่าวงานรำลึกในทุกปี จนวันนี้เกิดการเริ่มต้นการฟ้องคดีของญาติผู้เสียชีวิต วันที่ศาลประทับรับฟ้องคดีที่ญาติของผู้เสียชีวิตทั้ง 48 ราย ยื่นฟ้องจำเลยที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง แค่ศาลประทับรับฟ้อง พวกเขาก็รู้สึกได้ถึงความยุติธรรมที่เขารอคอยจากเหตุการณ์ที่สามีหรือพี่ชายเขาเสียชีวิตมาตลอด 20 ปี

ฐปณีย์เล่าบรรยากาศในศาลว่า ได้หันไปมองหน้าญาติทุกคน เพียงพวกเขาได้ยินว่า “ข้อกล่าวหามีมูล” เขาก็น้ำตาไหลแล้ว วันที่ 12 กันยายน 2567 ศาลออกหมายจับจำเลยหกคน ซึ่งเป็นสิ่งไม่เคยมีมาก่อนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ส่วนใหญ่คนถูกดำเนินคดีเป็นประชาชนชาวมลายูมุสลิม นับตั้งแต่ความขัดแย้งปะทุขึ้นเมื่อปี 2547 ไม่มีใครเคยเห็นการออกหมายจับอดีตข้าราชการระดับสูง ในความรู้สึกของญาติยังบอกว่าตอนนี้ก็มาไกลมากแล้ว

“บางทีแค่คำขอโทษก๊ะก็สบายใจแล้ว” ฐปณีย์ เอียดศรีไชย เล่าถึงคำพูดของญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบ

ฐปณีย์เล่าถึงการลงพื้นที่ไปพูดคุยกับญาติ ภรรยาของผู้เสียชีวิต ครอบครัวของผู้เสียชีวิต หลังเวลาผ่านไป 20 ปี ก๊ะ (พี่สาว) คนหนึ่งยังเก็บรวงข้าวจากแปลงนาแปลงแรกที่ทำร่วมกับสามี ข้าวไม่มีรสชาติแล้วแต่ก๊ะยังอยากเก็บไว้เพราะเป็นความทรงจำของสามี ก๊ะคือหนึ่งในคนที่ฟ้องในคดีนี้ ฐาปนีย์จึงถามว่า ก๊ะฟ้องก๊ะคาดหวังอะไร ก๊ะตอบว่าได้ไปถามลูกว่าถ้าจะฟ้องโอเคมั้ย ลูกบอกว่าฟ้องเถอะแม่ หนูอยากเห็นหน้าของความยุติธรรม ถึงแม้จะไม่เคยเห็นหน้าพ่อ

รออัยการไม่ยอมฟ้อง กระบวนการเรียกร้องความยุติธรรมมีมาตลอด

อังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา ภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่ถูกทำให้หายตัวไป เล่าว่า ตนเองก็เป็นเหยื่อและเป็นผู้หญิง ทำให้แม่ๆ ผู้เสียหายให้ความไว้เนื้อเชื่อใจและแบ่งปันความทุกข์ยากตลอด 20 ปี การเสียชีวิตของคน 78 คนที่ค่ายอิงคยุทธเป็นการเสียชีวิตที่ทรมานมาก ไม่เคยเห็นการใช้วิธีการแบบนี้ในการจัดการกับคนเห็นต่าง และขอมองว่าเป็นการแก้แค้น เป็นความเกลียดชัง 

ในขณะที่ประเทศไทยได้ที่นั่งในคณะรัฐมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แต่สิ่งที่ยังเกิดขึ้นเป็นความล้มเหลวของระบบนิติธรรมในประเทศไทย ครอบครัวผู้เสียหายเรียกร้องมาตลอด การเรียกร้องของครอบครัวคือการเรียกร้องอัยการให้เป็นผู้ฟ้องในความผิดอาญาแผ่นดิน สุดท้ายก็ล่าช้า หลายครั้งที่ผู้เสียหายมาพบกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพราะอัยการไม่ฟ้องซักที และวันต่อว่าก็มาถอนคำร้องเพราะถูกเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมบ้าน กระบวนการเรียกร้องความยุติธรรมมีมาเช่นนี้ตลอด

อังคณา อดีตกรรมกรสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เล่าว่า กลไกของกรรมการสิทธิมนุษยชนก็มีปัญหาเช่นกัน เพราะ รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ได้ให้อำนาจ กสม.ฟ้องคดีแทนผู้เสียหายได้ แต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญไม่ออกสักที พอมาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ก็ตัดอำนาจ กสม.ในการฟ้องแทนไปแล้ว 

“รัฐบาลแพรทองธาร ชินวัตร ไม่มีความชอบธรรมที่จะบอกว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ยังเคยรู้สึกผิดทำให้มีการให้เงินเยียวยา ในส่วนของคุณทักษิณเองก็ยังกล่าวว่า ลืมไปแล้วจำไม่ค่อยได้  ถึงแม้ว่าแม่ๆ ยังไม่อยู่แต่คนรุ่นใหม่จะยังคงพูดถึงเรื่องนี้อยู่” อังคณา กล่าว 

นารี เจริญผลพิริยะ อดีตกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ เล่าถึงหลักการเยียวยาความรุนแรงสี่มิติ หนึ่งคือ การเยียวยาจิตใจต้องทำให้ผู้เสียหายได้ฟื้นฟูจิตใจกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ สอง การดูแลด้านการศึกษากับเด็กๆในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ สาม ความยุติธรรมด้วยกระบวนการยุติธรรมไม่ใช่การชดเชยค่าเสียหาย และสี่ การมีอาชีพสามารถทำมาหากินได้ ถ้าหากดำเนินการเยียวยาไม่ได้ครบถ้วน ผู้เสียหายไม่ใช่แค่ชาวบ้าน แต่ผู้เสียหายคือประชาชนไทยที่มีต่อระบบยุติธรรมของประเทศไทย

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage